ปัญหาตกขาว...เรื่องกวนใจที่ไม่ควรมองข้าม

Last updated: 2 ก.ค. 2567  |  1905 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ปัญหาตกขาว...เรื่องกวนใจที่ไม่ควรมองข้าม

โดยปกติตกขาวถือเป็นเรื่องธรรมชาติที่เกิดขึ้นในผู้หญิง เป็นสารคัดหลั่งที่ถูกขับออกมาจากปากมดลูกไปยังช่องคลอด เพื่อสร้างความชุ่มชื้นให้กับบริเวณช่องคลอดและป้องกันเชื้อโรคจากภายนอก โดยลักษณะปกติของตกขาวจะเป็นเมือกขาวใสคล้ายไข่ขาว ไม่มีกลิ่น ไม่ทำให้เกิดอาการคัน ส่วนปริมาณขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล ทั้งนี้ ในช่วงก่อนและหลังการมีประจำเดือน ช่วงกึ่งกลางระหว่างรอบเดือน (ระยะตกไข่)หรือช่วงขณะการตั้งครรภ์ ปริมาณของตกขาวจะเพิ่มมากขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นภาวะปกติ

ตกขาวที่ผิดปกติเกิดขึ้นได้อย่างไร

การแพทย์แผนตะวันตก

  • เกิดการติดเชื้อ เช่น เชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา ซึ่งอาจเกิดขึ้นจากการเสียสมดุลภายในช่องคลอด หรือเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนในร่างกายที่เกิดขึ้นเองโดยไม่ทราบสาเหตุ
  • การติดเชื้อจากโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น หนองใน นอกจากจะทำให้มีอาการตกขาวผิดปกติ อาจพบภาวะปวดแสบขณะปัสสาวะร่วมด้วย
  • ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยเบาหวาน เอชไอวี ผู้ที่ทานยากดภูมิคุ้มกัน  ทานยาสเตียรอยด์ มักจะมีโอกาสติดเชื้อได้ง่ายและมีตกขาวซ้ำๆหรือเรื้อรังได้

การแพทย์แผนจีน

1. เกิดจากพิษความชื้นที่เข้าไปทำลายเญิ่นม่ายและไต้ม่าย ทำให้เญิ่นม่ายและไต้ม่ายสูญเสียการควบคุมส่งผลให้ตกขาวมากผิดปกติ

โดยปัจจัยที่ก่อให้เกิดความชื้น ได้แก่

  • ปัจจัยภายใน :ม้าม ไต ตับเสียสมดุลก่อเกิดเป็นความชื้นในร่างกาย
  • ปัจจัยภายนอก :อาศัยในพื้นที่ที่มีความชื้นสูง การดื่มแอลกอฮอล์หรือทานอาหารที่มีฤทธิ์เย็น การมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่สุขอนามัย เป็นต้น

2. เกิดจากตับและไตพร่อง หรือเลือดพร่องเลือดคั่งอุดกลั้น ทำให้สารอินไม่เพียงพอที่จะเข้าไปหล่อเลี้ยงบริเวณช่องคลอดส่งผลให้ตกขาวน้อยผิดปกติ

ความสัมพันธ์ของช่วงวัยกับการเปลี่ยนแปลงของตกขาว

โดยปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของตกขาวของผู้หญิงในแต่ละช่วงเวลาคือชี่ไตและเทียนเกฺว่ย(天癸)โดยในช่วงก่อนวัยรุ่น ชี่ไตและเทียนกุ่ย ยังคงมีปริมาณน้อย ทำให้ตกขาวมีปริมาณน้อย เมื่อเริ่มเข้าสู่วัยรุ่น(อายุประมาณ14ปี)ทั้งชี่ไตและเทียนเกฺว่ยมีปริมาณที่เพิ่มมากขึ้นและสมบูรณ์เพียงพอ จึงทำให้ช่วงนี้ผู้หญิงจะมีปริมาณตกขาวเพิ่มมากขึ้น และเมื่อเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน ชี่ไตและเทียนเกฺว่ยจะเริ่มค่อยๆลดลง สารอินค่อยๆพร่องลง ส่งผลให้ตกขาวมีปริมาณลดน้อยลง ดังนั้นปริมาณตกขาวที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงล้วนเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของชี่ไตและเทียนกุ่ย ซึ่งสอดคล้องตามการเจริญเติบโตในแต่ละช่วงวัยของผู้หญิง ทั้งนี้ ในช่วงระหว่างการตั้งครรภ์ สารอินจะเข้าไปหล่อเลี้ยงมดลูกเพิ่มมากขึ้น ทำให้ตกขาวมีปริมาณเพิ่มมากขึ้น หรือในช่วงกึ่งกลางระหว่างรอบเดือน(ระยะตกไข่) เป็นช่วงที่ปริมาณสารอินเพิ่มตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ตกขาวมีปริมาณเพิ่มมากขึ้น

**เทียนเกฺว่ย(天癸)คือ สารจิงในไตที่ทำหน้าที่ช่วยกระตุ้นการเจริญเติบโตของร่างกาย รวมถึงระบบการสืบพันธุ์ของมนุษย์

ภาวะตกขาวผิดปกติเป็นอย่างไร

ภาวะตกขาวผิดปกติ หมายถึง ปริมาณตกขาวที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงอย่างชัดเจน รวมถึงมีลักษณะ สี และกลิ่นที่ผิดปกติ โดยภาวะตกขาวผิดปกติจะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ 1.ภาวะตกขาวมากผิดปกติ  2. ภาวะตกขาวน้อยผิดปกติ

ทั้งนี้ การเพิ่มขึ้นของปริมาณตกขาวในช่วงก่อนและหลังการมีประจำเดือน ช่วงกึ่งกลางระหว่างรอบเดือน (ระยะตกไข่)หรือช่วงขณะการตั้งครรภ์ โดยไม่มีอาการผิดปกติใดๆถื่อเป็นภาวะปกติ หรือการลดลงของปริมาณตกขาวในวัยใกล้หมดประจำเดือน โดยไม่พบความผิดปกติใดๆถื่อเป็นภาวะปกติ จะไม่นำมารวมอยู่ในภาวะตกขาวผิดปกติ

ภาวะตกขาวมากผิดปกติ

ภาวะตกขาวมากผิดปกติ หมายถึง ปริมาณตกขาวที่เพิ่มมากขึ้นอย่างชัดเจน รวมถึงมีลักษณะ สี และกลิ่นที่ผิดปกติ

สาเหตุการเกิด:เกิดจากพิษความชื้นที่เข้าไปทำให้เญิ่นม่าย ตูม่ายและไต้ม่ายเสียการควบคุมส่งผลให้ตกขาวมากผิดปกติ

การวินิจฉัยแยกกลุ่มอาการและวิธีการรักษา

การวินิจฉัยจะแยกตามปริมาณ สี ลักษณะ กลิ่นของตกขาว โดยทั่วไปตกขาวที่มีลักษณะขาว ใส จะจัดอยู่ในกลุ่มเย็นพร่อง ส่วนตกขาวที่มีสีเหลือง ลักษณะเหนียวข้น มีกลิ่น จะจัดอยู่ในกลุ่มร้อนแกร่ง ทั้งนี้ต้องอาศัยการจับชีพจร การดูลิ้น รวมถึงอาการแสดงอื่นๆทางร่างกายประกอบการวินิจฉัย โดยการรักษาเน้นการขับไล่ความชื้นเป็นหลัก อาจเพิ่มเติมการบำรุงม้าม ไต ตับหรือระบายความร้อนขึ้นอยู่กับแต่ละกลุ่มอาการ

1. กลุ่มอาการม้ามพร่อง
อาการ :ตกขาวปริมาณมาก สีขาวใส ไม่มีกลิ่น อาการร่วมอื่นๆ เช่น หน้าขาวซีด เบื่ออาหาร อุจจาระเหลว แขนขาเมื่อยล้าไม่มีแรง ลิ้นแดงอ่อน ฝ้าขาวหรือหนา ชีพจรซี่ห่วนม่าย(脉细缓)
วิธีการรักษา :เสริมม้ามบำรุงชี่ ขับไล่ความชื้น

2. กลุ่มอาการไตหยางพร่อง
อาการ :ตกขาวปริมาณมาก สีเหลวใสคล้ายน้ำ อาการร่วมอื่นๆ เช่น ปวดเอว ปวดเย็นท้องน้อย ขี้หนาว มือเท้าเย็น ปัสสาวะบ่อยกลางคืน อุจจาระเหลว ลิ้นแดงอ่อน ฝ้าขาวชื้น ชีพจรเฉินฉือม่าย(脉沉迟)
วิธีการรักษา :บำรุงไต ขับไล่ความชื้น หยุดการตกขาว

3. กลุ่มอาการอินพร่องผสมความชื้น
อาการ :ตกขาวปริมาณมาก สีเหลืองหรือสีขาวอมแดง ลักษณะเหนียวข้น มีกลิ่น รู้สึกแสบร้อนหรือคันบริเวณอวัยวะเพศ อาการร่วมอื่นๆ เช่น ปวดเอวปวดขา มีเสียงในหู ฝ่ามือฝ่าเท้าร้อน กระหายน้ำ นอนหลับยาก ฝันเยอะ ลิ้นแดง ฝ้าน้อยหรือหนาเหลือง ชีพจรซี่ซู่ม่าย(脉细数)
วิธีการรักษา :บำรุงไตเพิ่มสารอิน ระบายความร้อน ขับไล่ความชื้น

4. กลุ่มอาการร้อนชื้นลงสู่ส่วนล่าง
อาการ :ตกขาวปริมาณมาก สีเหลืองข้น ลักษณะเหนียวข้น มีกลิ่น หรือขาวขุ่นคล้ายน้ำเต้าหู้ อาการร่วมอื่นๆ เช่น คันบริเวณอวัยวะเพศ ปวดท้องน้อย ขมปาก เบื่ออาหาร ปัสสาวะติดขัด ลิ้นแดง ฝ้าขาวเหลืองหนา ชีพจรฮวาซู่ม่าย(脉滑数)
วิธีการรักษา :ระบายความร้อน ขับไล่ความชื้น หยุดการตกขาว

5. กลุ่มอาการพิษร้อนก่อตัวสะสม
อาการ :ตกขาวปริมาณมาก สีเขียวคล้ายหนอง หรือสีขาวอมแดง ลักษณะเหนียวข้น มีกลิ่น อาการร่วมอื่นๆ เช่น ปวดท้องน้อย กระวนกระวาย ปากขม คอแห้ง ปัสสาวะติดขัด ท้องผูก ลิ้นแดง ฝ้าเหลืองหรือเหลืองหนา ชีพจรฮวาซู่ม่าย(脉滑数)
วิธีการรักษา :ระบายความร้อน ขับพิษ

ภาวะตกขาวน้อยผิดปกติ

ภาวะตกขาวน้อยผิดปกติ หมายถึง ปริมาณตกขาวที่ลดน้อยลงอย่างชัดเจน ส่งผลให้ช่องคลอดแห้ง คันหรือปวด หรือกระทั่งหดตัวลง

สาเหตุการเกิด:เกิดจากตับและไตพร่อง หรือเลือดพร่องเลือดคั่งอุดกลั้น ทำให้สารอินไม่เพียงพอที่จะเข้าไปหล่อเลี้ยงบริเวณช่องคลอดส่งผลให้ตกขาวน้อยผิดปกติ

การวินิจฉัยแยกกลุ่มอาการและวิธีการรักษา

ภาวะตกขาวน้อยผิดปกติ แม้ว่าจะมีสาเหตุการเกิดจากที่ต่างกัน คือ ตับและไตพร่อง หรือเลือดพร่องเลือดคั่งอุดกลั้น  แต่พื้นฐานการเกิดต่างเป็นเพราะสารอินและเลือดไม่เพียงพอ ส่งผลให้ตกขาวน้อยผิดปกติ

1. กลุ่มอาการตับและไตพร่อง
อาการ :ตกขาวปริมาณน้อย หรือกระทั่งไม่มีตกขาว ช่องคลอดแห้งปวดแสบร้อน หรือคัน ปวดเวลามีเพศสัมพันธ์ อาการร่วมอื่นๆ เช่น ปวดเอวปวดเข่า เวียนศีรษะ มีเสียงในหู กระวนกระวาย นอนไม่หลับ อุจจาระแข็ง ลิ้นแดง ฝ้าน้อย ชีพจรซี่ซู่ม่าย(脉细数)
วิธีการรักษา :บำรุงตับและไต เพิ่มสารจิงบำรุงเลือด

2. กลุ่มอาการเลือดพร่องเลือดคั่งอุดกลั้น
อาการ :ตกขาวปริมาณน้อย หรือกระทั่งไม่มีตกขาว ช่องคลอดแห้งหรือคัน อาการร่วมอื่นๆ เช่น เวียนศีรษะ ตาลาย ใจสั่น นอนไม่หลับ อ่อนเพลียไม่มีแรง หรือปวดท้องประจำเดือน เลือดประจำเดือนสีเข้ม มีลิ่มเลือด ลิ้นแดงคล้ำ มีจุดเลือดคั่ง ชีพจรซี่เซ่อม่าย(脉细涩)
วิธีการรักษา :บำรุงเลือดเพิ่มสารจิง หมุนเวียนเลือดสลายเลือดคั่ง

วิธีการดูแลเบื้องต้น

  • รักษาความสะอาดของช่องคลอดและอวัยวะเพศ  โดยการทำความสะอาดที่ดีที่สุดคือ การล้างด้วยน้ำเปล่า
  • หลีกเลี่ยงการสวนล้างช่องคลอด และการใช้น้ำยาอนามัยล้างเฉพาะที่ โดยไม่จำเป็น เพื่อไม่ให้เสียสมดุลของแบคทีเรียในช่องคลอด
  • ในผู้หญิงขณะมีประจำเดือน ควรหมั่นเปลี่ยนผ้าอนามัยบ่อยๆ เพื่อป้องกันความอับชื้นและลดการสั่งสมของแบคทีเรีย
  • สวมใส่กางเกงชั้นในที่สะอาด ทำจากผ้าที่ระบายอากาศได้ดี ไม่ทำให้อับชื้นได้ง่าย
  • ควบคุมและรักษาโรคที่อาจเป็นสาเหตุ เช่น โรคเบาหวาน
  • หลีกเลี่ยงการทานของหมักดอง เครื่องดื่มแอลกอฮอล์หรืออาหารที่มีฤทธิ์เย็น เพื่อลดการสั่งสมของแบคทีเรีย ลดความชื้นสะสมในร่างกาย
  • แนะนำการทานลูกเดือย ถั่วแดง ซานเย้า(山药)เพื่อขับไล่ความชื้นออกจากร่างกาย

------------------------

บทความโดย

แพทย์จีน บุญยาพร พฤกษเศรษฐ   (หยาง ลี่ จิง)
杨丽晶 中医师
TCM. Dr. Yang Li Jing
แผนกอายุรกรรมนรีเวช

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้