Last updated: 2 ก.ค. 2567 | 4000 จำนวนผู้เข้าชม |
เมื่ออากาศเริ่มเย็นลง พอฉันตื่นขึ้นมาก็พบว่าคอตัวเองขยับไม่ได้ มีอาการคอไหล่ตึงและปวดมากเวลาเคลื่อนไหวสงสัยจะคอตกหมอนแล้วแหละ... คอตกหมอนหรืออาการเกร็งของกล้ามเนื้อคอเฉียบพลันคืออาการปวดตึงกล้ามเนื้อคอที่เกิดขึ้นหลังตื่นจากนอนหลับ
สาเหตุการเกิดคอตกหมอน
ในยุคปัจจุบันรูปแบบการทำงานและการใช้ชีวิตของคนในสังคมเต็มไปด้วยความเครียดและแรงกดดัน นอกจากนี้ในการทำงานยังจำเป็นต้องอยู่ท่าเดิมนาน ๆ นอนดึกตื่นเช้า ทำให้กล้ามเนื้อทั่วร่างกายได้รับความเหนื่อยล้าอย่างมาก เนื่องจากความกดดันและความตึงเครียดทางจิตใจ โดยเฉพาะกล้ามเนื้อไหล่และคออยู่ในภาวะหดตัวผิดปกติจากการเหยียดตึงมากเกินไปเป็นเวลานาน ๆ หากใช้หมอนที่ไม่เหมาะสม เช่น หมอนที่ไม่รองรับส่วนเว้าของกระดูกส่วนคอ หรือหมอนที่แข็งเกินไป จะทำให้ขณะนอนหลับเส้นประสาทกระดูกสันหลังส่วนคอจะถูกกดทับ เพิ่มความเสี่ยงให้เกิดคอตกหมอนหรือกล้ามเนื้อคอตึงเกร็ง อาการที่เห็นได้ชัดที่สุดสำหรับผู้ป่วยคอตกหมอนส่วนใหญ่คือ ปวดคอหลังตื่นนอน อาจเคลื่อนไหวคอได้ลำบากหรือปวดคอรุนแรงเมื่อขยับในบางทิศทาง ในกรณีที่รุนแรง แม้กระทั่งการดื่มน้ำ พูด หรือยกแขน อาจทำให้ปวดคอขึ้นมาได้เช่นกัน
คอตกหมอนบ่อย ๆ อาจเกี่ยวกับหมอนที่ใช้อยู่ก็ได้
อากาศเปลี่ยนแปลงเดี๋ยวร้อนเดี๋ยวเย็นสลับไปมา ทำให้ผู้ป่วยมีอาการคอตกหมอนเฉียบพลันมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่อาการคอตกหมอนนั้นเฉียบพลันจริงหรือ? ที่จริงแล้ว คอตกหมอนมักเกิดจากอาการกล้ามเนื้อตึงเกร็งเรื้อรังกดทับหรืออุดกั้นทำให้การไหลเวียนของชี่และเลือดไม่ดี และในเวลากลางคืนที่อุณหภูมิลดต่ำลง ในขณะหลับคนเราจะปรับท่านอนของตนเองโดยไม่รู้ตัว หากคอ และไหล่ กระทบกับความเย็นมากเกินไป และหากวางศีรษะบนหมอนไม่เหมาะสม หลอดเลือดก็จะเกิดการหดตัว และทำให้เกิดอาการกระตุกของกล้ามเนื้อและดึงกล้ามเนื้อโดยรอบ ทำให้เกิดอาการบวมและปวดเรียกว่าคอตกหมอน
คอตกหมอนป้องกันอย่างไร
กระดูกสันหลังส่วนคอของมนุษย์มีความโค้งทางสรีรวิทยาตามธรรมชาติ หากหมอนสูง ต่ำเกินไป แข็งเกินไป หรือที่นอนแข็งเกินไป คอจะอยู่ในภาวะแหงนหรือเหมือนก้มมากเกินไป ส่งผลให้กล้ามเนื้อตึงเกร็งด้านใดด้านหนึ่ง คอทำให้เกิดอาการปวดไม่สบาย วิธีการป้องกันและหลีกเลี่ยงอาการคอตกหมอน ก่อนอื่นให้ตรวจสอบก่อนว่าหมอนและที่นอนของคุณ มีความยืดหยุ่นเหมาะสมกับสรีระหรือไม่ และความสูงของหมอนควรอยู่ที่ประมาณหนึ่งกำปั้น เมื่อนอนหงาย ควรวางส่วนล่างของหมอนไว้ที่ขอบด้านบนของสะบัก เพื่อป้องกันไม่ให้ศรีษะตกจากหมอนและป้องกันการก้มคอมากเกินไป
การวิเคราะห์โรคจากกรณีศึกษา
นาย เฉิน XX อายุ 38 ปี อาชีพกราฟิกดีไซน์เนอร์: ตื่นเช้ามามีอาการคอตึง ปวด เคลื่อนไหวลำบากมา 3 วัน ผู้ป่วยแจ้งว่า "มีอาการคอตกหมอน" และยังแจ้งว่า แม้จะกินยาแก้ปวด นวด และติดพลาสเตอร์ลดปวดแล้วก็ยังไม่สามารถบรรเทาความเจ็บปวดลงได้ ในระหว่างการตรวจพบว่ากล้ามเนื้อคอ ไหล่ และหลังตึงผิดปกติ X-RAY แสดงให้เห็นว่าความโค้งทางสรีรวิทยาของกระดูกสันหลังส่วนคอลดลงปานกลาง ไม่พบอาการอาการร้ายแรงอื่น ๆ ผู้ป่วยยังบอกด้วยว่านอกจากต้องทำงานหน้าคอมพิวเตอร์เป็นเวลานานแล้วยังมักยกของหนัก ๆ อีกด้วย เวลาเจ็บไหล่และคอจะชอบบิดตัวและหมุนคอแต่จะดีขึ้นเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
วิธีรักษา เริ่มต้นด้วยการนวดทุยหนาเบา ๆ เพื่อคลายกล้ามเนื้อ จากนั้นจึงค่อย ๆ เพิ่มแรงการนวดเพื่อคลายกล้ามเนื้อส่วนลึก ตามด้วยการฝังเข็มเพื่อไล่ลมเย็มที่อุดกั้นเส้นลมปราณ คลายกล้ามเนื้อ และกระตุ้นการไหลเวียนโลหิต หลังการรักษาครั้งแรก อาการปวดบรรเทาลงอย่างเห็นได้ชัด หลังจากการนัดตรวจติดตามผลในอีก 2 วันต่อมา ผู้ป่วยแจ้งว่าอาการปวดไม่มีแล้ว และสามารถเคลื่อนไหว ขยับคอได้อย่างปกติ
วิธีดูแลตนเองเบื้องต้น
เพื่อป้องกันการเกิดคอตกหมอนซ้ำ หลังเกิดอาการคอตกหมอนภายใน 24 ชั่วโมง ควรประคบเย็นเพื่อลดอาการบวมและปวด ประคบครั้งละประมาณ 10-15 นาที หลังจากผ่านไปอีก 24 ชั่วโมง อาการบวมจะลดลง จากนั้นใช้ผ้าร้อนหรือขวดน้ำร้อนห่อด้วยผ้าประคบร้อนเฉพาะจุดเพื่อให้เลือดไหลเวียนดีและช่วยบรรเทาอาการปวด
หลังจากบรรเทาอาการคอตกหมอนลงแล้ว สามารถบริหารยืดเหยียดกล้ามเนื้อเพื่อฝึกความยืดหยุ่นของกล้ามเนื้อคอ เพื่อช่วยเร่งการฟื้นตัวได้
ท่าก้มเงยศีรษะ : ก้มศีรษะลง หยุดค้าง 5 วินาที จากนั้นเงยหน้าขึ้นมองท้องฟ้า หยุดค้าง 5 วินาที จากนั้นก้มศีรษะลงอีกครั้ง ทำซ้ำ 20 ครั้ง
มองซ้ายและขวา : หันศีรษะมองไปทางซ้ายและขวาสลับกัน ค้างไว้ 5 วินาทีในแต่ละครั้ง และทำแบบนี้ 20 ครั้งติดต่อกัน
การหมุนศีรษะ : หมุนศีรษะช้า ๆ 180 องศา หากรู้สึกเจ็บปวด สามารถลดระยะการหมุนได้ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของแต่ละคน
------------------------
บทความโดย
ดร.พจ. ชวน ไพบูลย์เวช (หลิน เผย ชวน)
林培川 资深中医师
TCM.Dr.Chuan Phaiboonvej (Lin Pei Chuan)
แผนกกระดูกและทุยหนา
แปลและเรียบเรียงโดย พจ. กฤษฎากรณ์ ศรีสาคร (พจ.1657)
คลินิกฟื้นฟูอัมพฤกษ์อัมพาตและโรคทางระบบประสาท
20 ม.ค. 2568
12 พ.ย. 2567
26 ก.ย. 2567
15 พ.ย. 2567