Last updated: 2 ก.ค. 2567 | 79925 จำนวนผู้เข้าชม |
มือและนิ้ว เป็นอวัยวะสำคัญที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตและสรรค์สร้างสิ่งต่างๆมากมาย มนุษย์นับว่าเป็นสิ่งมีชีวิตบนโลกใบนี้ที่มีนิ้วสมบูรณ์พร้อมและสามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ในแต่ละวันนั้นเราใช้มือและนิ้วในการประกอบกิจกรรมมากมายจนแทบไม่ได้หยุดหย่อน ดังนั้น หากเกิดความผิดปกติใดๆขึ้นกับมือแล้ว ย่อมจะส่งผลต่อคุณภาพชีวิตตามมาอีกด้วย
ความแตกต่างของอาชีพ เพศ และวัย เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้กิจกรรมการใช้มือนั้นแตกต่างกันออกไป ผู้ที่ใช้มือประกอบกิจกรรมซ้ำๆและรุนแรง จนเกิดอาการบาดเจ็บขึ้นกับมือและนิ้วมือซึ่งอาจนำไปสุ่การเกิดความผิดปกติของมือที่พบได้บ่อยที่สุดที่เรียกว่า
"โรคนิ้วล็อค" หรือ "Trigger Finger"
พยาธิสภาพของโรคนิ้วล็อค
โรคนิ้วล็อค เป็นความผิดปกติของมือที่พบได้บ่อยที่สุด มักพบได้ในและเส้นเอ็นคนแข็งแรงปกติที่มีการใช้งานของมือรุนแรงในชีวิตประจำวัน พยาธิสภาพของโรคนี้เกิดขึ้น เนื่องจากอาการเสียสัดส่วนของเข็มขัดรัดเอ็นหรือปลอกหุ้มเอ็นและเส้นเอ็น ซึ่งเป็นเส้นเอ็นที่ใช้งอนิ้วมือ โดยปกติแล้วเข็มขัดรัดเส้นเอ็น มีหน้าที่รัดเส้นเอ็นให้อยู่ติดกับกระดูก ในขณะที่เรากำมือ แบมือ นิ้วของเรามีการเคลื่อนไหว เส้นเอ็นที่นิ้วมือก็จะถูกดึงเสียดสีไปมากับปลอกเอ็นหรือเข็มขัดรัดเส้นเอ็น การใช้มือทำงานหนักๆซ้ำๆเป็นระยะเวลานานๆ ทำให้เกิดการเสียดสี จนทำให้เส้นเอ็นบวม เกิดพังผืดหนาตัวขึ้นเป็นปม หรือ ปลอกเอ็นหนาแข็งตัวเสียความยืดหยุ่น ทำให้เอ็นไม่สามารถลอดผ่านเข็มขัดรัดเอ็นได้
หากปมล็อคอยู่บริเวณต้นทางของเข็มขัดรัดเอ็นก็จะทำให้นิ้วเหยียดอยู่ในท่าเหยียด งอไม่เข้า เนื่องจากเข็มขัดรัดเอ็นเสียความยืดหยุ่น หนาตัวกลายเป็นพังผืด ไม่ยอมให้เส้นเอ็นที่เคยวิ่งผ่านไปมาวิ่งผ่านโดยสะดวกอีกต่อไป
โรคนิ้วล็อค สามารถพบได้ในเด็กด้วยเช่นกัน ในผู้ป่วยเด็กทารกบางรายเป็นนิ้วล็อคตั้งแต่กำเนิด กลุ่มเด็กที่เป็นมาตั้งแต่กำเนิด ส่วนใหญ่จะเป็นที่นิ้วหัวแม่มือซึ่งเกิดจากที่ปลอกเอ็นหนา จนทำให้เอ็นผ่านไปไม่ได้ ผู้ป่วยบางรายมีอาการนิ้วล็อกทั้งสองมือ ในบางรายสามารถหายได้เองหากปมไม่ใหญ่มากนัก ประกอบกับหากมีการคลายด้วยการนวดคลึงบริเวณฐานนิ้วตรงปลอกเอ็นให้เกิดความยืดหยุ่นมากขึ้น
สาเหตุที่พบโรคนิ้วล็อกในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย อาจเป็นเพราะผู้หญิงจำเป็นต้องใช้งานของมือในการทำงานบ้าน ในการกำหรือหิ้ว ถือถุงสิ่งของต่างๆ ทำความสะอาดบ้าน ถือไม้กวาด ถือตะหลิว ตลอดจนซักผ้า กำ-บิดผ้า
กิจกรรมประจำวันต่างๆเหล่านี้ ล้วนเป็นการใช้งานของมือซ้ำๆทำให้เอ็นนิ้วมือเสียดสีกับปลอกหุ้มเอ็นจนหนาตัวเป็นปมรัดติดกัน นานวันเข้ากลายเป็นพังผืดหนาขึ้น จนเอ็นไม่สามารถเคลื่อนตัวผ่านเข็มขัดหรือปลอกหุ้มเอ็น ทำให้เสียสัดส่วนของร่องที่ผ่าน เกิดการฝืด ตึง หรือ ล็อค ในที่สุด
สาเหตุอื่นๆของโรคนิ้วล็อค
อาการนิ้วล็อคมักเกิดกับผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย พบได้บ่อยในผู้ที่ต้องใช้มือ โดยเฉพาะนิ้ว ทำงานเป็นเวลานานๆ การใช้นิ้วมือที่เคลื่อนอยู่อย่างตลอดเวลา ส่งผลทำให้เส้นเอ็นและกล้ามเนื้อเกิดการเสียดสีกัน เมื่อเสียดสีกันนานๆ ก็จะเกิดอาการอักเสบ บวม และทำให้เส้นเอ็นค่อยๆหนาขึ้น กระทั่งทำให้การเคลื่อนไหวของนิ้วเป็นไปอย่างติดๆขัดๆ
ในบางรายอาจเกิดจากการได้รับภยันตรายของมือ หรือ เส้นเอ็น / ข้อต่อ ทำให้มือบวม หากบวมนานก็จะมีอาการเนื้อเยื่อพังผืดหดรัด ทำให้เส้นเอ็นนิ้วเคลื่อนตัวไม่สะดวก หรือ จากการบาดเจ็บของเส้นเอ็นถูกบาดโดยของมีคม ทำให้หลังการผ่าตัดต่อเส้นเอ็นมีการบวมตามนิ้วมือ หรือ การใส่เฝือก ทำให้เกิดพังผืดมารัดเส้นเอ็น หรือแม้แต่เพียงถูกกระชากเส้นเอ็นจากอุบัติเหตุต่างๆก็เป็นสาเหตุทำให้เกิดอาการนิ้วล็อคในเวลาต่อมาได้
อาการของโรคนิ้วล็อค
เนื่องจากพยาธิสภาพของนิ้วล็อก คือ การที่เส้นเอ็นลอดผ่านปลอกเอ็นไม่ได้ ก็จะทำให้เกิดอาการเจ็บฐานนิ้ว เพราะจะต้องมีการฝืนให้เอ็นลอดผ่าน ทำให้การยืดงอนิ้วเป็นไปด้วยความลำบาก ต่อจากนั้น การเคลื่อนไหวนิ้วเริ่มมีการสะดุด โดยเฉพาะเวลาที่อากาศเย็น หรือเวลาตื่นนอนตอนเช้า นิ้วจะอยู่ในท่าเกร็งงอ หรือเหยียดตรงแต่กำมือไม่ลง จะต้องใช้มือช่วยง้างออก หรือหากล็อกอยู่ในท่าเหยียดตรงก็จะกำมือไม่ได้ มีอาการแสดงที่หลากหลาย ตั้งแต่เจ็บฐานนิ้ว นิ้วฝืด นิ้วสะดุด นิ้วกระเด้ง นิ้วล็อก นิ้วโก่ง นิ้วแข็ง นิ้วบวม นิ้วชา กำนิ้วไม่ลง นิ้วเกยกัน เป็นต้น
อาการของโรคทางกายภาพที่พบเห็นกันเป็นประจำคือ "นิ้วมือผิดรูป" ซึ่งส่วนใหญ่นิ้วจะหนาขึ้นและมีลักษณะเหมือนลูกน้ำเต้า โดยเมื่อผู้ป่วยงอนิ้วเข้า นิ้วจะเกิดอาการล็อค และไม่สามารถเคลื่อนไหวได้ ต้องใช้อีกมือหนึ่งมาช่วยดึงหรือปลดล็อค จึงจะกลับมาใช้งานได้เหมือนกัน
แม้ว่าโรคนี้มักจะเกิดกับผู้หญิงอายุ 45 ปีขึ้นไป แต่ก็มีคนไข้หลายรายที่มีอายุประมาณ 20-30 ปี มีอาการล็อคที่นิ้วอย่างรุนแรงทั้ง 2 ข้าง เนื่องจากงานที่ทำเป็นประจำหรือมีกิจกรรมที่ใช้นิ้วและข้อมืออย่างหนัก นอกจากการรักษาที่ปลายเหตุหลังจากใช้งานหนักของข้อมืออย่างผิดๆ
นอกจากนี้ อาการที่พบบ่อยๆในผู้ป่วยที่เข้ามารับการรักษา เช่น
- นิ้วมือไม่มีแรง
- ปวดเมื่อย
- เคลื่อนไหวไม่สะดวก
- ยืดเหยียดนิ้วยากลำบาก
- กดลงบนจุด / บริเวณที่มีปัญหาจะรู้สึกเจ็บหรือปวด
อาการนิ้วล็อค ส่วนใหญ่มักจะเกิดขึ้นกับ 3 นิ้ว คือ
- นิ้วหัวแม่มือ
- นิ้วกลาง
- นิ้วนาง
อาการนิ้วล็อคทำให้มือใช้งานไม่ได้ เวลานิ้วหรือมือชนถูกสิ่งต่างๆจะเจ็บมาก โดยเฉพาะฐานนิ้วโป้ง อาการของนิ้วล็อกจะเริ่มขยายไปยังนิ้วข้างเคียง ทำให้นิ้วข้างเคียงถูกจำกัดความเคลื่อนไหวตามไปด้วย ก่อให้เกิดการแข็งตัวตามไปและใช้งานไม่ได้ในที่สุด
โรคนิ้วล็อคเป็นโรคที่เกิดจากความเสื่อมในการใช้งานของนิ้ว ไม่ใช่โรคที่เกิดจากเชื้อโรคหรือการติดต่อแต่อย่างใด และผู้ที่ใช้มือ ใช้นิ้ว ในการทำงานมากๆ ก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเกิดอาการนิ้วล็อคทุกคน หากแต่ขึ้นอยู่กับพื้นฐานสภาพร่างกายของแต่ละคนด้วยว่าเป็นอย่างไร
* อ่านข้อมูลเพื่มเติม-เพื่อตรวจสอบพื้นฐานสุขภาพตนเองด้วยทฤษฎีแพทย์จีน
โดยหลักการของการแพทย์แผนจีนอธิบายว่า นอกจากการใช้นิ้วมือนานๆแล้ว ยังมีส่วนเชื่อมโยงกับระบบเลือดลมที่ผิดปกติด้วย
อาการนิ้วล็อคแม้ว่าจะไม่อันตรายร้ายแรงหรือส่งผลกระทบเชื่อมโยง หรือลามไปถึงอวัยวะส่วนอื่นๆของร่างกาย แต่ก็เป็นสิ่งที่มักจะสร้างความรำคาญ และมีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้นานและควรเข้ารับการรักษากับแพทย์จีนเฉพาะทางที่มีประสบการณ์และมีความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านเพื่อความปลอดภัย
หลักการรักษาอาการนิ้วล็อคโดยแพทย์แผนจีน จะใช้วิธีทุยหนา จุดมุ่งหมายในการรักษาคือ การทำให้เลือดลมไหลเวียนได้สะดวก ระงับความเจ็บปวด ลดการอักเสบและบวม โดยการนวดจะช่วยทำให้ส่วนที่ยึดติดคลายตัว และฟื้นฟูการทำงานของนิ้วให้กลับคืนสู่ปกติ
ขั้นตอนและวิธีการรักษาด้วยการนวดทุยหนา มีทั้งการกดจุด การคลึง การโยก การดึง และการกระตุก แบ่งเป็น 5 ขั้นตอน ดังนี้
1. เริ่มต้นด้วยการสร้างความอบอุ่น คลายกล้ามเนื้อและเส้นเอ็น โดยการใช้หัวแม่มือคลึงจุดที่เป็นปัญหา โดยใช้เวลาประมาณ 2-3 นาที
2. ในขั้นตอนการรักษาแพทย์จีนจะใช้นิ้วกดในจุดที่เจ็บ หนักเบาสลับกันไป ซึ่งในแต่ละนิ้วจะมีจุดที่เจ็บมากกว่า 1 จุดขึ้นไป อาจจะเป็น 2 จุด หรือ 3 จุดก็ได้ โดยกดจุดละประมาณ 30 วินาที
3. ใช้มือหนึ่งจับมือของผู้ป่วยเอาไว้ ส่วนอีกมือหนึ่งจับที่ปลายนิ้วที่ล็อค จากนั้นดึงนิ้วตรง หมุนนิ้วตามเข็มนาฬิกา 8 รอบ และหมุนทวนเข็มนาฬิกา 8 รอบ
4. เมื่อทำในขั้นตอนที่ 3 แล้ว แพทย์จีนจะใช้มือดึงและกระตุกนิ้วที่ล็อคให้ยืดออกมา
5. ใช้นิ้วโป้งและนิ้วชี้ บีบไล่รีดจากโคนนิ้วไปถึงปลายนิ้ว รวม 5 ขั้นตอนใช้เวลาประมาณ 10-15 นาที
โรคนิ้วล๊อคมีโอกาสรักษาหายได้หรือไม่ ?
สามารถรักษาให้หายได้ หากรักษาด้วยวิธีที่ถูกต้อง ที่สำคัญคือ ใช้เวลาในการรักษาไม่นาน แต่ก็มีข้อควรที่ต้องระวัง ผู้ป่วยต้องระมัดระวัง และพยายามดูแลนิ้วมือไม่ให้สัมผัสความเย็น อากาศเย็น ในกรณีอากาศหนาว หรืออยู่เมืองหนาวก็ควรสวมถุงมือเพื่อสร้างความอบอุ่นให้แก่มือและนิ้วมือ
นอกจากนี้ หลังจากการทำงานที่ต้องใช้นิ้วมือเป็นเวลานานๆ ต้องหยุดพักให้นิ้วมือได้พักผ่อนบ้างเป็นระยะๆ อย่าลืมว่า สาเหตุของนิ้วล็อคก็มาจากการใช้งานที่ต่อเนื่องนานติดต่อกันมากเกินไปนั่นเอง
การดูแลตนเองที่ทำได้ไม่ยากเลยก็คือ คือการใช้ผ้าชุบน้ำอุ่นประคบบริเวณนิ้วหรือข้อที่มีอาการเจ็บหรือปัญหานิ้วล็อค เพื่อกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดลมให้ปลอดโปร่งไม่ติดขัด หรือจะแช่มือในน้ำอุ่นๆก็เป็นผลดี
สำหรับคนที่มีปัญหาเรื่องสุขภาพหรือร่างกายอ่อนแอเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว หากมีอาการนิ้วล็อคแทรกซ้อนยิ่งต้องระมัดระวังดูแลตนเองเพิ่มมากขึ้น และต้องปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด ไม่เช่นนั้นแล้ว อาการนิ้วล็อคก็จะไม่หายและกลับมาเป็นซ้ำๆอีก
6 ธ.ค. 2567
26 ก.ย. 2567
9 ธ.ค. 2567