Last updated: 27 ส.ค. 2567 | 7329 จำนวนผู้เข้าชม |
ร่างกายของคนเราจำเป็นต้องมีการขับถ่ายของเสียออกจากร่างกายอยู่เสมอ เช่น การขับเหงื่อ การปัสสาวะ รวมถึงการอุจจาระ ก็ถือเป็นกระบวนการขับของเสียประเภทหนึ่งที่จำเป็นจะต้องทำอย่างสม่ำเสมอให้เป็นกิจวัตร เพื่อช่วยให้ระบบการทำงานต่าง ๆ ในร่างกายเกิดความสมดุลและสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และแม้ว่าพฤติกรรมและความถี่ในการขับถ่ายของแต่ละคนจะแตกต่างกัน แต่ในทางการแพทย์หากขับถ่ายอุจจาระน้อยกว่า 3 ครั้งในหนึ่งสัปดาห์ อาจสันนิษฐานได้ว่าการขับถ่ายมีความผิดปกติ เนื่องจากการไม่ขับถ่ายหลายวันจะทำให้อุจจาระตกค้างอยู่ในลำไส้เป็นเวลานาน และมักจะเป็นก้อนแข็ง ส่งผลให้ขับถ่ายไม่สะดวกและเกิดอาการท้องผูกในที่สุด ซึ่งอาการท้องผูกหากปล่อยไว้จนเรื้อรังก็อาจจะพัฒนาไปเป็นโรคอื่น ๆ ได้ ดังนั้นหากมีอาการท้องผูกจึงไม่ควรปล่อยปะละเลย และควรได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี
สัญญาณของอาการท้องผูก
- ขับถ่ายอุจจาระน้อยกว่า 3 ครั้งต่อสัปดาห์หรือน้อยกว่าปกติ
- อุจจาระมีลักษณะเป็นก้อนแข็ง เป็นเม็ดเล็ก ๆ และมีปริมาณน้อย
- ขับถ่ายอุจาระไม่สะดวก ต้องใช้แรงเบ่งมากหรือใช้มือช่วย และอาจมีอาการเจ็บขณะขับถ่ายร่วมด้วย
- ขับถ่ายอุจาระได้ไม่สุด
- มีอาการท้องอืด ปวดท้อง หรือปวดเกร็งบริเวณหน้าท้อง
สาเหตุของอาการท้องผูก
อาการท้องผูก เป็นอาการที่เกิดขึ้นได้บ่อยครั้ง โดยปกติมักจะเกิดเมื่อลำไส้มีการบีบตัวหรือเคลื่อนตัวช้าในระหว่างการย่อยอาหาร ทำให้ไม่สามารถกำจัดอุจจาระออกจากระบบทางเดินอาหารได้ตามปกติ ส่งผลให้ของเสียเกิดการตกค้างในลำไส้ใหญ่เป็นเวลานานจนมีการดูดน้ำในอุจจาระกลับ ทำให้อุจจาระมีลักษณะแห้ง เป็นก้อนแข็ง มีขนาดใหญ่ขึ้น และทำให้ขับถ่ายไม่สะดวก ซึ่งปัจจัยที่ทำให้เกิดอาการท้องผูกอาจมาจากหลายสาเหตุ เช่น การใช้ยา สภาวะทางร่างกายที่ส่งผลต่อฮอร์โมน โรคเกี่ยวกับกล้ามเนื้อ การอุดตันภายในลำไส้ เป็นต้น
อาการท้องผูกในศาสตร์การแพทย์แผนจีน
กลไกการเกิดโรค
อาการท้องผูกในศาสตร์การแพทย์แผนจีน เป็นอาการที่มีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับความผิดปกติของการทํางานของม้าม กระเพาะอาหารและลําไส้ใหญ่ ซึ่งกลไกการเกิดโรคสามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มอาการ คือกลุ่มอาการพร่องและกลุ่มอาการแกร่ง
กลุ่มอาการพร่อง ส่วนใหญ่เกิดจากอายุมากและร่างกายอ่อนแอ ทำให้หยางของอวัยวะภายในพร่อง ความเย็นอุดกั้นกระเพาะอาหารและลำไส้ ความเย็นสะสมอุดกั้นภายใน ของเหลวอุดกั้นทำให้ความเย็นสะสมในทางเดินลำไส้ จงชี่พร่อง รวมทั้งภาวะหยินและเลือดพร่อง
กลุ่มอาการแกร่ง มักเกิดจากชี่กระเพาะอาหารและลำไส้ร้อนคั่ง และชี่ตับติดขัด
การวินิจฉัยโรค
หากอุจจาระของผู้ป่วยมีลักษณะเป็นก้อนแห้งและแข็ง ทำให้ขับถ่ายไม่สะดวก ร่วมกับมีอาการท้องอืด คอแห้ง มีกลิ่นปาก ลิ้นแดงเป็นฝ้าเหลือง รวมทั้งชีพจรลื่นเร็ว (HuaShu) อาการดังกล่าวเป็นลักษณะของความร้อนสะสมในลำไส้ใหญ่ และหากผู้ป่วยมีอาการไม่เจริญอาหาร หน้าขาวซีด ขับถ่ายไม่สะดวก ลิ้นซีดเป็นฝ้าขาว รวมทั้งชีพจรเล็กพร่อง (XiXu) อาการดังกล่าวเป็นลักษณะชี่พร่องของร่างกายอ่อนแอ
แนวทางการรักษาด้วยวิธีการฝังเข็ม
หลักการรักษา
รักษาด้วยการฝังเข็มเพื่อปรับสมดุลลำไส้และกระเพาะอาหาร เพื่อให้การขับเคลื่อนระบายอุจจาระเป็นไปได้สะดวก
จุดฝังเข็มหลัก:
จุดฝังเข็ม | ตำแหน่งของจุด |
จุดจือโกว (ZhiGou) | อยู่บริเวณแขนด้านนอก เหนือแนวเส้นข้อมือ 3 ชุ่น กึ่งกลางระหว่างกระดูก ulna กับ radius |
จุดเฟิงหลง (FengLong) | อยู่ที่หน้าแข้งเหนือตาตุ่มนอกขึ้นมา 8 ชุ่น ห่างจากขอบกระดูก Tibia ทางด้านนอก 2 ชุ่น |
จุดจงหว่าน (ZhongWan) | อยู่ที่แนวกึ่งกลางลำตัว อยู่เหนือจากสะดือ 4 ชุ่น |
จุดฟู่เจี๋ย (FuJie) | อยู่บริเวณท้องน้อย ใต้สะดือ 1.3 ชุ่น และห่างจากแนวกึ่งกลางลำตัวตามแนวระนาบ 4 ชุ่น |
จุดสุ่ยเต้า (ShuiDao) | อยู่บริเวณท้องน้อย อยู่ใต้สะดือ 3 ชุ่น และห่างจากแนวกึ่งกลางลำตัวตามแนวระนาบ 2 ชุ่น |
จุดกุยไหล (GuiLai) | อยู่บริเวณท้องน้อย อยู่ใต้สะดือ 4 ชุ่น และห่างจากแนวกึ่งกลางลำตัวตามแนวระนาบ 2 ชุ่น |
จุดฝังเข็มประกอบ :
อาการ | จุดฝังเข็มประกอบ | ตำแหน่งของจุด |
ความร้อนสะสมในลำไส้ใหญ่ | เพิ่มจุดเน่ยถิง (NeiTing) | อยู่ระหว่างง่ามนิ้วเท้าที่ 2 กับ 3 ตรงรอยต่อสีผิว เป็นจุดอินของเส้นกระเพาะอาหาร |
ชี่พร่อง | เพิ่มจุดชี่ไห่ (QiHai) | อยู่บริเวณท้องน้อย บนแนวกึ่งกลางลำตัว อยู่ใต้สะดือ 1.5 ชุ่น เป็นจุดสำคัญในการบำรุงสุขภาพ |
ความหมายของตำรับการเลือกใช้จุด :
จุดฝังเข็ม | ความหมายของการเลือกใช้จุดฝังเข็ม |
จุดจือโกว(ZhiGou) | ทำให้ชี่ของซานเจียวเดินได้คล่อง เมื่อชี่ของซานเจียวเดินคล่อง ก็จะส่งผลให้ชี่ของลำไส้เดินได้คล่องเช่นกัน |
จุดเฟิงหลง(FengLong) | ช่วยในการขยายลำไส้และขับชี่ |
จุดจงหว่าน(ZhongWan) | เป็นอวัยวะหน้า (Front-Mu) ของกระเพาะอาหาร และเป็นจุดอิทธิพลของอวัยวะกลวง เชื่อมจุดบนเส้นลมปราณมือไท่หยาง มือเส้าหยาง และเท้าหยางหมิง หากชี่ของอวัยวะกลวงเดินคล่องก็จะทำให้การขับอุจจาระกลับมาทำงานเป็นปกติ |
จุดฟู่เจี๋ย (FuJie) จุดสุ่ยเต้า (ShuiDao) และจุดกุยไหล (GuiLai) | เป็นจุดใกล้ลำไส้ใหญ่ ทำหน้าที่กระตุ้นการบีบตัวของลำไส้ ขับสิ่งอุดตัน |
หมายเหตุ : ตำรับการเลือกใช้จุดดังกล่าวนี้ สามารถใช้ได้ทั้งจุดใกล้และจุด จึงถือเป็นตำรับที่ได้ผลดีเป็นอย่างยิ่ง
การกระตุ้นเข็ม
กระตุ้นเข็มที่จุดหลัก ปักตรง 1.0-1.5 ชั้นถีชาเหนียนจ่วนระบาย 1 นาที คาเข็มทิ้งไว้ 30 นาที ส่วนของจุดบนหน้าท้องกระตุ้นแบบระบายตามลมหายใจ 1 นาที จุดเน่ยถิงกระตุ้นแบบระบาย และจุดชี่ไห่กระตุ้นแบบบำรุงตามลมหายใจ
ตัวอย่างกรณีการฝังเข็ม เพื่อรักษาอาการท้องผูก
ข้อมูลผู้ป่วย
ชื่อ : นาง สมXXX
เพศ : หญิง อายุ : 50 ปี
อาการสำคัญ : ผู้ป่วยมีอาการขับถ่ายไม่สะดวก เป็นระยะเวลาติดต่อกันประมาณ 4 เดือน
อาการปัจจุบัน : ผู้ป่วยเริ่มมีอาการท้องผูก ประมาณ 4 เดือนก่อนที่จะเข้ารับการรักษา โดยขับถ่ายเพียง 2 ครั้งต่อสัปดาห์ เนื่องจากขับถ่ายไม่สะดวก เพราะอุจจาระมีลักษณะเป็นก้อนแห้งและแข็ง จึงต้องใช้แรงเบ่งมากกว่าปกติ ทำให้ผู้ป่วยต้องรับประทานยาระบายเป็นประจำ และประมาณ 2 สัปดาห์ก่อนเข้ารับการรักษา ผู้ป่วยมีอาการท้องผูกมากยิ่งขึ้น คือ ขับถ่ายเพียง 1 ครั้งต่อสัปดาห์เท่านั้น และอุจจาระมีลักษณะเป็นก้อนแข็ง เป็นเม็ดเล็ก ๆ และขับถ่ายได้ในปริมาณน้อย นอกจากนั้นยังพบว่าผู้ป่วยดื่มน้ำน้อยในระหว่างวัน แต่ทานอาหารได้ปกติ และนอนหลับได้ปกติ เมื่อทำการตรวจลิ้นพบว่า ลิ้นแดงมีฝ้าเหลือง และชีพจรลื่นและเร็ว (HuaShu)
การวินิจฉัย : ผู้ป่วยมีอาการท้องผูก
กลุ่มอาการ : ชี่กระเพาะอาหารร้อนคั่ง
หลักการรักษา : ทำการปรับสมดุลลำไส้และกระเพาะอาหาร ขับเคลื่อนชี่ และระบายอุจจาระ
วิธีการรักษา : ฝังเข็ม สัปดาห์ละ 2 ครั้ง
จุดฝังเข็มหลัก : จุดจือโกว(ZhiGou) จุดเฟิงหลง(FengLong) จุดจงหว่าน(ZhongWan) จุดฟู่เจี๋ย(FuJie)
จุดสุ่ยเต้า(ShuiDao) และจุดกุยไหล(GuiLai)
จุดฝังเข็มประกอบ : จุดเน่ยถิง(NeiTing)
ผลการรักษา : หลังจากได้รับการรักษาตั้งแต่ครั้งแรก ในช่วงประมาณ 3 วัน ผู้ป่วยเริ่มขับถ่ายได้สะดวกมากขึ้น และในช่วงประมาณ 7 วัน ลักษณะของอุจจาระมีแนวโน้มที่ดีขึ้นในลักษณะปกติ คือ ไม่เป็นก้อนแห้งและไม่แข็ง ทำให้ผู้ป่วยสามารถขับถ่ายได้สะดวกขึ้น โดยไม่ต้องใช้แรงเบ่งมาก จนกระทั่งประมาณ 14 วันหลังจากได้รับการรักษา ผู้ป่วยสามารถขับถ่ายได้เป็นปกติและสม่ำเสมอ
บทสรุปและคำแนะนำ
อาการท้องผูก เป็นอาการที่พบได้บ่อยจนบางคนอาจคิดว่าเป็นเรื่องปกติ ซึ่งในความเป็นจริงแล้วหากปล่อยให้เกิดอาการท้องผูกเป็นเวลานาน ก็อาจจะก่อให้เกิดผลเสียต่อร่างกายได้หลายอย่าง ทั้งผลเสียต่อร่างกาย รวมถึงผลกระทบต่อการใช้ชีวิต อีกทั้งอาจพัฒนาไปเป็นโรคอื่น ๆ ได้ ดังนั้นจึงควรสังเกตและตรวจสอบการขับถ่ายของอย่างสม่ำเสมอ หากพบว่าการขับถ่ายของตนเองมีความผิดปกติหรือมีอาการเบื้องต้นอย่างใดอย่างหนึ่ง ควรปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเอง ด้วยการทานอาหารที่มีกากใยสูง โดยเฉพาะผักและผลไม้ ควรดื่มน้ำในปริมาณที่เหมาะสม เพื่อให้ร่างกายได้รับน้ำอย่างเพียงพอและป้องกันการเกิดภาวะขาดน้ำ และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอประมาณ 30 นาทีต่อวันหรือพยายามเคลื่อนไหวร่างกายในชีวิตประจำวันบ่อย ๆ เนื่องจากเป็นการช่วยบริหารกล้ามเนื้อให้ทำงานได้ดีมากยิ่งขึ้น ที่สำคัญจำเป็นจะต้องสร้างกิจวัตรการขับถ่ายให้เป็นเวลาอย่างสม่ำเสมอ แต่อย่างไรก็ตาม หากพบว่าตนเองมีอาการท้องผูกมากขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อร่างกายและการใช้ชีวิต ควรพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยและกำหนดวิธีการรักษาที่ถูกต้องต่อไป ซึ่งแนวทางการรักษาที่เห็นผลได้ชัดเจนแนวทางหนึ่ง คือ การรักษาโดยวิธีการฝังเข็ม เนื่องจากการฝังเข็มจะช่วยในการปรับสมดุลลำไส้และกระเพาะอาหาร เพื่อให้การขับเคลื่อนระบายอุจจาระเป็นไปได้สะดวกมากยิ่งขึ้น
------------------------
บทความโดย แพทย์จีนริฟฮาน ยูโซะ
TCM. Dr. Rifhan Yusoh(罗如珊 中医师)
ข้อมูลอ้างอิง
- 吴绪平 张淑蓉 金来星 主编. 现代针灸治疗大成. 北京:中国医药科技出版社,2012 年
- เหยียนลี่, การใช้จุดฝังเข็มรักษาทางคลินิก, กรุงเทพมหานคร, สำนักพิมพ์พุ่มทอง 2557,พิมพ์ครั้งที่ 2, 132หน้า, ISBN 978-616-361-140-6
- https://www.huachiewtcm.com/content/8338/ท้องผูก
- https://www.bumrungrad.com/th/health-blog/may-2019/constipation-treatment
- http://medicine.swu.ac.th/msmc/?p=2321
6 ธ.ค. 2567
9 ธ.ค. 2567
6 ธ.ค. 2567