Last updated: 2 ก.ค. 2567 | 2291 จำนวนผู้เข้าชม |
หลาย ๆ คนอาจจะกำลังสับสน หากเกิดอาการปวดกล้ามเนื้อ ปวดไมเกรน ข้อเท้าแพลง หรืออาการฟกช้ำแล้วจะเลือกใช้แบบไหนดี เพราะทั้งสองวิธีต่างช่วยบรรเทาอาการปวดและอักเสบได้เหมือนกัน
การประคบเย็น
ความเย็นช่วยทำให้หลอดเลือดหดตัว ทำให้เลือดออกน้อยลง ทำให้เลือดดูดซึมกลับเข้าหลอดเลือด ช่วยลดปวด บวม แดง ร้อนได้ดี
ควรใช้ประคบเย็นตอนไหน
· เมื่อได้รับบาดเจ็บ ข้อเท้าแพงหรือฟกช้ำ 48-72 ชั่วโมงแรก
· มีอาการปวด บวม แดง ร้อน เช่น ข้อเข่าบวมอักเสบ ข้อเท้าแพลง
· ลักษณะอาการปวดมาก ปวดจี๊ด ปวดเหมือนเข็มแทง ปวดเฉียบพลัน
· อาการอื่น ๆ เช่น อาการปวดไมเกรน ไข้สูง แผลลวกไฟไหม้ในระดับที่ไม่รุนแรง
ประคบอย่างไร
ใช้เจลเย็น หรือ ผ้าห่อน้ำแข็ง ประคบบริเวณที่มีอาการ ประมาณ 15-20 นาที วันละ 1-2 ครั้ง
ข้อควรระมัดระวัง
· หลีกเลี่ยงการใช้ความเย็นประคบโดยตรงบริเวณผิวหนัง เพราะจะทำให้ผิวไหม้ได้จากความเย็น
· ระมัดระวังการใช้ความเย็นที่มากเกินไปและนานเกินไปกับผู้ป่วยที่ผิวหนังรับความรู้สึกช้า เช่น ผู้ป่วยโรคเบาหวาน มีอาการชา
· ไม่ประคบบริเวณที่มีแผลเปิด
การประคบร้อน
ช่วยให้เส้นเลือดขยายตัว เพิ่มการไหลเวียนของเลือด ซ่อมแซมการบาดเจ็บดีขึ้น บรรเทาอาการปวด
ประคบร้อนตอนไหน
· หลังจากได้รับบาดเจ็บ หรือฟกช้ำ 48-72 ชั่วโมง
· กลุ่มอาการปวด หรืออักเสบเรื้อรัง เช่น ปวดตึงกล้ามเนื้อ คอ บ่า ไหล่ หลัง ออฟฟิศซินโดรม หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท เข่าอักเสบ เข่าเสื่อม
· หลังจากไม่มีอาการแดง ร้อน หลงเหลืออาการปวด บวม
· ลักษณะอาการปวด ตึง เมื่อย ตื้อ ล้า
· อาการปวดอื่น ๆ เช่น ปวดประจำเดือน
ประคบอย่างไร
ใช้ผ้าชุบน้ำอุ่น แผ่นร้อน หรือลูกประคบ ประคบบริเวณที่มีอาการปวด 15-20 นาที
เวลาประคบจะให้ความรู้สึกสบาย ไม่ร้อนจนเกินไป ไม่แสบ คันหรือเจ็บปวดมากขึ้น
ข้อควรระวัง
ผู้ป่วยเบาหวาน รับความรู้สึกช้า หรือมีภาวะเลือดออกผิดปกติ เลือดออกง่าย อยู่ในช่วงทานยาสลายลิ่มเลือด
ควบคุมอุณหภูมิไม่ให้ร้อน( ประมาณ 45 องศา) สังเกตผิวหนังไม่ให้แดงเกินไป เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดแผลผุพอง ไม่ประคบบริเวณที่มีแผลเปิด
------------------------
บทความโดย
แพทย์จีน กรกฎ คุณโฑ (โจว เฉิง)
周承 中医师
TCM. Dr. Koraghod Khuntho (Zhou Cheng)
แผนกกระดูกและทุยหนา
6 ธ.ค. 2567
9 ธ.ค. 2567
6 ธ.ค. 2567