กรณีศึกษาและตัวอย่างการรักษา กลุ่มอาการกดทับเส้นประสาทบริเวณข้อมือ (Carpal tunnel syndrome) ด้วยการนวดทุยหนา

Last updated: 2 ก.ค. 2567  |  1871 จำนวนผู้เข้าชม  | 

กรณีศึกษาและตัวอย่างการรักษา กลุ่มอาการกดทับเส้นประสาทบริเวณข้อมือ (Carpal tunnel syndrome) ด้วยการนวดทุยหนา

กลุ่มอาการกดทับเส้นประสาทบริเวณข้อมือ (Carpal tunnel syndrome : CTS) เป็นหนึ่งในอาการที่พบได้บ่อยทางคลินิก เป็นโรคที่เกิดจากเส้นประสาทมีเดียน (Median nerve) ที่อยู่ภายในโพรงข้อมือ (Carpal tunnel) ถูกกดทับ ทำให้มีอาการชาและปวดบริเวณนิ้วโป้ง ชี้ กลาง นางครึ่งนิ้ว ยกเว้นนิ้วก้อย เป็นกลุ่มอาการกดทับเส้นประสาทที่พบได้บ่อยทางคลินิก พบได้ในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย

ลักษณะเฉพาะทางกายวิภาค

โพรงข้อมือ (Carpal tunnel) คือช่องที่อยู่ด้านหน้าของข้อมือ เป็นช่องทางติดต่อระหว่างแขนท่องล่างไปยังฝ่ามือ ขอบเขตด้านหลังเป็นกระดูกข้อมือ ด้านหน้าเป็น Transverse carpal ligament ภายในโพรงข้อมือ ประกอบด้วยเส้นเอ็น Flexor pollicis longus, Flexor digitorum superficialis, Flexor digitorum profundus และเส้นประสาทมีเดียน (Median nerve) ซึ่งเส้นประสาทมีเดียนจะอยู่ในชั้นตื้น อยู่ระหว่างเส้นเอ็น Flexor pollicis longus, Flexor digitorum superficialis กับ Transverse carpal ligament

สาเหตุและกลไกการเกิดโรค

  1. การบาดเจ็บบริเวณข้อมือ ครอบคลุมทั้งกระดูกหัก กระดูกเคลื่อน การกระแทก การเคล็ดที่ทำให้รูปร่างลักษณะของโพรงข้อมือมีการเปลี่ยนแปลง ทำให้พื้นที่บริเวณโพรงข้อมือแคบลง
  2. การอักเสบชนิดเรื้อรังของเส้นเอ็นโดยรอบในโพรงข้อมือ เช่น ภาวะถุงข้อต่อบวมอักเสบ (Bursitis) เส้นเอ็นอักเสบ (Tendinitis) เป็นต้น
  3. โรคที่มีก้อน เช่น ก้อนถุงน้ำที่ข้อมือ (Ganglion cyst) เนื้องอกชนิดไม่ร้ายแรง (Benign tumor) เนื้องอกชนิดร้ายแรง (Malignant tumor) ที่ทำให้พื้นที่ในโพรงข้อมือแคบลง
  4. การบาดเจ็บชนิดเรื้อรัง เช่น การงอหรือเหยียดข้อมือเกินพิสัยปกติหรือการเสื่อมสภาพของข้อมือ กระดูกข้อมือมีกระดูกงอก (Bone spur)
  5. เกี่ยวข้องกับความผิดปกติของระบบต่อมไร้ท่อ มักพบได้บ่อยในสตรีระยะตั้งครรภ์ ให้นมบุตรและหมดประจำเดือน และพบได้บ่อยในผู้ป่วยโรคเบาหวาน Type 2 Diabetes mellitus และ Hypothyroidism

ปัจจัยที่กล่าวมาข้างต้นทำให้พื้นที่บริเวณโพรงข้อมือตีบแคบลง ส่งผลให้เกิดการเสียดสีซ้ำไปซ้ำมาระหว่างเส้นเอ็น Flexor digitorum superficialis, Flexor digitorum profundus, เส้นประสาทมีเดียน และ Transverse carpal ligament เมื่อเกิดการเสียดสีเส้นเอ็น (Tendon) และเยื่อหุ้มไขข้อ (Synovial membrane) จึงเกิดการบวมและหนาตัวขึ้น ความดันในโพรงข้อมือสูงขึ้นจนทำให้เกิดการทับเส้นประสาท Median nerve และก่อให้เกิดโรคกลุ่มอาการกดทับเส้นประสาทบริเวณข้อมือ (Carpal tunnel syndrome : CTS) ได้ในที่สุด

อาการทางคลินิก

ในระยะเริ่มต้น จะมีอาการของเส้นประสาทมีเดียน (Median nerve) ถูกกดทับเป็นหลัก บริเวณนิ้วโป้ง ชี้ กลาง นางครึ่งนิ้ว ยกเว้นนิ้วก้อยมีความรู้สึกผิดปกติ ชา ปวดคล้ายเข็มแทง ปวดแสบร้อนหรือมีอาการบวม โดยอาจไม่จำเป็นต้องทีอาการทุกนิ้วที่กล่าวมาก็ได้ อาจมีอาการเพียงแค่ 1-2 นิ้วก็ได้ แรงในการกำมือ การกางนิ้วโป้งออกและหุบนิ้วโป้งเข้าหามือลดลง ขณะที่หยิบจับสิ่งอาจรู้สึกอ่อนแรงเฉียบพลันจนไม่สามารถหยิบจับสิ่งของได้ ในเวลากลางคืน เช้าตรู่หรือเมื่อมีอาการล้าจากการใช้งานอาการจะรุนแรงขึ้น เมื่อมีการเคลื่อนไหวหรือใช้งานมืออาการจะทุเลาลง เมื่ออากาศเย็นหรือเข้าสู่ฤดูหนาวนิ้วมือข้างที่มีพยาธิสภาพอาจรู้สึกเย็นหรือผิวหนังเปลี่ยนสี

ในระยะหลัง สามารถพบกล้ามเนื้ออุ้งมือฝั่งนิ้วโป้ง (Thenar eminence) ลีบหรือกำลังลดลง แรงนิ้วโป้งในการจีบ กางออกและหยิบจับลดลง นิ้วโป้ง ชี้ กลาง นางครึ่งนิ้ว ยกเว้นนิ้วก้อยไม่มีความรู้สึก ระดับความรุนแรงในการลีบของกล้ามเนื้อแปรผันตรงกับระยะการดำเนินของโรค โดยทั่วไปกล้ามเนื้อจะเริ่มลีบประมาณ 4 เดือนขึ้นไป การรับความรู้สึกบริเวณนิ้วมือลดลง อาการชารุนแรงและถี่ขึ้นและมีอาการชาขณะที่ผู้ป่วยหลับไปแล้วจนกระทั่งชาตลอดเวลา เหงื่อออกบริเวณมือลดลง ผิวหนังแห้งเป็นขุย

การวินิจฉัยโรค

  1. ประวัติ : บริเวณข้อมือมักมีประวัติการบาดเจ็บหรืออุบัติเหตุ
  2. อาการทางคลินิก :
    - ในระยะเริ่มต้น ผู้ป่วยจะมีอาการชา ปวดคล้ายเข็มแทงหรือปวดแสบร้อนบริเวณนิ้วโป้ง ชี้ กลาง นางครึ่งนิ้ว
    - ในระยะหลัง กล้ามเนื้ออุ้งมือฝั่งนิ้วโป้ง (Thenar eminence) ลีบหรือแรงลดลง บริเวณที่เส้นประสาทมีเดียน (Median nerve) หล่อเลี้ยงมีความรู้สึกลดลง แรงในการกางนิ้วโป้งออกด้านนอก หุบนิ้วโป้งเข้าหาฝ่ามือลดลง
  3. อาการแสดง :
    - พบการลดลงของการรับความรู้สึกและการแยก 2 Point discrimination จะกว้างขึ้นในบริเวณนิ้วโป้ง นิ้วชี้ และนิ้วกลาง ยกเว้นกล้ามเนื้ออุ้งมือฝั่ง
    - การตรวจ Tinel's test ให้ผลเป็นบวก : เมื่อมีการเคาะเบา ๆ บริเวณโพรงข้อมือที่มีเส้นประสาทมีเดียน (Median nerve) อยู่ ซึ่งอยู่ระหว่างเส้นเอ็นของกล้ามเนื้อ Flexor carpi radialis และกล้ามเนื้อ Palmaris longus ผลบวกคือผู้ป่วยจะรู้สึกปวดแปลบบริเวณนิ้วมือตามแนวที่เส้นประสาทมีเดียนหล่อเลี้ยง
    - การตรวจ Modified phalen's test ให้ผลเป็นบวก : โดยการให้ผู้ป่วยงอข้อมือค้างไว้ 60 วินาที ผลบวกคือผู้ป่วยจะรู้สึกเสียวแปล๊บ ปวดหรือชาบริเวณนิ้วมือตามแนวที่เส้นประสาทมีเดียนหล่อเลี้ยง
    - การตรวจ Durkan’s test / Carpal compression test ให้ผลเป็นบวก : โดยการกดบริเวณ Proximal part ของโพรงข้อมือเป็นเวลา 30 วินาที ผลบวกคือผู้ป่วยจะรู้สึกเสียวแปล๊บ ปวดหรือชาบริเวณนิ้วมือตามแนวที่เส้นประสาทมีเดียนหล่อเลี้ยง
  4. การตรวจทางรังสีวิทยา : การเอกซเรย์ (X-ray) ส่วนมากไม่พบความผิดปกติในบางครั้งอาจพบกระดูกงอกบริเวณข้อมือ กระดูกข้อมือหักหรือเคลื่อน

กลุ่มอาการกดทับเส้นประสาทบริเวณข้อมือในมุมมองการแพทย์แผนจีน

ในทางการแพทย์แผนจีนกลุ่มอาการกดทับเส้นประสาทบริเวณข้อมือ (Carpal tunnel syndrome : CTS) จัดอยู่ในกลุ่มอาการการบาดเจ็บของเส้นเอ็น “จินซาง” (筋伤) ในทางการแพทย์แผนจีน ซึ่งสาเหตุมาจากการใช้งานที่มากเกินไป อุบัติเหตุ การบาดเจ็บต่าง ๆ ประกอบกับมีความเย็น ความชื้นมากระทำร่วมกัน อุดกั้นการไหลเวียนของเส้นลมปราณ จึงทำให้ชี่และเลือดเกิดการไหลเวียนติดขัด เมื่อชี่และเลือดไม่สามารถหล่อเลี้ยงเส้นเอ็นและกล้ามเนื้อได้จึงทำให้เกิดอาการปวดหรือชาขึ้นมา

การดูแลและป้องกัน

  1. หลีกเลี่ยงและพักการใช้งานมือหรือข้อมือ
  2. หมั่นแช่น้ำอุ่นสม่ำเสมอ ครั้งละ 15-20 นาที
  3. ฝึกการเคลื่อนไหวข้อมือ หมั่นฝึกการขยับข้อมือในท่างอ เหยียดและหมุนข้อมือ
  4. ในระหว่างการทำงาน ควรจัดท่านั่งตามหลักการยศาสตร์ (Ergonomics) คือ การจัดหรือปรับสภาพแวดล้อมของสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ของเครื่องมือการทำงานให้เข้ากับผู้ปฏิบัติงานได้ รวมไปถึงการปรับสรีระของร่างกายเพื่อให้การทำงานสะดวกสบายขึ้น
  5. ดื่มน้ำเปล่าอย่างน้อยวันละ 2 ลิตร
  6. ใส่ splint ชนิดที่มีเหล็กดามไว้เฉพาะช่วงเวลานอนเพื่อช่วยประคองข้อมือให้อยู่ในท่าที่เหมาะสมระหว่างการนอนหลับ

ตัวอย่างกรณีการรักษากลุ่มอาการกดทับเส้นประสาทบริเวณข้อมือ

รับการรักษากับแพทย์จีนกระดูกทุยหนา คลินิกการแพทย์แผนจีนหัวเฉียว

ข้อมูลผู้ป่วย
รหัสผู้ป่วย : HN367xxx 
วันที่เข้ารับการรักษา : 14 กันยายน 2565
เพศ : หญิง 
อายุ : 36 ปี
น้ำหนัก : 82 kg
ความดันโลหิต : 131/84 mmHg

อาการสำคัญ (Chief complaint)
ชามือทั้งสองข้าง โดยเฉพาะนิ้วนางด้านขวา 1 ปี

ประวัติปัจจุบัน (Present illness)
ผู้ป่วยเมื่อ 1 ปีก่อนเริ่มเกิดอาการชานิ้วมือทั้งสองข้างตั้งแต่นิ้วโป้ง นิ้วชี้ นิ้วกลางและนิ้วนาง โดยเฉพาะนิ้วนางด้านขวาโดยไม่ทราบสาเหตุแน่ชัด มีอาการชาเป็นครั้งคราว เมื่อทำงาน งอข้อมือหรือเวลากลางคืนอาการรุนแรงขึ้นจนถึงขั้นนอนไม่หลับ ความอยากอาหารและการขับถ่ายปกติ

ประวัติอดีต (Past history)
- ปฏิเสธประวัติแพ้ยา
- ปฏิเสธประวัติอุบัติเหตุ
- ปฏิเสธประวัติโรคประจำตัว

การตรวจร่างกาย (Physical Examination)
- ลิ้นแดงอ่อนฝ้าขาวบาง
- ชีพจรตึง
- Thenar arthophy : Rt (-) Lt (-)
- Tinel's test : Rt (+) Lt (+)
- modified phalen's test : Rt (+) Lt (+)
- Durkan’s test : Rt (+) Lt (+)
- Pain score : 8/10

ผลการวินิจฉัยโรค (Diagnosis)
กลุ่มอาการกดทับเส้นประสาทบริเวณข้อมือ (Carpal tunnel syndrome : CTS) ในทางแพทย์แผนจีนจัดอยู่ในกลุ่มการบาดเจ็บของเส้นเอ็น “จินซาง” (筋伤) มีภาวะชี่และเลือดไหลเวียนติดขัด (气血瘀滞)

หลักการรักษา
กระตุ้นการไหลเวียนของชี่และเลือด ระงับอาการปวด ทะลวงเส้นลมปราณ (活血止痛、疏通经络)

วิธีการรักษา (Treatment)
- นวดทุยหนา
- ฝังเข็ม
- รมยาสมุนไพรจีน
- แช่ยาสมุนไพรจีน
- พอกยาสมุนไพรจีน

ผลการรักษา (Progression note)
ครั้งที่ 3 วันที่ 5 ตุลาคม 2565

ประวัติปัจจุบัน (Present illness)
หลังการรักษาอาการชานิ้วมือทั้งสองข้างลดลงอย่างเห็นได้ชัด นิ้วนางขวายังมีอาการชามากกว่านิ้วอื่น อาการชาไม่รบกวนการนอนแล้ว เมื่อมีการใช้งานข้อมือจะมีอาการชาเป็นพัก ๆ

การตรวจร่างกาย (Physical Examination)
- ลิ้นแดงอ่อนฝ้าขาวบาง
- ชีพจรตึง
- Thenar arthophy : Rt (-) Lt (-)
- Tinel's test : Rt (+) Lt (-)
- modified phalen's test : Rt (+) Lt (-)
- Durkan’s test : Rt (+) Lt (-)
- Pain score : 5/10
ครั้งที่ 7 วันที่ 9 พฤศจิกายน 2565

ประวัติปัจจุบัน (Present illness)
หลังการรักษาไม่มีอาการชานิ้วมือแล้วในภาวะปกติ เมื่อมีการใช้งานข้อมือจะมีอาการชาเพียงเล็กน้อยและหายได้เอง

การตรวจร่างกาย (Physical Examination)
- ลิ้นแดงอ่อนฝ้าขาวบาง
- ชีพจรตึง
- Thenar arthophy : Rt (-) Lt (-)
- Tinel's test : Rt (-) Lt (-)
- modified phalen's test : Rt (-) Lt (-)
- Durkan’s test : Rt (-) Lt (-)
- Pain score : 1/10

สรุปผลการรักษา
เมื่อผู้ป่วยเข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่องอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1-2 ครั้งต่อเนื่อง 6-8 สัปดาห์ พร้อมกับพักการใช้งาน ปรับพฤติกรรม พบว่าอาการชาและปวดบริเวณนิ้วมือดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด

------------------------

บทความโดย
แพทย์จีน ฉันทัช เฉิน (เฉิน ไท่ เริ่น)
陈泰任  中医师
TCM. Dr. Chantouch Chen (Chen Tai Ren)

เอกสารอ้างอิง

  1. FanFanHua.   Tuinaxue.  Beijing : China Traditional Chinese Medicine Publishing House, 2008.
  2. WangHeWu.   Zhongyigushangkexue.  Beijing : China Traditional Chinese Medicine Publishing House, 2007.

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้