Last updated: 27 ส.ค. 2567 | 7456 จำนวนผู้เข้าชม |
อาการปวดบริเวณข้อต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น ข้อมือ ข้อเท้า ข้อไหล่ หรือข้ออื่น ๆ ในร่างกายที่เกิดขึ้น คุณเคยสงสัยไหมว่า เป็นเพียงอาการปวดเมื่อยทั่ว ๆ ไป หรือเป็นการปวดจากการอักเสบเรื้อรังของเยื้อหุ้มข้อหรือที่เรียกว่า “โรครูมาตอยด์”
โรครูมาตอยด์ เป็นโรคประเภทหนึ่งในกลุ่มโรคแพ้ภูมิตัวเอง (Autoimmune) ที่มีลักษณะอาการอักเสบของอวัยวะต่าง ๆ ทั่วร่างกาย ซึ่งมักจะมีอาการเด่นที่ข้อต่อต่าง ๆ ได้เกือบทุกข้อของร่างกาย โดยลักษณะของการอักเสบจะเป็นการอักเสบอย่างรุนแรงและเรื้อรัง หากผู้ป่วยไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง อาจก่อให้เกิดการทำลายข้อต่ออย่างรวดเร็วภายในระยะเวลา 6 เดือนหลังจากเกิดอาการได้ ซึ่งมีความเสี่ยงที่อาจเกิดความพิการได้ในอนาคต
การรักษาโรครูมาตอยด์จะได้ผลดีและมีประสิทธิภาพอย่างชัดเจน ก็ต่อเมื่อได้รับการรักษาในระยะเริ่มต้นของโรคและได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม ซึ่งการรักษาโดยแพทย์แผนปัจจุบันมักให้ยาต้านการอักเสบ (Nonsteroidal antirheumatic drugs - NSAIDs) เพื่อลดอาการเจ็บปวดบริเวณข้อที่อักเสบ และให้ยาชะลอการกำเริบของโรค (Slow acting antirheumatic drugs) รวมทั้งอาจให้สเตียรอยด์และสารชีวภาพ (Biologic Agent) เพื่อควบคุมการกำเริบของโรคที่มากขึ้น โดยแพทย์จะต้องระวังผลข้างเคียงของยา อีกทั้งยากลุ่มชีวภาพมักจะมีราคาที่ค่อนข้างสูง อย่างไรก็ตาม การรักษาแบบผสมผสานระหว่างแพทย์แผนปัจจุบัน ประกอบกับการรักษาโดยวิธีการฝังเข็มตามแพทย์แผนจีน ก็เป็นทางเลือกหนึ่งที่ส่งผลให้การรักษาโรครูมาตอยด์ได้ผลดีและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
อาการของโรค
- มักพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย อัตราส่วน 8:1 ซึ่งพบได้ตั้งแต่ช่วงวัยรุ่น จนถึงวัยสูงอายุ
- มีอาการปวดข้อ และข้ออักเสบเรื้อรัง ต่อเนื่องนานเกิน 6 สัปดาห์ โดยเฉพาะบริเวณข้อนิ้วมือและข้อมือ ในกรณีที่มีอาการรุนแรง อาจมีอาการข้ออักเสบได้ทุกข้อทั่วร่างกาย รวมทั้งข้อไหล่ ข้อศอก ข้อสะโพก ข้อเข่า ข้อเท้า และข้อนิ้วเท้า
- บริเวณข้อที่อักเสบ หากกดแล้วจะรู้สึกเจ็บ โดยมีอาการร่วมกับการบวม แดงและอุ่น เมื่อขยับหรือใช้งานจะรู้สึกปวดมากยิ่งขึ้น
- อาจมีปุ่มรูมาตอยด์เกิดขึ้น ลักษณะเป็นปุ่มเนื้อนิ่ม ๆ ที่มักเกิดบริเวณที่มีการเสียดสีบ่อย ๆ เช่น ข้อศอก ข้อนิ้วมือ กระดูกสันหลัง เป็นต้น
- อาการข้อฝืด ตึง แข็ง ขยับได้ไม่สะดวก อาจเกิดขึ้นหลังจากที่ร่างกายไม่ได้เคลื่อนไหวเป็นระยะเวลานาน เช่น ตอนตื่นนอนในตอนเช้า หรือเมื่อนั่งเป็นเวลานาน ๆ อาจจะมีอาการอยู่ 1 – 2 ชั่วโมงหรืออาจจะทั้งวัน
- สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง อาจมีไข้ต่ำ ๆ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร และน้ำหนักลดร่วมด้วย
โรครูมาตอยด์ในศาสตร์การแพทย์แผนจีน
สาเหตุและกลไกการเกิดโรค
ปัจจัยที่เป็นสาเหตุของการเกิดโรครูมาตอยด์ในศาสตร์การแพทย์แผนจีน ประกอบด้วยหลายปัจจัย ได้แก่
1. ปัจจัยภายในร่างกายของผู้ป่วยอ่อนแอ กล่าวคือ ภูมิคุ้มกันบกพร่อง เจิ้งชี่พร่อง ทำให้เกิดความพร่องของตับและไต และทำให้สารจิงและเลือดไม่พอ ซึ่งโดยปกติระบบเส้นเอ็นและกระดูกจะได้รับการหล่อเลี้ยงจากเลือดและหยางชี่ของตับและไต ดังนั้นเมื่อการทำงานของตับบกพร่องจึงส่งผลต่อเส้นเอ็น และเมื่อการทำงานของไตบกพร่องจึงส่งผลต่อกระดูก
2. ปัจจัยภายนอกที่มากระทำหรือที่เรียกว่า “เสี่ยชี่” ได้แก่ ลม ความเย็น และความชื้น ทำให้เส้นลมปราณอุดกั้น การไหลเวียนของชี่และเลือดติดขัด เกิดภาวะเลือดคั่ง ความร้อนสะสมและเสมหะตกค้าง โดย “ลม” จะทำให้เกิดอาการปวดข้อต่อที่แปรเปลี่ยน “ความเย็น” จะทำให้เกิดการอุดกั้นของชี่และเลือด เป็นสาเหตุของอาการปวด และทำให้ข้อต่อและเอ็นหดรั้ง ผู้ป่วยจึงเคลื่อนไหวลำบาก และ “ความชื้น” จะทำให้เกิดอาการหนัก หนืด ติดแน่น ยึดติด เฉื่อยชา บวม และตึง หากเสียชี่เหล่านี้รุกรานอย่างต่อเนื่อง จะทำให้เกิดความร้อนอุดกั้นการไหลเวียนของลมปราณและเลือด โดยเฉพาะเส้นลมปราณและเส้นเลือดบริเวณกล้ามเนื้อและข้อต่อ และหากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง อาการต่าง ๆ ก็อาจจะกระจายไปทั่วร่างกาย นอกจากนั้นเมื่ออินดั้งเดิมพร่อง เลือดพร่อง ทำให้เกิดความร้อนภายในร่างกาย ส่งผลทำให้น้ำหล่อเลี้ยงในร่างกายแห้งและเกิดเป็นเสมหะ ซึ่งความร้อนและเสมหะจะทำให้เกิดการอุดกั้นเส้นลมปราณและเลือดที่มาหล่อเลี้ยงข้อต่อ จึงเกิดอาการ บวม ตึง อักเสบ และผิดรูปเป็นวัฏจักร ก่อให้เกิดอาการเรื้อรังของโรคได้
3. การเสียสมดุลของอารมณ์ทั้งเจ็ด เช่น อารมณ์โกรธ คิดมาก วิตกกังวล มักจะส่งผลให้การไหลเวียนของชี่ติดขัด ซึ่งโดยปกติชี่จะทำหน้าที่ให้พลังความอบอุ่นแก่ร่างกาย และเลือดจะทำหน้าที่ส่งอาหารและความชุ่มชื้นเพื่อหล่อเลี้ยงร่างกาย ดังนั้นเมื่อชี่ติดขัดจึงส่งผลต่อระบบไหลเวียนของเลือด ทำให้เกิดภาวะเลือดคั่ง และเกิดอาการปวดอย่างรุนแรงได้
4. ความเสียสมดุลของการทำงานและการพักผ่อน กล่าวคือ การทำงานหนักหรือใช้ร่างกายเกินความจำเป็น เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้หยางชี่พร่อง จึงส่งผลให้ภูมิคุ้มกันของร่างกายบกพร่องไปด้วย และทำให้เสียชี่ ได้แก่ ลม ความเย็น และความชื้น รุกรานได้ง่ายขึ้น แต่ในขณะเดียวกัน การพักผ่อนที่มากเกินความจำเป็นก็ไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง เนื่องจากทำให้หน้าที่ของม้ามและกระเพาะอาหารเกิดความผิดปกติได้ และการลำเลียงอาหารและการย่อยเปลี่ยนรูปพลังงานของอาหารเกิดความบกพร่อง ส่งผลให้การสร้างชี่และเลือดลดลง นอกจากการทำงานหนักหรือพักผ่อนมากเกินความจำเป็น ยังมีอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ร่างกายเสียสมดุล ได้แก่ ร่างกายที่ขาดการออกกำลังกาย เนื่องจากจะส่งผลให้เกิดการกีดขวางการไหลเวียนของชี่และเลือด ส่งผลต่อตับและไต รวมทั้งส่งผลต่อเส้นเอ็นและกระดูกทั่วร่างกาย ดังนั้นเมื่อเกิดการอุดกั้นของชี่ เลือดและน้ำหล่อเลี้ยงในร่างกาย ย่อมก่อให้เกิดเสมหะตกค้างได้ โดยเฉพาะการตกค้างในข้อต่อ ทำให้เกิดการอักเสบในที่สุด
หลักการรักษา
การรักษาตามศาสตร์การแพทย์แผนจีนเป็นการรักษาโดยแบ่งตามระยะของโรค ในระยะแรก ใช้หลักการขจัดเสียชี่ คือ การไล่ลมเย็น ระบายชื้น ขับร้อน และกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดและชี่ ส่วนในระยะท้าย ซึ่งมีทั้งอาการแกร่งและพร่อง ใช้หลักการรักษาโดยการบำรุงตับและไต เสริมม้าม เพิ่มการไหลเวียนของเลือด ขจัดเสมหะ ซึ่งในศาสตร์การแพทย์แผนจีน การบำรุงหยางชี่และการระบายความชื้น ถือเป็นหลักการรักษาที่สำคัญในการรักษาโรครูมาตอยด์
การรักษาโรครูมาตอยด์ สามารถแบ่งตามระยะของโรคได้ 3 ระยะ โดยมีรายละเอียดดังนี้
1. ระยะแรก เป็นระยะที่โรคยังคงอยู่ในเส้นลมปราณหลัก ผู้ป่วยจะมีอาการปวด สาเหตุเกิดจากเสี่ยชี่ต่าง ๆ ได้แก่ ลม ความเย็น และความชื้น คือ มักจะปวดบริเวณข้อและกล้ามเนื้อ ทำให้งอและเหยียดไม่สะดวก ในกรณีที่เกิดจาก “ลม” อาการปวดจะลุกลามไปที่ข้อต่อหลายส่วน ในกรณีที่เกิดจาก “ความเย็น” จะทำให้เกิดอาการปวดที่มากขึ้น หากเกิดความเย็น และอาการปวดจะบรรเทาลง เมื่อเกิดความอบอุ่น และในกรณีที่เกิดจาก “ความชื้น” ผู้ป่วยจะรู้สึกไม่สบายตัว ส่วนข้อต่อที่อักเสบจะฝืดขัด ทำให้เคลื่อนไหวได้ไม่สะดวก นอกจากนั้นอาจมีไข้ร่วมด้วย และลิ้นซีด เป็นฝ้าขาวบางหรืออาจจะหนา ส่วนชีพจรจะลอย เล็ก แน่นและเบา ดังนั้นในระยะนี้ จึงควรเน้น
การรักษาในเรื่อง การขับเคลื่อนของชี่ โดยการขจัดเสี่ยชี่ต่าง ๆ ทั้งลม ความเย็นและความชื้น รวมทั้งอุ่นหยางและบำรุงเหวียนชี่
2. ระยะเรื้อรัง เสียชี่จะทำให้เกิดพยาธิสภาพเข้าไปในแขนงของเส้นลมปราณ (ลั่ว) จึงต้องเน้นการรักษาโดยการบำรุงเลือด ด้วยการบำรุงหล่อเลี้ยงอินและทะลวงเส้นลมปราณแขนงต่าง ๆ รวมทั้งจะต้องทำการสลายเลือดคั่งและบำรุงเลือด ด้วยการบำรุงชี่และอุ่นหยางร่วมด้วย
3. ระยะท้าย เป็นระยะที่พยาธิสภาพเข้าไปลึกถึงบริเวณกระดูก จึงจำเป็นต้องใช้สมุนไพรบำรุงตับและไต เพื่อกระตุ้นให้เกิดสารที่จำเป็น ได้แก่ สารจิง (Essence) และอุ่นหยาง (Original Yang) จะช่วยขจัดความร้อน ขับไล่ความชื้นและเสมหะ รวมทั้งสลายความเย็นและภาวะเลือดคั่ง การรักษาในระยะนี้ แบ่งเป็น 3 รูปแบบที่จำเป็น ได้แก่ การบำรุงเหวียนชี่ ซึ่งเป็นการแก้ไขที่ต้นเหตุ การไล่ความชื้น เพื่อบำรุงม้าม และการปลดปล่อยสารพิษต่าง ๆ ที่รุกรานออกจากข้อต่อ
หากกล่าวโดยสรุปหลักการรักษาโรครูมาตอยด์ในศาสตร์การแพทย์แผนจีน ประกอบด้วยกฎ 4 ประการ คือ
1. การอุ่นไต เพื่อลดความเย็น
2. การบำรุงอิน เพื่อลดความร้อน
3. การทะลวงการติดขัดของเส้นลมปราณ เพื่อรักษาสมดุลของความเย็นและความร้อนในร่างกายให้เหมาะสม
4. การบำรุงเลือดร่วมกับการขับไล่เสียชี่ เพื่อกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดให้เป็นปกติ
แนวทางการรักษาด้วยวิธีการฝังเข็ม
ศาสตร์การแพทย์แผนจีนมีแนวทางการรักษาโรครูมาตอยด์ โดยวิธีการใช้สมุนไพรร่วมกับการฝังเข็ม การรมยา การครอบแก้ว และการอบสมุนไพร ซึ่งขึ้นอยู่กับอาการของผู้ป่วยว่าอยู่ในระยะใดของโรค โดยแพทย์จะทำการวินิจฉัยจากระดับการพร่องของเจิ้งชี่ ระบบการไหลเวียนของเลือด ปริมาณของเลือด และภาวะอินหยางของอวัยวะภายใน
การฝังเข็มระบบเส้นลมปราณ
หลักการรักษาโดยการฝังเข็มระบบเส้นลมปราณ คือ การบำรุงตับและไต ซึ่งจะทำให้เส้นเอ็นและกระดูกแข็งแรงขึ้น และการทะลวงเส้นลมปราณที่ติดขัด จะทำให้ลดอาการอักเสบและอาการปวดได้
จุดฝังเข็ม
- DaZhu (BL 11) เป็นจุดอิทธิพลของกระดูก ทำหน้าที่ในการทะลวงเส้นลมปราณ เพื่อลดอาการปวด
- ShenShu (BL 23) เป็นจุดของการบำรุงตับและไต ส่งผลให้กระดูกแข็งแรงขึ้น
- ZuSanLi (ST 36) เป็นจุดของการบำรุงม้ามและกระเพาะอาหาร เพื่อเพิ่มชี่และเลือด
- SanYinJiao (SP 6) เป็นจุดของการบำรุงม้ามและช่วยขจัดที่อุดตันต่าง ๆ
ทั้งนี้ โรครูมาตอยด์แบ่งการอักเสบออกเป็น 3 ชนิด ได้แก่ ชนิดลมเย็นชื้น ชนิดลมชื้นร้อน และชนิดที่ไตและตับพร่อง โดยหลักการรักษาของอาการอักเสบแต่ละชนิดมีความแตกต่างกัน ดังนี้
1. โรครูมาตอยด์ ชนิดลมเย็นชื้น (Wind-cold-damp Bi)
หลักการรักษา : ขจัดความเย็นชื้นและลม ทะลวงเส้นลมปราณ
จุดฝังเข็มหลัก : DaZhui (GV 14), QiHai (CV 6), GuanYuan (CV 4), ShenQue (CV 8)
จุดฝังเข็มประกอบ :
อาการ | จุดฝังเข็มประกอบ |
อาการข้อไหล่อักเสบ | JianLiao (TE 14), JuGu (LI 16), QuChi (LI 11) |
อาการข้อศอกอักเสบ | QuChi (LI 11), ChiZe (LU 5), ShaoHai (HT 3) และ ShouSanLi (LI 10) |
อาการข้อมืออักเสบ | YangChi (TE 4), YangXi (LI 5), DaLing (PC 7), HeGu (LI 4) และ WaiGuan (TE 5) |
อาการข้อต่อโคนนิ้วมืออักเสบ | BaXie (EX-UE 9), HeGu (LI 4) และ SanJian (LI 3) |
อาการข้อนิ้วมืออักเสบ | SiFeng (EX-UE 10) |
อาการข้อสะโพกอักเสบ | HuanTiao (GB 30), JuLiao (GB 29) และ YangLingQuan (GB 34) |
อาการข้อเข่าอักเสบ | NeiXiYan (EX-LE 4), XiYan (EX-LE 5), LiangQiu (ST 34) WeiZhong (BL 40), XiYangGuan (GB 33), QuQuan (LV 8) และ YangLingQuan (GB 34) |
อาการข้อเท้าอักเสบ | KunLun (BL 60), TaiXi (KI 3), JieXi (ST 41), QiuXu (GB 40) และ RanGu (KI 2) |
อาการข้อต่อโคนนิ้วเท้าอักเสบ | BaFeng (EX-LE 10), NeiTing (ST 44) และ TaiChong (LV 3) |
อาการข้อต่อบริเวณสันหลังอักเสบ | DaZhui (GV 14), ShenZhu (GV 12) และ YaoYangGuan (GV 3) สลับกัน และ HuaTuoJiaJi (EX-B 2) บริเวณข้อสันหลังที่ปวด |
ในการฝังเข็มแต่ละครั้ง ควรเลือกใช้จุดฝังเข็มเพียง 6 – 10 จุดสลับกัน หรือขึ้นอยู่กับระดับความเจ็บปวดที่ผู้ป่วยสามารถทนได้ นอกจากนั้นการขจัดลมและลดความร้อน ไม่ควรปักเข็มลึก เพื่อกระตุ้นการระบาย และหากเป็นการขจัดความเย็นและลดความชื้น ควรฝังเข็มร่วมกับการรมยาหรือเข็มอุ่น
การกระตุ้นเข็ม : ควรใช้การกระตุ้นเบาหรือระบาย ซึ่งขึ้นอยู่กับพยาธิสภาพของผู้ป่วย โดยอาจใช้เข็มอุ่นหรือการรมยาร่วมด้วย โดยเฉพาะที่จุด GuanYuan (CV 4), QiHai (CV 6) และ ShenQue (CV 8) ซึ่งอาจใช้การรมยา โดยใช้เวลาประมาณ 20-30 นาที โดยการคั่นขิง 7 - 9 โคน
2. โรครูมาตอยด์ ชนิดลมชื้นร้อน ( Wind-damp-heat Bi)
หลักการรักษา : ขจัดความร้อน ความชื้นและลม เพื่อทะลวงเส้นลมปราณที่อุดตัน
จุดฝังเข็มหลัก : DaZhui (GV 14), ShenZhu (GV 12), QuChi (LI 11)
จุดฝังเข็มประกอบ : ให้เพิ่มจุดตามอาการที่เกิดกับข้อต่อต่าง ๆ โดยใช้หลักการเช่นเดียวกับโรครูมาตอยด์ ชนิดลมเย็นชื้น (Wind-cold-damp Bi) ตามข้อ 1 และในส่วนข้อต่อที่อักเสบ บวมหรือแดง อาจใช้วิธีคาเข็มบริเวณรอบข้อ โดยใช้เวลาประมาณ 10-15 นาที และถอนเข็มแบบระบาย คือ การหมุนรูเปิดที่ผิวหนังให้ใหญ่ขึ้น เพื่อให้เลือดออก และในส่วนของจุดที่ไกลจากข้อต่อที่อักเสบบนเส้นลมปราณเดียวกัน ให้คาเข็ม โดยใช้เวลาประมาณ 10-15 นาที และกระตุ้นแบบระบาย นอกจากนั้นเมื่อเกิดความไม่สมดุลของเหวียนชี่และเจิ้งชี่ อาจทำให้มีเหงื่อออกมากกว่าปกติ จะต้องเพิ่มการบำรุงโดยใช้จุด HeGu (LI4), และระบายที่จุด FuLiu ( KI 7) และสำหรับผู้ป่วยที่มีความผิดปกติทางอารมณ์ เช่น หงุดหงิดมาก ซึ่งเกิดจากความร้อนของหัวใจ ให้เพิ่มจุด ShenMen (HT 4) เพิ่มเติมด้วย
การกระตุ้นเข็ม : ให้กระตุ้นจุดฝังเข็มหลักทั้ง 3 จุด โดยใช้ระดับปานกลางและไม่ต้องคาเข็ม
3. โรครูมาตอยด์ชนิดที่ไตและตับพร่องมาก ร่วมกับเสียชี่อื่น ๆ
หลักการรักษา : ทำการเสริมชี่ ขับไล่เสียชี่และบำรุงเลือด
จุดฝังเข็มหลัก : GanShu (BL 18), ShenShu (BL 23) และ ZuSanLi (ST 36)
จุดฝังเข็มประกอบ : ให้เพิ่มจุดตามอาการที่เกิดกับข้อต่อต่าง ๆ โดยใช้หลักการเช่นเดียวกับโรครูมาตอยด์ ชนิดลมเย็นชื้น (Wind-cold-damp Bi) ตามข้อ 1 ในกรณีที่ข้อต่ออักเสบหรือบวม จะต้องปล่อยเลือดบริเวณดังกล่าว และหากมีเหงื่อออกมากในเวลากลางคืนหรือมีไข้ ให้เพิ่มจุด YinXi (HT 6) และ DaZhui (GV 14) ด้วย
การกระตุ้นเข็ม : ให้กระตุ้นเข็ม โดยไม่ต้องคาเข็ม ในส่วนของจุดฝังเข็มที่เสริมชี่ ให้ใช้เข็มอุ่นหรือรมยาทุกวัน
ข้อควรระวังในการฝังเข็ม : ในกรณีหญิงที่ตั้งครรภ์ ในช่วง 2 - 5 เดือน ไม่ควรรับการรักษาโดยการฝังเข็ม เนื่องจากมีความเสี่ยงอาจทำให้เกิดภาวะแท้งได้ และสำหรับในช่วง 5 - 9 เดือน ควรหลีกเลี่ยงการฝังเข็มบริเวณใกล้เคียงกับมดลูก รังไข่ ต่อมไร้ท่อ กระดูกสันหลังบริเวณเอวและหน้าท้อง เนื่องจากเป็นจุดเสี่ยงสำหรับหญิงตั้งครรภ์
บทสรุปและคำแนะนำ
การรักษาโรครูมาตอยด์จะได้ผลดีและมีประสิทธิภาพอย่างชัดเจน ก็ต่อเมื่อได้รับการรักษาในระยะเริ่มต้นของโรคและได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม ซึ่งวิธีการรักษาโดยการฝังเข็มควบคู่กับการรักษาโดยแพทย์แผนปัจจุบัน เป็นวิธีการรักษาที่ส่งเสริมกันได้เป็นอย่างดี เนื่องจากการฝังเข็มนั้น นอกจากจะช่วยบรรเทาอาการอักเสบและอาการปวดให้ดีขึ้นได้แล้ว ยังช่วยปรับระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายให้ดีขึ้นอีกด้วย จึงถือได้ว่าเป็นการรักษาที่ต้นเหตุเป็นหลัก แต่อย่างไรก็ตาม โรครูมาตอยด์เป็นโรคที่ต้องใช้ระยะเวลาในการรักษาระยะยาว แพทย์จึงจำเป็นต้องอธิบายและทำความเข้าใจกับผู้ป่วยให้เข้าใจถึงวิธีการและระยะเวลาในการรักษาให้ชัดเจน เพื่อลดความเครียดที่อาจเกิดขึ้น และเพื่อให้ผู้ป่วยให้ความร่วมมือในการรักษา รวมทั้งให้ความร่วมมือในการปรับสมดุลทั้งทางร่างกายและจิตใจของตนเอง เช่น การฝึกทักษะในการมองโลกในแง่ดี การทานอาหารที่มีประโยชน์และถูกสุขลักษณะ การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เป็นต้น
ทั้งนี้ แม้ว่าโรครูมาตอยด์จะเกิดได้กับคนทั่วไป แต่ก็เป็นโรคที่สามารถบำบัดรักษาให้สามารถกลับมาใช้ชีวิตอย่างปกติได้ และหากรู้จักดูแลตัวเองให้มีร่างกายที่แข็งแรงอยู่เสมอ เช่น การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ทานอาหารที่มีประโยชน์ ก็นับเป็นวิธีการหนึ่งที่ช่วยให้ห่างไกลจากโรครูมาตอยด์ได้เช่นกัน
บทความโดย : แพทย์จีนริฟฮาน ยูโซะ
TCM. Dr. Rifhan Yusoh (罗如珊 中医师)
------------------------------------
ข้อมูลอ้างอิง
- 吴绪平 张淑蓉 金来星 主编. 现代针灸治疗大成. 北京:中国医药科技出版社,2012 年
- ทัศนีย์ ฮาซาไนน์ บัณฑิตย์ พรมเคียมอ่อน สมชาย จิรพินิจวงศ์(บรรณาธิการ) กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข, การฝังเข็ม รมยา เล่ม 3 ----นนทบุรี, โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย 2554, ISBN 978-616-11-0728
- ปารวี สุวรรณาลัย, ข้ออักเสบรูมาตอยด์, https://www.rama.mahidol.ac.th/med/sites/default/files/ public/pdf/medicinebook1/Rheumatoid%20arthritis.pdf
- https://www.vejthani.com/th/2018/11/โรครูมาตอยด์
11 พ.ย. 2567
25 ต.ค. 2567
11 พ.ย. 2567