ไขข้อสงสัยของอาการปวดต้นคอ

Last updated: 2 ก.ค. 2567  |  55657 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ไขข้อสงสัยของอาการปวดต้นคอ

          ในปัจจุบันคนทั่วไปมีการอาการปวดต้นคอเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มวัยทำงาน เป็นๆ หายๆ รักษาแล้วก็กลับมาเป็นอีก บางรายรู้สึกปวดจนทรมานจนนอนไม่หลับ หลายๆคนมีข้อสงสัย อาการที่เป็นอยู่เป็นแค่ปวดคอธรรมดาใช่หรือไม่ หรือเป็นที่กระดูกต้นคอกันแน่? หรือเป็นสัญญาณเตือนของคนที่เริ่มมีภาวะกระดูกต้นคอเสื่อม ? มีวิธีป้องกันไม่ให้เกิดอาการปวดอย่างไร?

1. ปวดเมื่อยคอบ่าไหล่ เป็นประจำ

          ผู้ป่วยที่มาพบด้วยอาการปวดต้นคอในทางคลินิก พบว่า อาการ ดังกล่าวส่วนมากมักเป็นผลมาจากภาวะที่ไม่ใช่โรคของกระดูกต้นคอ เช่น ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ปวดและมีจุดกดเจ็บบริเวณกล้ามเนื้ออันเนื่องมาจากโรคของ กล้ามเนื้อเองที่เรียกว่า “Myofascial Pain Syndrome” ผู้ป่วยอาจจะมีแต่อาการปวดเมื่อยอันเป็นผลมาจากการนั่งผิดท่าทาง(Poor posture) หรือ นั่งถูกท่าแต่ระยะเวลาในการทำงานดังกล่าวนานเกินไป ซึ่งลักษณะนี้อาการมักไม่ได้เป็นผลมาจากโรคแต่เป็นอาการอ่อนล้าของตัวกล้ามเนื้อบริเวณนั้น ๆ เอง ในบางรายที่เป็นประจำ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมแล้วไม่ดีขึ้น อาจะเป็นผลมาจากกระดูกต้นคอเริ่มมีปัญหา เช่น ภาวะกระดูกต้นคอเสื่อม เป็นต้น

2. คอเคล็ด คอแข็ง ทำให้ขยับหรือเคลื่อนไหวคอได้ไม่สะดวกเหมือนปกติ

          ผู้ป่วยจะอยู่ ๆ ก็รู้สึกปวดบริเวณต้นคอกะทันหัน เช่นตื่นเช้ามาอยู่ ๆ ก็ปวดต้นคอ และจะยิ่งปวดมากขึ้นเมื่อเคลื่อนไหวคอหรือศีรษะ บางคนอาจมีอาการคอแข็งทื่อ เคลื่อนไหวคอลำบากหรือขยับเคลื่อนไหวไม่ได้เลย หรือรู้สึกปวดร้าวบริเวณศีรษะด้านหลังหรือท้ายทอย หลังช่วงบน และไหล่ อาการเหล่านี้เรียกว่า “อาการตกหมอน” มักเกิดจากเส้นเอ็นหรือกล้ามเนื้อบริเวณคอมีแรงตึงมากเกินไปขณะมีการออกแรงโดยไม่ได้ยืดหยุ่นกล้ามเนื้อก่อน หรือเกิดอุบัติเหตุจนทำให้กล้ามเนื้อและเส้นเอ็นบาดเจ็บเสียหาย

3. ปวดคอร้าวลงไปถึงไหล่หรือแขน

          อาการนี้เป็นสัญญาณเตือนว่าควรรีบพบแพทย์ เมื่อใดก็ตามที่เริ่มมีอาการปวดร้าวลงไปถึงแขน ร่วมกับอาการชา หรือการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อ ลักษณะนี้เป็นอาการแสดงที่เกิดจากเส้นประสาทสันหลังส่วนคอถูกรบกวน ผู้ป่วยอาจมีอาการปวดหรือชาลงมาตามบริเวณแขน ข้อศอก หรือนิ้วมือได้ หากมีการกดทับ เส้นประสาทที่ทำงานเกี่ยวข้องกับส่วนใด จะส่งผลให้กล้ามเนื้อส่วนนั้นลีบลง

           เมื่อใดก็ตามที่มีอาการเรื้อรัง ปวดคอมานานกว่า 2 สัปดาห์  มีอาการชาหรือปวดร้าวไปที่แขนหรือมีอาการอ่อนแรงของแขนร่วมด้วย ควรรีบปรึกษาแพทย์ทำการตรวจวินิจฉัยด้วยการเอ็กซเรย์กระดูกสันหลังระดับคอเพื่อเป็นการระบุว่าเป็นโรคชนิดใด และวางแผนการรักษาต่อไป

4. ปวดคอ ร่วมกับมึนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน เป็นประจำ        

          อาการมึนศีรษะ ปวดตามต้นคอและบ่า  มักมีสาเหตุจากการเกร็งกล้ามเนื้อตรงบริเวณศีรษะและคอนานๆ เช่นการนั่งหน้าจอคอมพิวเตอร์ การเพ่งสายตา ทำให้มีกล้ามเนื้อหรือเส้นเอ็นเกิดตึงตัว  เกิดการกดทับ หรือ เบียดหลอดเลือดที่ต้นคอ เลือดไปหล่อเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ ส่งผลให้เกิดอาการมึนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ส่วนมากอาการมึนศีรษะนี้ จะสัมพันธ์กับการเคลื่อนไหวของต้นคอหรืออาการปวดของต้นคอ  สาเหตุอื่นๆเช่น ปวดไมเกรน มักปวดศีรษะมากข้างเดียว มีคลื่นไส้ ตาพร่าร่วมด้วยได้ หรือมีภาวะน้ำในหูไม่เท่ากัน

5. ปวดคอ ร้าวขึ้นศีรษะ ปวดเบ้าตา

          ปวดคอ ร้าวขึ้นศีรษะ ปวดเบ้าตา อาการเหล่านี้ฟังดูจะคล้ายๆ กับอาการของไมเกรน แต่จริงๆ แล้วเป็นอาการของไมเกรนเทียม ที่เกิดจากการเกร็งตัว หรือหดสั้นของกลุ่มกล้ามเนื้อบริเวณ คอ บ่า และฐานกะโหลกศีรษะ โดยกลุ่มกล้ามเนื้อที่มักก่อให้เกิดการปวดคล้ายไมเกรน ซึ่งกล้ามเนื้อเหล่านี้เป็นกลุ่มกล้ามเนื้อที่ทำหน้าที่หลักในการพยุงกะโหลกศีรษะ การหันหน้า และการก้มเงยคอ เมื่อเกร็งคอและบ่าเป็นระยะเวลานาน จะทำให้เกิดการปวดสะสมขึ้นได้

          วิธีสังเกตอาการของไมเกรนเทียม สังเกตได้จากเมื่อเกิดการปวดหัวข้างเดียว ขณะที่มีการใช้งานกล้ามเนื้อซ้ำ ๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น การใช้งานคอมพิวเตอร์ หรือ มือถือ รวมถึงการทรงท่าที่ผิดปกติ เช่น ไหล่ห่อ คอยื่น เป็นต้น 

           นอกจากนี้ไมเกรนเทียมยังสามารถพบจุดกดเจ็บ (Trigger Point) หรือกล้ามเนื้อที่เกร็งค้างบริเวณคอ บ่า และใต้ฐานกะโหลก ซึ่งเมื่อทำการกด นวด หรือยืดกล้ามเนื้อมัดดังกล่าว อาจมีการปวดร้าวไปยังบริเวณต่าง ๆ 

6. สาเหตุที่ทำให้เกิดกระดูกต้นคอเสื่อม

          โดยส่วนใหญ่แล้วโรคหมอนรองกระดูกเสื่อมจะพบในคนที่อายุประมาณ 40 ปี ขึ้นไป แต่ในปัจจุบันพบโรคหมอนรองกระดูกคอเสื่อมมากขึ้น ในหนุ่มสาววัยทำงาน จากพฤติกรรมเสี่ยงการใช้คอ ใช้กล้ามเนื้อแผ่นหลังที่ผิดลักษณะ เช่น ใช่คอมพิวเตอร์เป็นเวลานานๆ  นั่งทำงานด้วยอิริยาบถที่ไม่ถูกต้อง รวมถึงกลุ่มสังคมก้มหน้าที่วันหนึ่งๆ ใช้เวลาวันละหลายๆ ชั่วโมงหมดไปกับการก้มหน้าเล่นมือถือ  นอกจากนี้ยังเกิดภาวะหมอนรองกระดูกคอเสื่อม ได้จากอุบัติเหตุบางอย่าง เช่น อุบัติเหตุจากรถชนทางด้านหลังอย่างแรง ทำให้กระดูกคอสะบัดไปข้างหลังและสะบัดกลับมาข้างหน้า ก่อให้เกิดการบาดเจ็บของกระดูกต้นคอและเนื้อเยื่อ ซึ่งถือเป็นปัจจัยส่งเสริมที่ทำให้เกิดอาการต่างๆ ของโรคหมอนรองกระดูกคอเสื่อม

7. ดูแลอย่างไรห่างไกลกระดูกต้นคอเสื่อม

กระดูกคอเสื่อมเป็นความเสื่อมสภาพทางร่างกายที่มักเกิดขึ้นตามอายุที่มากขึ้น ทำได้เพียงลดความเสี่ยงด้วยวิธี ดังต่อไปนี้

- คอยระมัดระวังให้คออยู่ในท่าทางที่เหมาะสมขณะอยู่ในอิริยาบทต่าง ๆ ทั้งการยืน การนั่ง หรือการเดิน เพื่อป้องกันการบาดเจ็บที่คอ

- ออกกำลังกายและทำกิจกรรมเพื่อเคลื่อนไหวร่างกายอย่างสม่ำเสมอ

- ระมัดระวังในการออกกำลังกายหรือการเล่นกีฬาที่มีความเสี่ยง หรือสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันตัวเพื่อหลีกเลี่ยงการได้รับบาดเจ็บบริเวณคอเสมอ

8. ท่าบริหารที่แนะนำสำหรับคนปวดต้นคอ

ท่ายืดกล้านเนื้อคอ ท่านี้จะช่วยยืดกล้ามเนื้อคอด้านข้าง และกล้ามเนื้อไหล่ เริ่มจากนั่งสบาย ๆ บนพื้นหรือเก้าอี้ แล้วยกแขนขวาโอบไปจับที่หูข้างซ้าย แล้วค่อย ๆ เอียงคอไปทางขวาจนรู้สึกว่ากล้ามเนื้อคอตึง แล้วค้างไว้ประมาณ 10-15 วินาที จากนั้นเปลี่ยนสลับข้างอีก 5-10 ครั้ง

เอกสารอ้างอิง

1. หัวจะระเบิดแล้ว!! ปวดหัวแบบไหน เรียกว่า...'โรคไมเกรน' สืบค้น 12 มิถุนายน2565, จาก  https://thestatestimes.com/post/2021050804
2. ความหมาย คอเคล็ด สืบค้น 12 มิถุนายน2565, จาก https://www.pobpad.com/คอเคล็ด
3. การซักประวัติและการตรวจร่างกายและแนวทางการรักษาผู้ป่วยที่มีความผิดปกติบริเวณกระดูกต้นคอ สืบค้น 12 มิถุนายน2565, จาก http://ortho2.md.chula.ac.th/phocadownload/data-sheet/History-taking-physical-examination-WicharnMD.pdf
4. ก้มๆ เงย ระวังหมอนรองกระดูกส่วนคอเสื่อม สืบค้น 12 มิถุนายน2565, จาก 
https://www.siphhospital.com/th/news/article/share/cervical-spondylosis

แพทย์จีน กรกฎ คุณโฑ (พจ.1107)
แผนกกระดูกและทุยหนา
คลินิกการประกอบโรคศิลปะ สาขาการแพทย์แผนจีนหัวเฉียว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้