“ม้าม” คืออะไรในทางแพทย์แผนจีน

Last updated: 2 ก.ค. 2567  |  5919 จำนวนผู้เข้าชม  | 

“ม้าม” คืออะไรในทางแพทย์แผนจีน

สืบเนื่องจากผู้ป่วยหลายท่านเกิดความสับสนเวลาหมอจีนพูดว่า “ลื้อกระเพาะม้ามไม่ดี” หลายท่านก็เลยลองค้นหาข้อมูลทาง Internet แล้วก็พบว่า ม้าม ทำหน้าที่ขจัดเชื้อโรคและเซลล์เม็ดเลือดแดงที่หมดอายุ สร้างเซลล์เม็ดเลือดบางชนิดและกักเก็บเลือดได้ ซึ่งหลังจากหาข้อมูลเสร็จแล้ว ทุกท่านก็จะพบว่า มันไม่เห็นเกี่ยวอะไรกันกับเรื่องของการย่อยอาหารเลย เอ๊ะ! หรือว่า ม้ามมันผลิตน้ำย่อยออกมาได้ ช่วยย่อยอาหารเหมือนกรดในกระเพาะหรือเปล่าน่ะ วันนี้ผมจะมาอธิบายและทำความเข้าใจให้ทุกท่านได้รับชมกันครับ

ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจกับทุกท่านก่อนว่า สิ่งที่กล่าวไปข้างต้นในด้านการทำงานของม้ามนั้น เป็นเรื่องของกลไกสรีระวิทยาของแพทย์แผนปัจจุบัน ที่กล่าวถึงรูปแบบการทำงานของม้าม และการก่อโรคที่อาจตามมา เช่น ภาวะม้ามโต ม้ามทำงานมากเกินไป ม้ามแตก เป็นต้น ซึ่งไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับ ม้าม ในทางแพทย์จีนแต่อย่างใด ถึงแม้จะพยายามให้มันเกี่ยวกันให้ได้ ก็ทำได้น้อยมาก ๆ  ทีนี้ทุกท่านเลยอาจเกิดคำถามว่าแล้วทำไมแพทย์จีนทุกท่าน ถึงยังใช้คำว่าม้าม กันอยู่จนถึงทุกวันนี้

ก็ต้องบอกเลยครับว่า มันเป็นเรื่องของการบัญญัติคำศัพท์ในอดีตของแพทย์แผนจีนตั้งแต่สมัยเมื่อหลายพันปีก่อน โดยให้เรานึกถึงผู้แต่งที่พยายามรวบรวมข้อมูลและบันทึกการรักษา ทั้งที่ในอดีตยังไม่มีเทคโนโลยีมากพอที่จะมาชี้ชัดกายวิภาคของร่างกายมนุษย์ว่าอวัยวะแต่ละชิ้นอยู่ตรงไหน องศาใดของร่างกาย ทำได้แค่กะเกณฑ์กันคร่าว ๆ ดังนั้นการใช้คำว่า ม้าม ในที่นี่จึงถูกมองเป็นสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของการย่อยอาหารและจัดการสารน้ำในร่างกาย โดยหากระบุหน้าที่ของม้ามในทางแพทย์จีนอย่างง่าย จะมีหน้าที่ดังต่อไปนี้

1. ควบคุมการย่อยและดูดซึมสารอาหาร ส่งต่ออาหารที่รับประทานไปที่กระเพาะอาหาร

2. ควบคุมและจัดการสารน้ำในร่างกาย

3. ควบคุมการไหลเวียนเลือด (ผ่านทางการย่อยและดูดซึม)

4. ควบคุมไม่ให้เลือดออก

5. ควบคุมให้อวัยวะภายในมีตำแหน่งยึดเกาะมั่นคง

6. มีความสัมพันธ์กับช่องปาก ริมฝีปากและกล้ามเนื้อ ในด้านการแสดงออกของโรคและการนำสารอาหารไปหล่อเลี้ยงบริเวณดังกล่าว


ซึ่งจะเห็นว่าหากเราตั้งข้อสังเกตในหน้าที่ของ ม้าม ที่ผมกล่าวไว้ข้างต้น ก็ดูแล้วจะมีความใกล้เคียงกับอวัยวะอยู่หลายตัวในทางแพทย์แผนปัจจุบัน ซึ่งอาจถูกเหมารวมถึงการทำงานของกล้ามเนื้อกระเพาะ การหลั่งน้ำย่อย ลำไส้เล็ก ตับ ตับอ่อน และกระบวนการย่อยในหลายตำแหน่งทั่วร่างกาย ทำให้ ณ ปัจจุบัน “ม้าม” ที่คุณหมอจีนกล่าวถึงจึงเป็นการพูดถึงภาพรวมของการย่อยและการจัดการอาหารพื้นฐาน ที่หากมีปัญหาเกิดขึ้น ก็มักส่งผลต่อการไหลเวียนของชี่และเลือด การนำสารอาหารและน้ำเพื่อไปหล่อเลี้ยงทั่วร่างกาย

ดังนั้นเราจึงไม่จำเป็นต้องหาคำตอบหรือมานั่งเท้าความทางประวัติศาสตร์ว่า ตกลง ม้าม จะต้องเป็นตัวแทนของอวัยวะใดกันแน่ในทางวิทยาศาสตร์ เพราะด้วยความที่แพทย์จีนมีหลักแนวคิดที่เป็นกึ่งนามธรรมและมองเป็นองค์รวมมากกว่าที่จะจับร่างกายของมนุษย์แยกเป็นส่วนๆ จึงทำให้ คำศัพท์ที่ใช้ อาจไม่ได้สำคัญเท่ากับการศึกษาวิธีการทำงานของอวัยวะนั้นๆและเข้าใจถึงวิธีการดูแลรักษา ซึ่งอาการป่วยของ ม้าม ในทางแพทย์จีนอาจมาในรูปแบบของ ม้ามชื้น ม้ามอ่อนแอ เป็นต้น

และถึงแม้ในปัจจุบันเราก็ยังคงเรียกกันว่าระบบ กระเพาะม้าม อยู่ ก็ขอให้ทุกท่านมองภาพเสียใหม่ว่า “ในทางแพทย์จีนกำลังกล่าวถึงภาพรวมของการย่อยอาหารและการลำเลียงสารอาหารต่าง ๆ ในทุก ๆ ตำแหน่งของร่างกาย หาใช่การรักษาอวัยวะ “ม้าม”  ที่เราเห็นด้วยตาเปล่าแต่อย่างใด” 

------------------------

บทความโดย
แพทย์จีน ต้นสกุล สังข์ทอง (หมอจีน ซ่ง เซียน เนี่ยน)
宋先念 中医师
TCM. Dr. Tonsakul Sungthong (Song Xian Nian)
แผนกอายุรกรรมระบบทางเดินอาหาร

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้