เมื่อคุณมีอาการของทางเดินอาหารแต่ไม่ได้เป็นโรคทางเดินอาหาร

Last updated: 2 ก.ค. 2567  |  1151 จำนวนผู้เข้าชม  | 

เมื่อคุณมีอาการของทางเดินอาหารแต่ไม่ได้เป็นโรคทางเดินอาหาร

เป็นที่เข้าใจกันว่าในด้านทางกายวิภาคและสรีรวิทยานั้น เมื่อเกิดโรคทางเดินอาหารขึ้น ก็มักจะแสดงออกถึงอาการที่เกี่ยวข้องให้เราได้รู้และเข้าใจว่าเรากำลังจะเจ็บป่วย เช่นปวดท้อง ท้องอืดแน่น เรอเปรี้ยว ท้องผูก ท้องเสีย เป็นต้น ซึ่งเพียงพอที่จะเข้าใจได้อย่างง่ายดายว่าน่าจะเป็นเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับทางเดินอาหาร แต่คุณอาจยังไม่รู้ว่า ในทางการแพทย์แผนจีนนั้น หลายครั้งที่เราพบว่ากระเพาะลำไส้ที่ไม่แข็งแรง หรือการเจ็บป่วยเรื้อรั้งนั้นจะส่งผลไปที่ระบบอื่น ๆ ในร่างกายได้เช่นกัน หลายครั้งที่มีอาการแสดงผิดปกติแต่หาคำตอบไม่พบ ว่าที่จริงแล้วมาจากกระเพาะลำไส้

วันนี้เราจะมาสังเกตอาการอื่น ๆ กันว่า มีอาการแบบไหนกันบ้างที่เป็นสัญญาณแสดงถึงปัญหากระเพาะลำไส้ให้เห็น โดยที่ไม่ได้มีอาการของโรคทางเดินอาหารแต่อย่างใด

1. อาการทางช่องปาก

             ด้วยเหตุผลที่ว่าในทางการแพทย์แผนจีนนั้นการทำงานของกระเพาะลำไส้ที่มีปัญหา มักแสดงออกด้วยอาการทางช่องปาก ไม่ว่าจะเป็น แผลร้อนใน ปากแห้ง ปากขม มีกลิ่นปาก เลือดออกตามไรฟัน เป็นต้น พื้นฐานทฤษฎีของการแพทย์แผนจีนจะมีการพูดถึง ทวาร ที่เป็นตัวแสดงออกว่าอวัยวะใดมีปัญหา โดยช่องปากเป็นทวารที่ใช้สังเกตว่ากระเพาะลำไส้ของเรามีปัญหามากน้อยแค่ไหน โดยมากแล้วมักเกิดจาก ความร้อน หรือ มีเสมหะชื้น อินพร่อง ที่ก่อตัวขึ้นในกระเพาะลำไส้และแสดงอาการดังกล่าวออกมา

2. การเกิดสิว ผื่นแพ้ต่างๆ

            เรามักเรียกกันว่า ความสวยที่แท้จริงจะเกิดขึ้นได้ ต้องสวยจากภายใน หาใช่เครื่องสำอางที่กลบเกลื่อนร่องรอยแต่อย่างใดไม่ ในทางแพทย์จีนเองก็มีแนวคิดหนึ่งที่น่าสนใจ นั่นคือ การใช้วิธีปรับการทำงานของกระเพาะลำไส้ให้แข็งแรงมากพอที่จะจัดการกับอาหารที่รับประทานเข้าไป ไม่ให้เกิดการสะสม ตกค้างภายใน จนไปกระทบกับการทำงานของฮอร์โมนในร่างกาย หากกระเพาะลำไส้เกิดความร้อนสูง ก็มักทำให้เกิดสิวเรื้อรัง ผื่นแพ้ผิวหนังเรื้อรังได้ง่าย ดังนั้นการที่เราเกิดอาการลักษณะนี้ขึ้น ก็มีความเป็นไปได้ที่จะต้องหันมาดูแลและเอาใจใส่กับกระเพาะลำไส้ระบบนี้ด้วยเช่นกัน

3. ปวดเวียนศีรษะ

            บางครั้งเราอาจไม่เคยสังเกตว่า อาการปวดเวียนศีรษะจะมีความสัมพันธ์กับระบบทางเดินอาหารได้อย่างไร จากประสบการณ์ทางคลินิก ที่พบเจอผู้ป่วยทางเดินอาหารในหลากหลายรูปแบบของผมนั้น ผู้ป่วยมักมีปัญหาของอาการลักษณะที่ว่านี้เกิดขึ้นร่วมด้วยเป็นประจำ มีทั้งที่เป็นพร้อมกับอาการของทางเดินอาหารเช่น เมื่อเกิดการจุกอก เรอเปรี้ยวจะรู้สึกเหมือนลมตีขึ้นสมอง หรือ ปวดศีรษะ หลังจากรับประทานอาหารแล้วไม่ย่อย เป็นต้น  จนไปถึงไม่มีอาการของทางเดินอาหาร แต่รักษาหลายวิธีแล้ว ทั้งปรับการนอนหลับ ลดความเครียด นวดคอบ่าไหล่ แต่ก็ยังไม่พบแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์เสียที นั่นก็อาจเป็นไปได้ว่า จริงๆแล้วเบื้องหลังอาจมีควาเกี่ยวข้องกับกระเพาะลำไส้ ที่ไม่สามารถขับเคลื่อนอาหารที่รับประทานให้ไปสร้างพื้นฐานชี่และเลือดเพื่อไปเลี้ยงศีรษะของเราได้ เมื่อระบบประสาทขาดการหล่อเลี้ยงจากสารอาหารที่กระเพาะลำไส้ควรจะส่งไปให้ได้ อาการดังกล่าวจึงมักเกิดขึ้นได้โดยง่าย

4. นอนไม่หลับ

            แพทย์แผนจีนมีคำกล่าวสมัยโบราณจากคัมภีร์ หวงตี้เน่ยจิงกล่าวไว้ว่า “เมื่อกระเพาะไม่สมดุล จะนำมาซึ่งการหลับไม่เป็นสุข” กล่าวคือ เมื่อเกิดภาวะกระเพาะย่อยอาหารที่เรารับประทานไปทั้งวันแล้วได้ไม่ดี มักก่อให้เกิดความร้อน เสมหะ ความชื้นทำให้รบกวนอวัยวะที่อยู่ใกล้เคียงกับกระเพาะ นั่นก็คือ หัวใจ โดยหัวใจในทางแพทย์จีนนั้นถูกมองว่ามีความเชื่อมโยงกับความนึกคิดและจิตวิญญาณของมนุษย์ ดังนั้น หัวใจเป็นธาตุไฟ ก็มักจะไม่สามารถเกิดความสงบได้หากถูกรบกวนด้วยกระเพาะที่มีปัญหา ถึงแม้ว่าอาจจะไม่มีอาการอาหารไม่ย่อยก็ตาม แพทย์จีนเองก็สามารถใช้วิธีการปรับการทำงานของกระเพาะลำไส้ให้มีความแข็งแรงในการจัดการอาหารตกค้าง ความชื้นและเสมหะ ความร้อนในร่างกายให้ออกไป เพื่อให้ร่างกายเกิดความสมดุลมากพอที่ช่วยฟื้นฟูสภาพจิตใจ และช่วยในการนอนหลับได้

เรามักพูดกันเสมอว่า “การไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ” ซึ่งก็เห็นจะจริงอย่างที่ว่านะครับ เพราะหลาย ๆ โรคที่เราพบเจอทางคลินิก มันอาจไม่ใช่ว่ามีเงินแสนพันล้านแล้วจะรักษาได้เสมอไป หลายครั้งที่เราใช้ชีวิต แล้วพาร่างกายของเราไปสู่โรคนั้น ๆ ด้วยพฤติกรรมบางอย่างที่เราเป็นผู้ก่อขึ้น หลายเคสอาจจะโชคร้ายที่ต้องเป็นตั้งแต่กำเนิด ทั้งที่พยายามดูแลตัวเองดีแค่ไหน แต่โรคก็ไม่เคยหนีไปให้พ้นจากตนเองได้เสียที  จึงอยากฝากถึงคนไข้ทุกท่านด้วยความหวังดีว่า การดูแลร่างกายก่อนที่คุณจะป่วยเป็นโรคต่าง ๆ คือสิ่งที่ดีที่สุด หากคุณยังคิดไม่ออกว่าจะเริ่มต้นจากตรงไหน ลองหันมาดูแลกระเพาะลำไส้ของคุณก่อนได้นะครับ

------------------------

บทความโดย

แพทย์จีน ต้นสกุล สังข์ทอง (หมอจีน ซ่ง เซียน เนี่ยน)
宋先念 中医师
TCM. Dr. Tonsakul Sungthong (Song Xian Nian)
แผนกอายุรกรรมระบบทางเดินอาหาร

 

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้