Last updated: 2 ก.ค. 2567 | 2091 จำนวนผู้เข้าชม |
จุดเริ่มต้นศาสตร์แพทย์แผนจีน
มาจากคัมภีร์อายุสองพันกว่าปีที่มีชื่อว่าหวงตี้เน่ยจิง《黄帝内经》ซึ่งเป็นคัมภีร์พื้นฐานของศาสตร์การแพทย์แผนจีนที่ได้อธิบายถึงกลไกการทำงานของอวัยวะต่างๆของร่างกาย กลไกการเกิดโรค รวมถึงหลักการดูแลรักษาสุขภาพร่างกาย ซึ่งในคัมภีร์เล่มนี้ได้ระบุถึงกลไกการเจริญเติบโตของร่างกายในแต่ละช่วงอายุ โดยแบ่งผู้ชายและผู้หญิงด้วยตัวเลข ในส่วนของผู้ชายมีชื่อเรียกว่า “ทฤษฎีแปดแปด” และส่วนผู้หญิงมีชื่อเรียกว่า “ทฤษฎีเจ็ดเจ็ด”
ทฤษฎีเจ็ดเจ็ดว่าด้วยการเจริญพันธุ์และการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายของผู้หญิงในทุกๆ 7 ปี
โดยจะเริ่มต้นขึ้นเมื่อผู้หญิงมีอายุ 7 ปี
วัยนี้เป็นวัยที่ชี่ไตกำลังเริ่มก่อตัวขึ้น ซึ่งไตในมุมมองการแพทย์แผนจีนจะสัมพันธ์กันกับระบบสืบพันธุ์ กระดูก ฟัน รวมถึงเส้นผม จะสังเกตได้ว่าวัยนี้จะมีฟันแท้ค่อยๆงอกขึ้น มีผมงอกเพิ่มมากขึ้น
เมื่อเข้าสู่อายุ 14 ปี
เป็นช่วงอายุที่ชี่ไตที่เพิ่มจำนวนมากขึ้น ก่อเกิดเป็นเทียนเกฺว่ย ส่งผลให้ผู้หญิงมีประจำเดือนและสามารถตั้งครรภ์ได้ (เทียนเกฺว่ย คือ สารจิง(สารจำเป็น)ที่เกิดขึ้นหลังจากชี่ไตมีความสมบูรณ์เพียงพอ มีหน้าที่กระตุ้นพัฒนาการการเจริญเติบโตของร่างกายและระบบสืบพันธุ์ อีกทั้งยังเป็นปัจจัยหลักให้ผู้หญิงมีประเดือนหรือหมดประจำเดือน)
พออายุ 21 ปี
ชี่ไตมีระดับสมบูรณ์ คงที่ ส่งผลให้ฟันแท้ครบสมบูรณ์ เส้นผมดกหนา เงางาม
เมื่ออายุ 28 ปี
วัยนี้จะมีกระดูก เส้นเอ็น ไขข้อที่แข็งแรง เป็นช่วงที่ร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ ในมุมมองของการแพทย์แผนจีน ช่วงวัย 21 – 28 ปีเป็นวัยที่เหมาะสำหรับการมีบุตร
อายุ 35 ปี
เส้นหยางหมิงจะเริ่มพร่อง (เส้นหยางหมิงเป็นเส้นลมปราณกระเพาะที่อุดมไปด้วยชี่และเลือด เดินผาดผ่านบริเวณใบหน้า) ส่งผลให้ในช่วงอายุนี้จะเริ่มมีใบหน้าหย่อนคล้อย เส้นผมจะค่อยๆร่วงมากขึ้น
อายุ 42 ปี
เส้นลมปราณหยาง 3 เส้นที่ผาดผ่านบริเวณใบหน้า นั่นก็คือไท่หยาง หยางหมิง และเซ่าหยางพร่องลง ส่งผลให้ใบหน้าหย่อนคล้อย มีริ้วรอย ฝ้า กระต่างๆเกิดขึ้น รวมถึงมีผมงอกเพิ่มมากขึ้น
และเมื่ออายุ 49 ปี
เป็นช่วงอายุที่เที่ยนเกฺว่ยลดน้อยลง ชี่ไตอ่อนแอ ส่งผลให้ผู้หญิงเข้าสู่วัยหมดประจำเดือน
วิธีการตรวจวินิจฉัยโรคด้วยศาสตร์การแพทย์แผนจีน
ในการตรวจวินิจฉัยโรคตามศาสตร์การแพทย์แผนจีนประกอบด้วย 4 ทักษะคือ ทักษะการมอง ทักษะการฟังหรือการรับกลิ่น ทักษะการถาม และทักษะการสัมผัสหรือจับชีพจร
1.ทักษะการมอง
- สีหน้า หากสีหน้ามีสีขาวซีด บ่งบอกถึงภาวะเลือดน้อยหรือสูญเสียเลือดมาก เช่น ประจำเดือนมามาก ประจำเดือนกะปริดกะปรอยไม่หยุด หรือเลือดออกหลังคลอด เป็นต้น หรือหากมีสีหน้าเหลืองซีด จะบ่งบอกถึงภาวะม้ามพร่อง มีผลให้ประจำเดือนมาช้า ประจำเดือนมาน้อย ตกขาว เป็นต้น
- รูปร่าง การสังเกตรูปร่างเพื่อตรวจดูพัฒนาการการเจริญเติบโตของร่างกาย เช่น เมื่ออายุ 14 ปี ผู้หญิงเริ่มมีประจำเดือน มีหน้าอก สะโพกผายตัวขึ้น โดยหากมีประจำเดือนปกติ แต่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงในด้านสรีระร่างกาย จะบ่งบอกถึงภาวะไตพร่อง หรือหากประจำเดือนไม่มา ประจำเดือนมาไม่ปกติ อีกทั้งมีรูปร่างท้วม ขนดก หน้ามัน จะบ่งบอกถึงภาวะม้ามพร่องความชื้นอุดกลั้น ซึ่งพบได้ในภาวะโรคถุงน้ำหลายใบในรังไข่(PCOS)
- ลิ้น ลิ้นซีด บ่งบอกถึงภาวะชี่และเลือดพร่อง พบได้ในผู้หญิงที่ประจำเดือนมามาก ประจำเดือนมาช้า ลิ้นแดงเข้ม บ่งบอกถึงภาวะเลือดร้อน พบได้ในผู้หญิงที่ประจำเดือนมาเร็ว ประจำเดือนกะปริดกะปรอยไม่หยุด ส่วนลิ้นม่วงคล้ำ บ่งบอกถึงภาวะเลือดคั่ง พบได้ในผู้หญิงที่มีอาการปวดท้องประจำเดือน
2.ทักษะการฟังและการรับกลิ่น
- เสียงพูด หากมีเสียงพูดที่เบาไม่มีแรง จะแสดงถึงภาวะชี่พร่อง หากมีเสียงพูดดังกังวาน จะแสดงถึงภาวะแกร่ง หรือการมีเสียงถอนหายใจบ่อยๆ บ่งบอกได้ถึงชี่ตับติดขัด
- การรับกลิ่น หากประจำเดือน ตกขาว หรือน้ำคาวปลามีกลิ่น จะบ่งบอกถึงความร้อนและความชื้นที่ติดขัดภายใน หรือในผู้หญิงตั้งครรภ์ที่มีอาการแพ้ท้อง คลื่นไส้ อาเจียน กลิ่นปากคล้ายแอปเปิลเปื่อย บ่งบอกถึงภาวะชี่และอินพร่อง
3.ทักษะการถาม
เช่น ถามอาการเจ็บป่วยปัจจุบัน อาการเจ็บป่วยในอดีต ประจำเดือน(รอบประจำเดือน ปริมาณ สี ลักษณะ อาการร่วมอื่นๆทั้งก่อน-หลัง หรือในระหว่างการมีประจำเดือน เป็นต้น) ประวัติการตั้งครรภ์และคลอดบุตร ประวัติครอบครัว ประวัติแพ้ยาหรืออาหาร นอกจากนี้ยังมีการถามเรื่องความร้อน-เย็น การนอนหลับ การขับถ่าย เหงื่อ ความกระหายน้ำ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบในการวินิจฉัยตามหลักอินหยาง
4.ทักษะการสัมผัสหรือจับชีพจร
- การสัมผัส เช่น การสัมผัสฝ่ามือฝ่าเท้า หากฝ่ามือฝ่าเท้าร้อน จะบ่งบอกถึงภาวะอินพร่องภายในร้อน หรือการกดบนแขนขาที่มีอาการบวม หากกดแล้วรอยกดยุบคืนตัวช้า จะแสดงถึงภาวะบวมน้ำ แต่หากกดแล้วรอยกดคืนตัวเร็ว จะแสดงถึงภาวะบวมชี่
- การจับชีพจร การสัมผัสชีพจรบริเวณข้อมือซ้ายและขวาของผู้ป่วยบนในตำแหน่งชุ่น(寸)กวน(关)ฉือ(尺) ซึ่งชีพจรด้านซ้ายมือ ตำแหน่งชุ่น สะท้อนถึงการทำงานของหัวใจ ตำแหน่งกวน สะท้อนการทำงานของตับ ตำแหน่งฉือ สะท้อนการทำงานของไตอิน ส่วนชีพจรด้านขวามือตำแหน่งชุ่น สะท้อนถึงการทำงานของปอด ตำแหน่งกวน สะท้อนการทำงานของม้าม ตำแหน่งฉือ สะท้อนการทำงานของไตหยาง โดยสังเกตจากความตื้น-ลึก อัตราการเต้นช้า-เร็ว ความแข็งแรง และจังหวะการเต้นของชีพจรเป็นต้น ซึ่งในการแพทย์แผนจีนมีระบุไว้ทั้งหมด 28 ชีพจร
การรักษาโรคทางนรีเวชด้วยศาสตร์การแพทย์แผนจีน
ศาสตร์นรีเวชในการแพทย์แผนจีนได้จัดแบ่งโรคทางนรีเวชออกเป็น 5 หมวดหมู่ ได้แก่ จิง(经) ไต้(带) ไท(胎)ฉ่าน(产)โรคทั่วไป(杂病)หรือก็คือ 1.ประจำเดือน 2.ตกขาว 3.การตั้งครรภ์ 4.การคลอด 5.โรคทั่วไป
1. การรักษาประจำเดือนที่ผิดปกติ ได้แก่ ปริมาณประจำเดือนผิดปกติ รอบเดือนผิดปกติ ประจำเดือนไม่มา ปวดศีรษะช่วงมีประจำเดือน ปวดท้องประจำเดือน เป็นต้น
ตัวอย่างการรักษาอาการปวดท้องประจำเดือน
สาเหตุการเกิด
1.ภาวะติดขัด เช่น ชี่ติดขัดเลือดคั่ง ความเย็นอุดกลั้นเลือดคั่ง เป็นต้น
2.ภาวะพร่อง เช่น ชี่และเลือดพร่อง ชี่ไตพร่อง เป็นต้น
วิธีการรักษา
1.ภาวะติดขัด หากชี่ติดขัดเลือดคั่ง เน้นการระบายชี่สลายเลือดคั่ง หากความเย็นอุดกลั้นเลือดคั่ง เน้นการอบอุ่นเส้นลมปราณ สลายเลือดคั่ง
2.ภาวะพร่อง หากชี่และเลือดพร่อง เน้นการบำรุงเลือดและชี่ หากชี่ไตพร่อง เน้นการบำรุงไต บรรเทาอาการปวดท้องประจำเดือน
เพราะฉะนั้นวิธีการรักษาอาการปวดท้องประจำเดือนจะแตกต่างกันตามสาเหตุของการเกิดโรคที่ต่างกัน
อธิบายเพิ่มเติม
อาการคัดตึงหน้าอก รวมถึงมีอารมณ์ฉุนเฉียว หงุดหงิดง่ายช่วงมีประจำเดือน เกิดขึ้นเนื่องจากชี่ตับติดขัด ซึ่งอวัยวะตับในทางการแพทย์แผนจีนมีหน้าที่ควบคุมเรื่องของอารมณ์ อีกทั้งเส้นลมปราณตับมีการเดินผาดผ่านบริเวณหน้าอก จึงส่งผลให้ผู้หญิงมีอารมณ์หงุดหงิดง่าย และคัดตึงหน้าอกในช่วงมีประจำเดือน
2. การรักษาตกขาวผิดปกติ ได้แก่ ตกขาวมากผิดปกติ ตกขาวน้อยผิดปกติ สีที่ผิดปกติ กลิ่นผิดปกติ เป็นต้น
ตกขาวปกติ จะมีลักษณะคล้ายไข่ขาว คือ ขาวใส ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น ไม่มีอาการคันบริเวณอวัยวะเพศ ส่วนปริมาณขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล โดยหากตกขาวมีปริมาณมากผิดปกติ ในทางแพทย์แผนจีนจะเน้นการบำรุงม้าม ขับไล่ความชื้น เนื่องด้วยความชื้นเป็นสาเหตุหลักของการเกิดโรค และหากม้ามพร่องจะส่งผลให้เกิดความชื้นในร่างกายขึ้น
3. การรักษาอาการที่เกิดขึ้นในระหว่างตั้งครรภ์และบำรุงครรภ์ เช่น แท้งบุตรง่าย คลื่นไส้อาเจียน ปวดท้อง ปัสสาวะติดขัดภาวะเลือดจาง เป็นต้น
การบำรุงครรภ์
ตำรับที่ช่วยการบำรุงครรภ์ คือ จับซาไท้เป้า ประกอบไปด้วยสมุนไพร 13 ชนิด มีสรรพคุณช่วยบำรุงเลือดและชี่ให้ไหลเวียนดี ซึ่งจะช่วยบำรุงทั้งแม่และทารกในครรภ์ให้แข็งแรง รวมถึงช่วยให้คลอดบุตรได้ง่าย
4. การรักษาโรคเกิดที่ขึ้นหลังคลอดและการบำรุงหลังคลอด เช่น ปวดท้อง เวียนศีรษะ น้ำนมน้อย ปัสสาวะติดขัด ซึมเศร้าหลังคลอด เป็นต้น
การบำรุงหลังคลอด
ตำรับยาที่ใช้บำรุงหลังคลอด คือ แซฮ่วยทึง มีสรรพคุณช่วยขับน้ำคาวปลา บำรุงเลือด บำรุงมดลูก ทำให้มดลูกเข้าอู่
5.โรคทั่วไปที่ซับซ้อน เช่น ภาวะมีบุตรยาก เนื้องอกในมดลูก ช็อกโกแลตซีสต์ อุ้งเชิงกรานอักเสบ เป็นต้น
เนื้องอกในมดลูก
สาเหตุการเกิด เช่น ไตพร่องเลือดคั่ง เสมหะความชื้นอุดกลั้น ความร้อนความชื้นอุดกลั้น เป็นต้น ดังนั้นในการรักษาภาวะไตพร่องเลือดคั่ง จะเน้นการบำรุงไต สลายเลือดคั่ง สลายก้อน ;ภาวะเสมหะความชื้นอุดกลั้น จะเน้นการสลายเสมหะ ขับไล่ความชื้น สลายก้อน ;ส่วนภาวะความร้อนความชื้นอุดกลั้น จะเน้นการระบายความร้อน ขับไล่ความชื้น สลายก้อน เป็นต้น
วิธีการดูแลรักษาสุขภาพ
ในศาสตร์การแพทย์แผนจีนมองว่าเลือดเป็นพื้นฐานสำคัญของผู้หญิง ดังนั้นการทานอาหาร การนอนหลับพักผ่อน การรักษาสมดุลทางอารมณ์และการออกกำลังกายเป็นส่วนสำคัญในการดูแลรักษาสุขภาพของผู้หญิง
1.เลือกทานอาหารที่มีประโยชน์ จากทฤษฎีเจ็ดเจ็ด เมื่อผู้หญิงเข้าสู่อายุ 35 ปี เส้นหยางหมิง(เส้นลมปราณกระเพาะอาหาร)เริ่มพร่องลง ทำให้กระบวนการดูดซึมอาหารด้อยลง การผลิตเลือดอาจจะน้อยลงหรือคุณภาพด้อยลง ดังนั้นจึงควรทานอาหารที่มีประโยชน์ อาหารแนะนำสำหรับการบำรุงเลือด เช่น ตับ เนื้อแดง นม ไข่แดง งาดำ พุทราจีน กล้วย เป็นต้น และไม่ควรทานของเย็น เพื่อหลีกเลี่ยงการทำลายการดูดซึมของกระเพาะอาหารและม้าม
2.นอนหลับให้เพียงพอและไม่นอนดึก เนื่องด้วยตับมีหน้าที่กักเก็บเลือดและสัมพันธ์กับถุงน้ำดี โดยช่วงเวลา23.00-01.00 น.เป็นช่วงเวลาของถุงน้ำดี ส่วน01.00-03.00น.เป็นช่วงเวลาของตับ ดังนั้นเพื่อให้ตับและถุงน้ำดีทำงานได้ดี จึงแนะนำให้เข้านอนก่อนเวลา 23.00 น. และควรนอนหลับให้เพียงพออย่างน้อยเป็นเวลา 7 ชั่วโมง
3.รักษาอารมณ์ให้แจ่มใส ศาสตร์การแพทย์แผนจีนมองว่าอารมณ์กับอวัยวะภายในมีความสัมพันธ์กัน และอารมณ์ก็เป็นตัวการหนึ่งในการก่อโรค เช่น อารมณ์โกรธ มีผลกระทบต่อตับ ทำให้ชี่ตับติดขัด ส่งผลให้ปวดศีรษะ ปวดประจำเดือน ;ความกลัว มีผลกระทบต่อไต ทำให้ปัสสาวะบ่อย หรือถ่ายบ่อย ;ส่วนความเศร้า ผลกระทบต่อปอด ทำให้หายใจติดขัด แน่นหน้าอก ไอ เป็นต้น
4.ออกกำลังกาย การออกกำลังมีส่วนช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดและชี่ กระตุ้นการทำงานของอวัยวะภายใน อีกทั้งยังส่งเสริมความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อ เอ็น กระดูก สำหรับผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนแนะนำการออกกำลังที่ไม่หนักจนเกินไป เช่น รำมวยจีน ไทเก็ก วิ่งเหยาะๆ ว่ายน้ำ การเต้นรำ โยคะ เป็นต้น
25 ต.ค. 2567
11 พ.ย. 2567
11 พ.ย. 2567