Last updated: 2 ก.ค. 2567 | 2764 จำนวนผู้เข้าชม |
“การรักษาก่อนป่วยจริง” เป็นแนวคิดที่เกิดขึ้นหลายพันปีในตำราหวงจี้เน่ยจิงที่ได้กล่าวว่า “หากคุณเป็นแพทย์ที่ดีและมีความสามารถจริง คุณต้องรักษาคนในตอนที่เข้ายังไม่ป่วย” ซึ่งหากฟังดูแล้ว เราอาจจะไม่เข้าใจกับแนวคิดเชิงปรัชญาแบบนี้เสียเท่าไหร่ ก็เพราะในเมื่อเวลาเราจะไปพบแพทย์สักครั้ง จะต้องไปเจอหน้าหมอสักหน มันต้องมีอาการก่อน มันต้องเป็นโรคก่อนไม่ใช่หรือ ถ้าหากไปพบแพทย์โดยไม่ได้เป็นโรคอะไรเลย แล้วจะไปเล่าให้หมอเค้าฟังได้อย่างไร ?
คำถามก็เลยเกิดขึ้นมากมาย เมื่อประชาชนทั่วไปได้ยินแพทย์จีนกล่าวไว้แบบนี้ แต่หากเราตั้งใจวิเคราะห์มันให้ดี ๆ เราจะพบว่า ที่จริงแล้วมันก็คือ เทรนด์การรักษาสุขภาพในสมัยนั้นที่ไม่ได้ต่างจากยุคนี้เสียเท่าไหร่ หากสมัยนี้เรามีการกินวิตามินเสริมป้องกันหวัด กินแคลเซียมป้องกันกระดูกพรุน สมัยก่อนเองก็มักใช้อาหารเป็นยากัน ต้มซุปกระดูกหมูใส่เก๋ากี้ ทำซุปเนื้อแพะอุ่น ๆ รับประทานกันในช่วงฤดูหนาว เป็นต้น ดังนั้นวันนี้ผมจะพาทุกท่านไปดูแนวคิดที่เป็นปรัชญาของแพทย์จีนกันว่า ถ้าต้องรักษาคนไข้ในตอนที่เขายังไม่ป่วยนั้น เราต้องมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องใดบ้าง มาไล่ดูกันทีละข้อได้เลยครับ
1. ก่อนป่วย ต้องเข้าใจธรรมชาติ (法于自然)
“หากตอนนี้คุณยังไม่ป่วย แต่หมอต้องรีบดูแล เพราะ 10 ปีหน้าถ้าคนไข้แก่อาจไม่ไหว” อย่างที่ว่าแหละครับหากเราจะไปรอให้อายุเยอะก่อนแล้วรักษาป้องกัน ก็อาจไม่มีประโยชน์ แพทย์จีนจึงแนะนำวิธีที่หนึ่ง นั่นก็คือ จงใช้ชีวิตให้เข้ากับธรรมชาติมากที่สุด กล่าวคือ ให้คอยสังเกตสภาพอากาศ อาหาร และการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นรอบตัวตลอดเวลา ตัวอย่างเช่น หากเจออากาศร้อน อย่ารีบรับประทานแต่ของเย็นอย่างเดียว หากเจออากาศหนาว ก็อย่าใช้น้ำขิงตลอดเวลา เพราะร่างกายของเรานั้นหลายครั้งอาจไม่สามารถปรับตัวกับความเย็นความร้อนได้ทันที จึงควรเลือกรับประทานอย่างเหมาะสมตามสภาพอากาศ เช่น การรับประทานของเย็นในช่วงฤดูร้อนไม่ใช่สิ่งผิด แต่ควรมีเพิ่มเติมฤทธิ์ร้อนบ้างบางช่วงของสัปดาห์ เพื่อให้กระเพาะม้ามของเรายังอยู่ในจุดที่สมดุลและไม่ต้องเจอกับอาหารฤทธิ์เย็นตลอดสัปดาห์ เป็นต้น
2. ก่อนป่วย ต้องรู้สภาพจิตใจตนเอง (调理精神)
แพทย์จีนให้ความสำคัญเรื่องสภาพจิตใจ ว่ามีอิทธิพลอย่างสูงต่ออาการเจ็บป่วยของคนไข้ ถึงขึ้นมีการระบุสภาพอารมณ์ต่าง ๆ ว่าสามารถก่อโรคได้โดยง่าย เช่น อารมณ์เสียใจ มีผลต่อปอด อารมณ์หงุดหงิดโมโห มีผลต่อ ตับ เป็นต้น จึงแนะนำให้ทุกท่านคอยหมั่นดูแลสภาพจิตใจของตนเองเสมอ คอยรู้เท่าทันอารมณ์ของตนเองว่า เราอยู่ในภาวะอารมณ์ใด และจะต้องดูแลหรือจัดการกับสภาพจิตใจ ณ ตอนนั้นๆอย่างไร เพราะในทางแพทย์จีนนั้น หากคุณอยากมีสุขภาพที่ดี สภาพจิตใจจะต้องมีความสมดุลในภาวะอารมณ์ ไม่หนักไปทางอารมณ์ใดอารมณ์หนึ่งนานเกินไป สภาพจิตใจนิ่งและแน่วแน่ เข้าใจความเป็นไปของธรรมชาติ ไม่มีบ่อเกิดแห่งความอยากที่เกินพอดี สิ่งเหล่านี้มีส่วนช่วยดูแลสุขภาพของเราได้ เมื่อสุขภาพจิตดี ก็จะมีส่วนช่วยสุขภาพกายได้อย่างแน่นอน
3.ก่อนป่วย ต้องรู้จักสมดุล อินหยาง (阴平阳密)
หากคุณเป็นคนหนึ่งที่ยังไม่ค่อยได้รู้จักพื้นฐานของร่างกายตนเองว่า อินหรือหยาง ผมอาจแนะนำวิธีสังเกตโดยง่ายไว้ให้ดังนี้ครับ หากแนวโน้มเป็นอิน เราอาจพบว่าตนเอง ขี้หนาว ลิ้นซีด ร่างกายเชื่องช้า ง่วงนอนบ่อย เป็นต้น ส่วนแนวโน้มเป็นหยาง ก็อาจได้พบ อาการร้อนง่าย กระสับกระส่าย หงุดหงิด ลิ้นแดง นอนไม่หลับ ปัสสาวะร้อน เป็นต้น นั่นจึงเป็นเหตุผลที่เราอาจต้องรู้จักสัญญาณที่ดูแล้วไม่ใช่อาการป่วยเป็นโรคเหล่านี้เสียก่อน จากนั้นจึงทำการรักษาความสมดุลอินหยางเหล่านี้ หรือปรึกษาแพทย์จีนเพื่อปรับพื้นฐานร่างกาย เพื่อให้แน่ใจว่า ความไม่สมดุลของอินหยางนี้ จะสามารถดูแลฟื้นฟูได้ทันก่อนเกิดโรค และจะไม่ส่งผลเสียต่อสุขภาพของเรานับจากนี้ไป
4.ก่อนป่วย ต้องบำรุงอวัยวะภายใน
ตรงส่วนนี้จะเป็นหน้าที่ของแพทย์จีนโดยตรง ที่จะทำการประเมินสภาพร่างกายของผู้ป่วย ไม่ว่าจะเป็นการอาศัยดูจากลิ้น จากชีพจร และสัญญาณของอาการต่าง ๆ ที่น่าสนใจ แล้ววิเคราะห์ออกมาว่าอวัยวะใดที่ต้องรีบดูแลและฟื้นฟูก่อนในเบื้องต้น ยกตัวอย่างเช่น คนไข้ลิ้นแดง มีการเกิดสิว แพทย์จีนอาจมองว่าเป็นลักษณะของ ปอดร้อน ซึ่งหากปล่อยไว้ อาจมีผลทำให้ความชุ่มชื้นของไตหายไป ถามว่าทำไมถึงไปมีผลต่อไตในทางแพทย์จีนได้ นั่นก็เพราะว่า ปอดเป็นอวัยวะแม่ของไต หากอวัยวะตัวแม่มีอาการเจ็บป่วย ก็อาจส่งผลไปถึงอวัยวะไตที่เป็นตัวลูกได้เช่นกัน ดังนั้นเมื่อแพทย์จีนเจอสัญญาณลักษณะดังกล่าว จึงรีบแก้ที่ต้นเหตุด้วยการระบายความร้อนปอด และเสริมความชุ่มชื้นให้แก่ไต เพื่อป้องกันการก่อโรคอื่น ๆ ในอนาคตนั่นเอง
------------------------
บทความโดย
แพทย์จีน ต้นสกุล สังข์ทอง (หมอจีน ซ่ง เซียน เนี่ยน)
宋先念 中医师
TCM. Dr. Tonsakul Sungthong (Song Xian Nian)
แผนกอายุรกรรมระบบทางเดินอาหาร
11 พ.ย. 2567
14 พ.ย. 2567
11 พ.ย. 2567