Last updated: 2 ก.ค. 2567 | 3234 จำนวนผู้เข้าชม |
อาการตาล้ามักพบบ่อย ในกลุ่มนักเรียน หรือ พนักงานออฟฟิศที่ใช้สายตามองในระยะใกล้ หรือ การใช้สายตาบริเวณที่แสงสว่างไม่เหมาะสม(มืดหรือสว่างเกินไป)เป็นเวลานานเกินไป และ กลุ่มคนที่มีปัญหาทางด้านสายตา เช่น สายตายาว สายตาสั้น สายตาเอียง ทำให้เกิดอาการ ปวดตาหรือกระบอกตา ปวดหรือเวียนศีรษะ
ความสัมพันธ์ระหว่างตาและตับในทฤษฎีแพทย์แผนจีน
ในทฤษฎีการแพทย์แผนจีนสารที่หล่อเลี้ยงดวงตาได้แก่เลือด ชี่ และ สารจิง จะถูกนำไปหล่อเลี้ยงดวงตาโดยผ่านทางเส้นลมปราณ การใช้สมองและสายตาเป็นเวลานานจะส่งผลให้ต่อเสิน 神 ของหัวใจถูกทำลาย และทำลายชี่และเลือด ทำให้สารสำคัญต่างไปเลี้ยงดวงตาไม่พอเกิดอาการตาแห้ง การจ้องมองเป็นเวลานานๆทำให้กล้ามเนื้อบริเวณดวงตาตึง และเมื่อใช้งานเป็นเวลานานจะทำลายสารจิงในตับและไต ส่งผลให้เลือดและสารจิงไม่พอไปหล่อเลี้ยงกล้ามเนื้อบริเวณดวงตา ทำให้เกิดอาการตาล้าได้
การที่ดวงตาของเราสามารถมองเห็นสิ่งของต่างๆและแยกแยะสีของสิ่งของได้ จำเป็นต้องอาศัยจิงและชี่ของอวัยวะตันและกลวงในการหล่อเลี้ยง ในขณะเดียวกันหากอวัยวะต่างๆในร่างกายบกพร่อง ทำให้การหล่อเลี้ยงของสารจิงและชี่ในร่างกายพร่องหรือเกิดการติดขัดส่งผลให้การทำงานของดวงตาผิดปกติหรืออาจก่อให้เกิดโรคทางดวงตาได้
อวัยวะตับซึ่งเป็นหนึ่งในอวัยวะตัน มีการเชื่อมต่อกับดวงตาโดยผ่านทางเส้นลมปราณ และ มีทวารเปิดที่ดวงตา จึงมีความสำคัญต่อการมองเห็นเป็นอย่างมาก โดยตาและตับจะสามารถส่งผลกระทบซึ่งกันและกันได้ กล่าวคือความผิดปกติของตับจะทำให้การมองเห็นมีความบกพร่อง และ การใช้สายตามากเกินไปก็จะกระส่งผลกระทบต่อตับได้เช่นกัน หากสภาพแวดล้อมรอบๆร่างกายมีสภาวะไม่เหมาะสม เช่น มีแสงจ้าเกินไป หรือ ภายในร่างกายมีความผิดปกติ เช่น เลือดของตับพร่องจะมีผลกระทบต่อดวงตาและการมองเห็นได้ นอกจากนี้อารมณ์ต่างๆยังสามารถส่งผลกระทบกับอวัยวะภายใน โดยอารมณ์โมโหจะส่งผลกระทบต่อตับและทำให้การไหลเวียนของชี่ในร่างกายติดขัด ดังนั้น การที่มีอารมณ์โมโหบ่อยๆ หรือการการใช้สายตามากเกินไปจะทำให้ตับถูกกระทบซึ่งจะส่งผลกลับมาที่ดวงตาได้อีกด้วย
หน้าที่ของตับที่สำคัญได้แก่การกักเก็บเลือดและควบคุมปริมาณของเลือดในร่างการ ถึงแม้จิงและชี่ของอวัยวะตันและกลวงในร่างกายจะส่งไปยังดวงตา แต่ตับมีทวารเปิดที่ดวงตา ดังนั้นตับจึงเป็นอวัยวะที่สำคัญที่หล่อเลี้ยงดวงตา ด้วยคำกล่าวที่ว่าเมื่อเลือดหล่อเลี้ยงตับจะสามารถมองเห็นได้
ชี่ของตับเชื่อมต่อไปยังดวงตา อีกหน้าที่ของตับคือการปลดปล่อย สามารถปรับสมดุลของการเคลื่อนที่ของชี่ในร่างกายได้ ชี่สามารถสร้างเลือดและสารจิน อีกทั้งยังสามารถขับเคลื่อนการไหลเวียนของเลือด และสารจินในร่างกายได้
นอกจากนี้ตับยังสามารถช่วยสร้างสร้างน้ำตาได้อีกด้วย โดยน้ำตามีหน้าที่ในการหล่อเลี้ยงดวงตา ในการหลั่งน้ำตาตามทฤษฎีองค์รวมจะทำได้โดยอวัยวะตับ และ อวัยวะอื่นๆเช่น ถุงน้ำดี ม้าม ไต ก็สามารถส่งผลกระทบต่อน้ำตาและการทำงานของตาต่างๆได้ด้วยเช่นกัน
การรักษา
จากที่กล่าวข้างต้น แม้อาการตาล้ามีปัจจัยหลักมาจากตับ แต่ก็ไม่ควรมองข้ามอวัยวะอื่นๆที่อาจจะส่งผลกระทบต่อดวงตา ฉะนั้นการรักษาควรมองแบบองค์รวม เพื่อปรับสมดุลอวัยวะในร่างกายให้ทำงานประสานกัน เพื่อผลการรักษาที่ดีขึ้น การรักษาอาการตาล้าในทางการแพทย์แผนจีนมีทั้งการทานยาจีนเพื่อปรับสมดุลและบำรุงร่างกาย และ การฝังเข็มเพื่อปรับเส้นลมปราณที่เกี่ยวข้อง การนวดคลายกล้ามเนื้อบริเวณรอบๆดวงตา ส่วนสำคัญอีกอย่างคือการเปลี่ยนวิถีการใช้ชีวิตประจำวัน โดยการลดระยะเวลาการใช้สายตา ลดแสงจากหน้าจอ หมั่นมองออกไกลๆเพื่อผ่อนคลายกล้ามเนื้อตา และ บริหารดวงตาด้วยการนวดกดจุดบริเวณรอบๆดวงตา
11 พ.ย. 2567
11 พ.ย. 2567
25 ต.ค. 2567