Last updated: 2 ก.ค. 2567 | 5857 จำนวนผู้เข้าชม |
มีคำถามคำถามหนึ่งที่ชวนสงสัยอยู่บ่อย ๆ ว่ายาจีนรักษา “โรคมะเร็ง” ได้มั้ย
ในการรักษาโรคมะเร็งด้วยศาสตร์การแพทย์แผนจีนจริง ๆ แล้วก็หนีไม่พ้น “การเปี้ยนเจิ้งลุ่นจื้อ” หรือก็คือ การวินิจฉัยโรคและการกำหนดวิธีการรักษานั่นเอง สภาพร่างกายแต่ละคนที่แตกต่างกันไป ปัจจัยสาเหตุการเกิดโรค ประกอบกับโรคที่เกิดคือข้อสำคัญในการพิจารณาที่จะเลือกใช้ยารักษา สำหรับการรักษาผู้ป่วยมะเร็งนั้นในทางการแพทย์แผนจีนเราไม่ได้มุ่งแต่จะใช้ยาที่มีสรรพคุณต้านมะเร็งสลายก้อนขจัดพิษเพียงอย่างเดียว แต่เรายังคำนึงถึงคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยมากกว่า เรามองว่าการรักษาด้วยการกำจัดก้อนมะเร็งออกไป อาจจะไม่ใช่คำตอบว่าจะสามารถกำจัดมะเร็งได้แบบหายขาด เพียงแต่เราให้ความสำคัญกับสภาพร่างกายของผู้ป่วยมากกว่า ร่างกายของเราเปรียบเสมือนสมรภูมิในการรบ ส่วนมะเร็งเปรียบเสมือนข้าศึกที่มาจู่โจมเข้าสู่ร่างกาย ชัยภูมิที่ดีมีชัยไปกว่าครึ่ง ดังนั้นเป้าหมายสำคัญในการรักษา “อยู่ที่คน ไม่ได้อยู่ที่โรค”
แม้ว่าในประเทศจีนการใช้ยาสมุนไพรจีนเป็นที่ยอมรับในทางคลินิกรักษาอาการและโรคต่าง ๆ รวมถึงลดผลข้างเคียงจากการรักษาหลังการผ่าตัด ฉายรังสีหรือเคมีบำบัด เสริมภูมิต้านทานร่างกาย และช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคมะเร็งได้ อาจยังไม่เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายนักในต่างประเทศ ยาสมุนไพรจีนหลายชนิดมีสรรพคุณตามตำราแพทย์จีนโบราณที่สามารถใช้ในการรักษาโรคมะเร็งได้ เช่น ไป๋ฮวาเสอเสอเฉ่า(白花蛇舌草) ปั้นจือเหลียน(半枝莲) หลงขุย (龙葵) เมาจวาเฉ่า(猫爪草) เป็นต้น ซึ่งมีสรรพคุณระบายร้อนขับพิษ ลดบวม ขจัดเสมหะสลายก้อน และยังมีผลวิจัยพบว่าสามารถต้านมะเร็งได้ ส่วนยาหลิงจือ(灵芝) หวงฉี(黄芪) เหรินเซิน(人参) สูตี้หวง(熟地黄) ตังกุย(当归) เป็นต้น ช่วยบำรุงชี่และเลือด ในกลุ่มยาที่มีสรรพคุณในการบำรุงเองก็มีงานวิจัยรายงานว่าสามารถต้านมะเร็งได้เช่นกัน ถ้ามองในมุมของการแพทย์แผนจีนนั่นก็คือการเสริมเจิ้งชี่ให้แข็งแรง ดังคำกล่าวว่า “正气存在、邪不可干เจิ้งชี่ฉุนจ้าย เสียปู้เข่อกัน” นั่นคือเมื่อเจิ้งชี่ หรือภูมิต้านทานของร่างกายแข็งแรง ปัจจัยก่อโรคใด ๆ ก็ไม่สามารถเข้ามากล้ำกลายได้นั่นเอง และร่างกายจะสามารถจัดการโรคต่าง ๆ ได้ด้วยตัวเอง ซึ่งการจะใช้ยากลุ่มนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับความเหมาะสมตามแต่ละบุคคลด้วย ในการรักษาแพทย์จะทำการตรวจวินิจฉัยผู้ป่วยแต่ละบุคคลว่ามีสภาพร่างกายเป็นอย่างไร จากนั้นก็จะเลือกตำรับยาพื้นฐานเพื่อช่วยในการปรับสมดุลหรือบรรเทาอาการหลักที่เป็น และเลือกใช้ยาที่มีสรรพคุณช่วยระบายร้อนขับพิษข้างต้น เพื่อช่วยบรรเทาอาการต่าง ๆ และควบคุมหรือป้องกันการกระจายของมะเร็ง หรือการกลับมาเป็นซ้ำร่วมด้วย
การรักษาด้วยแพทย์แผนปัจจุบัน เช่น ฉายรังสีหรือเคมีบำบัดซึ่งเป็นวิธีการรักษาโรคมะเร็งที่ดี และเป็นที่ยอมรับในระดับสากล แต่เนื่องจากผลข้างเคียงที่ตามมาค่อนข้างมากเป็นผลให้หลังจากรักษา ร่างกายอ่อนแอ เหนื่อยอ่อนเพลีย ไม่มีแรง ความอยากอาหารลดลง คลื่นไส้อาเจียน เป็นต้น จึงทำให้ผู้ป่วยจำนวนมากหวาดกลัว และบางรายไม่สามารถทนรับการรักษาได้จนจบคอร์สการรักษา ทำให้ผลการรักษาไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร จากงานวิจัยที่ผ่านมาพบว่าการใช้ยาสมุนไพรจีนเข้ามามีส่วนร่วมในขั้นตอนของการรักษา เราสามารถรักษาควบคู่ไปกับการแพทย์แผนจีนได้ ซึ่งในการรักษาส่วนใหญ่จะใช้ยาสมุนไพรจีนเป็นหลัก เพื่อบรรเทาอาการต่าง ๆ ช่วยลดอาการข้างเคียงที่เกิดขึ้น ในประเทศจีนให้การรักษาแบบผสมสานและเห็นผลตอบรับที่ดี ส่งผลดีต่อการฟื้นฟูร่างกายของผู้ป่วยไวขึ้น เมื่อผลข้างเคียงน้อยลงผู้ป่วยก็ยังสามารถรับการรักษาด้วยแพทย์แผนปัจจุบันได้จนจบคอร์สการรักษา และประสิทธิผลในการรักษาดีกว่า แต่ต้องสั่งยาโดยแพทย์จีนเท่านั้น เนื่องจากในการซื้อยารับประทานเองอาจจะใช้ยาไม่เหมาะสมได้ และยังเป็นผลเสียมากกว่าผลดี
ในปัจจุบันมีการศึกษาถึงประสิทธิภาพ องค์ประกอบของยา และกลไกการทำงานของยาสมุนไพรจีนเช่น Jiao N (2015) ได้ทำการรวบรวมข้อมูลไว้ในบทความ Efficacy of traditional Chinese medicine in treating cancer (Review) โดยกล่าวถึงกลไกการทำงานของยาสมุนไพรจีนเกี่ยวกับการรักษามะเร็งในด้านต่าง ๆ ดังนี้
ตัวอย่างยาสมุนไพรจีนที่พบบ่อยในการรักษาโรคมะเร็ง
ชื่อยา | ประเภทเซลล์มะเร็ง | ประสิทธิในระดับชีวโมเลกุล | ฤทธิ์ในการต้านมะเร็งในทางคลินิก |
Extract of Hedyotis Diffuse Willd | เซลล์มะเร็งลำไส้ใหญ่ ในคน | ช่วยชักนำให้เกิดการตายของเซลล์แบบอะพอพโตซิส (apoptosis) | ชักนำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสัณฐานวิทยาของเซลล์ ลดความสามารถของเซลล์ ทำให้เกิดการแตกตัวของดีเอ็นเอ สูญเสียสมดุลของเยื่อหุ้มเซลล์ในพลาสมา กระตุ้นการทำงานของเอนไซม์ caspase-9 และ caspase-3 |
Ethanol extract of Scutellaria barbata สารที่อยู่ในตัวยาปั้นจือเหลียน 半枝莲 | เซลล์มะเร็งลำไส้และการปลูกถ่ายด้วยซีโนกราฟท์เข้าไปในหนูทดลอง | ช่วยชักนำให้เกิดการตายของเซลล์แบบอะพอพโตซิส / ยับยั้งการสร้างหลอดเลือดใหม่ และยับยั้งวิถีสัญญาณ | ช่วยชักนำให้เกิดการตายของเซลล์แบบอะพอพโตซิส ยับยั้งการสร้างหลอดเลือดใหม่ ช่วยลดขนาดของก้อนมะเร็งโดยไม่ส่งผลต่อน้ำหนักตัว ยับยั้ง key mediators ในการเกิดเซลล์มะเร็ง ยับยังการส่งสัญญาณ SHH ของยีนเป้าหมาย VEGF-A (ซึ่งเป็นตัวที่ทำให้เกิดการสร้างหลอดเลือด) |
Ganoderic acid สารที่อยู่ในตัวยาหลิงจือ 灵芝 | เซลล์มะเร็งเต้านม | ช่วยชักนำให้เกิดการตายของเซลล์แบบอะพอพโตซิส / ยับยั้งการสร้างหลอดเลือดใหม่ เพื่อยับยั้งวิถีสัญญาณซึ่งนำไปสู่การแพร่กระจาย | ระงับการเจริญเติบโตของเซลล์ ยับยั้งการสร้างหลอดเลือดใหม่ และยับยั้งการลุกลามของมะเร็ง ช่วยควบคุมการสร้าง NF-КB ซึ่งเป็นตัวที่ควบคุมการแสดงออกของยีนในการสร้างสารอักเสบต่างๆที่เกี่ยวกับการเกิดมะเร็ง |
Ganoderma lucidum (lucid ganoderma) ตัวยาหลิงจือ 灵芝 | ผู้ป่วยมะเร็งในคลินิกทดลอง และการทดลองในหนูทดลองและหลอดทดลอง | เสริมภูมิคุ้มกันทางชีวภาพ ช่วยชักนำให้เกิดการตายของเซลล์แบบอะพอพโตซิส / ยับยั้งการกระจายของมะเร็ง (antimetastasis) / ยับยั้งการสร้างหลอดเลือดใหม่(antiangiogenesis) | เพิ่มความเข้มข้นข้นของสาร IL-2, IL-6 and IFN-γ (ซึ่งช่วยเพิ่มความสามารถในการทำลายเซลล์มะเร็ง) และลดระดับของสารอักเสบ IL-1 กับTNF-α และเพิ่มความสามารถของเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกัน CD56+ CD3+ CD4และ CD8+ ช่วยชักนำให้เกิดการตายของเซลล์แบบอะพอพโตซิส ยับยั้งการลุกลามแพร่กระจายของมะเร็ง ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน และยับยั้งการสร้างหลอดเลือดใหม่ |
Astragalus polysaccharides สารที่อยู่ในตัวยาหวงฉี 黄芪 | หนูที่ปลูกถ่ายเซลล์มะเร็งซาโคมา | เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน | เพิ่มสาร IFN-α, FasL and GrB ในระดับmRNA ปรับการทำงานของเซลล์ γδT cells ที่จับสิ่งแปลกปลอมในลำไส้ และควบคุมระดับของสาร TNF-β and IFN-α |
Five tanshinones (including cryptotanshine and dihydrotanshine) isolated from Salvia miltiorrhiza (danshen) สารที่อยู่ในตัวยาตันเซิน 丹参 | เซลล์มะเร็งลำไส้ | ลดการดื้อยาหลายขนาน / เสริมประสิทธิภาพการรักษา | ลดอัตราการขับยาออกภายในเซลล์ ทำให้ยาต้านมะเร็งคงอยู่ภายในเซลล์ได้นานขึ้น ลดปริมาณ P-gp mRNA ลดการแสดงออกของโปรตีน P-gp และยับยั้งการทำงานของ P-gp ATPase |
ภาพกลไกการต้านมะเร็งด้วยยาสมุนไพรจีน
อย่างไรก็ตามการรักษาไม่ว่าจะรับการรักษาแบบผสมผสานหรือรักษาวิธีใดวิธีหนึ่งก็ตาม จะได้ผลดีขนาดไหนขึ้นอยู่หลายปัจจัย เป็นต้นว่าความรุนแรงของโรค สภาพร่างกายของผู้ป่วย ความต่อเนื่องในการรักษา ยาสมุนไพรจีนที่กล่าวข้างต้นเป็นเพียงตัวอย่างที่หยิบยกขึ้นมาเท่านั้น ไม่ควรซื้อยารับประทานเอง การใช้ยาเดี่ยวอาจไม่เห็นผล การแพทย์แผนจีนให้ความสำคัญกับสุขภาพองค์รวม ดังนั้นการรักษาจึงจำเป็นต้องใช้ยาตำรับที่เหมาะกับแต่ละบุคคล ผู้ป่วยควรได้รับการตรวจและประเมินร่างกายเพื่อรับการรักษาอย่างเหมาะสม ควรปรึกษาแพทย์ที่ดูแลก่อน เนื่องจากการเลือกใช้ยาที่ไม่เหมาะสมแล้วทำให้มีผลเสียมากกว่าผลดี
------------------------
บทความโดย
แพทย์จีน อรกช มหาดิลกรัตน์ (หมอจีน ไช่ เพ่ย หลิง)
蔡佩玲 中医师
TCM. Dr. Orakoch Mahadilokrat (Cai Pei Ling)
แผนกอายุรกรรมโรคมะเร็ง
เอกสารอ้างอิง
1.Jiao N, Zhao CL, Li D, et al. Efficacy of traditional Chinese medicine in treating cancer (Review). Biomedical Reports. 2015, 4(1): p3-14.
6 ธ.ค. 2567
6 ธ.ค. 2567
9 ธ.ค. 2567