Last updated: 2 ก.ค. 2567 | 3800 จำนวนผู้เข้าชม |
9/03/2022 HN: 3557XX
คนไข้ชาวจีนเพศหญิง อายุ 45 ปี มาด้วยอาการอ่อนเพลียช่วงบ่าย 2 ปี
คนไข้เป็นคนที่ค่อนข้างใส่ใจกับสุขภาพ มีการซื้อสมุนไพรต่าง ๆ และอาหารเสริมต่าง ๆ มารับประทานเป็นประจำ ใน 2 ปีที่ผ่านมานี้ คนไข้รู้สึกว่าตัวเองอ่อนเพลียบ่อยมากขึ้น โดยเฉพาะช่วงบ่ายจะมีอาการง่วงและอ่อนเพลียมาก คนไข้เข้าใจว่าร่างกายอ่อนแอจึงสรรหาสมุนไพรบำรุงที่ราคาแพง มีฤทธิ์ที่ค่อนข้างแรง เช่น โสมเกาหลี ถั่งเช่า ฯลฯ และยาโป๊ว ยาบำรุงต่าง ๆ มารับประทาน แต่เมื่อรับประทานเรื่อย ๆ ระยะหนึ่งอาการไม่ได้ดีขึ้น ในทางกลับกันอาการยิ่งรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ และมีอาการเบื่ออาหาร ขับถ่ายบ่อยและขับถ่ายมีลักษณะเหลว จึงตัดสินใจมาปรึกษาแพทย์แผนจีน
จากการวินิจฉัยทางแพทย์แผนจีน โดยเริ่มจากการวิเคราะห์สีหน้าคนไข้ สีหน้าไม่ซีดแต่แดงคล้ำเล็กน้อย ลิ้นมีลักษณะฝ้าเหลืองหนา ชีพจรลื่นและแรง จากการสอบถามพฤติกรรมก็ได้ข้อมูลดังที่กล่าวไว้ข้างบน
จากการวิเคราะห์ก็สรุปได้ว่าอาการของคนไข้คนนี้ เกิดจากการที่ปกติมีการกินทั้งสมุนไพร ทั้งอาหารเสริมต่างๆหลากหลายชนิดมากจนเกินไป ยาบำรุงส่วนใหญ่ก็จะมีฤทธิ์ร้อน(热)และมีการย่อยดูดซึมยาก (腻) และเมื่อทานเป็นประจำ ก็จะทำให้ร่างกายเกิดสภาวะม้ามร้อนชื้นคุกคามม้าม (湿热困脾) "ม้าม" ในทางแพทย์แผนจีนจะเกี่ยวข้องกับระบบย่อยและเผาผลาญ เมื่อม้ามชื้นส่งผลให้การทำงานไม่สมดุล ระบบย่อยเกิดปัญหาไม่สามารถย่อยและดูดซึมได้เต็มที่ คนไข้ก็เลยมีอาการเบื่ออาหาร อ่อนเพลีย การขับถ่ายผิดปกติ
เมื่อทราบปัญหาแล้วจึงแนะนำให้คนไข้หยุดทานยาบำรุงและอาหารเสริมทุกชนิดก่อน จากนั้นก็จะให้ยาสมุนไพรจีนที่มีฤทธิ์ในการขจัดความชื้น ฟื้นฟูระบบย่อย เช่นตำรับยา หวงเหลียนเวินต่านทัง คนไข้รับประทานตำหรับนี้ 20 วัน ก็หายจากอาการเพลียที่เป็นมา 2 ปี
การรักษาด้วยแพทย์แผนจีนไม่จำเป็นต้องใช้ยาบำรุงแพง ๆ เสมอไป สำคัญคือต้องวินิจฉัยให้ตรงจุด และใช้ยาให้ถูกโรคและอาการก็จะเห็นผลได้
และ "ยาบำรุง"แต่ละชนิด ต้องใช้อย่างถูกต้อง ไม่ได้เหมาะกับทุกคนครับ
26 ก.ย. 2567
15 พ.ย. 2567
12 พ.ย. 2567
20 ม.ค. 2568