Last updated: 2 ก.ค. 2567 | 6692 จำนวนผู้เข้าชม |
เป็นหวัดบ่อย ๆ ไม่สบายง่าย ปวดหัว มีไข้ ไอ เจ็บคอ มีเสมหะมากเป็น ๆหาย ๆ รบกวนการใช้ชีวิต รบกวนการทำงานในทุกวันนี้ เป็นอาการที่พบได้มากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จากการทำงานที่หักโหม สภาพจิตใจที่ย่ำแย่ การใช้ชีวิตอย่างสุดโต่ง สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นพื้นฐานของสาเหตุการเป็นหวัดทั้งสิ้น ในทางการแพทย์แผนจีนนั้น เป็นหวัด หรือ ก่านเม่า(感冒) เกิดจาก “ไว่เสีย (外邪) ปัจจัยก่อโรคจากภายนอก 6อย่าง” ได้แก่ ลม ความเย็น ความร้อน ความชื้น ความแห้ง และไฟ เข้ากระทบแทรกสู่ร่างกาย ทำให้ร่างกายส่วนของอิ๋นเว้ย (营卫) เสียสมดุล แต่การที่ไว่เสียเข้าสู่ร่างกายได้นั้น ร่างกายก็มีระบบภูมิคุ้มกันในการป้องกันตัวเอง ซึ่งทางการแพทย์แผนจีนเรียกว่า เว้ยชี่(卫气) ชี่ทำหน้าที่เป็นเกาะคุ้มกัน และเจิ้งชี่(正气) ชี่ภูมิคุ้มกันภายใน คอยเป็นกำแพงป้องกันปัจจัยก่อโรคอยู่ ซึ่งระบบภูมิคุ้มกัน“เว้ยชี่ และ เจิ้งชี่” นี้ทำงานได้ดีหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายพื้นฐานของแต่ละคน (体质) สภาพของแต่ละฤดูกาล(季节) หรือความรุนแรงของสภาพอากาศ (气候) เป็นปัจจัยสำคัญต่อการทำงาน
เป็นหวัดง่าย ติดหวัดบ่อย จึงสามารถเป็นตัวชี้วัดสภาพการทำงานของเว้ยชี่ และเจิ้งชี่ ในการคุ้มกันร่างกาย ถ้าร่างกายซวีเหลา (虚劳) หักโหมจนอ่อนเพลีย หรือใช้งานร่างกายหนักเกินไป (劳伤) ส่งผลต่อความสมบูรณ์ของชี่และเลือด เมื่อชี่และเลือดไม่เพียงพอ สารตั้งต้นสำคัญ(จิงชี่)น้อยลง การสร้างระบบภูมิคุ้มกันเว้ยชี่ เจิ้งชี่ จึงไม่สมบูรณ์ ภูมิคุ้มกันอ่อนแอ ดั่งคัมภีร์ซู่เวิ่น บทชื่อฝ่าลุ่น《素问遗篇·刺法论》 บันทึกไว้ว่า “เจิ้งชี่อยู่ในร่างกาย เสียชี่ (ปัจจัยก่อโรค) ไม่สามารถก่อโรคได้ เมื่อใดเสียชี่ก่อโรคเริ่มปรากฏตัว เมื่อนั้นชี่จึงพร่อง”
ทำอย่างไร ให้แข็งแรงไม่เป็นหวัดง่าย ๆ ในทางการแพทย์แผนจีนนั้นมีวิธีการดังต่อไปนี้
1. หลีกเลี่ยงการสัมผัส ไว่เสีย หรือปัจจัยก่อโรคจากภายนอก
การหลีกเลี่ยงการสัมผัส ไว่เสีย หรือปัจจัยก่อโรคจากภายนอกเข้ากระทบแทรกสู่ร่างกายนั้น ทำได้ง่ายๆ โดยการหลีกเลี่ยง
1. การโดนลมพัดโดยตรงเป็นเวลานานหรือบ่อยครั้ง เพราะการโดนลมมาก ๆ เป็นการทำให้ระบบภูมิคุ้มกันเว้ยชี่เจิ้งชี่ ทำงานอ่อนล้าลง และถ้าไว่เสียแทรกเข้าร่างกายได้สำเร็จ เราก็จะเริ่มปวดเมื่อปวดกล้ามเนื้อมีไข้ได้
2. เมื่อต้องอยู่ในอากาศเย็นก็ต้องใส่เสื้อให้ร่างกายอบอุ่นอยู่เสมอ เพราะความเย็นทำให้ ชี่และเลือดไหลเวียนช้าลง เกิดการติดขัดของชี่และเลือดขึ้น ร่างกายก็จะเกิดอาการปวดได้ มีไข้ไม่มากแต่กลัวหนาว ไม่มีเหงื่อ หรือถ้าร่างกายอ่อนแออยู่เดิมก็จะมีอาการไข้ เหงื่อออกมาก และปวดศีรษะได้
3. เมื่อต้องอยู่ในที่ร้อนก็ต้องใส่เสื้อที่สามารถระบายความร้อนได้ดี ไม่ทำให้ร่างกายร้อนจนมีเหงื่อออกมากเกินไป เพราะถ้าร่างกายร้อนเหงื่อออกมาก ๆ ก็จะทำให้เกิดการสูญเสียสาร จินเย่ (津液) ซึ่งเป็นสารให้ความชุ่มชื้นแก่ร่างกาย ถ้าสารจินเย่ สูญเสียมาก พลังหยางก็จะหายไปพร้อมกับสารจินเย่ด้วย ภูมิคุ้มกัน เว้ยชี่และเจิ้งชี่ เป็นส่วนหนึ่งของพลังหยาง เมื่อพลังหยางไม่พอ ร่างกายก็จะอ่อนแอ ตัวร้อนมาก เจ็บคอ คอแห้งกระหายน้ำ
2. ปรับสมดุลการรับประทานอาหาร
อาหารเป็นเรื่องสำคัญที่จะส่งผลต่อสุขภาพร่างกายได้อย่างชัดเจน การแพทย์แผนจีนกล่าวว่า เราควรรับประทานอาหารต่าง ๆ ให้เหมาะสมกับสภาพอากาศ สภาพอินหยางของร่างกาย กล่าวง่าย ๆ คือ ทานอาหารให้เหมาะสมกับสภาพดินฟ้าอากาศ ควรลดปริมาณการทานอาหารเผ็ด มันมาก หวานมาก ของดิบของเย็น อาหารรสไม่จัด ง่ายต่อการย่อย เช่นโจ๊ก น้ำซุป ผักที่ปรุงสุก ผลไม้ต่าง ๆ เป็นต้น นอกจากนี้ยังต้องรับประทานอาหารให้ตรงตามเวลา ไม่รับประทานอาหารมากเกินไป และไม่ปล่อยให้ร่างกายหิวเกินไป จะเป็นการส่งเสริมระบบภูมิคุ้มกันเว้ยชี่และเจิ้งชี่ให้แข็งแรง การที่ชี่และเลือดเพียงพอก็ส่งผลให้ร่างกายไม่เป็นหวัดง่าย ชี่และเลือดที่เพียงพอถูกสร้างขึ้นจากระบบการย่อยที่แข็งแรง อาหารเมื่อเข้าสู่ร่างกายมีม้ามเป็นศูนย์กลางของระบบการย่อย ม้ามมีหน้าที่ ในการควบคุมการย่อยอาหาร การส่งกระจายลำเลียง การเปลี่ยนสารอาหารไปเป็นชี่และเลือด ถ้าอาหารที่เรารับประทานมากหรือน้อยหรือไม่มีประโยชน์จะส่งผลให้ระบบการย่อยถูกทำให้เสียความสมดุล เช่นอาหารเผ็ดร้อนทำให้ระบบทางเดินอาหารร้อนเกินไปสะสมจนทำให้สารน้ำเหือดแห้งเกิดการถ่ายอุจจาระลำบาก ด้วยลำไส้ใหญ่กับปอดเป็นมีความสัมพันธ์กันแบบภายในภายนอก (เปี่ยวหลี่-相表里) เมื่อลำไส้ใหญ่ทำงานผิดปกติ ปอดก็ทำงานผิดปกติ ทำให้ถูกไว่เสียเข้ารุกรานจนเป็นหวัด อาหารที่เย็นทำให้ระบบทางเดินอาหารทำงานลดลง เกิดการติดขัดขึ้น ชี่และเลือดไหลเวียนไม่ได้ เว้ยชี่เจิ้งชี่สร้างขึ้นไม่พอเพียงหรือประสิทธิภาพลดลง ทำให้เป็นหวัดได้ง่าย ระบบการย่อยจึงมีความสำคัญต่อชี่และเลือดรวมไปจนถึงระบบภูมิคุ้มกันเว้ยชี่เจิ้งชี่ ถ้ามีระบบการย่อยเกิดปัญหา ร่างกายจะอ่อนแอเป็นหวัดง่ายแน่นอน และมีอาการระบบทางเดินอาหารร่วมด้วย เช่นเป็นหวัดร่วมกับคลื่นไส้อาเจียน ท้องอืดปวดท้อง ถ่ายเหลว ท้องเสียเป็นต้น
3. ปรับสมดุลสภาพจิตใจและอารมณ์ให้แจ่มใสอยู่เสมอ
อารมณ์และสภาพจิตใจเป็นสิ่งที่ส่งผลต่อการไหลเวียนของชี่ได้อย่างชัดเจน การแพทย์แผนจีนกล่าวว่า อารมณ์และสภาพจิตใจที่แปรปวนเป็นตัวการทำให้การเคลื่อนที่ไหลเวียนของชี่ผิดปกติ ส่งผลกระทบต่อการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย คัมภีร์ซู่เวิ่น บทจวี่ท่งลุ่น《素问·举痛论》 บันทึกไว้ว่า “โรคมากมายเกิดจากชี่เคลื่อนที่ผิดปกติ การโมโหทำให้ชี่เคลื่อนพุ่งขึ้น ดีใจทำให้ชี่เคลื่อนที่ช้า เศร้าทำให้ชี่สลาย กลัวทำให้ชี่ตกลง ตกใจทำให้ชี่แปรปรวน เครียดทำให้ชี่ติดขัด” และคัมภีร์ซู่เวิ่น บทอินหยางอิ้งเซี่ยงต้าลุ่น《素问·阴阳应象大论》บันทึกไว้ว่า “โมโหทำลายตับ ดีใจทำลายหัวใจ เครียดทำลายม้าม กังวลทำลายปอด กลัวทำลายไต” จึงเป็นข้ออ้างอิงให้เห็นว่าอารมณ์ผิดปกติส่งผลทำให้ร่างกายอ่อนแอลงได้ เมื่อร่างกายอ่อนแอ ระบบภูมิคุ้มกันเว้ยชี่ ก็สูญเสียการทำงาน จึงทำให้เป็นหวัดได้ง่ายขึ้นอีกด้วย ดังนั้นการรักษาความสมดุลของอารมณ์และสภาพจิตใจให้แจ่มใสอยู่เสมอ หลีกเลี่ยงการโมโหทะเลาะวิวาท เครียดกลุ้มใจ กลัววิตกกังวลไปจนสุดโต่ง และควรหากิจกรรมที่ทำให้ผ่อนคลายมีความสุขดีต่อสมดุลของอารมณ์และสภาพจิตใจทำอย่างสม่ำเสมอ อาทิการฟังเพลงสบายๆ การอ่านหนังสือ การวาดภาพ การฝึกไทเก็ก เป็นต้น
4. ออกกำลังสม่ำเสมออย่างพอดี
การออกกำลังกายเป็นการเสริมสร้างความแข็งแรงอีกวิธีหนึ่ง การออกกำลังกายสามารถกระตุ้นการไหลเวียนของชี่และเลือด ปรับสมดุลของอินหยาง เสริมสมรรถภาพของเจิ้งชี่ การออกกำลังกายก็ต้องให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสม ไม่ควรมากเกินหรือน้อยกินไป คัมภีร์ซู่เวิ่น บทแชวนหมิงอู่ชี่《素问·宣明五气》 และคัมภีร์หลิงซู บทจิ่วเจินลุ่น《灵枢·九针论》 บันทึกไว้ว่า “การมองนานทำลายเลือด การนั่งนานทำลายชี่ การยืนนานกระดูก การเดินนานทำลายเส้นเอ็น” ซึ่งการอยู่ในอริยาบทเหล่านี้เป็นเวลานานหรือมากเกินไป จะส่งผลต่อองค์รวมของอวัยวะที่เกี่ยวข้อง เช่นหัวใจกำกับเลือด ตับเก็บกักเลือด ปอดกำกับชี่ ม้ามสร้างชี่ ม้ามกำกับกล้ามเนื้อ ไตกำกับกระดูก และตับกำกับเส้นเอ็น เมื่อเราออกกำลังกายอย่างพอดี (เลือด ชี่ กล้ามเนื้อ กระดูก เส้นเอ็น) มีการขยับตัวเคลื่อนไหว อวัยวะภายในที่เป็นตัวควบคุมก็จะมีการเคลื่อนไหวตามด้วย แต่ถ้าเมื่อไรที่การเคลื่อนไหวนั้นนานเกินไป รุนแรงเกินไป ก็จะเกิดผลย้อนกลับเป็นการทำลายตัวเอง เมื่อร่างกายถูกทำร้าย อวัยวะภายในอ่อนแอ ชี่เลือดไม่เพียงพอ ระบบภูมิคุ้มกันเว้ยชี่เจิ้งชี่อ่อนกำลังลง ร่างกายขาดระบบภูมิคุ้มกันที่แข็งแรง ก็จะทำให้เราเป็นหวัดง่ายเกิดขึ้นตามมา โดยทั่วไปการออกกำลังกายที่เหมาะสมคือทุกวัน ๆละ30นาที ประเภทของการออกกำลังสามารถเลือกได้ตามความชอบ อาจจะเป็นการเดินเร็ว การวิ่งช้า ๆ การปั่นจักรยาน หรือการว่ายน้ำก็ได้ (แต่การว่ายน้ำต้องระวังปัจจัยสภาพร่างกายและสภาพแวดล้อมเป็นองค์ประกอบด้วย)
5. มีการใช้ชีวิตอย่างสมดุล
รูปแบบการใช้ชีวิตสามารถส่งผลต่อสุขภาพได้อย่างชัดเจน การแพทย์แผนจีนสอนให้ใช้ชีวิตให้สมดุลกับธรรมชาติ ปรับตัวให้เข้ากับสภาพแต่ละฤดูกาล ตื่นเข้านอนให้เป็นเวลาตามการขึ้นลงของดวงอาทิตย์ ไม่นอนดึก เพราะการนอนถือเป็นการปรับสมดุลอินหยางในร่างกายโดยธรรมชาติ ช่วงกลางวันพลังหยางมาก จึงต้องตื่นมาใช้ชีวิตทำร่างกายให้กระฉับกระเฉง ส่วนกลางคืนอินมากจึงต้องทำให้ร่างกายสงบ โดยการนอนหลับพักผ่อน ถ้าการนอนการตื่นไม่เป็นเวลา อินหยางไม่สมดุล ระบบภูมิคุ้มกับเว้ยชี่เจิ้งชี่ก็จะไม่ทำงาน นำไปสู่การเป็นหวัดง่าย นอกจากนี้แล้วสุขอนามัยส่วนตัวก็สำคัญ ควรล้างมือบ่อย ๆ อาบน้ำ บ้วนปากแปรงฟัน ก็เป็นแนวทางในการป้องกันไม่ให้สิ่งก่อโรคเข้าสู่ร่างกายทางทวารเปิดต่างๆ เช่นทางปาก ทางน้ำตา ทางจมูก ทางต่อมเหงื่อเป็นต้น ก็จะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของระบบภูมิคุ้มกับเว้ยชี่เจิ้งชี่ได้ ร่างกายไม่อ่อนแอไม่เป็นหวัด การไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จัดเป็นการไม่ทำให้สภาพแวดล้อมของอวัยวะภายในถูกทำลาย กล่าวคือ บุหรี่มีฤทธิ์ไฟร้อนแห้ง เมื่อสูบบุหรี่ ฤทธิ์ของบุหรี่เข้าสู่ร่างกายผ่านระบบปอด(เริ่มจากจมูก หลอดลม ไปที่ปอด) ก็จะทำให้สารอินของปอดถูกทำลาย ปอดร้อน ปอดแห้ง เมื่อปอดขาดความชุ่มชื้นมาหล่อเลี้ยง การไหลเวียนกระจายของชี่ในปอดสูญเสียไป ระบบภูมิคุ้มกันเว้ยชี่เจิ้งชี่อ่อนแอ ทำให้เป็นหวัดง่าย ร่วมกับอาการอินพร่อง คือรู้สึกมีไข้ ร้อนในร่างกายมาก ปากแห้งคอแห้ง เจ็บคอมาก ผิวหนังตามร่างกายแห้ง ส่วนแอลกอฮอล์มีฤทธิ์ มีฤทธิ์ร้อนชื้น เมื่อดื่มแอลกอฮอล์ ฤทธิ์ของแอลกอฮอล์เข้าสู่ร่างกายผ่านทางระบบทางเดินอาหารแล้ว ทำให้อุณหภูมิของร่างกายสูงขึ้น รูขุมขนและต่อมเหงื่อเปิด ทำให้ไว่เสียแทรกเข้าสู่ร่างกายได้ง่ายขึ้น ต่อมาเมื่อระบบย่อยเริ่มทำงาน ม้ามเป็นอวัยวะหลักในการย่อย ซึ่งชอบความแห้ง เกลียดความชื้น เมื่อแอลกอฮอล์ที่ชื้นเข้าสู่ม้ามมากเกินไป การแปรเปลี่ยนอาหารเป็นชี่ กระจายเป็นเว้ยชี่เจิ้งชี่ก็จะลดน้อยลง จนทำให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ ง่ายต่อการโดนไว่เสียเข้ารุกราน นำไปสู่การเป็นหวัดง่าย และสุดท้ายคือ การมีเพศสัมพันธ์มากเกินไป มีผลกระทบต่อไตที่เป็นแหล่งกักเก็บอินหยางของร่างกาย ซึ่งอินหยางมีบทบาทสำคัญต่อการสร้างชี่(เว้ยชี่เจิ้งชี่) เมื่อไตถูกกระตุ้นโดยการมีเพศสัมพันธ์ อินหยางก็จะมีการปล่อยออกมาเพื่อทำให้อวัยวะเพศมีการตอบสนอง และแปรเปลี่ยนสภาพเป็นสารจิงหลั่งสู่ภายนอกร่างกายเมื่อถึงจุดสุดยอด ถ้ากิจกรรมเหล่านี้เกิดขึ้นบ่อยมากเกินไป อินหยางของไตลดลง การเกิดขึ้นของชี่(เว้ยชี่เจิ้งชี่)ก็ลดลงตาม ระบบภูมิคุ้มกันก็อ่อนแอลงด้วย ประกอบกับการมีกิจกรรมทางเพศมักมีการใส่เสื้อผ้าน้อยชิ้น ทำให้ไว่เสียยิ่งง่ายต่อการแทรกรุกรานเข้าสู่ร่างกาย เกิดเป็นหวัดได้ง่ายยิ่งขึ้น ได้อีกด้วย
เป็นหวัดง่าย เป็นหวัดบ่อย คืออาการสำคัญที่บอกถึงสภาพร่างกายที่ไม่แข็งแรง อาจเกิดจากชี่พร่องหรือชี่ติดขัด ระบบภูมิคุ้มกันเว้ยชี่เจิ้งชี่อ่อนแอ หรือเลือดน้อยเกินไปหรือไหลเวียนติดขัด หรืออวัยวะภายในเสียสมดุล สาเหตุที่เกิดขึ้นจะใช้การตรวจสี่ขั้นตอนคือการสังเกตุ การฟังและดมกลิ่น การซักประวัติและการจับชีพจร(四诊合参 望闻问切) ผนวกกับการวิเคราะห์หาความสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อม สภาพอากาศโดยรอบร่างกาย ที่อยู่อาศัย ที่ทำงาน การใช้ชีวิต (整体观念) เพื่อนำไปสู่การวินิจฉัยแยกแยะกลุ่มอาการและการรักษาอย่างตรงจุด (辨证论治)
------------------------
บทความโดย
แพทย์จีน จิตติกร พิมลเศรษฐพันธ์ (หมอจีน พาน จ้าย ติง)
潘在丁 中医师
TCM. Dr. Jittikorn Pimolsettapun (Pan Zai Ding)
แผนกอายุรกรรมบุรุษเวช
11 พ.ย. 2567
25 ต.ค. 2567
11 พ.ย. 2567