Last updated: 2 ก.ค. 2567 | 43811 จำนวนผู้เข้าชม |
โรคนิ้วล็อก (Trigger Finger) หรือ โรคปลอกหุ้มเอ็นนิ้วมืออักเสบ (Stenosing flexor tenosynovitis)
เป็นภาวะที่มีสาเหตุเกิดจากการหนาตัวขึ้นของปลอกหุ้มเส้นเอ็นบริเวณฐานของนิ้วมือ (A1-pulley) ซึ่งอยู่ตรงกับหัวกระดูกฝ่ามือ (metacapal head - MC head) ทำให้เส้นเอ็นเคลื่อนผ่านปลอกหุ้มเส้นเอ็นที่หนาขึ้นนี้ด้วยความยากลำบาก มีการเสียดสีทำให้เกิดอาการปวด หรือติดล็อกได้ ซึ่งนิ้วเกิดล็อกเมื่องอนิ้ว แล้วไม่สามารถกลับมาเหยียดตรงได้ง่าย ทำให้ผู้ป่วยใช้งานไม่สะดวกเกิดความทุกข์ทรมาน
กายวิภาคศาสตร์ของเส้นเอ็นที่ทำหน้าที่งอนิ้วมือ
เส้นเอ็นของนิ้ว (Tendon) ทำหน้าที่งอ ข้อนิ้วประกอบด้วยเส้นเอ็น 2 เส้น คือเส้นเอ็นของ flexor digitorum superficailis (FDS) และ flexor digitorum profundus (FDP) โดยเส้นเอ็นทั้งสอง จะวางตัวอยู่ด้วยกัน วิ่งลอดเข้าไปในปลอกหุ้มเอ็น (Pulley) เกาะที่ข้อนิ้วข้อกลางและข้อปลายตามลำดับ ทำให้สามารถงอนิ้วได้ ปลอกหุ้มเอ็น (Pulley) ทำหน้าที่ยึดเส้นเอ็น (Tendon) ให้ติดกับกระดูกคล้ายรอกคือช่วยลดระยะทางจากจุดหมุนของข้อต่อถึง จุดกึ่งกลางของเส้นเอ็นให้น้อยลง ทำให้ข้อสามารถเคลื่อนที่ได้มากขึ้น โดยจะมีระบบ pulley 2 ระบบ ได้แก่ Annular Pulley (A pulley) และ Cruciate Pulley (C pulley) โดย A pulley จะมีความหนา และแข็งแรงกว่า C pulley สามารถยึดเส้นเอ็นให้ติด กับกระดูกได้ดีกว่า ประกอบด้วย 5 pulley คือ A1- A5 pulley ส่วนปลอกหุ้มเอ็น cruciate ประกอบไป ด้วย 3 pulley คือ C1-C3 pulley ระหว่างปลอกหุ้ม เอ็นและเส้นเอ็นนั้นจะมีของเหลวเป็นสารหล่อลื่นอยู่ ภายใน (synovial membrane) เพื่อลดแรงเสียดทาน ในขณะที่เส้นเอ็นมีการเคลื่อนตัว
กลไกของการเกิดโรคนิ้วล็อก
Cr.Photo : www.bristolhandsurgery.co.uk
การเกิดโรคนิ้วล็อกมักพบว่าเกิดจากการใช้งานมากเกินไป ทำให้เกิดแรงเสียดทานกระทำซ้ำๆ ระหว่างเส้นเอ็นและปลอกหุ้มเอ็น A1 pulley ส่งผลให้ปลอกหุ้มเอ็น A1 และเส้นเอ็นที่ใช้ งอนิ้ว (Flexor tendon) หนาตัวผิดปกติจนบางครั้ง มีลักษณะเป็นก้อนนูน (nodule) ทำให้เส้นเอ็นงอนิ้ว เคลื่อนผ่านปลอกหุ้มเอ็นที่อยู่บริเวณโคนนิ้วได้ลำบาก เราเรียกก้อนนูนนี้ว่า Notta’s node โดยจะพบการเกิด Notta’s Node ได้ในผู้ที่เป็นโรคนิ้วล็อก พบว่าเส้นเอ็นของนิ้วโป้งมักมีอาการมากกว่านิ้วอื่น เนื่องจากแรง ที่มากระทำต่อเส้นเอ็นทำมุมเป็นมุมแหลมกับปลอกหุ้มเอ็น ซึ่งตรงกันข้ามกับเอ็นของนิ้วอื่นๆ
โรคนิ้วล็อกสามารถแบ่งออกเป็น ได้แก่ โรคนิ้วล็อกแต่กำเนิด โรคนิ้วล็อกในผู้ใหญ่ และ โรคนิ้วล็อกที่เกิดจากอาการบาดเจ็บจากกีฬา
โรคนิ้วล็อกแต่กำเนิด Congenital trigger finger
ซึ่งปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน พบการเกิดที่นิ้วหัวแม่มือบ่อยกว่านิ้วอื่น ผู้ป่วยจะมีอาการตั้งแต่เด็ก โดยพ่อแม่มักจะพามาพบแพทย์ตอนอยู่ในช่วงอายุประมาณ 3 เดือนถึง 1 ปี ด้วยอาการนิ้วหัวแม่มือติดอยู่ในท่างอข้อนิ้ว (interphalangeal joint)
การรักษาสามารถเริ่มด้วยการยืด ดัด หรือดามนิ้ว ซึ่งพบว่ามีโอกาสประสบความสำเร็จประมาณร้อยละ 30 ในรายที่อาการไม่ดีขึ้นควรพิจารณารักษาด้วยการผ่าตัดเมื่ออายุประมาณ 1 ปี จากผลการผ่าตัดมักพบการหนาตัวคล้ายปม
(Notta node) เกิดขึ้นที่เส้นเอ็น flexor pollicis longus
โรคนิ้วล็อกที่เกิดในผู้ใหญ่ Adult trigger finger
มีสาเหตุมาจากการออกแรงในการกำมือหรืองอนิ้วบ่อยๆ จนทำให้เกิดการหนาตัวของปลอกหุ้มเส้นเอ็นจนกดรัดการเคลื่อนไหวของเส้นเอ็น โรคนี้พบบ่อยในผู้หญิงมากกว่าผู้ชายและพบมากในช่วงอายุ 30-60 ปี มักเกิดกับมือข้างถนัดที่ใช้งาน นิ้วที่เป็นบ่อยได้แก่ นิ้วหัวแม่มือ นิ้วกลางและนิ้วนาง อาจเป็นเพียงนิ้วเดียวหรือเป็นพร้อมกันหลายนิ้วก็ได้และอาจเป็นที่มือข้างเดียวหรือทั้ง 2 ข้างก็ได้ ผู้ป่วยส่วนใหญ่มาพบแพทย์ด้วยอาการปวดบริเวณโคนนิ้ว บางรายอาจคลำได้ก้อนนูนขึ้นบริเวณ (MC head) ด้านฝ่ามือ เมื่อโรคเป็นมากขึ้น ผู้ป่วยพบว่านิ้วมือติดขัดหรือล็อค เคลื่อนไหวไม่สะดวก โดยเฉพาะตอนเช้าหลังตื่นนอนและมีอาการปวดมาก
โรคนิ้วล็อกที่เกิดจากบาดเจ็บจากกีฬาจากอิเล็กทรอนิกส์ (E-Sport Injuries)
กีฬาอิเล็กทรอนิกส์ชนิดหนึ่ง ย่อมาจากคำว่า (Electronic Sports) เป็นกีฬาอิเล็กทรอนิกส์ที่กำลังเป็นที่นิยมทั่วโลก มีทั้งประเภทบุคคลและประเภททีม ซึ่งเป็นการพัฒนาจากการเล่นเกมแบบเดิมๆ ที่ต้องมีการแข่งขันการเพื่อชัยชนะ ซึ่งกีฬาชนิดนี้เกิดขึ้นจากเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้การสร้างทีมแข่งขันไม่ได้หยุดอยู่ที่เพียงกีฬาปกติเท่านั้น แต่ยังมาถึงในวงการเกมอีกด้วย ซึ่งประกอบไปด้วย นักกีฬา อุปกรณ์กีฬา (เมาส์, คีย์บอร์ด, หูฟังหรืออื่นๆ) โดยใช้ คอมพิวเตอร์ ฮาร์ดแวร์ชนิดต่างๆเป็นสนามแข่งขันและใช้โลกของไซเบอร์เป็นโลกแห่งการแข่งขัน ซึ่งปัจจุบันได้มีทีมกีฬาและการแข่งขัน E-Sports เกิดขึ้นมากมายในระดับโลก เช่น World Cyber Games championship ซึ่งเปรียบได้กับโอลิมปิคของเกม และอื่นๆอีกมากมาย ซึ่งรายการเหล่านี้มีผู้เข้าร่วมการแข่งขันเป็นจำนวนมาก
เนื่องจากกีฬาชนิดนี้ส่วนใหญ่ผู้เล่นต้องใช้คอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟนเป็นอุปกรณ์หลักในการแข่งขัน ดังนั้นลักษณะการนั่งเล่นหากอยู่ในท่าไม่เหมาะสม ไม่ถูกต้องตามหลักการยศาสตร์ (Ergonomics) ทำให้เกิดอาการนิ้วล็อคและปวดศีรษะจากความเครียดได้ง่าย การเกร็งนิ้วมือขณะใช้คอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟนติดต่อกันเป็นเวลานาน ทำให้เปลือกหุ้มเส้นเอ็นเกิดการอักเสบหรือบวมจนทำให้ขาดความยืดหยุ่น นิ้วไม่สามารถยืดหรืองอได้ตามปกติซึ่งอาการปวดที่พบได้บ่อยคือ “โรคปลอกหุ้มเอ็นนิ้วมืออักเสบ” และ “ปวดศีรษะจากความเครียด”
อาการและอาการแสดงแบ่งได้เป็น 4 ระยะ
ระยะแรกจะมีอาการปวดที่บริเวณโคนนิ้วมือ ขณะเคลื่อนไหวนิ้วจะมีอาการติดสะดุด กำมือไม่ถนัด โดยเฉพาะตอนเช้าหลังตื่นนอน เมื่อใช้มือไปสักพัก หนึ่งจะกำมือได้ดีขึ้น บางครั้งการงอแล้วเหยียดนิ้วมือจะได้ยินเสียงดัง โดยอาจมีการล็อกของนิ้วเกิดขึ้น เหยียดออกเองไม่ได้ ต้องใช้มืออีกข้างมาช่วยเหยียดนิ้วออก หากปล่อยไว้ไม่รักษาจะเกิดการติดแข็งของข้อต่อนิ้ว ไม่สามารถเหยียดหรืองอนิ้วได้ แบ่งออกเป็น 5 ระดับดังต่อไปนี้
ระดับ 0 : เจ็บนิ้วขณะงอ
ระดับ 1 : Inflammation
มีความยากลำบากขณะงอ เหยียดนิ้วหรือพบเสียงดังร่วมด้วย แต่ยังไม่มีอาการสะดุดขณะงอนิ้วมือชัดเจน ผู้ป่วยมีอาการปวดบริเวณฝ่ามือตรงกับ A1pulley บริเวณ MC head ของนิ้วนั้นๆ การตรวจร่างกายพบว่ามีการกดเจ็บบริเวณดังกล่าว แม้เพียงออกแรงกดเบาๆ และเมื่อให้ผู้ป่วยขยับงอหรือเหยียดนิ้ว จะรู้สึกไม่ราบเรียบเหมือนปกติ แต่ยังไม่มีอาการสะดุดชัดเจน (uneven flexion)
ระดับ 2 : Triggering
เมื่อพยาธิสภาพเรื้อรังมากขึ้นปลอกเส้นเอ็น A1 pulley จะมีการหนาตัวมากขึ้นทำให้เริ่มมีการขัดขวางการเคลื่อนไหวของเส้นเอ็นที่ใช้ในการงอนิ้วมือชัดเจนขึ้น นอกเหนือจากการกดเจ็บบริเวณ A1 pulley เหมือนระยะแรกแล้วนั้น เมื่อให้ผู้ป่วยงอเหยียดนิ้วที่มีปัญหาสามารถสังเกตเห็นการสะดุด (triggering, snapping) เวลาที่ผู้ป่วยงอและเหยียดนิ้วมือ แต่ผู้ป่วยยังสามารถเหยียดนิ้วออกเองได้ กรณีที่อาการสะดุดไม่ชัดเจนให้ผู้ตรวจใช้นิ้วมือกดบริเวณ A1 pulley ของผู้ป่วยเบาๆ ทำให้เห็นอาการสะดุดชัดเจนขึ้น
ระดับ 3 : Locking
การเคลื่อนไหวของเส้นเอ็นถูกขัดขวางมากขึ้น จนกระทั่งเกิดการล็อค คือเมื่อให้ผู้ป่วยงอนิ้วลงมาเต็มที่ผู้ป่วยจะไม่สามารถเหยียดนิ้วออกได้เอง ต้องใช้มืออีกข้างช่วยเหยียด (passive extension) ผู้ป่วยบางรายอาจให้ประวัติว่าไม่สามารถงอนิ้วลงมาได้เองเนื่องจากนิ้วอยู่ในลักษณะท่างอค้างไม่สามารถงอลงมาได้และมีอาการเจ็บปวดมากร่วมด้วย
ระดับ 4 : Flexion Contracture
เมื่อพยาธิสภาพเรื้อรังมากขึ้นผู้ป่วยมีอาการเจ็บปวดมากขณะขยับนิ้ว เมื่อใช้งานเกิดการยึดติดของเส้นเอ็นงอนิ้ว flexor digitorum superficialis ซึ่งอยู่ชิดกับปลอกเส้นเอ็น A1 pulley ทำให้ข้อ proximal interphalangeal joint (PIPJ) อยู่ในท่างอ ไม่สามารถเอาอีกมือช่วยเหยียดนิ้วออกให้ตรงได้
การตรวจร่างกาย
การรักษาโรคนิ้วล็อกตามศาสตร์การแพทย์แผนจีน
ในทางการแพทย์แผนจีนจะเรียกโรคนิ้วล็อกว่า เป็นการบาดเจ็บของเส้นเอ็นกล้ามเนื้อ ( 伤筋 ) ซึ่งสาเหตุเกิดจากการใช้งานที่หักโหมจนทำให้เกิดอาการบาดเจ็บ และมีความเย็น ความชื้น ร่วมด้วยมากระทำ อุดกั้นเส้นลมปราณ จึงทำให้ชี่และเลือดเกิดการติดขัดไหลเวียนไม่คล่อง เมื่อชี่และเลือดไม่สามารถไปหล่อเลี้ยงเส้นเอ็นกล้ามเนื้อได้ จึงทำให้เกิดอาการเจ็บปวดขึ้น
กลไกของการเกิดโรคนิ้วล็อกตามศาสตร์การแพทย์แผนจีน
ตามหลักตารางปัญจธาตุเส้นเอ็นมีความสัมพันธ์กับอวัยวะตับ ไม้ ตา และอารมณ์โกรธ ดังนั้นหากมีอารมณ์ที่ฉุนเฉียวมาก ประกอบกับการใช้สายตากับคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟนเป็นระยะเวลานาน อาจทำลายการทำงานของตับ จากนั้นจะส่งผลต่อการทำงานของเส้นเอ็นได้ เมื่อเส้นเอ็นขาดการบำรุงหล่อเลี้ยงเป็นระยะเวลานาน เลือดลมไหลเวียนไม่สะดวก อาจเกิดการอุดกลั้นของเลือดหรือขาดการหล่อเลี้ยงในบริเวณที่ใช้งานหนักเป็นพิเศษ เสมือนกับไม้แห้งที่เสียดสีกันอาจทำให้เกิดประกายไฟ หรือต้นไม้ที่ขาดน้ำก็อาจแห้งตายได้ เส้นเอ็นจึงเกิดการเกร็งตึง
หลักการรักษา : กระตุ้นการไหลเวียนเลือดระงับปวด คลายเส้นเอ็นทะลวงเส้นลมปราณ (活血止痛,舒筋通络)
การทุยหนา : ช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือด ทำให้ออกซิเจนไปหล่อเลี้ยงกล้ามเนื้อได้มากขึ้น คลายความอ่อนล้า คลายความหนาแน่นของพังผืด ช่วยให้ข้อต่อยืดหยุ่น ลดโอกาสเสี่ยงของอาการปวดเกร็งหรือเป็นตะคริว
การฝังเข็ม :
พอกยา :
อบยา :
เทคนิคการดูแลตัวเองเพื่อลดอาการบาดเจ็บจากโรคนิ้วล็อก
1. สำหรับนักกีฬา ก่อนเล่นกีฬาควรยืดกล้ามเนื้อบริเวณต้นคอบ่า เพิ่มความยืดหยุ่นกล้ามเนื้อ ประมาน 10-15 นาที
2. ในระหว่างเล่นกีฬาควรจัดท่านั่งตามหลักการยศาสตร์ (Ergonomics) คือ การจัดหรือปรับสภาพแวดล้อมของสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ของเครื่องมือการทำงานให้เข้ากับผู้ปฏิบัติงานได้ รวมไปถึงการปรับสรีระของร่างกายเพื่อให้การทำงานสะดวกสบายขึ้น
3. หลีกเลี่ยงการเกร็งค้างฝ่ามือ การจับ บีบ ถือของเป็นระยะเวลานานกว่า 30 นาทีขึ้นไป
4. หมั่นแช่น้ำอุ่นสม่ำเสมอ ครั้งละ 15-20 นาที
5. ดื่มน้ำเปล่าอย่างน้อยวันละ 2 ลิตร
6. เน้นยืดกล้ามเนื้อบริเวณฝ่ามือ เส้นเอ็นบริเวณฐานของนิ้วมือ (A1-pulley) ด้วยท่ากายบริหารคัมภีร์เปลี่ยนเส้นเอ็น อี้จินจิง (易筋经) ช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงให้กระดูกและเส้นเอ็น เสริมสร้างกำลังภายใน บำบัดและป้องกันโรค
7. ออกกำลังกายเพื่อเพิ่มการเคลื่อนไหวของเส้นเอ็นนิ้วมือ (Tendon Gliding Exercise) ช่วยรักษาและฟื้นฟูมือ โดยทำท่าละ 10 ครั้ง แต่ละท่าค้างไว้ 5 วินาที เช้า – เย็น
ข้อมูลประกอบการรักษา
โดย แพทย์จีน ธีรา อารีย์
คลินิกทุยหนาและกระดูก
เอกสารอ้างอิง
1. การรักษาโรคนิ้วล็อกด้วยอุปกรณ์ดามนิ้ว
file:///C:/Users/TIssue/Downloads/Documents/150682-Article%20Text-405008-1-10-20181016.pdf
2. เอกสารประกอบการสอนเรื่อง ปัญหาที่พบบ่อยทางมือ (Common Hand Problems) โรคนิ้วติดสะดุด (Trigger digits)
file:///C:/Users/TIssue/Downloads/Documents/Common_hand56.pdf
3. การฝังเข็ม - รมยา เล่ม 1 กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ.2551
4. ตำรับยาจีนที่ใช้บ่อยในประเทศไทยฉบับสมบูรณ์ กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกกระทรวงสาธารณสุข พ.ศ.2554
15 พ.ย. 2567
20 ม.ค. 2568
12 พ.ย. 2567
26 ก.ย. 2567