ยาจีน และข้อควรระวังในการใช้

Last updated: 2 ก.ค. 2567  |  98381 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ยาจีน และข้อควรระวังในการใช้

ปัจจุบันคนส่วนใหญ่ มีความเชื่อว่า “ใช้สมุนไพรจีน” ไม่มีผลข้างเคียงต่อร่างกาย โดยเฉพาะผู้ป่วยที่ทานยาปฏิชีวนะต่อเนื่องเป็นเวลานานเกิดส่งผลกระทบต่อร่างกาย ทำให้ผู้ป่วยจึงหันมาสนใจรักษาด้านแพทย์แผนตะวันออก หรือการใช้ยาสมุนไพรจีนกันมากขึ้น แต่การรับประทานยาจีนนั้น หากเลือกใช้ยาสมุนไพรจีนที่ไม่ถูกต้อง จะส่งผลกระทบร้ายแรงต่อร่างกายได้เช่นกัน


ใช้ยาสมุนไพรจีนอย่างไรให้ปลอดภัย?

เนื่องจาก “ยาสมุนไพรจีน” ลักษณะเด่นในการรักษานั้น มีส่วนผสมของสมุนไพรที่มาจากธรรมชาติ แต่การใช้สมุนไพรแต่ละชนิดจะให้บทบาทหรือสรรพคุณที่แตกต่างกันออกไป เช่น สมุนไพรที่ทำหน้าที่เป็นตัวยาหลัก สมุนไพรเป็นตัวประกอบ สมุนไพรที่เป็นตัวควบคุมการทำงานของระบบในร่างกาย และสมุนไพรที่เป็นตัวยาเสริมที่ทำหน้าที่ปรับสมดุลในร่างกาย


ซึ่งหลักสำคัญในการรับประทานยาจีนที่ถูกต้อง ต้องขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายและภาวะสภาพแวดล้อมในการใช้ชีวิตประจำวันของเรา หากต้องการใช้สมุนไพรในการรักษาโรค จึงจำเป็นต้องมีการตรวจวินิจฉัยจากแพทย์ หรือมีผู้เชี่ยวชาญให้คำแนะนำเลือกสมุนไพรให้เหมาะสมกับร่างกาย เพราะสภาพร่างกายบางคนไม่เข้ากับตัวยาสมุนไพรบางชนิด ทำให้เกิดอาการหรือเกิดผลข้างเคียงต่างๆ ได้ ดังนั้น  แนะนำข้อห้ามและข้อควรระวัง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลข้างเคียงและปลอดภัย


ข้อห้ามการใช้ยาสมุนไพรจีน มีดังนี้

1. ข้อห้ามในหญิงสตรีมีครรภ์
       
สำหรับหญิงมีครรภ์ในการใช้ยา ตัวยาบางชนิดมีผลต่อทารกในครรภ์ ทำให้แท้งลูกได้ จึงห้ามใช้ในหญิงมีครรภ์ ซึ่งตัวยาส่วนใหญ่ในกลุ่มนี้มักมีพิษมาก เช่น ปาโต๊ว (สลอด) , เซียนหนิว , เหยียนฮวา , ซานหลิง , ต้าจี๋ และกันสุ้ย   

ตัวยาบางชนิดแพทย์จีนจะต้องใช้อย่างระมัดระวังในหญิงมีครรภ์เนื่องจากเป็นตัวยาที่มีฤทธิ์กระจายชี่และเลือดทำให้เลือดไหลเวียนเช่น เถาเหริน (เมล็ดท้อ)  หงฮวา (ดอกคำฝอย) มีฤทธิ์ขับของเสียตกค้าง และขับถ่ายพิษร้อน ต้าหวง (โกฐน้ำเต้า) มีฤทธิ์ระบาย ขับพิษร้อน โร่วกุ้ย (อบเชยจีน) มีฤทธิ์ให้ความอบอุ่น เสริมหยางระบบไต เป็นต้น  ดังนั้น หากไม่จำเป็นจริงๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ตัวยาดังกล่าวในหญิงมีครรภ์


2. ข้อห้ามใช้ยาในบางกลุ่มอาการ
สำหรับกลุ่มอาการบางอย่างที่ใช้ยาจีนบางชนิด อาจทำให้เกิดผลเสียในการรักษาและทำลายสุขภาพร่างกายของผู้ป่วย เช่น หมาหวง มีสรรพคุณเป็นยาขับเหงื่อ แก้หอบ เหมาะสำหรับโรคไข้หวัดจากการกระทบเย็น ไม่มีเหงื่อ ไอหอบ เนื่องจากชี่ปอดไม่กระจาย จึงห้ามใช้กับผู้ป่วยที่มีอาการอ่อนแอ เหงื่อออกมาก ไอหอบ เนื่องจากปอดพร่อง  และการใช้ยา ซื่อหนี้ส่าน กับผู้ป่วยโรคความดันสูง เป็นต้น

3. ข้อห้ามการใช้ยาสมุนไพรบางชนิด
เป็นข้อห้ามสำหรับการใช้ยาสมุนไพรบางชนิดร่วมกัน เพราะทำให้ประสิทธิภาพสรรพคุณของฤทธิ์ยาในการรักษาลดลง และทำให้เกิดพิษ ซึ่งสมุนไพรบางชนิดมีพิษที่รุนแรง ส่งผลถึงแก่ชีวิตได้ แต่ถ้าเจอพิษที่ไม่รุนแรง ก็ส่งผลเสียต่อร่างกายได้เช่นกัน

4. ข้อห้ามการรับประทานอาหารในขณะรับประทานยาจีน
ในการรับประทาทนอาหารบางชนิดระหว่างการรับประทานยาจีนนิยมเรียกว่า “ของแสลง” กล่าวคือ ในช่วงเวลาที่รับประทานยาควรงดดื่มของที่มาฤทธิ์เย็น ทำให้การดูดซึมยาได้ไม่ดี เช่น น้ำเย็น ของมัน ของคาว และอาหารที่ย่อยยากหรือมีรสจัด จึงไม่เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีไข้สูง  และยาจีนที่มีฤทธิ์อุ่นร้อน ไม่ควรรับประทาณร่วมกับ หน่อไม้ หัวไชเท้า จะทำให้ไปทำลายสรรพคุณของตัวยา

ข้อควรระมัดระวัง

1.  หยุดรับประทานทันทีหากเกิดอาการแพ้  
สมุนไพรบางชนิดสามารถทำให้เกิดอาการแพ้ได้เช่นกัน ผื่นขึ้น ปวดศีรษะ อาเจียน หากมีอาการเหล่านี้หลังจากรับประทานยาจีน แนะนำให้หยุดรับประทานทันที

2. เกิดอาการระคายเคืองหลังจากรับประทานยาจีน
ในการรับประทานยาจีน ส่วนใหญ่จะแนะนำให้รับประทานยาช่วงที่ท้องว่าง หรือดื่มก่อนอาหาร เพราะทำให้การดูดซึมของตัวยานั้นได้ง่ายและเร็วขึ้น แต่ในบางชนิดมีฤทธิ์ที่ค่อนข้างรุนแรง จึงไม่เหมาะสมกับผู้ป่วยที่เป็นโรคกระเพาะ ทำให้ระคายเคืองเกิดอาการปวดท้องได้

3. ควรระมัดระวังหากรับประทานยาจีนร่วมกับยาปฏิชีวนะ (ยาฝรั่ง)
สำหรับคนป่วยที่รับประทานยาปฏิชีวนะ หรือยาฝรั่ง เป็นประจำ หากต้องการรับประทานยาสมุนไพรจีนร่วมด้วย ควรเว้นระยะห่างอย่างน้อย 1 ชั่วโมง แต่สมุนไพรบางชนิดก็ไม่สามารถรับประทานร่วมกันได้  เพราะทำให้เกิดการขัดขวางตัวยาชนิดนั้นๆ ออกฤทธิ์ได้ไม่เต็มที่ ทำให้ประสิทธิภาพการรักษาลดลง ดังนั้น จึงขอคำแนะนำและควรปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทุกครั้ง

Q : ทานยาสมุนไพรจีนมีผลข้างเคียงหรือไม่ ?
ยาสมุนไพรจีนหรือยาสมุนไพรไทยหรือยาแผนปัจจุบัน ต่างก็มีผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้ ส่วนใหญ่แล้วยาสมุนไพรจะมีผลข้างเคียงน้อยกว่ายาแผนปัจจุบัน ตัวอย่างเช่น อาการ คลื่นไส้ อาเจียน แพ้ผื่น หรือผลข้างเคียงที่รุนแรง (ความเป็นพิษต่อตับ ไต หรืออวัยวะอื่น) ซึ่งผลข้างเคียงและความเป็นพิษก็จะมีหลายปัจจัย เช่น สภาพร่างกายของแต่ละบุคคล อายุ เพศ ปริมาณยา ระยะเวลาและวิธีการใช้ยา นอกจากนี้การใช้ยาหลายชนิดร่วมกันในการรักษารวมถึงอาหารที่รับประทาน อาจทำให้เกิดอันตรกิริยาของยากันเองหรือยากับอาหารทำให้มีผลต่อระบบต่าง ๆ ของร่างกายได้  

แนะนำว่าหากรับประทานยาสมุนไพรจีนแล้วเกิดผลข้างเคียงหรือผลอันไม่พึงประสงค์ขึ้น ควรหยุดยาและปรึกษาแพทย์ ในการใช้สมุนไพรจีน ควรอยู่ภายใต้การควบคุม ดูแลของแพทย์จีน จะทำให้การใช้มีความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น

Q : สมุนไพรจีนสามารถทานคู่กับยาแผนปัจจุบันได้หรือไม่ ?
หลักพิจารณาการใช้ยาสมุนไพรจีนร่วมกับยาแผนปัจจุบัน ต้องดูตามความเหมาะสมของสภาพร่างกาย ความรุนแรงของโรคที่เป็น รวมถึงปัจจัยอื่น ๆ ในทางปฏิบัติแล้ว ผู้ป่วยที่มาพบแพทย์ ต้องแจ้งประวัติการใช้ยาให้แพทย์ทราบอย่างละเอียด เพื่อเป็นข้อมูลในการประกอบการพิจารณา ซึ่งขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ในการเลือกใช้ยา โดยทั่วไปแล้วหากใช้ร่วมกัน ควรเว้นช่วงการรับประทานยาสมุนไพรจีนและยาแผนปัจจุบันให้ห่างกันประมาณ 1 ชั่วโมง

Q : รูปแบบยาต้ม ยาผงเคอลี่ ยาเม็ดสำเร็จรูป มีความเหมาะสมกับผู้ป่วยกลุ่มใด และให้ผลการรักษาที่แตกต่างกันหรือไม่ ?
ยาต้ม คือการนำยาสมุนไพรจีน (อิ่นเพี่ยน) มาต้มกับน้ำ แล้วรับประทานโดยทั่วไปแล้วยาต้มนั้นเหมาะสมกับโรคในระยะเฉียบพลันและที่มีอาการรุนแรง เนื่องจากรูปแบบยาต้มสามารถดูดซึมผ่านลำไส้เข้าสู่กระแสเลือดและออกฤทธิ์ได้อย่างรวดเร็ว มีจุดเด่นตรงที่แพทย์สามารถตั้งสูตรตำรับปรับชนิดของยาและปริมาณให้เหมาะสมกับผู้ป่วยเฉพาะรายได้ ทำให้ผลการรักษานั้นได้ผลดี แต่มีข้อด้อยตรงที่วิธีการต้มยาที่ใช้เวลานานและการพกพาอาจจะไม่สะดวก มีกลิ่นและรสยาที่ค่อนข้างฉุน

ยาเคอลี่ คือการนำยาสมุนไพรจีน (อิ่นเพี่ยน) มาผ่านกรรมวิธีการสกัดแล้วทำให้แห้งอยู่ในรูปแบบผงที่มีลักษณะเป็นเกล็ด โดยทั่วไปแล้วมีความเข้มข้นสูงกว่ายาต้ม จึงทำให้ขนาดของยาที่รับประทานนั้นน้อยกว่า มีความสะดวกในการพกพา เพียงแค่ผสมชงกับน้ำอุ่นก็สามารถรับประทานได้ทันที มีกลิ่นและรสของยาที่อ่อนลง ทั้งนี้แพทย์จีนจะเป็นผู้ที่กำหนดขนาดรับประทานเคอลี่โดยเปรียบเทียบกับยาต้ม

ยาสำเร็จรูป คือยาเตรียมรูปแบบต่าง ๆ ที่มีหลากหลาย มีรูปแบบในการรับประทานที่พบเห็นทั่วไป เช่น แคปซูล ยาเม็ดลูกกลอน ยาเม็ดตอก (tablet) รูปแบบยาใช้ภายนอก เช่น ยาผง ยาขี้ผึ้ง ครีม โดยทั่วไปยาสำเร็จรูปนั้นเหมาะกับโรคเรื้อรัง หรืออาการของโรคไม่รุนแรงมากนัก ใช้ในการรักษาควบคุมอาการของโรคในระยะยาว และใช้กับกลุ่มผู้ป่วยทั่วไป จะไม่ได้เฉพาะเจาะจงต่อผู้ป่วยรายใดรายหนึ่งเหมือนกับยาต้มหรือยาเคอลี่

แพทย์แผนจีนจะเป็นผู้พิจารณาเลือกรูปแบบยาให้ตรงกับผู้ป่วย โดยจะพิจารณาโรคที่เป็น รวมถึงความรุนแรงของอาการและช่วงระยะเวลารักษา การดำเนินของโรคอยู่ในช่วงใด โดยหากเลือกใช้ได้อย่างเหมาะสม ข้อเด่นข้อด้อยของยาแต่ละรูปแบบก็จะให้ผลการรักษาที่ดีเช่นกัน

Q : ยาสมุนไพรจีนมีสเตียรอยด์หรือไม่ ?
โดยธรรมชาติของสมุนไพรจะไม่มียาสเตียรอยด์ที่เป็นสารสังเคราะห์ ซึ่งสเตียรอยด์ที่เป็นสารสังเคราะห์นั้นถือได้ว่าเป็นยาที่มีคุณอนันต์ เมื่อนำมาใช้ในการรักษาทางคลินิกจะให้ผลการรักษาที่เห็นผลรวดเร็ว แต่ในทางกลับกันก็นำมาซึ่งผลข้างเคียงมากมาย โดยจะส่งผลเสียต่อระบบต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น ระบบภูมิคุ้มกัน ระบบต่อมไร้ท่อ และอื่น ๆ จึงได้มีผู้หวังจะใช้ประโยชน์จากสเตียรอยด์สังเคราะห์ นำมาปนปลอมในยาสมุนไพรรูปแบบต่าง ๆ โดยที่พบส่วนมากจะเป็นยาเม็ดลูกกลอน ซึ่งความจริงแล้วยาเม็ดลูกกลอนเป็นการนำผงยาสมุนไพรหลายชนิดมาผสมกับน้ำผึ้งซึ่งเป็นกระสายยาปั้นให้เป็นลูกกลอน ไม่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์สังเคราะห์ แต่มีองค์ประกอบที่หลากหลายซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการรักษาโรคต่าง ๆ โดยทั่วไปสมุนไพรบ้างชนิดอาจจะมีสารสเตียรอยด์ตามธรรมชาติ (Natural Steroid) ซึ่งไม่เหมือนกับยาสเตียรอยด์สังเคราะห์ (Synthetic Steroid) จึงไม่ส่งผลเสียต่อร่างกาย

ดังนั้น การใช้ยารูปแบบยาลูกกลอนหรือรูปแบบอื่นๆ ควรจะพิจารณาเลือกโดยดูจากฉลากยาว่ามีการขึ้นทะเบียนตำรับยาถูกต้องหรือไม่ มีการระบุองค์ประกอบของยาอย่างชัดเจนหรือไม่ รวมถึงสามารถคัดกรองการปนปลอมยาสเตียรอยด์สังเคราะห์ จากชุดตรวจสารสเตียรอยด์สังเคราะห์ ของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ หรือส่งตรวจไปยังห้องปฏิบัติการที่ได้มาตรฐาน เพื่อให้เกิดความมั่นใจและความปลอดภัยในการใช้ยา

Q : จะมั่นใจได้อย่างไรว่ายาจีนมีความปลอดภัยและมีคุณภาพ ?
การเลือกใช้ยาสมุนไพรจีน สามารถพิจารณาจากแหล่งผลิตและสถานประกอบโรคศิลปะว่าได้รับอนุญาตถูกกฏหมายหรือไม่ ถ้าเป็นยาสมุนไพรจีนที่นำไปต้มเอง อาจพิจารณาเลือกจากความน่าเชื่อถือของสถานประกอบการรวมถึงแหล่งข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถือ ซึ่งสมุนไพรที่ดีและมีความปลอดภัยในการนำมาใช้จะเลือกจากแหล่งผลิตหรือแหล่งเพาะปลูกที่ได้มาตรฐาน GAP (Good Agricultural Practices) และเมื่อนำมาผลิตเป็นรูปแบบต่างๆ ก็จะผ่านมาตรฐานการผลิต GMP (Good Manufacturing Practice) นอกจากนี้ยังต้องพิจารณาจากความถูกต้องตามกฎหมาย เช่น การขึ้นทะเบียนตำรับยา แหล่งผลิต เป็นองค์ประกอบร่วมด้วย


หมายเหตุ :  การใช้ยาสมุนไพรจีนเพื่อการรักษาโรค ควรอยู่ในการดูแลของแพทย์จีนที่ได้มาตรฐานและมีใบประกอบโรคศิลปะอย่างถูกกฏหมาย

สอบถามข้อมูลการใช้ยาจีนได้ที่ ฝ่ายเภสัชกรรม
LINE Official : @pharmacytcm

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้