Last updated: 2 ก.ค. 2567 | 4707 จำนวนผู้เข้าชม |
เวียนศีรษะ เป็นอาการที่พบได้บ่อยในทุกเพศและทุกวัย มักมีอาการมึนงงศีรษะ ตาลาย รู้สึกเหมือนวัตถุรอบตัวหมุนได้ ทางแพทย์แผนปัจจุบันได้แบ่งอาการเวียนศีรษะออกเป็นกลุ่มๆ ได้ดังนี้
- ภาวะเลือดไปเลี้ยงสมองไม่พอ (Vertebrobasilar Insufficiency)
- โรคหลอดเลือดสมอง (Cerebrovascular Disease)
- โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน (Meniere's Disease)
- โรคเวียนศีรษะจากการเปลี่ยนท่าทาง (BPPV)
- ภาวะเวียนศีรษะจากการเคลื่อนที่ (motion sickness) หรือเรียกง่ายๆว่า อาการเมารถ
- โรคของกระดูกต้นคอ
- ภาวะความดันโลหิตสูง (Hypertension)
- ภาวะความดันโลหิตต่ำ(hypotension)
- ภาวะโลหิตจาง (Anemia)
ในมุมมองศาสตร์แผนจีน หมอจีนเรียกอาการวิงเวียนศีรษะว่า “เสวียนอวิน (眩晕)” มีตำแหน่งของโรคอยู่ที่สมอง มีความเกี่ยวข้องกับอวัยวะตับ ม้ามและไต โดยสาเหตุของอาการวิงเวียนศีรษะมักเกิดจากความผิดปกติทางอารมณ์ โภชนาการที่ไม่เหมาะสม ชี่และเลือดพร่อง สารจิงของไตไม่เพียงพอ หรืออาจเกิดจากการได้รับบาดเจ็บบริเวณศีรษะก็เป็นได้
การรักษาจะใช้หลักการทำให้ศีรษะและดวงตาปลอดโปร่ง และระงับอาการวิงเวียน ส่วนวิธีในการรักษาก็มีหลากหลายวิธีไม่ว่าจะเป็นการฝังเข็ม การรับประทานยาจีน การนวดทุยหนาหรือการจัดกระดูก ซึ่งล้วนแต่เป็นการกระตุ้นเลือดและชี่ให้ขึ้นไปเลี้ยงสมองมากขึ้น ช่วยปรับการทำงานของระบบประสาทอัตโนมัติ กระตุ้นระบบประสาทVestibular และยังช่วยลดการเกร็งตัวของหลอดเลือดที่แก้วหูได้ด้วย
วิธีการดูแลตัวเองหากพบว่ามีอาการเวียนศีรษะ สามารถเริ่มจากการเลือกรับประทานอาหารให้เหมาะสมกับสภาพร่างกายหรือกลุ่มอาการของโรค ในบทความนี้จึงอยากแนะนำอาหารที่เหมาะสม และสามารถช่วยบรรเทาอาการเวียนศีรษะได้ดังนี้
กลุ่มอาการหยางของตับทะยานขึ้นสูง
แสดงอาการวิงเวียนศีรษะ มีเสียงในหู ปวดแน่นบริเวณศีรษะและตา มักมีอาการหงุดหงิดโมโหง่าย นอนไม่หลับ ฝันมาก หน้าและตาแดง ปากขม
ส่วนประกอบ : ดอกเก๊กฮวย ดอกฮว๋ายฮวา ชาเขียว อย่างละ 3 กรัม
ขั้นตอนการทำ : นำดอกเก๊กฮวย ดอกฮว๋ายฮวา ชาเขียวใส่ลงไปในแก้วเก็บความร้อน ชงด้วยน้ำเดือด ปิดฝาทิ้งไว้ 10 นาที สามารถชงซ้ำได้ 3-5 ครั้ง สามารถจิบได้เรื่อยๆแทนน้ำเปล่า
กลุ่มอาการเสมหะและความชื้นอุดกั้นจงเจียว
มักพบอาการเวียนศีรษะ หนักอึ้งที่ศีรษะแบบถูกบีบรัด มองเห็นของรอบตัวหมุน แน่นหน้าอก คลื่นไส้ อาเจียนเป็นเสมหะ ปากเหนียว เบื่ออาหาร
ส่วนประกอบ : ลูกเดือย 50 กรัม เมล็ดแอพพริคอท 10 กรัม
ขั้นตอนการทำ : ล้างลูกเดือยและเมล็ดแอพพริคอทให้สะอาด นำลูกเดือยใส่ลงหม้อ เติมน้ำเปล่าลงไปในปริมาณที่เหมาะสม ต้มด้วยไฟแรงจนเดือด และเปลี่ยนเป็นไฟอ่อนต้มจนกึ่งสุก หลังจากนั้นใส่เมล็ดแอพพริคอทลงไปต้มต่ออีกประมาณ 10-15 นาที เมื่อกลายเป็นโจ๊กแล้วสามารถปรุงรสด้วยน้ำตาลได้ รับประทานทั้งเช้าและเย็น
กลุ่มอาการเลือดคั่งปิดกั้นทวาร
มีอาการวิงเวียนปวดศีรษะ ตำแหน่งปวดแน่นอน ร่วมกับพบอาการหูอื้อ หูหนวก นอนไม่หลับ ใจสั่น มีอาการเหม่อลอย ใบหน้าและริมฝีปากมีสีม่วงคล้ำ
ส่วนประกอบ : โกฐหัวบัว 6-10 กรัม ไข่ไก่ 2 ฟอง
ขั้นตอนการทำ : นำไข่ไก่ที่ต้มสุกกับโกฐหัวบัวที่ล้างสะอาดแล้วใส่ลงไปในหม้อ เติมน้ำลงไปในปริมาณที่เหมาะสม ต้มด้วยไฟอ่อนประมาณ 30 นาทีจึงพร้อมรับประทาน
กลุ่มอาการชี่และเลือดพร่อง
มักแสดงอาการมึนงงศีรษะ ตาลาย เมื่อเคลื่อนไหวมากเกินหรืออ่อนเพลียอาจทำให้อาการกำเริบได้ หน้าซีดขาวหรือซูบเหลือง อ่อนเพลีย ไม่มีแรง ท้องอืด รับประทานอาหารได้น้อยลง
ส่วนประกอบ : พุทราจีน 10 ลูก ถั่วลิสง 15 กรัม ข้าวเจ้า 50 กรัม
ขั้นตอนการทำ : นำพุทราจีนและถั่วลิสงที่ล้างสะอาดแล้วใส่ลงหม้อพร้อมข้าวเจ้า ต้มด้วยไฟแรงจนเดือด แล้วเปลี่ยนเป็นไฟอ่อนต้มต่อประมาณ 30 นาที รับประทานได้ทั้งเช้าและเย็น
กลุ่มอาการสารจิงของไตพร่อง
รู้สึกวิงเวียนศีรษะเรื้อรัง การมองเห็นลดลง นอนน้อย ขี้หลงขี้ลืม กระวนกระวาย ปากแห้ง มีเสียงในหู อ่อนเพลีย ไม่มีแรง ปวดเมื่อยและอ่อนแรงบริเวณเอวและเข่า
ส่วนประกอบ : เซี่ยงจี๊2ก้อน ผักชีล้อม หอมแดงสับละเอียด ขิงแผ่นกระเทียมกลีบ เหล้าสำหรับทำอาหาร ในปริมาณที่เหมาะสม
ขั้นตอนการทำ : นำผักชีล้อมและเกลือผสมให้เข้ากันยัดเข้าไปในเซี่ยงจี๊ แล้วปิดให้เรียบร้อย จากนั้นนำใส่หม้อดิน เติมน้ำ หอมแดงสับละเอียด ขิงแผ่น เหล้าสำหรับทำอาหารและกระเทียมกลีบลงไปตุ๋นด้วยไฟปานกลางจนเซี่ยงจี๊สุก สามารถเติมผงชูรสเพิ่มรสชาติได้
ในส่วนวิธีการป้องกันอาการเวียนศีรษะก็สามารถทำได้ง่ายๆดังนี้
1. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
2. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของคาเฟอีนและแอลกอฮอล์
3. ทำจิตใจให้ผ่อนคลาย
4. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
5. อยู่ในสภาพแวดล้อมที่อากาศถ่ายเท
หากอาการวิงเวียนศีรษะเกิดจากโรคกระดูกต้นคอควรระมัดระวังการออกกำลังกายบริเวณคอและบ่า หรือหากเกิดจากความดันโลหิตสูงควรควบคุมความดันโลหิตให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสมร่วมด้วย
------------------------
บทความโดย
แพทย์จีน พิมพิชญ์ มุจลินทโมลี (หมอจีน เจี่ย จิ้ง เหวิน)
贾靖雯 中医师
TCM. Dr.Pimpitch Muchalintamolee (Jia Jing Wen)
แผนกฝังเข็ม