Last updated: 2 ก.ค. 2567 | 27385 จำนวนผู้เข้าชม |
"โภชนบำบัด" : หมอจีนแนะนำเมนูอาหารที่มีสมุนไพรจีนบำรุงชี่ (Qi) ในผู้ที่อยู่ในกลุ่มชี่พร่อง (QiXu : 气虚)
"ซันเย่า" (ShanYao: 山药) หรือในอีกชื่อหนึ่งว่า "ห่วยซัว"
มีสรรพคุณในการบำรุงชี่ม้าม จากการศึกษาพบว่าในซันเย่ามีสารที่ช่วยในการกระตุ้นระบบการย่อยอาหาร เหมาะกับผู้ที่มีพื้นฐานสุขภาพของร่างกายที่จัดอยู่ในกลุ่มชี่พร่อง โดยเฉพาะชี่ม้ามพร่อง ควรเลือกรับประทานซันเย่า โดยสามารถนำซันเย่าไปตุ๋นเป็นน้ำแกงไก่ได้ค่ะ
วิธีทำคือ นำซันเย่า 100 กรัม ตุ๋นรวมกับเนื้อไก่ 1000 กรัม แล้วปรุงรสตามที่ชอบ หรือนำซันเย่าที่ตากแห้ง มาคั่วบนกระทะร้อนจนกึ่งสุกกึ่งดิบ แล้วนำมาบดเป็นผง รับประทานครั้งละ 20 กรัม
ลักษณะโดยรวมของผู้ที่ "หยวนชี่พร่อง" ลักษณะเด่น คือ
- เหนื่อยง่าย หายใจสั้น เหงื่อออกเอง
- ลักษณะรูปร่าง กล้ามเนื้อไม่กระชับ
- อาการแสดง : พูดเสียงเบา หายใจสั้น ไม่อยากพูด
- อ่อนเพลีย ไม่มีแรง เหนื่อยง่าย
- ขาดชีวิตชีวาเหงื่อออกง่าย ลิ้นสีซีด
- ขอบลิ้นมีรอยฟัน ชีพจรจมอ่อน
สภาวะจิตใจ : ไม่กล้าแสดงออก ไม่ชอบความท้าทาย
ความสามารถในการปรับตัว : ไม่ทนต่อปัจจัยก่อโรคต่าง ๆ เช่น ความเย็น ความร้อน ความชื้น ความร้อนอบอ้าว
แนวโน้มเกิดโรค : มักเป็นหวัดง่ายเมื่ออากาศเปลี่ยน หลังการเจ็บป่วยร่างกายมักฟื้นตัวช้า ภูมิต้านทานอ่อนแอจึงมักมีการเจ็บป่วยเฉียบพลันได้อีก หากป่วยเป็นมะเร็ง ขนาดของก้อนมะเร็งมักขยายโตได้ง่าย ระบบการสร้างเม็ดเลือดไม่มีประสิทธิภาพจึงมีโลหิตจาง ระบบการไหลเวียนของเลือดช้าไม่มีแรงส่งพอ ทำให้ปวดศีรษะ มีเลือดไปเลี้ยงไม่พอเป็นเหตุให้เกิดการคั่งของเลือด ระบบการย่อยไม่มีกำลังจึงมีอาการอาหารไม่ย่อย มักมีอาการท้องเดิน โภชนาการไม่ดี ระบบเมตาบอลิซึมถดถอยจึงแก่เร็ว
ข้อสังเกต : ลักษณะชี่พร่อง มักพบได้บ่อยในเด็กเล็ก และผู้ที่อยู่ในวัยกลางคนจนถึงวัยชรา พบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย รูปร่างผอม หรือดูฉุ ๆ บวม ๆ กล้ามเนื้อเหลวหย่อน ผิวหนังไม่ยืดหยุ่น เวลานั่งดูเหมือนหมดแรง ถ่ายอุจจาระแล้วจะรู้สึกเพลีย มักรู้สึกกลวงโล่งในท้อง ในสตรีเมื่อประจำเดือนหมดจะเพลียมาก เวลาเหนื่อยมักนึกอยากทานของหวาน ๆ
ข้อแนะนำ :
1. ควรปรับสภาพอารมณ์ให้คิดบวกในการใช้ชีวิตประจำวัน ให้กำลังใจตนเองอยู่เสมอ เพื่อเพิ่มความมั่นใจ ควรออกไปสัมผัสกับธรรมชาติ และแสวงหากิจกรรมหรือสิ่งที่ตนสนใจ
2. ไม่ควรหักโหมทั้งทางร่างกายและความคิด หลังการทำงานควรเรียนรู้ในการใช้ชีวิตอย่างปล่อยวาง และควรใช้เวลาว่างในการพักผ่อนเพื่อผ่อนคลายความเครียดและเหนื่อยล้า ควรตั้งสติและปรับสภาพอารมณ์ให้สมดุลอยู่ตลอดเวลา
3. อาหารสำหรับคนพื้นฐานชี่พร่อง ควรต้องปรับให้ระบบการย่อยดูดซึมดีขึ้น จึงจะทำให้ได้รับสารอาหารครบถ้วน
อาหารที่เหมาะ ได้แก่ นม ไข่ ปลา นมผึ้ง ปลาไหล ซุปแม่ไก่แก่ ไข่นกกระทา นกพิราบ อาหารที่ทำจากผลิตภัณฑ์ถั่ว ซันเหย้า พุทราแดง เชอรี่ องุ่น ถั่วลิสง โจ๊กข้าวเหนียว น้ำตาลมอลต์ มีงานวิจัยที่ยืนยันว่า ซุปแม่ไก่ และนมผึ้ง จะช่วยให้การทำงานของภูมิต้านทานของร่างกายดีขึ้น ช่วยให้ร่างกายกระฉับกระเฉง ขจัดอาการอ่อนเพลีย
ในผู้ที่ถ่ายเหลวบ่อยให้เน้นพุทราแดง ซันเหย้า ในช่วงฟื้นไข้ควรต้มโจ๊กข้าวเหนียว และน้ำซุปเนื้อวัว และหลีกเลี่ยงอาหารที่มีฤทธิ์บั่นทอนชี่ เช่น ผักบุ้ง หัวผักกาดสด (หัวไชเท้า) เป็นต้น
Cr.Photo : yestocooking.files.wordpress.com