Last updated: 2 ก.ค. 2567 | 10256 จำนวนผู้เข้าชม |
โรคต่อมไขมันอักเสบ(Seborrheic dermatitis) หรือที่รู้จักกันในชื่อ “เซ็บเดิร์ม” เป็นโรคผิวหนังชนิดหนึ่งที่มีการอักเสบเรื้อรังบริเวณต่อมไขมัน ในทางแพทย์แผนจีนเรียกว่า“เมี่ยนโหยวเฟิง(面游风)” มักพบได้ตำแหน่งบริเวณที่มีการขับของต่อมไขมัน เช่น ใบหน้า ศีรษะ อก หลัง เป็นต้น พบผื่นสีแดงเหลืองขนาดเล็กใหญ่ไม่เท่ากัน มีสะเก็ดสีเหลืองลักษณะมันเหนียวคลุมอยู่ด้านบนซึ่งเป็นลักษณะสำคัญ
ต่อมไขมันอักเสบมักพบในเด็กแรกเกิดและผู้ใหญ่วัยกลางคนบริเวณหนังศีรษะ ขมับ ตา คิ้ว ระหว่างคิ้ว ร่องจมูกกับปาก และหลังหู ใบหู และอาจเกิดขึ้นได้บริเวณหน้าอก แผ่นหลัง รักแร้ ขาหนีบ หรือกล่าวได้ว่ามักขึ้นบริเวณที่มีต่อมไขมันอยู่มาก พบได้ในเพศชายมากกว่า
ลักษณะของผื่นมีได้ทั้งรอยแดงเล็กน้อยถึงมาก บริเวณด้านบนมีขุยหรือมีสะเก็ดสีเหลืองมัน มักเริ่มเป็นจากบริเวณศีรษะก่อน การดำเนินโรคยาวนาน เป็นๆหายๆ รอยโรคบริเวณหนังศีรษะหากอาการไม่หนักมากอาจมีลักษณะสะเก็ดขุยสีขาวละเอียด มักมีผมร่วงร่วมด้วย ในผู้ที่เป็นหนักอาจพบสะเก็ดหนาสีเหลืองมันอาจมีกลิ่นร่วมด้วย โดยในแต่ละบุคคลมีอาการคันที่แตกต่างกัน
สาเหตุการเกิดโรค
สาเหตุการเกิดโรคยังไม่เป็นที่แน่ชัดแต่พบว่ามักมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเกิดอาการได้แก่ ภูมิคุ้มกัน พันธุกรรม ฮอร์โมน หรือสภาพแวดล้อม หรืออาจเกี่ยวกับแบคทีเรียหรือเชื้อราบางชนิด
ในทางการแพทย์แผนจีนมองว่า สาเหตุของการเกิดโรคมักมีสาเหตุมาจากปอดและกระเพาะมีความร้อนชื้น ลมร้อนเลือดแห้ง หรือม้ามพร่องความชื้นสะสม กระเพาะลำไส้มความร้อนสะสมจนก่อให้เกิดอาการ
การวินิจฉัยโรคและการแยกโรค
โรคสะเก็ดเงินบริเวณศีรษะ : รอยโรคมีลักษณะเป็นผื่นสีแดง บนรอยโรคมีสะเก็ดสีขาวเงินปกคลุม ขอบเขตชัดเจน เส้นผมบริเวณรอยโรคจะมีลักษณะรวมเป็นกระจุก บริเวณอื่นๆตามร่างกายมักมีรอยโรคลักษณะเดียวกัน ไม่พบอาการผมร่วง
ผื่นผิวหนังอักเสบ(eczema) : ผื่นผิวหนังอักเสบมักมีลักษณะหลากหลายรูปแบบ เช่น เป็นตุ่ม ตุ่มน้ำ รอยแดง ผื่นมีน้ำซึม ไม่มีความมันเหนียวและขุย อาการคันรุนแรง มักกลับเป็นซ้ำ
กลาก : รอยโรคไม่สมมาตร เมื่อบริเวณกึ่งกลางรอยโรคหาย รอยโรคจะมีลักษณะแผ่ออกไปรอบข้าง ขอบนูน มีอาการอักเสบชัดเจน ขุยไม่มีลักษณะมันเหนียว ตรวจสอบทางห้องปฏิบัติการพบเชื้อรา
การวินิจฉัยและหลักการรักษาแบ่งกลุ่มอาการตามศาสตร์การแพทย์แผนจีน
การรักษาเมี่ยนโหยวเฟิงแบ่งเป็นสองชนิดได้แก่ ชนิดแห้งและชนิดมัน หลักสำคัญในการรักษาคือ ระบายร้อนขับความชื้น ขับลมระงับคัน หรือ บำรุงม้ามระบายชี่ตับ บำรุงเลือดเพิ่มความชุ่มชื้น ทำให้เลือดเย็นเพิ่มสารอิน
กลุ่มอาการ ลมร้อนเลือดแห้ง(风热血燥证)
มักขึ้นบริเวณศีรษะและใบหน้า มีผื่นสีแดงอ่อน บนผื่นมีขุยแห้งลอกไม่หยุด ลักษณะคล้ายแกลบหลุดลอกได้ง่าย สะเก็ดรังแคค่อนข้างเยอะ อาจมีอาการคันเล็กน้อย เส้นผมแห้งและร่วงง่าย มักมีอาการปากแห้งกระหายน้ำ ท้องผูก
หลักการรักษา : ขับลมระบายร้อน บำรุงเลือดเพิ่มความชุ่มชื้น
กลุ่มอาการม้ามกระเพาะร้อนชื้น(脾胃湿热证)
พบบริเวณศีรษะใบหน้า หลัง อก รวมถึงซอกรักแร้เป็นต้น พบผื่นแดง ผื่นสีเหลืองแดงขนาดใหญ่ คลุมด้วยสะเก็ดชนิดมันเป็นจำนวนมาก หรือ หลังมีผื่นแฉะปริมาณน้อยแล้วเกิดสะเก็ดผิวสีเหลืองหนา มีอาการคัน มักมีอาการเบื่ออาหาร คอแห้งแต่ไม่อยากดื่มน้ำ หรือปากขม ปากเหนียว จุกแน่นท้องอืดปัสสาวะเหลืองเข้ม อุจจาระกลิ่นแรง
หลักการรักษา : ระบายร้อนขับความชื้น ปรับสมดุลม้ามกระเพาะ
ข้อแนะนำการปฏิบัติตน
ตัวอย่างการรักษาโรคต่อมไขมันอักเสบ
คนไข้เพศหญิง อายุ52ปี
29-09-2022
ช่วง6 เดือน ที่ผ่านมามีความเครียดจากการทำงาน บริเวณใบหน้า หลังหูทั้งสองข้างขอบไรผมด้านหน้าและขอบไรผมท้ายทอย มีผื่นแดงและขุยมันคล้ายกับตอนปี2019 (เมื่อปี2019เคยมารักษาด้วยอาการเดียวกัน) คนไข้ได้มีการใช้ยาเสตียรอยด์ทาพบว่าผื่นดีขึ้นเล็กน้อย นอกจากนี้ในช่วงระยะเดือนนี้พบว่ามีผมร่วงมากขึ้น การทานอาหารปกติ การขับถ่ายปกติ ประจำเดือนไม่มา2เดือน (มาครั้งสุดท้ายตอนเดือนกรกฎาคม) ปริมาณประจำเดือนปกติ การนอนหลับปกติ
การรักษาให้ตำรับยาที่มีสรรคุณในการเพิ่มการไหลเวียนเลือด ดับร้อนขับพิษและขับความชื้น เป็นยาจีนรับประทานเป็นระยะเวลา 9 วัน (ทานยาวันละ 2 ครั้ง) ร่วมกับยาทาสมุนไพรจีนชนิดขี้ผึ้ง
09-10-2022
หลังรับประทานยาหนึ่งสัปดาห์พบว่า บริเวณหลังหูทั้งสองข้างและไรผมบริเวณท้ายทอยผื่นแดงจางลง สะเก็ดขุยน้อยลง แต่บริเวณระหว่างคิ้วยังคงมีผื่นแดงอยู่ ไม่มีอาการคัน อีกทั้งผมร่วงน้อยลง ทานอาหารได้ปกติ ขับถ่ายวันละครั้ง
การรักษาให้ตำรับยาเดิมปรับลดน้ำหนักยา 1 สัปดาห์
16-10-2022
บริเวณท้ายทอยรอยผื่นแดงจางหาย ไม่มีอาการคัน สะเก็ดลดลง บริเวณระหว่างคิ้วยังคงมีผื่นแดงอยู่ ผมร่วงน้อยลง ทานอาหารได้ปกติ ขับถ่ายปกติ
การรักษาให้ตำรับยาเดิม 9 วัน
27-10-2022
ผื่นแดงบริเวณหนังศีรษะหลังหูทั้งสองข้างจางหาย ไม่มีอาการคัน บริเวณระหว่างคิ้วสองข้างบ่งครั้งมีผื่นแดงปรากฏ ไม่พบอาการคัน รับประทานอาหารได้ปกติ การขับถ่ายปกติ
การรักษาให้ตำรับยาเดิมโดยสัปดาห์ที่สองลดปริมาณยาเหลือทานวันละ 1 ครั้งต่ออีก 1 สัปดาห์เพื่อควบคุมอาการก่อนหยุดรับประทานยา
จบการรักษา
สรุปการรักษา เนื่องจากคนไข้มีปัจจัยกระตุ้นมาจากความเครียดทำให้เกิดอาการ ความเครียดในทางแพทย์แผนจีนจะส่งผลต่ออวัยวะตับ ประกอบกับพื้นฐานร่างกายเดิมมีภาวะร้อน
------------------------
บทความโดย
แพทย์จีน มนัญญา อนุรักษ์ธนากร (หมอจีน หวง เหม่ย ชิง)
黄美清 中医师
TCM. Dr. Mananya Anurakthanakorn (Huang Mei Qing)
แผนกอายุรกรรมภายนอก
12 พ.ย. 2567
20 ม.ค. 2568
26 ก.ย. 2567
15 พ.ย. 2567