Last updated: 2 ก.ค. 2567 | 5320 จำนวนผู้เข้าชม |
การมีประจำเดือนเป็นสิ่งที่ผู้หญิงทุกคนต้องเผชิญอยู่เป็นประจำ ในช่วงที่เป็นประจำเดือน ผู้หญิงส่วนใหญ่อาจมีอาการเหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย ขี้หนาว ปวดประจำเดือนเล็กน้อย เป็นต้น แต่อาการเหล่านี้มักจะไม่กระทบไปถึงการใช้ชีวิตประจำวัน และสามารถหายไปเองเมื่อประจำเดือนหมดลง แต่ก็มีผู้หญิงบางคนที่มักมีอาการผิดปกติ เช่น คัดหน้าอก ท้องเสีย เป็นไข้ ปวดศีรษะ ปวดตัวเป็นต้น อาการเหล่านี้มักปรากฏในทุก ๆ ช่วงที่มีรอบประจำเดือน ซึ่งอาการดังกล่าวล้วนแล้วแต่กระทบไปถึงชีวิตประจำวันทั้งสิ้น
ในการแพทย์แผนจีนได้มีการกล่าวถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการผิดปกติช่วงมีประจำเดือนของผู้หญิงเอาไว้ดังนี้
1. อาการคัดหน้าอกช่วงมีประจำเดือน
จากทฤษฎีพื้นฐานแพทย์แผนจีน กล่าวว่า ตับเป็นอวัยวะที่กักเก็บเลือด คอยดูแลการไหลเวียนของชี่ไม่ให้ติดขัดเส้นลมปราณของตับเดินพาดผ่านชายโครงและหัวนม ดังนั้นคนที่โมโหง่ายชี่ตับมักติดขัด ชี่ตับไหลเวียนไม่ดี ส่งผลให้เกิดอาการคัดหน้าอกในช่วงที่ประจำเดือนมา หรือช่วงที่ประจำเดือนมาเป็นช่วงที่เลือดลงไปอยู่ที่เส้นลมปราณชงและเญิ่น เพื่อระบายออกเป็นประจำเดือน ทำให้เลือดที่เก็บกักที่ตับไม่เพียงพอ ตับจึงขาดเลือด ขาดการบำรุง ส่งผลทำให้เกิดอาการคัดหน้าอกขึ้น
ตำรับยาจีนที่ใช้ในการรักษา ตัวอย่างเช่น เซียวเหยาส่าน (逍遥散) อีก้วนเจียน(一贯煎) เป็นต้น
2. อาการปวดศีรษะช่วงมีประจำเดือน
สาเหตุที่มักทำให้มีอาการปวดศีรษะช่วงมีประจำเดือนคือ 1. อารมณ์ที่ฉุนเฉียวง่าย ทำให้ชี่ตับเดินติดขัด เกิดเป็นความร้อนในร่างกาย ความร้อนมักลอยขึ้นด้านบน ทำให้มีอาการปวดศีรษะ 2.ชี่เดินติดขัดหรือความเย็นทำให้เกิดเลือดคั่ง อุดกั้นบริเวณศีรษะ สมอง ทำให้ปวดศีรษะ 3.ร่างกายเลือดพร่อง เมื่อประจำเดือนมาเลือดวิ่งลงไปเลี้ยงที่ส่วนล่างของร่งกาย และระบายออกเป็นประจำเดือน ทำให้สมองขาดการบำรุง จึงปวดศีรษะ
ตำรับยาจีนที่ใช้ในการรักษา ตัวอย่างเช่น ปาเจินทั่ง (八珍汤)ทงเชี่ยวหัวเสวี่ยทัง (通窍活血汤) เป็นต้น
3. อาการปวดตัวช่วงมีประจำเดือน
สาเหตุที่ทำให้มีอาการปวดตัวช่วงมีประจำเดือนเกิดจาก 1.เลือดพร่องหรือป่วยหนัก ป่วยนาน ทำให้เลือดและชี่พร่อง เมื่อประจำเดือนมา เลือดระบายออกเป็นประจำเดือน อาการเลือดพร่องหนักขึ้น จนเลือดไม่สามารถบำรุงกล้ามเนื้อได้เพียงพอและเกิดอาการปวดตามร่างกาย 2.เดิมทีร่างกายมีความเย็นและความชื้นอุดกั้นอยู่ในเส้นลมปราณและตามข้อต่างๆในร่างกาย เมื่อประจำเดือนมาชี่และเลือดไปรวมกันที่เส้นลมปราณชงเญิ่น แต่เนื่องจากความเย็นและความชื้นทำให้เลือดเดินไม่สะดวก ทำให้เกิดอาการปวดตัวช่วงมีประจำเดือน
ตำรับยาจีนที่ใช้ในการรักษา ตัวอย่างเช่น ตังกุยปู่เสวี่ยทัง(当归补血汤)เป็นต้น
4. อาการตัวร้อนช่วงมีประจำเดือน
อาการตัวร้อนช่วงมีประจำเดือนเกิดจากการที่ชี่ เลือด อิน หยาง ในร่างกายไม่สมดุล เลือดเป็นปัจจัยพื้นฐานของผู้หญิง ประจำเดือนเป็นเลือดในร่างกายที่ไหลออกมา เมื่อถึงช่วงมีประจำเดือนร่างกายจะสูญเสียเลือดและอิน ทำให้อินหยางในร่างกายเสียสมดุล หยางจึงค่อนจะมากกว่าอิน ร่างกายเกิดความร้อน
ตำรับยาจีนที่ใช้ในการรักษา ตัวอย่างเช่น ยาปู่จงอี้ชี่ทัง(补中益气汤)เสวี่ยฝู่จู๋อวีทัง (血府逐瘀汤) เป็นต้น
5. อาการท้องเสียช่วงมีประจำเดือน
สาเหตุของอาการท้องเสียช่วงมีประจำเดือนมักเกิดจากการที่ม้ามและกระเพาะอาหารอ่อนแอ ม้ามมีหน้าที่นำอาหาร และน้ำที่แปรสภาพเป็นสารจำเป็น ดูดซึมและลำเลียงไปหล่อเลี้ยงทั่วร่างกาย ไตมีหน้าที่ในการให้ความอบอุ่นแก่ร่างกาย ทั้งสองอวัยวะมีความเกี่ยวข้องกับกระเพาะอาหาร ควบคุมการทำงานของระบบขับถ่าย ถ้าไตหยางไม่เพียงพอ ม้ามและกระเพาะอาหารทำงานผิดปกติ ย่อยอาหารไม่ดี มีความชื้นสะสมอยู่ในร่างกาย เมื่อประจำเดือนมาเลือดและชี่ไหลมารวมกันที่ส่วนล่างของร่างกาย ทำให้ไต ม้ามและกระเพาะอาหารอ่อนแอมากยิ่งขึ้น ไม่สามารถควบคุมการขับถ่ายได้ เมื่อประจำเดือนมาจึงส่งผลให้ถ่ายเหลวอยู่เป็นประจำ
ตำรับยาจีนที่ใช้ในการรักษา ตัวอย่างเช่น เซินหลิงไป๋จู๋ส่าน(参苓白术散)เจี้ยนกู้ทัง(健固汤)เป็นต้น
------------------------
บทความโดย
แพทย์จีน สิตา สร้อยอัมพรกุล (หมอจีน หลิน อิ่ง เหวิน)
林影雯 中医师
TCM. Dr. Sita Soiampornkul (Lin Ying Wen)
22 ม.ค. 2568
22 ม.ค. 2568
22 ม.ค. 2568