กรดไหลย้อน รักษาได้ด้วยศาสตร์การแพทย์แผนจีน

Last updated: 27 ส.ค. 2567  |  4081 จำนวนผู้เข้าชม  | 

กรดไหลย้อน รักษาได้ด้วยศาสตร์การแพทย์แผนจีน

โรคกรดไหลย้อน (gastro-esophageal reflux disease, GERD) 胃食管反流病  
คือ อาการที่เกิดจากการไหลย้อนกลับของกรดหรือน้ำย่อยในกระเพาะอาหารขึ้นไปในหลอดอาหารส่วนบนอย่างผิดปกติ ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งในเวลากลางวันและกลางคืน หรือแม้กระทั่งเวลาที่ผู้ป่วยไม่ได้รับประทานอาหารก็ตาม โดยความผิดปกตินั้นทำให้เกิดการระคายเคืองของกรด เช่น อาจทำให้เกิดอาการหลอดอาหารอักเสบโดยไม่เกิดแผล หรือหลอดอาหารอักเสบโดยมีแผล หรือหากกรดไหลย้อนขึ้นมาเหนือกล้ามเนื้อหูรูดของหลอดอาหารส่วนบน อาจทำให้เกิดอาการบริเวณนอกหลอดอาหาร (atypical or extraesophageal GERD) เช่น อาการที่ปอด หรืออาการที่คอและกล่องเสียง (laryngopharyngeal reflux : LPR)

โดยปกติแล้ว ร่างกายจะมีกลไกป้องกันไม่ให้เกิดภาวะไหลย้อนกลับของกรดในกระเพาะอาหารขึ้นไปในระบบทางเดินอาหารส่วนบน เช่น การบีบตัวของหลอดอาหาร การทำงานของกล้ามเนื้อหูรูดของหลอดอาหารส่วนบน และส่วนล่าง เยื่อบุของหลอดอาหารมีกลไกป้องกันการทำลายจากกรด ซึ่งการเกิดโรคกรดไหลย้อนนั้น เชื่อได้ว่าเกิดจากกล้ามเนื้อหูรูดของหลอดอาหารส่วนล่างคลายตัวอย่างผิดปกติ ทำให้มีการไหลย้อนกลับของกรดขึ้นไปในหลอดอาหารได้ง่ายขึ้น เนื่องจากโดยปกติแล้วเมื่อกรดไหลย้อนขึ้นไปบริเวณคอหอย ย่อมเกิดการกระตุ้นให้กล้ามเนื้อหูรูดของหลอดอาหารส่วนบนหดตัว ป้องกันไม่ให้กรดไหลย้อนขึ้นไปอีก

อาการที่เด่นชัดของกรดไหลย้อน

1. เรอเปรี้ยว เนื่องจากการคลายตัวของหูรูดทำให้อาหาร ของเหลว น้ำดี น้ำย่อยหรือแม้กระทั่งแก๊สไหลย้อนกลับขึ้นไปยังหลอดอาหาร ช่องคอ หรืออาจมีลมออกมาถึงช่องปากเลยก็ได้เช่นกัน
2. แสบกลางอก เนื่องจากความเป็นกรดกระตุ้นและส่งผลถึงระบบประสาทการรับรู้ ซึ่งอยู่บริเวณหลอดอาหาร ดังนั้นจึงสามารถรับรู้ได้ถึงความแสบจากภาวะกรดไหลย้อน
3. ไม่สบายท้องหรือเหนือสะดือมีอาการแสบร้อน
4. เจ็บหน้าอก โดยส่วนใหญ่มักเป็นบริเวณใต้ลิ้นปี่และมักร้าวลงไปหน้าท้อง คอ หน้าอก แขน เป็นต้น

โรคกรดไหลย้อนในศาสตร์การแพทย์แผนจีน

โรคกรดไหลย้อน ในศาสตร์การแพทย์แผนจีน เรียกว่า 吐 酸TuSuan โดยตำแหน่งของโรคจะเกี่ยวข้องกับหลอดอาหารและกระเพาะอาหาร รวมทั้งตับ ถุงน้ำดี ม้าม และปอด มีสาเหตุจากความผิดปกติทางอารมณ์ ความเครียด คิดมากเกินไป พื้นฐานร่างกายอ่อนแอ โภชนาการที่ไม่เหมาะสม สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ จนทำร้ายร่างกายภายใน รวมถึงโรคของถุงน้ำดี-ถุงน้ำดีร้อนโจมตีกระเพาะอาหาร รวมทั้งม้ามและกระเพาะอาหารพร่อง นำไปสู่การล้มเหลวของการลำเลียงอาหารและน้ำ ทำให้เกิดการไหลย้อนขึ้นของชี่ที่ไม่สะอาด

การวินิจฉัยแยกกลุ่มอาการเพื่อการรักษา

1. ตับและกระเพาะอาหารมีความร้อนสะสม

อาการหลัก : แสบร้อนหน้าอก อาเจียนเป็นน้ำกรดในกระเพาะอาหาร

อาการร่วม : ปวดแสบร้อนบริเวณลิ้นปี่ ท้องอืด เรอบ่อย คลื่นไส้ โมโหง่าย หิวง่าย ลิ้นแดง ฝ้าเหลือง ชีพจรเสียน(弦)

หลักการรักษา : ระบายความร้อน กระจายชี่ตับ ปรับสมดุลกระเพาะอาหาร

2. ไฟถุงน้ำดีไหลย้อนขึ้นข้างบน

อาการหลัก : แสบร้อนหน้าอก ปากขมคอแห้ง

อาการร่วม : ปวดเสียดบริเวณชายโครง เจ็บหน้าอก ปวดหลัง อาเจียนเป็นน้ำกรดในกระเพาะอาหาร เรอบ่อย คลื่นไส้อาเจียน กระวนกระวาย นอนไม่หลับ หิวง่าย ลิ้นแดง ฝ้าเหลืองเหนียว ชีพจรเสียนหฺวาซู่(弦滑数)

หลักการรักษา : ขจัดความร้อน ปรับสมดุลถุงน้ำดีและกระเพาะอาหาร ทำให้ชี่ไหลลง

3. ชี่และเสมหะอุดกั้น

อาการหลัก : รู้สึกคล้ายมีก้อนเสมหะอยู่ในคอ ไม่สบายหน้าอก

อาการร่วม : คลื่นไส้อาเจียนหรือเรอบ่อย กลืนลำบาก เสียงแหบหรือมีเสียงผิดปกติไปจากเดิม ไอหรือรู้สึกสำลักในเวลากลางคืน ลิ้นมีฝ้าขาวเหนียว ชีพจรเสียนหฺวา(弦滑)

หลักการรักษา : ระบายเสมหะ ขับเคลื่อนชี่ให้ไหลเวียนเป็นปกติ

4. พลังหยางที่ทรวงอกไม่เพียงพอ

อาการหลัก : เจ็บไม่สบายหน้าอก รู้สึกจุกแน่นอยู่ในหน้าอก คล้ายอาหารไม่ย่อย 

อาการร่วม : อาเจียนเป็นน้ำกรดในกระเพาะอาหาร ปวดรำคาญบริเวณลิ้นปี่ ท้องอืด ไม่สบายท้อง ชี่ย้อนขึ้นไปข้างบน กลัวหนาว อุจจาระแข็งหรือขับถ่ายลำบาก ลิ้นซีดฝ้าขาว ชีพจรซี่หฺวา(细滑)

หลักการรักษา : ปรับชี่ บำรุงหยาง ระบายเสมหะ

5. ชี่ม้ามและกระเพาะอาหารอ่อนแอ

อาการหลัก : อาเจียนเป็นน้ำกรดในกระเพาะอาหารหรืออาเจียนเป็นน้ำใสๆ เรอบ่อยหรือคลื่นไส้ 

อาการร่วม : ปวดแบบรำคาญบริเวณลิ้นปี่ จุกแน่นกระเพาะอาหาร ไม่อยากอาหาร เหนื่อยล้าไม่มีแรง อุจจาระเหลว ลิ้นซีดฝ้าบาง ชีพจรซี่รั่ว(细弱)

หลักการรักษา : เสริมชี่บำรุงม้าม ปรับสมดุลกระเพาะอาหาร

6. ม้ามพร่องและมีความร้อนชื้น

อาการหลัก : อาเจียนเป็นน้ำกรดในกระเพาะอาหารหลังจากทานอาหาร ท้องอืดหลังจากทานอาหาร

อาการร่วม : ปวดแสบร้อนบริเวณลิ้นปี่ แน่นหน้าอก อึดอัด ไม่อยากอาหาร อ่อนเพลียไม่มีแรง อุจจาระเหลว ลิ้นซีดหรือแดง ฝ้าเหลืองเหนียว ชีพจรซี่หฺวาซู่(细滑数)

หลักการรักษา : ระบายความร้อน ขจัดความชื้น บำรุงม้าม ปรับสมดุลกระเพาะอาหาร

7. อินกระเพาะอาหารไม่เพียงพอ

อาการหลัก : แสบร้อนกลางอก หิวแต่ไม่อยากทานอาหาร

อาการร่วม : คลื่นไส้ ท้องอืดหลังจากทานอาหาร ปากแห้งลิ้นแห้ง อุจจาระแห้งแข็ง ลิ้นแดง ฝ้าน้อยหรือไม่มีฝ้า ชีพจรซี่ซู่(细数)

หลักการรักษา : เพิ่มสารน้ำบำรุงอิน ปรับสมดุลกระเพาะอาหาร

การรักษา

ศาสตร์การแพทย์แผนจีนใช้หลักการรักษาโรคกรดไหลย้อน คือ “ปรับสมดุลกระเพาะอาหาร ทำให้ชี่ไหลลง” เป็นหลัก โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อซ่อมแซมเนื่อเยื่อบริเวณหลอดอาหาร บรรเทาอาการของโรค ป้องกันการเกิดโรคซ้ำ เพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย และลดการเกิดภาวะแทรกซ้อน โดยการรักษาด้วยวิธีการฝังเข็ม ถูกใช้เป็นหนึ่งในวิธีการรักษาอาการบริเวณนอกหลอดอาหาร (GERD) ที่ไม่ใช้ยา

จุดฝังเข็ม

โดยทั่วไปแพทย์จะเลือกใช้จุดบนเส้นลมปราณเญิ่น เส้นลมปราณกระเพาะอาหาร เส้นลมปราณตู และเส้นลมปราณกระเพาะปัสสาวะ ได้แก่ เน่ยกวน จู๋ซานหลี่ จงหว่าน ซึ่งการแยกข้อมูลของจุดฝังเข็มที่ใช้บ่อยสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 กลุ่ม ตามผลการวิเคราะห์ทางสถิติ ดังนี้

จุดฝังเข็มกลุ่มที่ 1เลือกใช้จุดบนเส้นลมปราณตู คือ เสินเต้า จื้อหยาง
จุดฝังเข็มกลุ่มที่ 2เลือกใช้จุด เทียนซู กวนหยวน เซี่ยหว่าน ซ่างหว่าน ซินซู ซานอินเจียว ชีเหมิน ไท่ชง
จุดฝังเข็มกลุ่มที่ 3เลือกใช้จุด กงซุน หยางหลิงฉวน เว่ยซู จู๋ซานหลี่ เน่ยกวน จงหว่าน


การรมยา

แพทย์จะเลือกใช้จุดฝังเข็มบริเวณหลัง ได้แก่ ผีซู เว่ยซู กานซู

การครอบแก้ว

แพทย์จะเลือกใช้จุด ต้าฉางซู เว้ยซู เฟ้ยซู ต้าจุย ติ้งช่วน

กรณีศึกษา (Case Study)

ข้อมูลผู้ป่วย :

ผู้ป่วยเพศหญิง อายุ 52 ปี เข้ารับการรักษาครั้งแรกวันที่ 6 สิงหาคม 2566

เข้าพบแพทย์ด้วยอาการสำคัญ คือ รู้สึกมีก้อนอยู่บริเวณคอเป็นเวลา 3 เดือน

อาการสำคัญในปัจจุบัน :

มีก้อนอยู่บริเวณคอ กลืนอาหารและน้ำลำบาก  ไม่สบายและอึดอัดบริเวณหน้าอก ปวดแน่นจุกบริเวณลิ้นปี่ในบางครั้ง  ท้องอืด เรอบ่อย เสียงเบาเสียงแหบ ตอนกลางคืนมักมีอาการไอหรือสำลัก ความอยากอาหารปกติ นอนหลับปกติ การขับถ่าย 1-2 วัน/ครั้ง

การตรวจร่างกาย :

ความดันโลหิต 132/87 mmHg อัตราการเต้นหัวใจ 71 ครั้ง/นาที ตรวจลิ้นพบลิ้นสีแดงซีด มีฝ้าขาวเหนียว ชีพจรเสียนหฺวา(弦滑)

การวินิจฉัย :

อาการหลักและอาการร่วมของผู้ป่วย ประกอบกับวินิจฉัยลิ้นค่อนข้างมีฝ้าขาว จึงสามารถจัดอยู่ในกลุ่มอาการชี่และเสมหะอุดกั้น

วิธีการรักษา :

กลุ่มอาการชี่และเสมหะอุดกั้น แพทย์ใช้หลักการรักษา คือ ระบายเสมหะ ขับเคลื่อนชี่ให้ไหลเวียนเป็นปกติ โดยฝังเข็มสัปดาห์ละ 1 ครั้งอย่างต่อเนื่อง

จุดฝังเข็ม :

จุดหลัก/จุดประกอบจุดฝังเข็ม
จุดหลักจุดจงหว่าน เป็นจุดมู่ของกระเพาะอาหารใช้ร่วมกับจุดเน่ยกวนจะช่วยเสริมชี่ของซ่างเจียวและจงเจียว จุดจู๋ซานหลี่ เป็นจุดเหอล่างของกระเพาะอาหาร เมื่อใช้ร่วมกับจุดจงหว่านและจุดเน่ยกวน จะดึงชี่ที่ย้อนขึ้นไปอย่างผิดปกติให้ลงมา และหยุดอาการกรดไหลย้อน
จุดประกอบ

จุดเฟิงหลง เพื่อระบายเสมหะ และจุดชี่ไห่ เพื่อทะลวงเส้นลมปราณ

 

ผลการรักษา :

ครั้งที่ 1หลังจากการฝังเข็มครั้งที่ 1 ผู้ป่วยรู้สึกว่า อาการปวด แน่น และจุกบริเวณลิ้นปี่หายไป อาการอื่น ๆ ยังหลงเหลืออยู่บ้าง
ครั้งที่ 2หลังจากได้รับการฝังเข็มครั้งที่ 2 ผู้ป่วยรู้สึกสบายบริเวณหน้าอกมากขึ้น และสามารถกลืนอาหารและน้ำได้สะดวกมากกว่าเดิมอย่างชัดเจน แต่ยังรู้สึกมีก้อนอยู่บริเวณคออยู่
ครั้งที่ 3หลังจากการฝังเข็มครั้งที่ 3 ผู้ป่วยแจ้งว่า สามารถกลืนอาหารและน้ำได้ตามปกติ และก้อนบริเวณคอหายไป


หลังจากนั้นผู้ป่วยยังเข้ารับการฝังเข็มอีก 1 ครั้งเพื่อติดตามอาการ และไม่มีความผิดปกติใดเพิ่มเติม

บทสรุปและข้อเสนอแนะ

โรคกรดไหลย้อน เป็นโรคที่พบมานานแล้ว จึงไม่ใช่โรคแปลกใหม่ แต่ในปัจจุบันกลับมีอัตราการพบผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งวิธีการที่จะสามารถป้องกันตนเองจากโรคกรดไหลย้อนหรือป้องกันไม่ให้เป็นซ้ำอีก คือ การปรับเปลี่ยนนิสัยและการดำเนินชีวิตประจำวัน ได้แก่

1. การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมชีวิต คือ ควบคุมน้ำหนัก บริหารอารมณ์ให้ดี

2. การเลือกรับประทานอาหาร คือ งดอาการรสจัดและอาหารที่มีไขมันสูง ทานอาหารแต่พอดี งดมื้อดึก และไม่นอนทันทีหลังจากรับประทานอาหาร

3. การปรับเวลาและวิธีในการนอน ไม่นอนหลังจากรับประทานอาหารเสร็จ และไม่นอนบนพื้นราบ ควรใช้หมอนหนุนให้ศีรษะสูงขึ้นพอประมาณ

หากสามารถรักษาสมดุลได้ จะทำให้ห่างไกลจากโรคกรดไหลย้อนได้ในที่สุด

------------------------
บทความโดย
แพทย์จีนริฟฮาน ยูโซะ (หมอจีน หลัว หรู ซาน)
罗如珊  中医师
TCM. Dr. Rifhan Yusoh (Luo Ru Shan)
แผนกฝังเข็ม

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้