สังเกตสรรพคุณของยาด้วย “สี” ยาจีน

Last updated: 2 ก.ค. 2567  |  2348 จำนวนผู้เข้าชม  | 

สังเกตสรรพคุณของยาด้วย “สี” ยาจีน

หลายท่านที่เคยรับประทานยาสมุนไพรจีนมาก่อนหรือเคยพบเห็นหน้าตาสมุนไพรมาบ้าง ในตัวสมุนไพรเองนั้นมีสีสันที่ค่อนข้างเฉพาะตัว ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ สีเขียว ที่เห็นเป็นใบ ๆ อย่างที่เราเข้าใจกัน หรือหากถูกนำมาต้มเป็นยาจีนแล้วสีของน้ำที่ต้มออกมา บ้างก็เห็นเป็นสีใส ๆ จนคนไข้แอบถามว่า “ นี่หมอได้ใส่ยาจีนลงไปต้มจริงหรือเปล่า ” หรืออาจจะเห็นเป็นน้ำสีดำข้นบ้าง ไม่ก็เป็นสีเหลืองจนไม่น่ารับประทาน 

ซึ่งในวันนี้ผมขอเสนอให้ท่านผู้อ่านทุกท่านมาทำความเข้าใจถึง  “ สี ” ของยาจีนแต่ละประเภทว่ามีคุณสมบัติอย่างไร สามารถช่วย “หย่างเซิง” เราได้ในด้านไหน และมีตัวยาจีนตัวไหนบ้างที่มีสีดังกล่าว เรามาตามดูไปพร้อม ๆ กันได้เลยครับ

สีของยาจีนมีต้นกำหนดมาจากทฤษฎีปัญจธาตุ มีการกำหนดธาตุทั้ง 5 ที่เป็นจุดเด่นในการรักษาของแพทย์แผนจีน โดยแต่ละสีสัน ก็จะถูกกำหนดให้เป็นธาตุต่าง ๆ เพื่อนำมาวิเคราะห์ร่วมกับการรักษาดังต่อไปนี้

1.      สีเขียว---ธาตุไม้--ระบบตับ

            สีเขียวมีคุณสมบัติช่วยในการระบายชี่ตับที่ติดขัด โดยอ้างอิงจากธรรมชาติที่ธาตุไม้โดยพื้นฐานมีใบสีเขียว มีความสามารถในการใช้รากของต้นไม้เพื่อชอนไชหน้าดิน และเจริญเติบโตจากพื้นดินขึ้นสู่ท้องฟ้า ทำให้เส้นจิงลั่วของตับเกิดการไหลเวียนได้ดีขึ้นทั้งยังระบายความร้อน กระตุ้นการไหลเวียนเลือดได้  จึงเหมาะสมเป็นอย่างมากสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการภาวะชี่ตับติดขัด เช่น เสียดชายโครง หงุดหงิดง่ายร่วมกับปวดประจำเดือน เป็นต้น

ตัวอย่างยาจีน “สีเขียว”

ชิงเฮา(青蒿) ,  ป๋อเหอ (薄荷) ,ชิงผี(青皮) ,จื่อเขอ  (枳壳) ,  เจ๋อหลาน(泽兰)  เป็นต้น

2.      สีแดง---ธาตุไฟ—ระบบหัวใจ

            แน่นอนว่าหัวใจเป็นสีแดงมาเสมอ อาจจะมีบ้างที่เป็นสีชมพูในวันวาเลนไทน์นะครับ ดังนั้นในทางแพทย์จีนจึงกำหนดลักษณะของสีให้เป็นสีแดง และเป็นตัวแทนของธาตุไฟ เพื่อเป็นการบ่งบอกว่า หัวใจเป็นระบบที่มีความร้อนในตัวสูง และเป็นระบบหลักที่ต้องใช้หยางในการผลักดันเลือดให้ไปเลี้ยงได้ทั่วร่างกาย หลายครั้งที่อาจจะร้อนมากเกินจนไปก่อให้เกิดความร้อน จนผู้ป่วยหลายรายอาจจะเริ่มนอนไม่หลับ เป็นแผลร้อนในง่าย เป็นต้น ดังนั้นยาสมุนไพรจีนสีแดง จึงเป็นการบ่งบอกว่า พื้นฐานของมันอาจมีคุณสมบัติช่วยในการไหลเวียนเลือดหัวใจ หรือทำให้เลือดเย็นลง หรืออาจจะไม่เกี่ยวกับหัวใจโดยตรง แต่ช่วยบำรุงเลือดพื้นฐานที่เป็นสีแดงหรือบำรุงอวัยวะอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องได้โดยผ่านทางชี่และเลือด เป็นต้น

ตัวอย่างยาจีน “สีแดง”

ดอกคำฝอย(红花) ,  ตานเซิน (丹参) ,พุทราแดง(红枣) ,เก๋ากี้  (枸杞) ,  จีเสฺวี่ยเถิง(鸡血藤) เป็นต้น

3.      สีเหลือง---ธาตุดิน—ระบบม้าม

            สีเหลืองอาจจะไม่ได้ตรงตามแบบฉบับของเหลืองอย่างที่เราเข้าใจกันนะครับ สีเหลืองของธาตุดินอาจจะดูปนๆน้ำตาลหรือสีขาวอยู่บ้าง ก็คล้ายกับดินที่อาจจะมีความเพี้ยนของสีที่แตกต่างกันตามแต่พื้นที่นั่นแหละครับ โดยยาจีนสีเหลืองนี้โดยมากมีคุณสมบัติในการบำรุงกระเพาะม้ามหรืออาจจะช่วยระบายความร้อนในกระเพาะได้ หลายท่านอาจจะเห็นยาต้มที่ตนเองรับประทานเป็นสีออกเหลือง ก็ไม่ต้องตกใจนะครับ เป็นสีของยาจีนนั่นเอง นอกจากนี้ยังอาจรวมไปถึงคุณสมบัติข้างเคียงที่มักพบในยาสีนี้ เช่น ขจัดเสมหะ เสริมความอยากอาหาร แก้คลื่นไส้อาเจียน เพิ่มการขับถ่ายและระบาย เป็นต้น

ตัวอย่างยาจีน “สีเหลือง”

หวงเหลียน (黄连) ,  ม่ายหยา(麦芽) ,  หวงฉี(黄芪) ,ขิงสด  (生姜) ,  หวงฉิน(黄芩) เป็นต้น

4.      สีขาว---ธาตุทอง—ระบบปอด

            สีขาวนั้นเป็นตัวแทนของความ บริสุทธิ์ ดูมีมูลค่า ดูสะอาดตาสำหรับมนุษย์ จึงทำให้ถูกสังกัดอยู่ในธาตุทอง ที่เป็นสีที่ดูมีมูลค่าเช่นเดียวกัน  อย่างที่เราทราบกันว่าระบบปอดทำหน้าที่ในการขับเคลื่อนชี่ เพื่อให้การหายใจและการแลกเปลี่ยนออกซิเจนจากภายนอกเป็นไปได้อย่างราบรื่น ดังนั้นยาจีนหลายชนิดที่มีสีขาวก็มักจะมีคุณสมบัติในการเสริมชี่พื้นฐานของปอดเป็นหลักร่วมกับม้ามหรือไตได้ อีกทั้งยังมีการคิดค้นสูตรยาจีนสำหรับดูแลผิวพรรณที่พบว่ายาจีนที่ใช้หลายประเภทมักเป็นสีขาวอีกด้วย นั่นก็เพราะว่าด้วยแนวคิดแพทย์จีนตามรูปแบบของทฤษฎีปัญจธาตุ ที่กล่าวถึง สภาพผิวหนังของเรา จะเป็นการสะท้อนถึงความแข็งแรงของปอดนั่นเอง นอกจากนี้ยาจีนสีขาวหลายตัวยังมีคุณสมบัติช่วยปอดจัดการน้ำในร่างกาย ขจัดความชื้นได้อีกด้วย

ตัวอย่างยาจีน “สีขาว”

ฝูหลิง (茯苓) ,  ซานเย่า(山药) ,  ลูกเดือย(薏苡仁) ,ไป่เหอ  (百合) ,  ดอกเก๊กฮวยขาว(白菊花) เป็นต้น

5.      สีดำ---ธาตุน้ำ—ระบบไต

            ไตมีหน้าที่จัดการน้ำทั้งในทางแพทย์แผนปัจจุบันและแพทย์จีน และถูกกำหนดด้วยสีดำที่ดูมีความเป็น อินมากกว่าหยาง ถ้าคิดง่าย ๆ ตามธรรมชาติหากเราลงไปใต้ทะเลลึกแน่นอนว่าเราอาจจะไม่พบกับแสงสว่าง สีที่น่าจะเป็นตัวแทนได้ดีที่สุดก็ต้องเป็น สีดำ นั่นเอง โดยยาจีนที่ใช้ในการบำรุงไต บำรุงสารจิง เติมความชุ่มชื้นให้ไตก็มักจะเป็นสีดำด้วยเช่นกัน และหลายครั้งสีของยาบำรุงก็มักจะเข้ม หรืออาจจะกลบสียาตัวอื่น ๆ ได้อย่างง่ายดาย

ตัวอย่างยาจีน “สีดำ”

สูตี้หวง (熟地黄) ,  หวงจิง(黄精) ,  งาดำ(黑芝麻) ,เหอโส่วอู  (何首乌) ,  หนี่เจินจื่อ(女贞子) เป็นต้น

สุดท้าย การเลือกใช้สีของยาจีนในการรักษาโรคนั้น เป็นเพียงไอเดียพื้นฐานที่ยังคงต้องประกอบกับแนวคิดการรักษาและวิเคราะห์โรคจากแพทย์โดยตรง และยังมียาจีนอีกหลายหลายชนิดที่ “สี” ของมันอาจจะไม่ตรงปก แต่ก็ยังคงรักษาได้หลากหลายอวัยวะและดูแลสุขภาพของเราได้ดีเช่นกัน

------------------------

บทความโดย
แพทย์จีน ต้นสกุล สังข์ทอง (หมอจีน ซ่ง เซียน เนี่ยน)
宋先念 中医师
TCM. Dr. Tonsakul Sungthong (Song Xian Nian)
แผนกอายุรกรรมระบบทางเดินอาหาร

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้