ผายลม เรื่องธรรมชาติที่บางครั้งอาจจะไม่ธรรมชาติ

Last updated: 2 ก.ค. 2567  |  1341 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ผายลม เรื่องธรรมชาติที่บางครั้งอาจจะไม่ธรรมชาติ

การผายลม คือ การระบายแก๊สที่สะสมบริเวณลำไส้ของร่างกายเพื่อขับออกสู่ทางทวารหนักถือว่าเป็นเรื่องปกติของร่างกาย แต่เมื่อร่างกายได้รับลม ความเย็น ความชื้น (风寒湿热) เข้าสู่ร่างกายมากจนเกินไป อาจทำให้ผายลมบ่อยกว่าปกติ หากเป็นเช่นนี้การผายลมก็กลายเป็นเรื่องที่ผิดปกติได้

เมื่อร่างกายได้รับความเย็นชื้น (寒湿) ความร้อนชื้น (湿热) การรับประทานอาหารที่มากเกินพอดี จะทำให้ม้ามและกระเพาะอาหารอ่อนแอ (脾胃虚弱) หรือการได้รับเรื่องที่ทำให้กระทบกระเทือนจิตใจ อาจส่งผลให้ชี่ตับติดขัด (肝气郁滞) ส่งผลต่อการไหลเวียนการทำงานของม้ามและกระเพาะอาหาร  ร่างกายจึงเกิดการขับลมออกมามากกว่าปกติ

ไม่ว่าการผายลมผิดปกติที่เกิดขึ้นจะเกิดจากสาเหตุใด สามารถใช้จุดสุ่ยเฟิน (水分CV9) ได้ การกดคลึงที่จุดสุ่ยเฟิน (水分CV9) จะช่วยสลายก้อน กระตุ้นให้ม้ามและกระเพาะอาหารทำงานแข็งแรงมากยิ่งขึ้น โดยจุดสุ่ยเฟิน (水分CV9) จะอยู่เหนือจากกึ่งกลางของสะดือขึ้นมา 1 ชุ่น จากนั้นใช้ปลายนิ้วมือกดลงบนจุดหมุนเป็นวงกลมตามเข็มนาฬิกาจนรู้สึกตึงหน่วง โดยสามารถกดได้ทุกวัน หนึ่งวันกดจุดประมาน 2-3 ครั้ง ในหนึ่งครั้งให้กดคลึงประมาน 3-5 นาที โดยจุดนี้สามารถรักษาอาการท้องอืด ลำไส้มีเสียง ท้องเสีย อาหารไม่ย่อย ที่เกิดจากความเย็นและความชื้น รักษาอาการท้องผูกที่เกิดจากชี่ติดขัด ช่วยปรับทิศทางการไหลเวียนของน้ำในช่องท้อง ขับชี่ลดอาการตึงแน่นท้อง ช่วยปรับระบบขับถ่ายให้ดีขึ้น หรือหากนำ Pang Da Hai (胖大海) ไม่เกิน 3 ชิ้น (หากใส่ปริมานมากเกินไปจะกลายเป็นพิษ) กับกานฉ่าว (甘草) 3 กรัม ต้มในน้ำเดือดประมาน 30 นาที จากนั้นนำน้ำต้มยา นำไปต้มกับข้าวจนข้าวกลายเป็นโจ๊ก รับประทานติดต่อกัน 3-5 วัน วันละ 1 ครั้ง สามารถช่วยขับความร้อนลดอาการเจ็บคอ ช่วยให้ลำไส้ชุ่มชื้นขับอุจจาระ (清热利咽, 润畅通便) เมื่อระบบขับถ่ายเป็นปกติ ก็จะเกิดการสะสมแก๊สในลำไส้ลดลง เมื่อแก๊สลดลงการผายลมจึงกลับสู่ความถี่ที่ปกติ

จุดสุ่ยเฟิน (水分CV9)
ตำแหน่ง : ท้องส่วนบน แนวกลางตัวด้านหน้า 1 ชุ่น เหนือสะดือ
ข้อบ่งใช้ : โรคระบบย่อยอาหาร ปวดรอบสะดือ มีเสียงลมในท้อง ท้องเสีย อาหารไหลย้อน ทวารหนักยื่น อุจจาระลำบาก

------------------------

บทความโดย
แพทย์จีนธนภรณ์ ธนศรีวนิชชัย (หมอจีน หลิว ฉาย เผิง)  
刘财蓬 中医师
TCM. Dr. Tanaporn  Tanasrivanichchai (Liu Cai Peng)
แผนกกระดูกและทุยหนา

อ้างอิง

  1. 每月一穴,一药 China Academic Journal Electronic Publishing House
  2. การฝังเข็ม-รมยา เล่ม 1 กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข พ.ศ. 2551

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้