Last updated: 14 พ.ย. 2567 | 273 จำนวนผู้เข้าชม |
อาการปากแห้งคอแห้ง เป็นหนึ่งในอาการที่พบบ่อยในผู้ป่วยเบาหวาน สร้างความรำคาญ และส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต แต่รู้หรือไม่ว่า อาการที่ปากแห้งคอแห้งที่ดูธรรมดานี้ ซ่อนกลไกการเกิดโรคที่ซับซ้อน ซึ่งสามารถอธิบายได้ทั้งในมุมมองของแพทย์แผนปัจจุบันและแพทย์แผนจีน
กลไกทางแพทย์แผนปัจจุบัน : เมื่อน้ำตาลในกระแสเลือดสูง
อาการปากแห้งคอแห้งในผู้ป่วยเบาหวาน เกิดจากหลายปัจจัย ได้แก่
1. ภาวะน้ำตาลในเลือดสูง : เมื่อระดับน้ำตาลในเลือดสูงเกินไป ร่างกายจะพยายามขับน้ำตาลส่วนเกินออกทางปัสสาวะ ทำให้ปัสสาวะบ่อยและปริมาณมาก ส่งผลให้ร่างกายสูญเสียน้ำและอิเล็กโทรไลต์ เกิดภาวะขาดน้ำ ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของอาการปากแห้งคอแห้ง นอกจากนี้ ภาวะน้ำตาลในเลือดสูงยังทำให้เลือดมีความหนืดข้นขึ้น ส่งผลต่อการไหลเวียนเลือด ทำให้เลือดไปเลี้ยงต่อมน้ำลายได้น้อยลง การผลิตน้ำลายจึงลดลงด้วย
2. เส้นประสาทถูกทำลาย : โรคเบาหวาน โดยเฉพาะเบาหวานชนิดที่ 2 มักเกิดจากภาวะดื้ออินซูลิน ซึ่งส่งผลต่อระบบประสาทส่วนปลาย ทำให้เส้นประสาทที่ควบคุมการทำงานของต่อมน้ำลายถูกทำลาย การผลิตน้ำลายจึงลดลง
3. ผลข้างเคียงจากยา : ยาบางชนิดที่ใช้รักษาโรคเบาหวาน เช่น ยาขับปัสสาวะ ยาลดความดันโลหิต ฯลฯ อาจมีผลข้างเคียงทำให้ปากแห้งได้
4. การติดเชื้อ : ผู้ป่วยเบาหวานมีแนวโน้มที่จะติดเชื้อในช่องปาก เช่น ซึ่งทำให้เกิดอาการปากแห้ง ลิ้นเป็นฝ้าขาว และมีรสชาติผิดปกติในปาก
กลไกทางแพทย์แผนจีน : เมื่ออินหยางไม่สมดุล
แพทย์แผนจีนมองว่า อาการปากแห้งคอแห้งในผู้ป่วยเบาหวาน เกิดจากความไม่สมดุลของอินหยางในร่างกาย โดยมีกลไกหลักๆ ดังนี้
1. ความร้อนแกร่ง (实热) : เมื่อใช้ชีวิตขาดความสมดุล รับประทานของหวาน ของทอด ของเผ็ดร้อน ความร้อนในร่างกายจะเพิ่มมากขึ้น เกิดภาวะร้อนแกร่ง(实热) และความร้อนนี้ปะทุขึ้นสู่ด้านบน ไปทำลายสารน้ำ ส่งผลให้เกิดอาการปากแห้งคอแห้ง กระหายน้ำ ความร้อนนี้ยังส่งผลให้อวัยวะต่างๆในร่างกายเกิดความร้อน (อักเสบ) อีกด้วย
2. อินพร่อง : อิน หมายถึง สารจำเป็นในร่างกายที่มีคุณสมบัติเย็น ซึ่งไปหล่อเลี้ยงอวัยวะในร่างกายต่างๆให้มีความชุ่มชื้น ในผู้ป่วยเบาหวานแรกเริ่มจากการเกิดความร้อนแกร่งไปทำลายสารน้ำในร่างกาย เมื่อเวลาผ่านไปทำให้เกิดการทำลายสารอินจนเกิดภาวะ “อินพร่อง” สมดุลของร่างกายเสียหาย ร่างกายไม่สามารถสร้างสารน้ำไปหล่อเลี้ยงร่างกาย นอกจากจะทำให้เกิดอาการปากแห้งคอแห้งแล้ว ยังทำให้เกิดอาการผิวแห้ง ตาแห้ง และท้องผูกด้วย
อวัยวะที่เกี่ยวข้องกับอาการปากแห้งคอแห้งในมุมมองของการแพทย์แผนจีน
การแพทย์แผนจีนมองว่า อวัยวะที่เกี่ยวข้องกับอาการปากแห้งคอแห้งในผู้ป่วยเบาหวาน ได้แก่
1. ปอด : ปอดทำหน้าที่ควบคุมการกระจายของเหลวในร่างกาย เมื่อความร้อนแกร่งกระทบปอด หรืออินของปอดพร่อง การกระจายของเหลวจะผิดปกติ ทำให้เกิดอาการปากแห้งคอแห้ง ผิวแห้ง รวมถึงไอแห้งๆ
2. ม้ามและกระเพาะอาหาร : ทำหน้าที่ย่อยอาหารและลำเลียงสารอาหารไปเลี้ยงร่างกาย เมื่อกระเพาะอาหารร้อน จะส่งผลต่อการย่อยและการดูดซึม ทำให้ร่างกายขาดสารน้ำ เกิดอาการปากแห้งคอแห้ง กระหายน้ำ หิวบ่อย และร่างกายซูบผอม ได้
3. ไต : ไตทำหน้าที่ควบคุมสมดุลของเหลวในร่างกาย เก็บสารจำเป็น และขับของเสีย เมื่อไตพร่อง การควบคุมสมดุลของเหลวจะผิดปกติ ทำให้เกิดอาการปากแห้งคอแห้ง ปัสสาวะบ่อยได้
การดูแลตนเองแบบองค์รวม
การดูแลตนเอง เป็นสิ่งสำคัญในการบรรเทาอาการปากแห้งคอแห้ง และควบคุมโรคเบาหวาน ซึ่งสามารถทำได้ ดังนี้
1. ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ : ควรดื่มน้ำอย่างน้อยวันละ 8 แก้ว เพื่อชดเชยการสูญเสียน้ำ และช่วยให้ร่างกายขับน้ำตาลส่วนเกินออกทางปัสสาวะ
2. ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด : รับประทานยาตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด ควบคุมอาหาร โดยเน้นอาหารที่มีดัชนีน้ำตาลต่ำ และออกกำลังกายสม่ำเสมอ
3. พักผ่อนให้เพียงพอ : การนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ จะทำให้ร่างกายเกิดความร้อน และส่งผลเสียต่อสุขภาพโดยรวม
4. ดูแลสุขภาพช่องปาก : แปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง และพบทันตแพทย์เป็นประจำ เพื่อป้องกันการติดเชื้อในช่องปาก
5. ทานอาหารให้สมดุล : หลีกเลี่ยงอาหารรสหวานจัด เค็มจัด และเผ็ดร้อน ซึ่งจะยิ่งเพิ่มความร้อนในร่างกาย ควรรับประทานอาหารที่บำรุงอิน เช่น แตงโม ฟักเขียว บวบ มะระ เห็ดหูหนูขาว ฯลฯ
6. ทานยาจีนปรับสมดุลอินหยาง : แพทย์แผนจีนจะทำการตรวจวินิจฉัย และทำการรักษาโดยการปรับสมดุลอินหยางในร่างกาย
------------------------
บทความโดย
แพทย์จีน เซ็งจุ้น แซ่ลี (หมอจีน หลี่ เฉิง จวิ้น)
李成俊 中医师
TCM. Dr. TSENG CHUN LEE
แผนกอายุรกรรมต่อมไร้ท่อ 内分泌科 (Internal TCM of Endocrinology)
11 พ.ย. 2567
25 ต.ค. 2567
25 ก.ย. 2567
11 พ.ย. 2567