การดูแลผู้ป่วยมะเร็งช่วงผ่าตัด เคมีบำบัดและฉายแสงด้วยแพทย์แผนจีน (ตอนที่ 1)

Last updated: 2 ก.ค. 2567  |  1374 จำนวนผู้เข้าชม  | 

การดูแลผู้ป่วยมะเร็งช่วงผ่าตัด เคมีบำบัดและฉายแสงด้วยแพทย์แผนจีน (ตอนที่ 1)

มนุษย์เราทุกคนเมื่อกาลเวลาผ่านไป ร่างกายย่อมเสื่อมโทรมลง ภาวะโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ ก็จะเริ่มเกิดขึ้นกับร่างกายเราเป็นสัจธรรมที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้รวมถึงโรคมะเร็งก็อาจเกิดขึ้นได้ โรคมะเร็งจัดเป็นหนึ่งในโรคที่หลายคนไม่อยากให้เกิดขึ้นกับร่างกายเรามากที่สุด ด้วยกระบวนการดำเนินของโรคและการรักษานั้นหลายครั้งทำให้ผู้ป่วยเกิดความทุกข์ทรมานและคุณภาพชีวิตที่ยํ่าแย่ ไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัด เคมีบำบัดหรือฉายแสง วิธีการเหล่านี้ถึงแม้จะส่งผลเสียต่อร่างกายมาก แต่ก็มีผลดีในการควบคุมโรคหรืออาจทำให้ผู้ป่วยหายจากโรคได้ จึงเป็นวิธีการรักษาที่ได้รับความนิยมและได้รับการยอมรับในทางการแพทย์แผนตะวันตกมาหลายทศวรรษ ถึงแม้ปัจจุบันจะมีวิธีอื่น ๆ เพิ่มเข้ามา เช่น ยามุ่งเป้า ภูมิคุ้มกันบำบัด แต่ด้วยค่าใช้จ่ายในการรักษาที่ค่อนข้างสูงทำให้ยังยากต่อการเข้าถึงในผู้ป่วยทุกราย การผ่าตัด เคมีบำบัด และฉายแสงจึงยังคงได้รับความนิยมและใช้อย่างแพร่หลายถึงปัจจุบัน ด้วยราคาที่เข้าถึงง่ายกว่าและประสิทธิภาพการรักษาที่ดี

การลดผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นจากการผ่าตัด เคมีบำบัดและฉายแสงนั้นจึงมีความจำเป็นอย่างมากต่อผู้ป่วย ทั้งในแง่การเพิ่มโอกาสในการรับการรักษาได้ครบตามแผนการรักษาที่วางไว้ การเพิ่มคุณภาพชีวิตผู้ป่วยหลังการรักษา และการเสริมสร้างกำลังใจให้แก่ผู้ป่วย สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้การรักษาโรคมะเร็งประสบความสำเร็จได้

จุดเด่นที่ชัดเจนของแพทย์แผนจีนอย่างหนึ่งคือการปรับสมดุลที่เสียไปของร่างกายผู้ป่วยและฟื้นฟูร่างกายให้กลับมาแข็งแรงได้อย่างรวดเร็ว ดังที่เรามักพบยาบำรุงร่างกายสูตรต่าง ๆ วางขายตามท้องตลาด ซึ่งส่วนใหญ่แล้วมักเป็นยาสมุนไพรจีนหรือมียาสมุนไพรจีนเป็นองค์ประกอบเป็นส่วนใหญ่ ในการรักษาโรคมะเร็งก็เช่นเดียวกัน เมื่อผู้ป่วยได้รับการรักษาไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัด เคมีบำบัดหรือฉายแสง สิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้นกับร่างกายผู้ป่วยที่หลีกเลี่ยงไม่ได้เลยคือ “ผลข้างเคียง” ซึ่งจะส่งผลทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยแย่ลง ถึงแม้ว่าเราจะรักษาทางแผนปัจจุบันจนครบถ้วนทุกกระบวนการแล้ว แต่ก็ไม่มีอะไรสามารถการันตีได้เลยว่าเซลล์มะเร็งจะหมดไปจากร่างกายผู้ป่วยได้อย่าง 100% และระบบที่จะมาจัดการเซลล์มะเร็งที่ยังมีหลงเหลือบ้างในร่างกายเราไม่ให้กลับมาเป็นซํ้าหรือลุกลามได้ง่าย ๆ ก็คือ “ระบบภูมิคุ้มกัน” ของเราเองนั่นเอง โดยหลังการรักษาหากผู้ป่วยยังคงฟื้นตัวจากผลข้างเคียงได้ช้า ทานอาหารได้น้อย ระบบย่อยอาหารไม่แข็งแรง อ่อนเพลีย มีความเครียดสูง ค่าความสมบูรณ์ของเม็ดเลือดตํ่ากว่าเกณฑ์ไปมาก ระบบภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยก็จะทำงานได้แย่ลงตามไปด้วย หากในระหว่างนั้นร่างกายผู้ป่วยยังคงมีเซลล์มะเร็งเหลือรอดอยู่ ก็มีโอกาสสูงที่จะกลับมาเป็นซํ้าหรือพัฒนาลุกลามต่อไปได้ ในอีกด้านหนึ่งหากระหว่างหรือหลังการรักษาผู้ป่วยใช้แพทย์แผนจีนมาช่วยฟื้นฟูร่างกายและลดผลข้างเคียงจากการรักษาของแผนปัจจุบันควบคู่ไปด้วยกัน (ซึ่งเป็นวิธีที่ได้รับความนิยมอย่างมากในประเทศจีน) ผู้ป่วยก็จะได้รับผลข้างเคียงจากการรักษาที่น้อยลง ร่างกายฟื้นตัวรวดเร็วขึ้น สุขภาพจิตดีขึ้น ระบบภูมิคุ้มกันก็จะสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นเช่นเดียวกัน เซลล์มะเร็งที่อาจเหลือรอดอยู่ก็จะกลับมาเป็นซํ้าหรือลุกลามได้ยากขึ้นกว่าเดิมนั่นเอง

หากแยกเป็นแต่ละรูปแบบการรักษาของแผนปัจจุบัน โดยแบ่งข้อดีข้อเสียและการแก้ไขในมุมมองของแพทย์แผนจีนแล้วจะสามารถแบ่งได้ดังนี้

  1. การผ่าตัด

    เป็นเทคนิคการรักษาโรคมะเร็งแบบดั้งเดิม ที่ในปัจจุบันยังคงเป็นมาตรฐานการรักษาโรคมะเร็งหลายชนิด

    ข้อดี : สามารถกำจัดตัวก้อนมะเร็งได้อย่างรวดเร็วและตรงจุด เหมาะอย่างยิ่งที่จะใช้ในมะเร็งระยะต้นที่ยังไม่มีการแพร่กระจาย เพิ่มโอกาสหายขาดได้มาก

    ข้อเสีย : การผ่าตัดในมุมมองของแพทย์แผนจีนจะทำให้ร่างกายผู้ป่วยสูญเสียพลังชี่และเลือดในปริมาณมาก ส่งผลให้ร่างกายผู้ป่วยอ่อนแอลงกระทันหัน นอกจากนี้แพทย์แผนจีนยังเชื่อว่าการผ่าตัดจัดเป็นการบาดเจ็บของร่างกายชนิดหนึ่ง ดังนั้นจะมีโอกาสเกิดเลือดเสียคั่งค้างในร่างกายได้ ซึ่งจะส่งผลต่อการทำงานของอวัยวะภายในนั้นๆหรือกระตุ้นการเกิดก้อนใหม่ๆขึ้นมาได้

    การแก้ไขโดยวิธีทางการแพทย์แผนจีน : บำรุงพลังชี่และเลือด พร้อมกับสลายเลือดคั่ง เพื่อให้ร่างกายผู้ป่วยฟื้นตัวจากการบาดเจ็บจากการผ่าตัดได้รวดเร็วที่สุด

  2. เคมีบำบัด

    เป็นยาที่ออกฤทธิ์ต้านหรือทำลายเซลล์มะเร็ง โดยมีเป้าหมายสำคัญคือเซลล์มะเร็งที่แบ่งตัวเร็ว และต่อเนื่อง ยาจะออกฤทธิ์ยับยั้งการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็ง หลายรูปแบบ ทำให้เซลล์ไม่สามารถแบ่งตัวต่อไปและตายในที่สุด

    ข้อดี : กำจัดมะเร็งได้แทบทุกตำแหน่งของร่างกาย ทั้งที่มองเห็นหรือมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า รวมถึงในกระแสเลือด เหมาะสำหรับมะเร็งระยะลุกลามหรือแพร่กระจาย หรือมะเร็งระยะต้นที่เซลล์มีความดุร้ายเสี่ยงต่อการแพร่กระจายได้ง่าย เพิ่มโอกาสหายขาดหรือช่วยควบคุมก้อนมะเร็งได้ดี

    ข้อเสีย : เคมีบำบัดในมุมมองของแพทย์แผนจีนนั้นจัดเป็นยาก่อพิษ(药毒)ประเภทหนึ่งซึ่งจะไปทำลายพลังชี่ของม้าม กระเพาะอาหารและไต ส่งผลให้การสร้างและการไหลเวียนของพลังชี่และเลือดถูกบั่นทอน เกิดอาการอ่อนเพลีย ผมร่วง เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียนเป็นต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเกิดภาวะไขกระดูกถูกกดการทำงานจากเคมีบำบัด (chemotherapy-induced myelosuppression) ซึ่งจะส่งผลให้เม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือดลดตํ่าลง โดยหากลดตํ่าลงไปมากจนเกินไปจะทำให้ไม่สามารถเข้ารับเคมีบำบัดได้ครบตามแผนที่กำหนดไว้ ส่งผลถึงประสิทธิภาพในการรักษาที่อาจไม่ได้ตรงตามที่คาดหวังไว้ โอกาสที่มะเร็งจะแพร่กระจายหรือตอบสนองต่อการรักษาไม่ดีก็จะมีมากกว่าผู้ที่สามารถให้ยาได้ครบตามกำหนด

    การแก้ไขโดยวิธีทางการแพทย์แผนจีน : หลักการรักษาโดยพื้นฐานในช่วงก่อนและระหว่างให้เคมีบำบัดจึงเน้นที่การเสริมสร้างพลังชี่และเลือด บำรุงกระเพาะอาหาร ม้ามและไตให้กลับมาแข็งแรงดังเดิม และลดผลข้างเคียงจากเคมีบำบัดให้ได้มากที่สุด

  3. ฉายรังสี (ฉายแสง)

    คือ การใช้รังสีพลังงานสูงฉายตรงไปที่ตำแหน่งของเซลล์มะเร็ง เพื่อทำลายกลุ่มก้อนเซลล์มะเร็งนั้น ๆ โดยการฉายแสงจะส่งผลให้เซลล์มะเร็งที่ได้รับรังสีมีการเปลี่ยนแปลงในระดับยีน ซึ่งในแต่ละครั้งที่ฉายแสงนั้น เซลล์มะเร็งจะสะสมความผิดปกติของยีนมากขึ้นเรื่อย ๆ ส่งผลให้ไม่สามารถซ่อมแซมส่วนที่เสียหายจากรังสีได้และเซลล์นั้นก็จะตายลง

    ข้อดี : กำจัดมะเร็งได้แบบเฉพาะจุดและเข้าถึงจุดที่ยากจะเข้าถึงได้ เช่นสมอง เป็นต้น อีกทั้งยังเพิ่มประสิทธิภาพการตอบสนองต่อยาเคมีบำบัดบางชนิดได้ และบรรเทาอาการปวดจากมะเร็งได้ นอกจากนี้มะเร็งบางชนิดจะตอบสนองต่อการฉายรังสีได้ดี ก็จะถูกเลือกเป็นแนวทางหลักในการรักษา

    ข้อเสีย : การฉายแสงนั้นในทางแพทย์แผนจีนมองว่าเป็นการรับเอาพิษไฟ(火毒)ปริมาณมากเข้าสู่ร่างกาย ทำให้เกิดการทำลายพลังชี่(气)และอิน(阴)รวมถึงอวัยวะบริเวณที่ได้รับการฉายแสง ส่งผลให้อวัยวะนั้นๆทำงานได้ลดลงหรือเกิดความเสียหายขึ้น เช่น หากมีการฉายแสงบริเวณทรวงอก ก็อาจทำให้เกิดปอดอักเสบ หากมีการฉายแสงบริเวณศีรษะก็อาจทำให้เกิดภาวะปากแห้ง มีแผลในช่องปากและกลืนลำบากเกิดขึ้นได้ สุดท้ายก็อาจส่งผลถึงความสามารถในการทานอาหารและทำให้ร่างกายทรุดโทรมลง คุณภาพชีวิตแย่ลงในที่สุด 

    การแก้ไขโดยวิธีทางการแพทย์แผนจีน: บำรุงชี่และอิน เสริมสารนํ้าในร่างกาย ขับพิษร้อน เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย ให้ไม่ได้รับผลข้างเคียงจากการฉายแสงมากจนเกินไป สามารถฟื้นตัวจากการฉายแสงได้ดีและรวดเร็ว

เหล่านี้คือแนวทางในการดูแลผู้ป่วยมะเร็งเมื่อต้องเข้ารับการรักษาด้วยการผ่าตัด คีโมและฉายแสงในแบบแพทย์แผนจีน โดยในตอนหน้าจะเป็นการดูแลในเรื่องโภชนาการในผู้ป่วยมะเร็งว่าแพทย์แผนจีนมีวิธีการอย่างไรนะครับ

------------------------

บทความโดย
แพทย์จีนวรพงศ์ ชัยสิงหาญ (หมอจีน เฉิน จู เซิง)
陈株生 中医师
TCM. Dr. Worapong Chaisingharn (Chen Zhu Sheng)
แผนกอายุรกรรมมะเร็ง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้