Last updated: 2 ก.ค. 2567 | 20531 จำนวนผู้เข้าชม |
นับตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมาทั่วโลกได้ประสบกับการระบาดติดเชื้อCOVID-19 ทำให้ผู้ป่วยหลังจากที่ติดเชื้อแล้วพบว่ามีอาการต่างๆ ที่ตามมาเกิดขึ้น ไม่ว่าผู้ป่วยจะมีอาการมากน้อยเพียงใด พบว่าหลังจากที่ติดเชื้อโควิดแล้วจะมีผลกระทบต่าง ๆ ร่างกายในระยะยาว และหลายๆระบบ ไม่ว่าจะเป็นระบบทางเดินหายใจ ระบบประสาท ระบบกล้ามเนื้อและกระดูก ระบบเมตาบอลิซึม ระบบหัวใจและหลอดเลือด เป็นต้น ซึ่งทำให้เกิดความผิดปกติทั้งทางร่างกายและจิตใจ จนเป็นปัญหาสุขภาพจิตและยังกระทบต่อการใช้ชีวิตในสังคม และความสามารถในการทำงานอีกด้วย จากรายงานอาการที่เกิดขึ้นหลังติดเชื้อCOVID-19 พบมากกว่า 200 อาการ และกว่า 91%.ใช้เวลาในการฟื้นฟูตัวเองให้กลับสู่ปกติและต้องใช้เวลามากกว่า 8 เดือน บางรายพบอาการหลังจากติดเชื้อยาวนานถึง 1 ปี จากการสำรวจผลกระทบระยะยาวต่อสุขภาพของผู้ที่เคยติดเชื้อCOVID-19 ของกรมการแพทย์ ผ่านทางเว็บไซต์กรมการแพทย์ พบว่าส่วนใหญ่ยังมีอาการต่อเนื่องเล็กน้อยถึงปานกลาง คุณภาพชีวิตด้านสุขภาพทั่วไปลดลงจากก่อนป่วย โดยอาการที่พบบ่อย 10 อันดับแรก ได้แก่ อ่อนเพลีย หายใจลำบาก/ หอบเหนื่อย ไอ นอนไม่หลับ ปวดศีรษะ ผมร่วง เวียนศีรษะ วิตกกังวล/เครียด ความจำสั้น และเจ็บหน้าอก(1)
อาการนอนไม่หลับเป็นปัญหาหนึ่งที่ผู้ป่วยหลังติดเชื้อโควิดกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน มีรายงานรวบรวมข้อมูลจากหลายพื้นที่พบว่า 78.6% ผู้ป่วยมักประสบปัญหาการนอนหลับ โดยพบได้ทั้งปัญหานอนไม่หลับ ตื่นบ่อย เข้านอนหลับยาก หายใจลำบากจนรู้สึกตัวตื่น หรือมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ฝันเยอะ ฝันร้าย หรือตื่นไวกว่าปกติ รู้สึกไม่สบายขา เช่น ขากระตุก ขาปวดชาจนรบกวนการนอนหลับ เป็นต้น (2)
ที่มา: Characterizing long COVID in an international cohort: 7 months of symptoms and their impact. (2)
การนอนหลับมีความสำคัญอย่างมากอย่างยิ่งต่อการทำงานและใช้ดำเนินในชีวิติประจำวัน การนอนหลับไม่เพียงพอต่อเนื่องนานวันเข้าจะส่งผลให้เกิดอาการเหนื่อยล้า มีผลให้ระบบประสาทส่วนกลางทำงานบกพร่อง เช่น สมองเบลอมึนงง คิดอะไรไม่ค่อยออก การจดจำ การเรียนรู้ ความคิดสร้างสรรค์ ความสามารถในการใช้เหตุผลและการแก้ไขปัญหา สมาธิในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ตลอดจนการเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ทำได้ลดลง นอกจากนี้ยังส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตใจและอารมณ์ ทำให้รู้สึกหงุดหงิดง่ายขึ้น มีอาการหูแว่ว วิตกกังวล ความหวาดระแวง และซึมเศร้าได้
ในศาสตร์การแพทย์แผนจีนอาการนอนไม่หลับ (不寐 ปู๋ เม่ย) เกิดจากสาเหตุอารมณ์แปรปรวนผิดปกติ การรับประทานอาหารไม่เหมาะสม ปัจจัยก่อโรคภายนอก ความเหน็ดเหนื่อยหรือสบายเกินไป และการเจ็บป่วยเป็นเวลานาน ทำให้อวัยวะต่างๆทำงานไม่ปกติ ชี่และเลือด อินและหยางไม่สมดุล หยางไม่สามารถกลับเข้าสู่อินได้จึงทำให้นอนไม่หลับ ตำแหน่งของโรคอยู่ที่หัวใจเป็นหลัก สำหรับผู้ป่วยที่ติดเชื้อ covid-19 การแพทย์แผนจีนมองว่าได้รับปัจจัยก่อโรคจากเสียชี่ที่แปรปรวนไม่ปกติ ซึ่งเป็น “พิษความชื้น (湿毒 ซือ ตู๋)” ซึ่งเมื่อเข้าสู่ร่างกายจะทำให้เกิดลักษณะเด่น ๆ ได้ 2 รูปแบบแม้ว่าจะหายจากการติดเชื้อไปแล้ว คือ
1) พิษที่เข้าสู่ภายในจะเกิดเป็นความร้อนก่อตัวภายใน เผาผลาญสารน้ำในร่างกาย เมื่อหลังจากหายจากการติดเชื้อแล้ว จึงทำให้เกิดภาวะชี่และอินพร่อง เมื่ออินพร่องมากทำให้เกิดไฟ ไฟโหมรบกวนหัวใจและเสิน ทำให้นอนไม่หลับ
2) พิษความชื้นที่เข้าสู่ภายในเกาะกุมม้ามและกระเพาะอาหาร ทำให้หลังจากหายจากการติดเชื้อแล้วนอกจากปอดพร่อง แล้วม้ามและกระเพาะอาหารก็ยังไม่สามารถทำงานได้ปกติ ทำให้ย่อยอาหารและดูดซึมสารอาหาร แยกขจัดของเสียได้ไม่ดี จึงทำให้เกิดเป็นความชื้นและเสมหะก่อตัวสะสมอยู่ภายใน อุดกั้นเส้นลมปราณ พอนานวันเข้าอาจก่อให้เกิดไฟ กลายเป็นเสมหะร้อนรบกวนหัวใจและเสินจนทำให้เกิดอาการนอนไม่หลับได้เช่นเดียวกัน
อาการนอนไม่หลับ เนื่องจากตำแหน่งโรคอยู่ที่เสินในหัวใจ ดังนั้นในการดูแลรักษาลำดับแรกต้องผ่อนคลายจิตใจ ควบคุมอารมณ์หงุดหงิดกังวลใจ อาจหากิจกรรมที่ทำแล้วรู้สึกสบายใจดูหนัง ฟังเพลงสบาย ๆ ไม่ทานอาหารอิ่มจนเกินไป หรือย่อยยากโดยเฉพาะพวกของทอด ของมัน ของเผ็ดร้อน และเลี่ยงการดื่มชา กาแฟในตอนเย็น ไม่ทำงานหรือออกกำลังเหน็ดเหนื่อยจนเกินไป ก่อนนอนฟังเพลงเบา ๆ หรือแช่เท้าด้วยน้ำอุ่น อาจใส่ดอกเก็กฮวยเล็กน้อย (6-8 ดอก) ประมาณ 15 นาที ดอกเก็กฮวยยังช่วยลดไฟภายใน ประกอบกับกลิ่นหอมก็จะช่วยให้รู้สึกหลับสบายขึ้นได้ หลังจากที่ลองปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทานอาหารและการใช้ชีวิตเบื้องต้นแล้ว ถ้ายังไม่ดีขึ้น ยังสามารถเข้านอนหลับได้เป็นปกติแนะนำว่าให้รีบปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษา การทิ้งระยะไว้นานจะยิ่งรักษาได้ยาก การรักษาอย่างต่อเนื่องจะเป็นผลดีทำให้ร่างกายกลับสู่สภาวะปกติได้อย่างรวดเร็วและหายขาด
ตัวอย่างกรณีการรักษา
ข้อมูลผู้ป่วยรายที่ 1 XXX เพศหญิง อายุ 26 ปี
เข้ารับการรักษาครั้งแรก วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565
อาการที่มารักษา นอนไม่หลับ 3 อาทิตย์
ประวัติอาการ
ผู้ป่วยเคยได้รับการยืนยันการติดเชื้อcovid-19 เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 65 โดยเข้ารักษาโฮมไอโซเลต หลังจากที่เริ่มติดเชื้อ เริ่มมีอาการนอนไม่หลับต่อเนื่อง ร่วมกับอาการเหนื่อยอ่อนเพลีย ยังไม่ได้ทานยาช่วยในการรักษามาก่อน
อาการปัจจุบัน
ผู้ป่วยเข้านอนหลับยาก นอนหลับไม่สนิท ตื่นบ่อย เหนื่อยอ่อนเพลีย ทำงานหรือเคลื่อนไหวแล้วเหนื่อยมากขึ้น เวลาเหนื่อยจะยิ่งปวดศีรษะ ปากแห้งคอแห้ง กระหายน้ำเล็กน้อย กลางคืนมีอาการไอแห้ง ลำคอมีเสมหะเหนียวเล็กน้อย ปกติจะมีอาการใจสั่น ขี้หงุดหงิดง่าย การหายใจปกติ ไม่มีแน่นหน้าอก ความอยากอาหารทั่วไป การรับกลิ่นรับรสปกติ ถ่ายเหลวหลังทานอาหารเผ็ด
การตรวจลิ้นและชีพจร ลิ้นสีแดง ฝ้าแตกคล้ายแผนที่ และแห้ง มีจุดเลือดคั่ง ชีพจรซี่ซั่ว (脉细数)
ประวัติโรคในอดีต ไม่มี
การวินิจฉัย
1.นอนไม่หลับ (不寐 (U78.123)) / กลุ่มอาการ ชี่และอินพร่อง (气阴两虚证 (U79.218))
2.ภาวะลองโควิด (COVID-19 后综合征 (U09.9))
การรักษาด้วยแพทย์แผนจีน
ใช้ตำรับยาเซิงม่ายส่าน (生脉散) ร่วมกับ จู๋เย่สือเกาทัง (竹叶石膏汤) เพิ่มลดตัวยา ใช้ยาที่มีสรรพคุณเสริมชี่บำรุงอิน ระบายร้อนสงบเสิน เพื่อช่วยลดระบายไฟที่ไปรบกวนหัวใจ รับประทานยาเช้า-เย็นหลังอาหาร
ประเมินผลการรักษา
ครั้งที่ 1 (7/3/65) ผู้ป่วยสามารถเข้านอนได้ง่ายขึ้น มีแรงทำกิจกรรมได้ต่อเนื่องมากขึ้น อาการเหนื่อยอ่อนเพลียดีขึ้น ตอนกลางคืนอาการไอน้อยลง ยังมีเสมหะเหนียวที่คอเล็กน้อย ทานอาหารได้มากขึ้น ไม่มีอาหารปวดศีรษะหรือเวียนหัว ถ่ายเหลวหลังทานอาหารเผ็ด ขับถ่ายวันละ 2-3 ครั้ง
ครั้งที่2 (14/3/65) สามารถนอนหลับได้เป็นปกติ อาการเหนื่อยอ่อนเพลียดีขึ้นต่อเนื่อง ไม่มีอาการไอและเสมหะเหนียวที่คอลดลง ทานอาหารได้ปกติ มีอาการไข้ต่ำหลังบ่าย ขับถ่ายวันละ 2 ครั้ง เป็นก้อนมากขึ้น
ครั้งที่3 (1/4/65) สามารถนอนหลับได้เป็นปกติ ไม่มีอาการเหนื่อยอ่อนเพลีย ไม่มีอาการไอและเสมหะ ทานอาหารได้ปกติ ไม่มีไข้ต่ำ ขับถ่ายวันละ 2 ครั้ง เป็นก้อนมากขึ้น
ข้อมูลผู้ป่วยรายที่ 2 XXX เพศหญิง อายุ 67 ปี
เข้ารับการรักษาครั้งแรก วันที่ 16 กันยายน 2564
อาการที่มารักษา นอนไม่หลับ 2 อาทิตย์
ประวัติอาการ
ผู้ป่วยเคยได้รับการยืนยันการติดเชื้อcovid-19 เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2564 โดยเข้ารักษาที่โรงพยาบาลเนื่องจากเป็นกลุ่มเสี่ยงและเชื้อลงปอดจึงได้รับการรักษาเป็นเวลา 1 เดือน X-rayปอดซ้ำก่อนออกจากโรงพยาบาลกลับเป็นปกติ ผู้ป่วยออกจากโรงพยาบาลวันที่ 10 กันยายน 2564 และในช่วง 2 สัปดาห์หลังเริ่มมีอาการนอนไม่หลับ และมีไข้ต่ำ ๆ เป็นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปกติเป็นคนไข้ประจำที่รักษาโรคมะเร็งต่อมน้ำเหลืองอย่างต่อเนื่องมา 2 ปี เดิมทีไม่เคยพบอาการนอนไม่หลับมาก่อน
อาการปัจจุบัน
ผู้ป่วยเข้านอนหลับยาก นอนหลับไม่สนิท มีไข้ต่ำ 37.5 องศา หงุดหงิดไม่สบายตัวเล็กน้อย ปากแห้งคอแห้ง อาการอื่นๆเป็นปกติดี ไม่มีอาการไอเหนื่อยหอบ ทานอาหารได้ปกติ ขับถ่ายปกติ
การตรวจลิ้นและชีพจร ลิ้นสีแดงเข้ม ฝ้าบาง ชีพจรซั่ว (脉数)
ประวัติโรคในอดีต โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง/ โรคหลอดเลือดสมอง/ โรคธาลัสซีเมีย
การวินิจฉัย
1.นอนไม่หลับ (不寐 (U78.123)) / กลุ่มอาการ ชี่และอินพร่อง (气阴两虚证 (U79.218))
2.ภาวะลองโควิด (COVID-19 后综合征 (U09.9))
การรักษาด้วยแพทย์แผนจีน
ใช้ตำรับยาเซิงม่ายส่าน (生脉散) ร่วมกับ จู๋เย่สือเกาทัง (竹叶石膏汤) เพิ่มลดตัวยา ใช้ยาที่มีสรรพคุณเสริมชี่บำรุงอิน ระบายร้อนสงบเสิน เพื่อช่วยลดระบายไฟที่ไปรบกวนหัวใจ รับประทานยาเช้า-เย็นหลังอาหาร
ประเมินผลการรักษา
ครั้งที่ 1 (24/9/64) ยังมีอาการนเข้านอนหลับยาก และปากแห้งคอแห้ง
ครั้งที่2 (10/10/64) สามารถนอนหลับได้เป็นปกติ ปากแห้งคอแห้งเบาลง ทานอาหารได้ปกติ ขับถ่ายปกติ
สรุปผลการรักษา
จากเคสกรณีศึกษาข้างต้น เห็นได้ว่าการรักษาด้วยยาสมุนไพรจีนตำรับ สามารถช่วยรักษาอาการนอนไม่หลับของผู้ป่วยที่มีอาการหลังจากติดเชื้อโควิด อีกทั้งยังช่วยฟื้นฟูร่างกายให้กลับมาทำงานได้อย่างปกติอีกด้วย
วิเคราะห์ผลการรักษา
อาการของทั้งสองรายค่อนข้างเด่นชัดในกลุ่มที่มีภาวะชี่และอินพร่อง อาจสังเกตุง่าย ๆ จากลักษณะของลิ้น คือ ลิ้นแดงฝ้าน้อยหรือลิ้นแห้ง ซึ่งเมื่ออินพร่องมักทำให้เกิดไฟไปรบกวนหัวใจและเสินได้ง่าย ดังนั้นเมื่อใช้ยาที่มีสรรพคุณเสริมบำรุงอินระบายร้อน ก็จะทำให้ไฟที่หัวใจลดลง เมื่อหัวใจและเสินสงบจึงสามารถเข้านอนหลับได้เป็นปกติ
บันทึกข้อมูลการรักษาโดย
แพทย์จีน อรกช มหาดิลกรัตน์ (หมอจีนไช่ เพ่ย หลิง)
เลขที่ใบประกอบโรคศิลปะ พจ.45
คลินิกอายุรกรรมโรคมะเร็ง
แหล่งอ้างอิง
(1) กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข. การดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 หลังรักษาหาย (Post COVID syndrome) หรือภาวะ Long COVID สำหรับแพทย์และบุคลากรสาธารณสุข [Internet]. 2021 [cited 2021 Dec 16]. Available from: https://covid19.dms.go.th/Content/Select_Landding_page?contentId=157
(2) Davis HE, Assaf GS, McCorkell L, et al. Characterizing long COVID in an international cohort: 7 months of symptoms and their impact. EClinicalMedicine, 2021; 38 (101019) doi : https://doi.org/10.1016/j.eclinm.2021.101019
15 พ.ย. 2567
20 ม.ค. 2568
12 พ.ย. 2567
26 ก.ย. 2567