Last updated: 2 ก.ค. 2567 | 1847 จำนวนผู้เข้าชม |
ในสังคมยุคปัจจุบันเต็มไปด้วยความเร่งรีบ ตั้งแต่รีบตื่นนอน รีบไปทำงาน รีบรับประทานอาหาร สิ่งแวดล้อมทุกอย่างเร่งรีบไปหมด จนเรามักละเลยการดูแลร่างกายของเรา หากแต่ร่างกายคือรากฐานของชีวิต การมีร่างกายที่แข็งแรงเท่านั้นที่ทำให้เรามีชีวิตที่ดีได้ จึงขอแนะนำการดูแลร่างกายให้มีสุขภาพดีง่ายๆฉบับแพทย์แผนจีน เพื่อช่วยให้คุณมีสุขภาพที่ดีและมีความสุขทั้งร่างกายและจิตใจ
สาเหตุของความไม่สมดุลของร่างกาย
ความเร่งรีบของสังคมในยุคปัจจุบัน ไม่ว่าจะเร่งรีบกับการใช้ชีวิต รีบทำงาน เรียนหนังสือ จนเผลอลืมใส่ใจสุขภาพโดยที่คุณไม่รู้สึกตัวเพราะว่าโรคมักไม่ได้เกิดขึ้นทันทีทันใด แต่จะค่อย ๆ เกิดสะสมอยู่ในตัวเรา เช่น ภาวะอาการอ่อนล้าหรือซวีเหลา (虚劳)
ลักษณะนิสัยการใช้ชีวิตที่ไม่สมดุล เช่น การรับประทานอาหารไม่ตรงเวลา รับประทานอาหารฟาสต์ฟูดหรืออาหารแปรรูปเป็นประจำ การใช้อิริยาบทในท่าเดิมนานๆ ทำให้อินหยางของร่างกายไม่สมดุล ลักษณะเด่นของอินหยางในร่างกายไม่สมดุล เช่น ภาวะวัยทอง อาการเดี๋ยวร้อนเดี๋ยวหนาว หงุดหงิดง่าย
นอกจากนี้หากร่างกายขาดการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ จะส่งผลให้การทำงานของกระดูกและกล้ามเนื้อลดลง อดทนต่อการออกแรงได้น้อยลง อีกทั้งยังมีผลต่ออารมณ์และจิตใจ เช่น หงุดหงิดง่าย นอนไม่หลับ ปัสสาวะบ่อย
สรุปง่ายๆ คือ วิถีชีวิตของสังคมในยุคปัจจุบัน และลักษณะนิสัยการใช้ชีวิตที่ไม่สมดุลเป็นสาเหตุหลักของการดูแลรักษาสุขภาพและความไม่สมดุลของร่างกายนั่นเอง
การดูแลร่างกายให้มีสุขภาพดีตามฉบับแพทย์แผนจีน
หัวใจหลักของการดูแลร่างกายให้มีสุขภาพดีตามฉบับแพทย์แผนจีน คือ การปรับสมดุลอินหยางของร่างกายให้สมดุล ปรับสมดุลการไหลเวียนเลือด และเสริมสร้างภูมิคุ้มกันของร่างกาย ดังนี้
1. ทานอาหารอย่างสมดุล
อาหารเป็นปัจจัยสำคัญต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ เราจึงควรเลือกรับประทานอาหารให้เหมาะสมตามลักษณะของร่างกายและเหมาะสมกับแต่ละช่วงเวลา - ฤดูกาล เช่น ผู้ที่มีพื้นฐานร่างกายอุ่นร้อน เหมาะแก่การรับประทานอาหารที่มีฤทธิ์เย็น ตัวอย่างเช่น ผักและผลไม้ใบเขียว และหากผู้ที่มีพื้นฐานร่างกายเย็น เหมาะแก่การรับประทานอาหารที่มีฤทธิ์อุ่นร้อน เช่น ขิง อบเชย พริกไทยดำ เนื่องจากสภาพร่างกายของแต่ละบุคคลไม่เหมือนกันและอาจมีอาการเจ็บป่วยแตกต่างกัน ซึ่งการรับประทานอาหารให้เหมาะสมกับสภาพร่างกายจะช่วยให้ร่างกายสมดุล แข็งแรง ไม่ป่วยง่าย
2. การพักผ่อนที่เหมาะสม
เวลาเข้านอนที่เหมาะสม คือ ควรเข้านอนก่อนเวลา 22.00 น. และควรตื่นในช่วงเวลา 06.00 น. - 07.00 น. ตามหลักนาฬิกาชีวิตของการแพทย์แผนจีน กล่าวว่า ช่วงเวลา 01.00 น. – 04.00 น. เป็นเวลาของอวัยวะตับและปอด เป็นช่วงเวลาที่ทำให้เลือดไหลกลับเข้าสู่ตับ เกิดการกำจัดสารพิษและของเสียในร่างกาย
การนอนหลับเพื่อบำรุงสุขภาพ คือ ช่วงกลางวัน เวลา 11.00 น. - 13.00 น. เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมในการงีบหลับสั้นๆประมาณ 20 นาที จะช่วยบำรุงหยางชี่ แนะนำให้ทำควบคู่กับท่าบริหารกาย โดยการนำมือสองข้างวางที่ใต้สะดือ 3 ชุ่น อมยิ้มและให้ปลายลิ้นแตะเพดานปาก
3. กายบริหาร
การเคลื่อนไหวร่างกายอย่างสม่ำเสมอไม่ว่าจะเป็น การรำไทเก๊ก ชี่กง หรือการเดิน จะทำให้เกิดประโยชน์หลายๆด้าน เช่น ทำให้ชี่และเลือดไหลเวียนได้สะดวก อวัยวะภายในร่างกายก็จะแข็งแรงขึ้น
4.การรับประทานยาจีน
การรับประทานยาจีนที่ถูกต้อง ต้องขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายและภาวะสภาพแวดล้อมในการใช้ชีวิตประจำวันของเรา โดยยาจีนนั้นจะช่วยปรับสมดุลอินหยาง ปรับการทำงานของอวัยวะในร่างกาย บำรุงชี่และเลือด
5. ไม่ตรากตรำทำงานหนักเกินไป
การตรากตรำทำงานหนักเกินไป ส่งผลให้อินหยางเสื่อมพร่อง ชี่และเลือดไม่เพียงพอ ดังนั้น เราควรจัดเวลาทำงานและพักผ่อนให้เหมาะสมเพื่อหลีกเลี่ยงการนอนดึกและไม่ตรากตรำทำงานหนักเกินไป
ตัวอย่างกรณีศึกษา
ข้อมูลทั่วไป
ชื่อ-นามสกุล 李XX
เพศ ชาย อายุ 45 ปี
อาการสำคัญ: เหนื่อยง่าย นอนไม่หลับ
ประวัติการเจ็บป่วยในปัจจุบัน: ผู้ป่วยใช้ชีวิตช่วงที่ผ่านมาด้วยการตรากตรำทำงานหนักตลอดเวลา อีกทั้งมีความกดดันสูง บ่อยครั้งอดหลับอดนอน ทานอาหารจ่านด่วนที่มีรสหวานและเค็มมาก ขาดการออกกำลังกาย และนั่งทำงานหน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน ทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ยังส่งผลให้สุขภาพแย่ลง กระทบกับการใช้ชีวิตประจำวันและการทำงาน
ขั้นตอนการรักษา: ผู้ป่วยนอกจากได้รับการรักษาแบบการวินิจฉัยจำแนกกลุ่มอาการของโรคเพื่อกำหนดวิธีการรักษาตามวิธีการรักษาของแพทย์แผนจีนแล้วผู้ป่วยยังได้รับคำแนะนำเกี่ยวกับวิธีการดูแลสุขภาพหลังจากผู้ป่วยได้ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์และติดตามผล พบว่าผู้ป่วยอาการดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด แต่ยังคงให้ผู้ป่วยปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ในเรื่องการดูแลสุขภาพต่อไปดังนี้
1.ทานอาหารอย่างสมดุล
เน้นการรับประทานอาหารที่หลากหลายและหลีกเลี่ยงการรับประทานที่อิ่มมากเกินไป อีกทั้งเน้นการบริโภคผัก ผลไม้ และอาหารธัญพืชที่ไม่ขัดสี รวมถึงลดการบริโภคอาหารที่มีน้ำตาลสูง ไอโอดีนสูง และอาหารที่มีไขมันสูง
2.ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
แนะนำให้ออกกำลังกายทุกวันอย่างน้อยวันละ 30 นาที เช่น การเดิน การวิ่งเหยาะๆ ว่ายน้ำ และแนะนำให้ผู้ป่วยลองออกกำลังกายเพื่อความบันเทิง เช่น โยคะหรือไทเก๊ก ช่วยผ่อนคลายร่างกายและจิตใจ นอกจากนี้พยายามเดินร้อยก้าวหลังอาหารกลางวันเพื่อมีชีวิตอยู่ถึง 99 ปี ซึ่งเป็นวิธีที่แพทย์แผนจีนโบราณสอนเพื่อฟื้นฟูร่างกายและจิตใจ
พักหลับตาหลังอาหารกลางวัน วางปลายลิ้นแตะบนเพดานปากพร้อมกับอมยิ้ม วางมือประสานกันเบาๆ บริเวณตรงกลางใต้สะดือ 3 ชุ่น โดยผู้ชายให้นำมือขวาทับมือซ้าย ผู้หญิงให้นำมือซ้ายทับมือขวา ผ่อนลมหายใจเป็นจังหวะ เป็นเวลา 20 นาที ซึ่งท่าการบริหารนี้สามารถช่วยบำรุงหัวใจและเสริมหยางชี่ได้อีกด้วย
3.ปรับการนอนให้เหมาะสม
ควรนอนหลับไม่น้อยกว่า 7-8 ชั่วโมง ปรับเวลาการนอนโดยเข้านอนและตื่นนอนในเวลาเดิมทุกวัน ลองฝึกนั่งสมาธิหรือฝึกลมหายใจเป็นจังหวะเพื่อผ่อนคลายจิตใจและช่วยให้หลับลึกได้มากขึ้น
4.ปรับสภาวะทางอารมณ์
แนะนำให้ผู้ป่วยเรียนรู้เทคนิคการผ่อนคลาย เช่น การนวดผ่อนคลายกล้ามเนื้อ การทำสมาธิ สร้างความสัมพันธ์กับบุคคลครอบครัวหรือเพื่อนฝูงเพื่อแบ่งปันความรู้สึกภายในและลดแรงกดดันทางจิตใจ
-----------------------
บทความโดย
แพทย์จีน เจิ้ง เหลียง ฮ่าว
郑良好 资深中医师
TCM. Dr. Zheng Liang Hao
แผนกอายุรกรรม
แปลโดย แพทย์จีนชนกนันท์ ชวชาติ
11 พ.ย. 2567
11 พ.ย. 2567
14 พ.ย. 2567