Last updated: 2 ก.ค. 2567 | 19409 จำนวนผู้เข้าชม |
ชาวจีนโบราณมีคำกล่าวที่ว่า" 树老根先枯,人老腿先老" หมายความว่า “ต้นไม้จะแห้งตายเริ่มที่ราก คนเราถ้าสูงวัยให้ดูที่ขาก่อน” ดังนั้น การมีชีวิตที่ยืนยาวและมีสุขภาพดี ควรเริ่มต้นดูแลขาและเท้าเป็นอันดับแรก
คำกล่าวนี้แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของอวัยวะขาและเท้าที่ต้องรับบทหนักตลอดช่วงชีวิตของมนุษย์เรา ทั้งเคลื่อนไหว ยืน เดิน เตะ กระโดด และเป็นส่วนที่อยู่ไกลจากหัวใจมากที่สุด แต่ก็มีความสำคัญไม่แพ้อวัยวะอื่นๆ ทั้งยังสามารถสะท้อนถึงการทำงานของหัวใจได้ อีกทั้งคนที่มีภาวะหลอดเลือดอุดตันที่ขาส่วนใหญ่มักมีปัญหาเกี่ยวกับโรคหัวใจและหลอดเลือดและโรคทางหลอดเลือดสมอง เพราะว่าโรคหลอดเลือดเป็นโรคทางระบบภาวะหลอดเลือดแดงที่ขาเป็นอาการแสดงของหลอดเลือดแดงทั้งระบบซึ่งสะท้อนถึงหัวใจได้เช่นเดียวกัน
สัญญาณบ่งบอกความสูงวัยที่สังเกตได้จากขาและเท้า
1. เมื่ออายุขึ้นเลข 4 และเริ่มมีความรู้สึกว่าขยับขาและเท้าไม่คล่องแคล่วเหมือนเก่า เดินนิดๆหน่อยๆ ก็ปวดเมื่อยไปหมด ขึ้นบันไดไม่ค่อยสะดวก ทำงานนิดหน่อยก็ปวดเอวปวดขา
2. เดินได้ช้ากว่าปกติ อยากเดินเร็วแต่ขาก้าวไม่ไหว
3. รู้สึกหนาวเย็นที่ขาและเท้า ปวดสะโพกร้าวลงขา กระดูกเอวเสื่อม
4. เป็นตะคริวบ่อยๆเมื่อเจออากาศเย็นๆและหลังออกกำลังกาย ปวดส้นเท้า มีภาวะกระดูกพรุน
5. ขาบวมเท้าบวม จากการไหลเวียนโลหิตไม่ดีที่บริเวณขาและเท้า หรือขาบวมจากโรคหลอดเลือดหัวใจ และโรคไต
6. มีเส้นเลือดขอดที่ขา
7. ปวดสะโพก ปวดเอวปวดข้อเข่า
วิธีการดูแลขาและเท้า
อันดับแรกควรรักษาความอบอุ่นบริเวณขา สวมใส่กางเกงหลวมๆ หมั่นนวดขา นวดเท้า หรือ อาจใช้น้ำร้อนแช่เท้าก่อนนอน เพื่อขับเย็นไล่ชื้นส่งเสริมการไหลเวียนโลหิต
สิ่งสำคัญในการปกป้องขาคือไม่ควรปล่อยให้ขาและเท้าเย็น เพื่อให้เลือดไหลเวียนได้อย่างราบรื่นไม่ติดขัด สองคือการขยับหรือออกกำลังกาย สามคือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้หลอดเลือดเกิดการเสื่อมโทรม เช่น การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอลล์ การนอนหลับที่ไม่เพียงพอ ความเครียด ความผิดปกติของระดับไขมันและน้ำตาลในเลือด สี่ควรรับแสงแดดให้มากขึ้น เป็นการเพิ่มพลังหยางรักษาความอบอุ่น และยังส่งเสริมการสร้างวิตามินดีในร่างกาย หลีกเลี่ยงการสูญเสียแคลเซียม ป้องกันโรคกระดูกพรุน
8 จุดนวด บำรุงขาและเท้าด้วยตนเอง
1. จุดหวนเที่ยว : รอยบุ๋มที่สะโพก
กำมือหลวมแล้วใช้สันมือทุบ 8 ครั้ง ทำ 4 เซต
2. จุดเฟิงซื่อ : กึ่งกลางกล้ามเนื้อขาด้านข้าง (Vastus lateralis )
3. จุดหยางหลิงเฉวียน : ใต้หัวกระดูกด้านนอกของขาท่อนล่าง
ใช้นิ้วมือกด-คลึง ที่จุดนี้ 1-3 นาที
4. จุดเหว่ยจง : กึ่งกลางข้อพับเข่า
ใช้นิ้วมือกด-คลึง หรือ ตบที่จุดนี้ 1-3 นาที
5. จุดเฉิงซาน : น่อง
6. จุดอินหลิงเฉวียน : แอ่งใต้หัวกระดูกหน้าแข้งบริเวณด้านในของขาท่อนล่าง
ใช้นิ้วมือกด-คลึง ที่จุดนี้ 1-3 นาที
7. จุดซานอินเจียว : เหนือตาตุ่มด้านใน 3 ชุ่นชิดขอบด้านหลังกระดูก ใช้นิ้วมือกด-คลึง ที่จุดนี้ 1-3 นาที
8. จุดจู๋ซานหลี่ : ใต้เข่าลงมา 3 ชุ่นห่างจากขอบกระดูก Tibia 1 นิ้วมือ ใช้นิ้วมือกด-คลึง ที่จุดนี้ 1-3 นาที
บทความโดย
แพทย์จีนชลิดา สิทธิชัยวิจิตร (เฉิน เป่า เจิน)
เลขที่ใบประกอบโรคศิลปะ พจ.652
รักษาโรคอายุรกรรมทั่วไป เช่น ไข้หวัด ไอ ปากเป็นแผล ปวดเวียนศีรษะ นอนไม่หลับ ขี้หนาว โรคเหงื่อ ภูมิแพ้ อ่อนเพลียเรื้อรัง อาการที่เกี่ยวข้องกับระบบหลอดเลือดและหัวใจเช่น อาการแน่นหน้าอก เจ็บหน้าอก ใจสั่น
ปรับสมดุลร่างกายและการหย่างเซิง (การดูแลส่งเสริมสุขภาพในแนวทางศาสตร์การแพทย์แผนจีน)
12 พ.ย. 2567
26 ก.ย. 2567
20 ม.ค. 2568
15 พ.ย. 2567