Last updated: 2 ก.ค. 2567 | 1398 จำนวนผู้เข้าชม |
ในปัจจุบันพบว่าผู้คนมีพฤติกรรมการใช้หน้าจอเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์มือถือ แท็ปเล็ต คอมพิวเตอร์ จากงานวิจัยพบว่า 90% ของผู้ใช้งานหน้าคอมมากกว่า 3 ชั่วโมงต่อวันได้รับผลกระทบจากโรค Computer vision syndrome ซึ่งความรุนแรงของโรคเพิ่มตามระยะเวลาของการใช้งานหน้าจอ ผู้ป่วยมักมีอาการปวดเมื่อยตา ตาพร่ามัว ตาแห้ง ปวดศีรษะ ปวดตึงคอ บ่า ไหล่ เป็นต้น
ในปีค.ศ.1961 ณ นครปักกิ่ง ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนได้มีการคิดค้นสูตรการท่านวดบริหารตาให้เด็กในวัยเรียนซึ่งใช้สายตาค่อนข้างเยอะเนื่องจากเรียนหนัก ช่วยปรับสมดุลการไหลเวียนของเลือดบริเวณตาและศีรษะ ผ่อนคลายกล้ามเนื้อ ลดอาการตาล้า ช่วยป้องกันสายตาสั้นในเด็ก เวอร์ชั่นล่าสุดได้มีการปรับปรุงล่าสุดเมื่อปี ค.ศ. 2008 และยังใช้มาอย่างต่อเนื่องจวบจนถึงปัจจุบัน ทำวันละ 2 ครั้ง เช้า –บ่าย เริ่มจาก หลับตา เพื่อผ่อนคลาย
ท่าที่ 1 : นวดติ่งหู เท้าจิกพื้น
นวดคลึงติ่งหูด้วยนิ้วชี้และนิ้วโป้ง ในขณะเดียวกันเท้าจิกพื้น ทำ 4 เซ็ต แต่ละเซ็ตนับ 1-8
ท่าที่ 2 : นวด "ไท่หยาง" ลูบเบ้าตาบน
นวดคลึงจุด "ไท่หยาง" ด้วยนิ้วโป้ง 4 ครั้ง หลังจากนั้น ให้นิ้วโป้งอยู่ตำแหน่งเดิมใช้นิ้วชี้ข้อที่ 2 ด้านใน ลูบเบ้าตาบน 2 ครั้ง ทำ 4 เซ็ต แต่ละเซ็ตนับ 1-8
ท่าที่ 3 : นวด "ซื่อไป๋"
นวดคลึงจุด"ซื่อไป๋" ด้วยนิ้วชี้ ให้นิ้วโป้งอยู่ใต้กราม ทำ 4 เซ็ต แต่ละเซ็ตนับ 1-8
ท่าที่ 4 : นวด "เฟิงฉือ"
นวดคลึงจุด "เฟิงฉือ" ด้วยนิ้วชี้และนิ้วกลาง ทำ 4 เซ็ต แต่ละเซ็ตนับ 1-8
ท่าที่ 5 : กดนวด "เส้นลมปราณตู"
กดนวด "เส้นลมปราณตู" บริเวณศีรษะ 4 ครั้ง จากไรผมด้านหน้าไปยังไรผมด้านหลัง ด้วยนิ้วทั้งสี่ (ชี้ กลาง นาง ก้อย) ทำ 4 เซ็ต แต่ละเซ็ตนับ 1-8
นอกจากนี้ควรปรับท่านั่ง ปรับแสงสว่างให้เหมาะสมกับดวงตา รวมทั้งพฤติกรรมการใช้งานหน้าจอที่เหมาะสม เมื่อใช้สายตา 20 นาที ควรพักสายตา 20 วินาที โดยมองออกไปไกล ๆ อย่างน้อย 20 ฟุต เพื่อลดการเพ่งของดวงตา และควรกระพริบตาบ่อยขึ้นเพื่อช่วยลดอาการตาแห้ง
------------------------
บทความโดย
แพทย์จีน ปิยะมาศ เมืองใชย (หมอจีน ปี้ หย่า หม่า)
毕雅玛 中医师
TCM. Dr. Piyamas muangchai (Bi Ya Ma)
แผนกฝังเข็ม
อ้างอิง
1. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/34160157/
2. https://baike.baidu.com/item/%E7%9C%BC%E4%BF%9D%E5%81%A5%E6%93%8D/1204756?fr=ge_ala
11 พ.ย. 2567
11 พ.ย. 2567
25 ต.ค. 2567