กรณีศึกษาโรคหูมีเสียง (Tinnitus)

Last updated: 2 ก.ค. 2567  |  1913 จำนวนผู้เข้าชม  | 

กรณีศึกษาโรคหูมีเสียง (Tinnitus)

อาการหูมีเสียง คือการที่ผู้ป่วยได้ยินเสียงสูงหรือเสียงลม โดยเสียงที่ได้ยินไม่ใช่เสียงที่มาจากภายนอก ส่วนมากผู้ป่วยมักจะได้ยินเสียงเพียงผู้เดียวและเกิดขึ้นเพียงด้านเดียวหรือสองด้าน อาจมีความสามารถในการได้ยินลดลงร่วมด้วย

โดยอาการหูมีเสียงอาจเกิดจากการได้รับบาดเจ็บบริเวณหู ได้รับการกระทบกระเทือน ได้ยินเสียงดังมาก ๆ เช่น เสียงระเบิด เสียงประทัด เครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรือมีประวัติการใช้ยาบางกลุ่มที่สามารถทำลายระบบการได้ยิน ประสาทหูเสื่อม เป็นต้น การใช้หูฟังมากเกินไป และปัจจัยภายในร่างกายเช่นการทำงานของอวัยวะบกพร่อง นอกจากนี้ยังมีผลกระทบจากภายนอกเช่นความร้อนความชื้นมารบกวนการไหลเวียนของสารจิง (สารสำคัญ) และจิน (สารน้ำ) ได้ เช่น ภาวะลมร้อน ความชื้นเป็นต้น ปัจจัยที่เกิดจากการใช้งานของหู รวมถึงอายุก็เป็นอีกปัจจัยนึงที่ทำให้เกิดอาการนี้เช่นกัน

ในทางการแพทย์แผนจีนสามารถแบ่งอาการหูมีเสียงเป็นอาการแกร่งและอาการพร่อง โดยกลุ่มอาการแกร่ง ได้แก่ กลุ่มอาการลมร้อนจากภายนอกเข้ากระทำ (风热侵袭证) กลุ่มอาการไฟตับขึ้นรบกวน (肝火上扰证) และเสมหะและไฟสะสม (痰火郁结证) กลุ่มอาการพร่อง ได้แก่ กลุ่มอาการม้ามและกระเพาะอาหารพร่อง (脾胃虚弱证) และกลุ่มอาการสารจำเป็นของไตพร่อง (肾精亏损证)

ตัวอย่างกรณีการรักษาหูมีเสียงที่เข้ารับการและได้ผลดี

ข้อมูลทั่วไปของผู้ป่วย
รหัสผู้ป่วย : 
HN381xxx
ชื่อ : นางสาว นาถxxx
เพศ : หญิง
อายุ : 34 ปี
อุณหภูมิ : 36.5℃   
ชีพจร : 96 ครั้ง/นาที   
ความดันโลหิต : 110/65 mmHg   
น้ำหนัก : 54 กก

เข้ารับการรักษาเมื่อ 23 เมษายน 2566

อาการสำคัญ
หูขวาอื้อและมีเสียงในหูเป็นเวลา 3 เดือน

ประวัติการเจ็บป่วย
เมื่อ 3 เดือนก่อนผู้ป่วยมีอาการหูอื้อและมีเสียงในหูโดยไม่ทราบสาเหตุ การได้ยินลดลง มีโทนเสียงแหลมในหูตลอดเวลาและได้ยินเสียงนี้ชัดขึ้นเมื่ออยู่ในที่เงียบ มีอาการเวียนศีรษะคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย อาการกำเริบวันละ 3-5 ครั้ง แต่ละครั้งจะเวียนศีรษะเป็นเวลา 1-5 นาที ภายหลังได้รับการตรวจวินิจฉัยโดยแพทย์แผนปัจจุบันว่าเป็นโรคเมเนียร์ (Meniere’s disease) และได้รับการรักษาด้วยยา serc (betahistine dihydrochloride) อาการเวียนศีรษะของคนไข้ดีขึ้นหลังรับการรักษา 10 วัน

อาการเจ็บป่วยปัจจุบัน
หลังการรักษาด้วยยาแผนปัจจุบัน 3 เดือนยังมีอาการหูอื้อ การได้ยินลดลง และเสียงในหูคงที่ แต่ไม่มีอาการเวียนศีรษะอีก มีอาการร่วมคือ หลับยากและตื่นกลางดึกบ่อย และมีความเครียดง่าย ปากขมคอแห้ง การทานอาหารและการขับถ่ายปกติ

ประวัติการเจ็บป่วยในอดีต
ปฏิเสธการได้รับการบาดเจ็บที่หูและศีรษะ การได้ยินเสียงดังหรือโรคอื่น ๆ

การตรวจร่างกาย
- ลิ้นแดงฝ้าเหลืองบาง ชีพจรเร็วและตึง
- การได้ยินหูขวาลดลง การได้ยินของหูซ้ายปกติ
- ไม่มีอาการเจ็บบริเวณหลังหูทั้งสองข้าง
- ไม่มีอาการตาสั่น

การวิเคราะห์กลุ่มอาการตามศาสตร์การแพทย์แผนจีน
ผู้ป่วยมีความเครียดสะสมเป็นเวลานาน ความเครียดมักส่งผลกระทบต่อตับได้ง่าย เมื่อเครียดเป็นเวลานานจึงทำให้ไฟในตับเพิ่มขึ้น เมื่อไฟของตับลอยขึ้นสูงไปรบกวนส่วนบนของร่างกาย ทำให้เกิดอาการหูอื้อ ปากขมคอแห้ง มีเสียงในหู รบกวนการนอน ทำให้หลับยากและตื่นกลางดึกบ่อย ลิ้นแดงฝ้าเหลืองชี้ถึงความร้อนในร่างกาย ชีพจรเร็วและตึงบ่งบอกถึงความร้อนในตับ
หูมีเสียง (耳鸣) กลุ่มอาการไฟตับรบกวนส่วนบน (肝火上扰型)

วิธีการรักษา
รักษาด้วยการฝังเข็ม เพื่อระบายความร้อนในตับ จุดที่เลือกใช้ 耳门 Er Men (TE 21) กระตุ้นไฟฟ้า、听宫 Ting Gong (SI 19)、听会 Ting Hui (GB 2)、翳风 Yi Feng (TE 17) กระตุ้นไฟฟ้า、中渚 Zhong Zhu (TE 3)、外关 Wai Guan (TE 5)、阳陵泉 Yang Ling Quan (GB 34)、三阴交 San Yin Jiao (SP 6)、足三里 Zu San Li (ST 36)

ผลการรักษา
หลังการรักษาด้วยการฝังเข็มสัปดาห์ละ1ครั้ง

หลังการรักษาครั้งที่ 1 อาการตึงหูอื้อเบาลง แต่ยังมีเสียงในหู

หลังการรักษาครั้งที่ 2 อาการตึงหูอื้อหายไป ยังคงมีเสียงในหู

หลังการรักษาครั้งที่ 3 อาการเสียงในหูหายไป

ไม่มีอาการเวียนศีรษะ

ไม่มีอาการกลับมาอีก หลังผ่านไป1เดือน

------------------------

บทความโดย
ดร. พจ.พีระพงศ์ เลิศนิมิตพันธ์ (หมอจีนเฉิน เจียง เฉิง)  
陈江成  中医师
TCM. Dr. Peeraphong Lertnimitphun (Chen Jiang Cheng)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้