ปลายประสาทเสื่อมจากเบาหวาน

Last updated: 2 ก.ค. 2567  |  42589 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ปลายประสาทเสื่อมจากเบาหวาน

ภาวะเส้นประสาทส่วนปลายเสื่อม เป็นอาการแทรกซ้อนจากโรคเบาหวานที่พบบ่อย โดยส่วนใหญ่มักเกิดอาการหลังจากเป็นโรคเบาหวานนานมากกว่า 10 ปี แต่อาจเกิดช้าหรือเร็วกว่านั้น ขึ้นกับการดูแลรักษาสุขภาพของผู้ป่วยโรคเบาหวานแต่ละราย

เซลประสาท (neurons) ในผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานจะมีเมตาบอลิสึมที่ผิดปกติ ทำให้เกิดการเสื่อมของเซลเส้นประสาท โดยส่วนหางของเซลประสาท (axon) จะเกิดการเสื่อม สภาพ ในลักษณะจากปลายสุดมาสู่ตัวเซลประสาท (dying back)

ดังนั้น เส้นประสาทส่วนที่อยู่ปลายทางสุด จึงกระทบกระเทือนและเกิดอาการก่อน เส้นประสาทใดยาวสุดก็จะมีอาการชัดเจนก่อน ด้วยเหตุนี้ปลายเท้าจึงชาก่อนปลายมือ และชาไล่เพิ่มขึ้นมาเรื่อย ๆ จากปลายนิ้วเท้า มาข้อเท้า มาขาท่อนล่าง จนถึงใต้เข่า ขอบเขตของอาการจึงมีลักษณะเหมือนคนใส่ถุงเท้า หากอาการรุนแรงขึ้น จะมีอาการชาจนปวด (painful neuropathy) หรือหากเส้นประสาทขนาดใหญ่ที่มีปลอกหุ้ม (myelinated nerve fiber) เสื่อมมาก จะทำให้เสียการทรงตัว หรือการเดินและยืนเซ จากการเสียการรับความรู้สึกที่ใช้ควบคุมการเคลื่อนไหว หรือชาจนเดินเซ เรียกว่า sensory ataxia อาจรุนแรงจนล้มเกิดอุบัติเหตุบ่อย หรือเป็นมากจนยืนและเดินไม่ได้


อาการชาจนปวดมีได้หลายลักษณะ ที่พบบ่อย คือ ชาเหมือนไฟลวก หรือเอาพริกทา ชาเจ็บแปล็บ ๆ เหมือนไฟช๊อต หรือเข็มทิ่มแทง ส่วนอาการที่เป็นน้อยกว่าและมักพบในระยะก่อนอาการชาจนปวด คือ ชาเหมือนไม่รู้สึก ชาเหมือนมีแมลงไต่ใต้ผิวหนัง

การรักษา

การรักษาอาการดังกล่าวทั้งหมด มักไม่ประสบผลสำเร็จ แพทย์ทั่วไปรวมทั้งแพทย์ระบบประสาทมักให้ไวตามิน โดยเฉพาะ B1-6-12 เมื่อมีอาการชา และให้กลุ่มยากันชักบางชนิดที่มีผลต่ออาการปวด เช่น Gabapentin จากประสบการณ์พบว่า ไวตามิน B1-6-12 มักได้ผลเฉพาะในรายที่เริ่มมีอาการใหม่ ๆ หรือรับประทานเพื่อป้องกัน ซึ่งต้องรับประทานตั้งแต่ยังไม่มีอาการ หากมีอาการชัดเจนแล้ว มักจะไม่ช่วยให้หายชาได้

ยาในกลุ่มยากันชักได้ผลดีในคนไข้บางราย แต่มีราคาแพงและต้องใช้ไปตลอด เนื่องจากเป็นยารักษาอาการ ไม่ได้ทำให้เส้นประสาทที่เสื่อมดีขึ้น ผู้ป่วยมักมีอาการมากขึ้นเมื่อเส้นประสาทเสื่อมมากขึ้น จึงต้องใช้ยาขนาดสูงขึ้น ทำให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ของยาอยู่เสมอ จนผู้ป่วยทนไม่ไหว เช่น อาการง่วงซึม สมองสับสน วิงเวียนศีรษะ เดินเซ

ดังนั้น ปัจจุบันยังไม่มีคำตอบที่ดีในการรักษาตามแบบฉบับของแพทย์แผนตะวันตก

การรักษาด้วยการฝังเข็มกระตุ้นไฟฟ้า เป็นวิธีรักษาที่ให้ผลดีมาก มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากกว่าการรักษาข้างต้นอย่างเห็นได้ชัดเจน

จากประสบการณ์การรักษาผู้ป่วยที่มีอาการชาดังกล่าวมากกว่า 50 รายพบว่า ผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่มีอาการชาไม่นาน มักหายชาได้สนิท และหากทำการฝังเข็มเป็นระยะ เช่น เดือนละครั้ง จะสามารถป้องกันการเกิดซ้ำได้ สำหรับผู้ป่วยที่เป็นมานาน หรือมีอาการรุนแรงในระดับ ชาจนปวด (painful neuropathy) อาการปวดจะดีขึ้นทุกราย จนสามารถลดการใช้ยากันชัก หรือหยุดยาได้ เพียงแต่อาการจะหายหมดหรือไม่ จะสัมพันธ์กับความรุนแรงของโรคก่อนที่เริ่มรักษาด้วยการฝังเข็ม

อาการที่รักษายากที่สุดคือ sensory ataxia มักจะเป็นในระยะที่เส้นประสาทเสื่อมอย่างรุนแรงที่สุด และเกิดกับเส้นประสาทขนาดใหญ่ แต่การรักษาด้วยการฝังเข็ม หากทำติดต่อกันนานพอ ผู้ป่วยมักกลับมายืนและเดินได้อีกครั้ง โดยหายในระดับที่แตกต่างกัน เช่น จากยืนไม่ได้มาเป็นยืนได้และเดินได้ โดยต้องใช้เครื่องมือช่วย เช่น ไม้เท้าหรือมีคนจูงเดิน หรือจากยืนได้ แต่เดินไม่ได้ มาเป็นเดินได้โดยไม่ต้องมีคนหรืออุปกรณ์ช่วยเหลือ บางรายตอบสนองต่อการรักษาดีมาก จนสามารถเดินต่อเท้าได้ (Tandem walk) ซึ่งถือว่าหายในระดับที่ดีที่สุดก็มี

วิธีการรักษาโดยการฝังเข็ม แพทย์จะเลือกจุดฝังเข็มและวิธีการฝังเข็ม
โดยเลือกใช้จุดฝังเข็มที่อยู่ใต้ระดับเข่าลงมา จุดหลัก และจุดเสริม

  • หากมีภาวะการไหลเวียนเลือดของขาไม่ดี เช่น หลอดเลือดส่วนปลายของขาและเท้าอุดตัน
  • อาการชาอย่างรุนแรงที่ปลายนิ้วเท้า

การใช้เครื่องกระตุ้นไฟฟ้า
การกระตุ้นด้วยไฟฟ้า จัดเป็นการกระตุ้นเข็มแบบบำรุง โดยใช้การเคลื่อนที่ของกระแสไฟฟ้าไปตามทิศทางของเส้นลมปราณ  เลือกคลื่นแบบต่อเนื่อง ใช้ไฟฟ้ากระตุ้นเบา ๆ ไม่ต้องรู้สึก นาน 30 นาที ทำการฝังเข็ม 10 ครั้งนับเป็น 1 รอบการรักษา (course) รอบการรักษาที่ 1 ฝังเข็มสัปดาห์ละ 3 ครั้ง, รอบการรักษาที่ 2 ฝังเข็มสัปดาห์ละ 2 ครั้ง, รอบการรักษาที่ 3 ฝังเข็มสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ต่อเนื่องกัน หลังจากนั้นรักษาสภาพที่ดีที่สุดที่ได้มาด้วยการให้การรักษา 1 ครั้ง ทุก 3 - 4 สัปดาห์ เป็นการรักษาเพื่อคงสภาพที่ดีไว้ (mantainance phase)

ผลการรักษา
ผู้ป่วยเกือบทุกรายจะมีอาการดีขึ้น แต่ต้องเน้นเรื่องการรักษาควบคุมโรคที่เป็นอยู่ซึ่งเป็นสาเหตุที่แท้จริง จำเป็นต้องควบคุมโรคให้ได้ดี เช่น คุมระดับน้ำตาลทั้ง fasting blood sugar และค่าน้ำตาลเฉลี่ยในเลือด HbA1C ให้อยู่ในเกณฑ์ปกติด้วย พบว่าผู้ป่วยที่มีอาการชาทั้งปลายมือและปลายเท้า การฝังเข็มที่ขาทั้งสองข้างดังกล่าวมาข้างต้นเพียงอย่างเดียว สามารถรักษาอาการชาที่ปลายมือได้ด้วย โดยไม่ต้องมาฝังเข็มที่แขนหรือมือเลย 

ผู้ป่วยที่มีอาการชาจนปวด จะค่อยทุเลาลงหลังให้การรักษาประมาณ 15 ครั้ง และค่อย ๆ ลดยาแก้ปวดที่มีฤทธิ์และอาจหยุดยาได้หมดในอนาคต คงไว้แต่ ไวตามิน B1-6-12 รับประทานเพียงอย่างเดียว เพื่อเป็นวัตถุดิบให้เซลประสาทเอาไปใช้ซ่อมแซมตัวเอง 

ผู้ป่วยที่มีอาการชาจนเดินเซ หลายรายกลับมายืนและเดินได้โดยไม่เซ  หรือเซลดลง ทำให้โอกาสเกิดอุบัติเหตุน้อยลงด้วย

แผนกฝังเข็ม คลินิกหัวเฉียวแพทย์แผนจีน
ฝังเข็มรักษาโรคอย่างไร
ฝังเข็มเจ็บไหมอันตรายหรือไม่ ?

ข้อมูลประกอบบทความ
การฝังเข็มรมยา เล่ม 3
กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก
ISBN 978-616-11-0277-7

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้