Last updated: 13 ธ.ค. 2567 | 319 จำนวนผู้เข้าชม |
การนวดทุยหนา ศาสตร์การนวดของแพทย์แผนจีนแขนงหนึ่งที่มีมาอย่างยาวนาน
เป็นศาสตร์แรกของการใช้วิธีนวดหรือกดบนตำแหน่งต่างๆ ของร่างกาย ปรากฏในประวัติศาสตร์มายาวนานกว่า 5,000 ปี ได้รับการบันทึกในคัมภีร์ซูเวิ่น และมีการพัฒนามาเรื่อยๆ จากประสบการณ์ของคนยุคก่อน และอ้างอิงหลักทฤษฎีของศาสตร์การแพทย์แผนจีนมาทำการรักษา
จนมาเป็นศาสตร์ที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติในปัจจุบัน
การนวดทุยหนาจะใช้ส่วนต่าง ๆ ของร่างกายในการกด การคลึง การถู การบีบ การดีด หรือการคลึงเป็นท่านวด โดยกระทำไปตามจุดต่างๆ ของเส้นลมปราณบนร่างกาย
หัตถการการนวดทุยหนา หรือท่านวดทุยหนา มีท่านวดทุยหนาพื้นฐานประกอบไปด้วย 24 ท่า
ซึ่งแต่ละท่าจะมีความจำเพาะต่อการนวดตามตำแหน่งบนร่างกายและความเหมาะสมของอวัยวะนั้น
กล่าวคือเมื่ออวัยวะของร่างกายผิดปกติ ส่งผลทำให้ร่างกายมีปัญหา ดังนั้น
หัวใจสำคัญของทุยหนาก็คือ "การปรับอวัยวะที่มีปัญหาเหล่านั้นให้กลับคืนมาเหมือนเดิม" โดยผ่านกระบวนการคือ
การปรับสมดุลให้ธาตุทั้ง 5 ซึ่งเชื่อมโยงไปถึงอวัยวะทั้ง 5
การปรับโครงสร้างหลักของร่างกายที่ผิดปกติ เช่น กระดูก กล้ามเนื้อ เอ็น เส้นเลือด ที่มีปัญหาเคลื่อนไปจากตำแหน่งที่ถูกต้องหรือถูกกดทับเอาไว้
การใช้ตำรับยาสมุนไพรจีนทั้งชนิด พอก อบ ทา ภายนอก และตำรับยาจีนชนิดรับประทาน ผสานรักษาทั้งภายในและภายนอก
ดังนั้น การนวดทุยหนาจึงรักษาโรคของระบบการเคลื่อนไหวและโรคทางอายุรกรรมได้
ขั้นตอนการตรวจวินิจฉัยและวางแผนการรักษา
1. การตรวจ 4 ขั้นตอน การซักถาม การสังเกต การฟัง การจับชีพจร(แมะ)
2. การตรวจทางกายภาพและการ Test ฟังก์ชั่น
3. การดูผลตรวจของรังสีวิทยา หรือผลแลป
กลไกการรักษาโรคทางกระดูกและกล้ามเนื้อ
1. ทะลวงเส้นลมปราณเพื่อกระตุ้นเลือดลมไหลเวียน(疏通经络,行气活血)ปัจจัยการก่อโรคเข้ารุกรานร่างกาย การทำงานของชี่และเลือดเสียสมดุล เส้นลมปราณถูกอุดกั้นเลือดไหลเวียนไม่สะดวกทำให้เกิดอาการปวดขึ้น
2. คลายเส้นเอ็นให้กลับตำแหน่งเคลื่อนไหวข้อต่อ(理筋整复,滑利关节)อาการบาดเจ็บบริเวณข้อต่อมักเป็นการบาดเจ็บที่เกี่ยวข้องกับเส้นเอ็นและกระดูก ทำให้เกิดภาวะชี่ติดขัดเลือดคั่ง แสดงอาการปวดและบวมจึงส่งผลกระทบต่อการเคลื่อนไหวของข้อต่อ
3. ปรับการทำงานของอวัยวะภายในและเพิ่มความต้านทานโรค(调整脏腑功能,增强抗病能力)เมื่อการทำงานของอวัยวะภายในเสียสมดุลหรือเสื่อมลง ทำให้ร่างกายไม่มีประสิทธิภาพในการสร้างการช่วยในการหมุนเวียนชี่และเลือดและการขับของเสียออกจากร่างกาย
ขั้นตอนในการนวดทุยหนารักษาโรคทางกระดูกและกล้ามเนื้อ
การคลายกล้ามเนื้อ (放松)
แพทย์จะใช้หัตถการท่านวดที่มีน้ำหนักเบาเพื่อเป็นการตรวจสภาพร่างกายของผู้ป่วยเบื้องต้นและคลายกล้ามเนื้อ เหตุที่ต้องคลายกล้ามเนื้อก่อนขั้นตอนอื่น เนื่องจากการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อโดยทั่วไป กล้ามเนื้อบริเวณนั้นจะมีความตึง แข็ง หดเกร็ง บางครั้งจับตัวเป็นก้อน การที่นวดเบา ๆ รอบบริเวณที่ได้รับบาดเจ็บจะเป็นการเตรียมความพร้อมของกล้ามเนื้อก่อนที่จะรับหัตถการที่มีน้ำหนักที่มากขึ้นในขั้นตอนต่อไปเพื่อป้องกันการบาดเจ็บซ้ำ
การระงับอาการปวด (止痛)
แพทย์จะใช้หัตถการท่านวดที่มีน้ำหนักที่มากขึ้นในการคลายลำกล้ามเนื้อที่เกร็งตัวผู้ป่วยอาจได้ยินเสียงดัง “กึกกึก” ซึ่งเป็นเสียงที่ดังมาจากการคลายลำกล้ามเนื้อและพังผืด นอกจากนี้ยังมีการกดจุด (acupressure) ใช้ข้อศอกหรืออุปกรณ์ กดลงบนจุดตำแหน่งเดียวกับที่ใช้ในการฝังเข็มเพื่อกระตุ้นการไหลเวียน
ของชี่และเลือด ระงับอาการปวด
การเคลื่อนไหวข้อต่อ (滑利关节)
การเคลื่อนไหวข้อต่อ หลังจากที่ผ่านการคลายกล้ามเนื้อและระงับอาการปวดจนกล้ามเนื้อมีความยืดหยุ่นมากขึ้น ขั้นตอนถัดมาคือการเคลื่อนไหวข้อต่อ โดยทำอย่างเหมาะสมจะสามารถลดอาการปวด เพิ่มพิสัยการเคลื่อนไหวของข้อต่อต่างๆและปรับโครงสร้างให้เข้าที่
การผ่อนคลายกล้ามเนื้อหลังการรักษา (结束)
การผ่อนคลายกล้ามเนื้อหลังการรักษา แพทย์ผู้ทำหัตถการจะใช้ท่านวด เช่น การคลึง การทุบ การตบ เป็นต้น ด้วยน้ำหนักที่เบาเพื่อให้ผู้ป่วยรู้สึกผ่อนคลายหลังจากการรักษา เป็นการสิ้นสุดขั้นตอนการนวดทุยหนา
ประโยชน์ของการนวดทุยหนา
เป็นการกระตุ้นการไหลเวียนของชี่และเลือด
(เมื่อชี่และเลือดทำงานไม่สัมพันธ์กันปัจจัยก่อโรคภายนอกเข้าจู่โจมร่างกายทำให้เส้นลมปราณอุดกั้นไหลเวียนติดขัดเมื่อการไหลเวียนติดขัดจึงก่อให้เกิดอาการปวด)
ทะลวงเส้นลมปราณ เพื่อกระตุ้นอวัยวะภายในที่เชื่อมกับเส้นลมปราณ
ปรับพลังอินหยางหล่อเลี้ยงเส้นเอ็นและกระดูก
(ความสมดุลของพลังอินและหยางมีส่วนสำคัญที่ทำให้เส้นเอ็นและกระดูกแข็งแรง ข้อต่อเคลื่อนไหวสะดวก)
ทำให้การทำงานของระบบต่างๆในร่างกายทำงานได้อย่างปกติ
ขจัดความเย็นระงับอาการปวด
บำรุงและจัดเส้นเอ็นให้เข้าที่
เคลื่อนไหวข้อต่อให้มีสภาวะคล่องตัวไม่ติดขัด
โรคหรืออาการที่เหมาะแก่การนวดทุยหนา ได้แก่
ออฟฟิศซินโดรม โรคเรื้อรังจากการทำงาน
ปวดหัว ไมเกรน ปวดต้นคอ คอตกหมอน
ปวดบ่า ไหล่ติด ปวดเอว ปวดหลัง
หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท
นิ้วล็อค เจ็บข้อมือ ก้อนถุงน้ำที่ข้อมือ
ปวดเข่า ข้อเท้าเคล็ด รองช้ำ
โรคสำหรับเด็ก หอบหืด อาเจียน เบื่ออาหาร ท้องผูก สายตาสั้น คอเอียง กระดูกสันหลังคด ภาวะนอนกรน
คุณแม่หลังคลอด เช่น คัดตึงเต้านม เปิดท่อน้ำนมคุณแม่หลังคลอด มดลูกหย่อน
โรคกลุ่มผู้สูงวัย ข้อกระดูกเสื่อม ภาวะข้อเข่าเสื่อม กระดูกพรุน กระดูกคอเสื่อม กลุ่มอาการกดทับเส้นประสาทบริเวณข้อมือ
อาการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬา อาทิ อาการบาดเจ็บเอ็นไขว้หน้าหัวเข่า กล้ามเนื้อต้นขาด้านนอกอักเสบ ข้อมือแพลง ข้อเท้าแพลง กล้ามเนื้อหลังอักเสบเฉียบพลัน อาการเจ็บข้อไหล่ เส้นเอ็นอักเสบข้อศอกด้านนอก ตะคริวที่ขา
การจัดกระดูกต้นคอ กระดูกสันหลังช่วงอก เพื่อบรรเทาอาการโรคกระดูกต้นคอที่ทำให้เกิดอาการข้างเคียง
เช่น วิงเวียนศีรษะ ใจสั่น ปวดศีรษะปวดเอวร้าวลงมา ปวดขา
สลายพังผืดหลังการผ่าตัด เช่น ผ่าคลอด เสริมหน้าอก ผ่าซีสต์ ผ่าตัดเพื่อใส่เครื่องมือต่างๆในร่างกาย
ฟื้นฟูดูแลรักษาผู้ป่วยที่มีภาวะกระดูกหัก กระดูกเคลื่อน ข้อต่อหลุด หรือการแก้ไข รักษาอาการกระดูกเชื่อมติดผิดรูป รวมถึงการผ่าตัดมีปัญหาข้อติด ชา
22 ม.ค. 2568
22 ม.ค. 2568
22 ม.ค. 2568