ไขความลับสีฝ้าบ่งบอกโรค ในศาสตร์แพทย์แผนจีน

Last updated: 2 ก.ค. 2567  |  3620 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ไขความลับสีฝ้าบ่งบอกโรค ในศาสตร์แพทย์แผนจีน

ฝ้า คือ รอยปื้นสีน้ำตาล มักจะอยู่บริเวณใบหน้า แก้ม หน้าผาก จมูก คาง หรือบริเวณที่ถูกแสงแดดบ่อย ๆ อาจมีสีจาง ๆ จนถึงสีเข้ม ลักษณะเป็นปื้น ๆ ขนาดใหญ่เล็กไม่แน่นอน รูปร่างของฝ้าอาจมีรูปร่างแตกต่างกันได้และมักไม่มีอาการผิดปกติใด ๆ พบได้บ่อยในวัยกลางคน ช่วงอายุ 30-40 ปี มักพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย

ตามศาสตร์การแพทย์แผนจีนมองว่า ฝ้าเกิดจากความเสียสมดุลของอวัยวะ 3 อวัยวะ ได้แก่ ตับ ม้ามและไต จึงส่งผลทำให้ชี่และเลือดไม่สามารถไปหล่อเลี้ยงใบหน้าได้เพียงพอ โดยสีและลักษณะของฝ้าที่แตกต่างกันสามารถบ่งบอกถึงความเสียสมดุลของอวัยวะภายในร่างกายได้

ฝ้าสีน้ำตาล

ลักษณะของฝ้าสีน้ำตาล บ่งบอกถึงภาวะตับอั้นชี่ติดขัด ลักษณะของฝ้ามีสีน้ำตาลอาจมีสีเข้มหรืออ่อนก็ได้ ขอบเขตฝ้าชัดเจน มีลักษณะสมมาตรทั้งสองฝั่งของใบหน้า ลักษณะฝ้าคล้ายรูปแผนที่ มักพบบริเวณรอบ ๆ โหนกแก้มทั้งสองข้าง ผู้ป่วยมักมีความเครียดสะสม วิตกกังวล นอนไม่หลับ ฝันบ่อย ปากขม ชอบถอนหายใจ ในผู้หญิงอาจพบภาวะประจำเดือนผิดปกติ ปวดท้องประจำเดือน มีลิ่มเลือด เจ็บคัดหน้าอกร่วมด้วย

ฝ้าสีเทา

ลักษณะของฝ้าชนิดนี้มักเกิดจากชี่ติดขัดเลือดคั่ง โดยฝ้าจะมีสีเทาอ่อนไปจนถึงเทาเข้ม ผู้ป่วยมักมีอาการหงุดหงิดง่าย ขี้โมโห เจ็บเสียดชายโครง แน่นหน้าอก ปวดท้องประจำเดือน ประจำเดือนมีลิ่มเลือดร่วมด้วย

ฝ้าสีเหลือง

ลักษณะของฝ้าชนิดนี้เกิดจากม้ามพร่องมีความชื้นสะสม โดยลักษณะของฝ้าที่เกิดขึ้นมักเป็นสีเหลืองอ่อน ๆ ในบางรายอาจเป็นสีเหลืองออกเทาคล้ายฝุ่นเกาะอยู่บริเวณใบหน้า ขอบเขตของฝ้าไม่ชัดเจน มักพบฝ้าบริเวณข้างจมูก หน้าผาก หรือรอบ ๆ บริเวณปาก ผู้ป่วยมักมีอาการเหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย แน่นท้อง ไม่อยากอาหาร หรือถ่ายเหลวเป็นประจำร่วมด้วย

ฝ้าสีน้ำตาลเข้มดำ

ลักษณะของฝ้าชนิดนี้เกิดจากอินตับและไตพร่อง โดยฝ้าที่พบจะเป็นปื้นสีน้ำตาลเข้มออกดำ รูปร่างไม่แน่นอน ลักษณะคล้ายผีเสื้อ มีขอบเขตฝ้าชัดเจน มักพบบริเวณโหนกแก้มทั้งสองข้าง หน้าหู และบริเวณขมับทั้งสองข้าง สีหน้าหมองคล้ำ ผู้ป่วยมักมีอาการปวดเข่าเมื่อยเอว เวียนศีรษะตาลาย มีเสียงในหู ประจำเดือนมาไม่ปกติ นอนไม่หลับ ฝันเยอะ มือเท้าร้อนร่วมด้วย

การรักษาฝ้าตามศาสตร์การแพทย์แผนจีน

  1. รับประทานยาจีนปรับสมดุลจากภายใน
  2. การนวดหน้ากดจุดตามศาสตร์แพทย์แผนจีน
  3. การกวาซาใบหน้า
  4. การพอกยาจีน
  5. การฝังเข็ม
  6. การใช้ยาภายนอก

การดูแลรักษาใบหน้า ลดการเกิดฝ้า

  1. หลีกเลี่ยงแดดจัด โดยเฉพาะแดดในฤดูร้อน ใช้หมวก ร่ม และทายากันแดดคุณภาพดีที่เหมาะสมกับสภาพผิว
  2. ดำเนินชีวิตอยู่ในหลักการธรรมชาติ ตื่น นอน ตามเวลานาฬิกาชีวิต รักษาอารมณ์ให้คงที่
  3. ทานผักผลไม้ที่มีวิตามินซี เช่น ส้ม มะนาว มะเขือเทศ ไม่ทานอาหารรสเผ็ด รสจัด
  4. ไม่ควรใช้ครีมทาหน้าที่มีส่วนผสมของสเตรียรอยด์
  5. พักผ่อนให้เพียงพอ ไม่วิตกกังวลหรือเครียดมากจนเกินไป

------------------------

บทความโดย
แพทย์จีน รัญชนา ตั้งมั่นเจริญสุข (ซุน หลี)
孙梨 中医师
TCM. Dr. Runchana Tangmancharoensuk (Sun Li)
แผนกอายุรกรรมภายนอก คลินิกดูแลสุขภาพผิวพรรณ

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้