Last updated: 2 ก.ค. 2567 | 11114 จำนวนผู้เข้าชม |
ภาวะประจำเดือนมาช้า สามารถพบได้ตั้งแต่วัยรุ่นจนถึงวัยก่อนหมดประจำเดือน การที่ประจำเดือนมาช้าอาจส่งผลเสียกับผู้หญิงทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ อีกทั้งยังเพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดภาวะมีบุตรยากอีกด้วย
ประจำเดือนมาช้า หมายถึงประจำเดือนมาช้ากว่าปกติ 7 วันขึ้นไป ติดต่อกันไม่เกิน 6 เดือน ซึ่งอาจมีความผิดปกติเกี่ยวกับปริมาณประจำเดือนร่วมด้วย
สาเหตุของการเกิดโรคทางแพทย์แผนปัจจุบัน
1. ความเครียด
2. น้ำหนักตัว น้ำหนักตัวที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงมากจนเกินไปล้วนส่งผลต่อประจำเดือนทั้งสิ้น เนื่องจากหากน้ำหนักตัวน้อยจนเกินไป ไขมันที่จำเป็นต่อการผลิตฮอร์โมนที่ทำให้ไข่ตกจะไม่เพียงพอ และหากน้ำหนักตัวมากจนเกินไปจะทำให้ร่างกายผลิดฮอร์เอสโตรเจนมากเกินไป
3. การตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร
4. โรคประจำตัวบางอย่าง เช่น โรคไทรอยด์ โรคเบาหวาน โรคถุงน้ำรังไข่หลายใบ เป็นต้น
5. การใช้ยาบางชนิด เช่น ยาคุมกำเนิด ยาต้านซึมเศร้า ยารักษาความดันโลหิตสูง เป็นต้น
6. อายุ เมื่อระยะก่อนเข้าสู่วัยทองเป็นช่วงที่สมดุลฮอร์โมนไม่คงที่ ซึ่งอาจส่งผลทำให้ประจำเดือนมาช้า
สาเหตุและกลไกของการเกิดโรคทางแพทย์แผนจีน
สาเหตุการเกิดโรคประจำเดือนมาช้าในทางการแพทย์แผนจีนสามารถแบ่งได้ 2 แบบ ทั้งสาเหตุที่เกิดจากความแกร่งและสาเหตุที่เกิดจากความพร่อง
1. ไตพร่อง เกิดจากชี่ไตแต่กำเนิดไม่เพียงพอ(先天肾气不足)หรือมีบุตรหลายคน เป็นผลให้ชี่ไตได้รับความเสียหาย ชี่ไม่สามารถกำเนิดเลือดได้ จึงทำให้เลือดไม่เพียงพอที่จะมาเติมเต็มมดลูกและไม่สามารถขับประจำเดือนออกมาได้ตรงเวลา
2. เลือดพร่อง เกิดจากสภาพร่างกายที่อ่อนแอ เลือดในร่างกายไม่เพียงพอ อาจเป็นผลมาจากการคลอดบุตรหลายคนซึ่งทำให้เสียเลือดมาก และยังเกิดได้จากชี่ม้ามที่อ่อนแอ ซึ่งม้ามเป็นหนึ่งในอวัยวะที่ช่วยสร้างเลือด เมื่อชี่ม้ามอ่อนแอจึงทำให้ไม่สามรถสร้างเลือดได้เพียงพอ
3. เลือดเย็น เกิดจากร่างกายพื้นฐานหยางพร่อง หรือร่างกายอ่อนแอจากโรคเรื้อรังเป็นเวลานาน จึงทำให้หยางในร่างกายลดลงจนเกิดความเย็น เมื่อในร่างกายเกิดความเย็นแล้วมากระทบกับเลือดจึงทำให้เลือดไม่สามารถไปเลี้ยงอวัยวะอื่น ๆได้
4. ความเย็นแกร่ง เกิดจากความเย็นจากภายนอกมากระทบช่วงหลังมีประจำเดือน การทานอาหารที่มีความเย็นมากเกินไป จนความเย็นมากระทบต่อระบบไหลเวียนเลือดในร่างกาย
5. ชี่ติดขัด เกิดจากอารมณ์ทั้งเจ็ดที่ติดขัด คิดมากหรือโมโหมากเกินไปจะมีผลกระทบต่อการไหลเวียนของชี่และเลือดในร่างกาย เลือดไหลเวียนไม่สะดวกจึงทำให้ประจำเดือนมาผิดปกติ
การวินิจฉัยแยกกลุ่มอาการ
1. กลุ่มอาการไตพร่อง(肾虚证)
อาการ : ประจำเดือนมาช้า ประจำเดือนปริมาณน้อย สีจางคล้ำ ลักษณะเหลวใส หรือ ตกขาวเหลวใส มีอาการปวดเอวเข่าอ่อน มึนหัว หูอื้อ ใบหน้าหมองหรือมีจุดด่างดำบริเวณใบหน้า ลิ้นสีซีด ฝ้าขาวบาง ชีพจรเล็กและลึก
วิธีการรักษา : บำรุงไต บำรุงเลือด ปรับสมดุลของประจำเดือน
2. กลุ่มอาการเลือดพร่อง(血虚证)
อาการ : ประจำเดือนมาช้า ปริมาณน้อยสีแดงอ่อนและลักษณะเหลวใส มักจะมีอาการปวดหน่วงบริเวณท้องน้อย มึนหัวตาลายใจสั่น นอนหลับได้ไม่เพียงพอ ใบหน้าขาวซีดหรือเหลืองร่วมด้วย ลิ้นสีแดงอ่อน ชีพจรเล็กอ่อนแรง
วิธีการรักษา : เพิ่มเลือดเสริมชี่ ปรับสมดุลของประจำเดือน
3. กลุ่มอาการเลือดเย็น(血寒证)
3.1 กลุ่มอาการเย็นพร่อง(虚寒证)
อาการ : ประจำเดือนมาช้า ปริมาณน้อย ประจำเดือนสีแดงซีด ลักษณะใส ปวดรำคาญบริเวณท้องน้อย กดท้องหรือประคบร้อนจะรู้สึกดีขึ้น ปวดเอวอ่อนแรง ปัสสาวะปริมาณมากและสีใส อุจจาระเหลว ลิ้นสีซีด ฝ้าลิ้นขาว ชีพจรจมช้า หรือเล็กอ่อนแรง
วิธีการรักษา : บำรุงหยาง ขับความเย็น ปรับสมดุลประจำเดือน
3.2 กลุ่มอาการเย็นแกร่ง(实寒证)
อาการ : ประจำเดือนมาช้า ปริมาณน้อย สีคล้ำมีลิ่มเลือด ปวดเย็นบริเวณท้องน้อย กดแล้วอาการเจ็บเพิ่มขึ้น ประคบร้อนแล้วอาการดีขึ้น กลัวความเย็น สีหน้าขาวอมเขียว ลิ้นสีซีดคล้ำ ฝ้าลิ้นขาว ชีพจรจมแน่น
4. กลุ่มอาการชี่ติดขัด(气滞证)
อาการ : ประจำเดือนมาช้า ปริมาณน้อยหรือปกติ สีแดงเข้ม มีลิ่มเลือด ปวดแน่นบริเวณท้องน้อย หรือมีอาการซึมเศร้า คัดตึงเต้านมก่อนมีประจำเดือน สีลิ้นปกติหรือมีสีแดง ฝ้าขาวบางหรือเหลือง ชีพจรตึง หรือตึงเร็ว
วิธีการรักษา : ขับเคลื่อนชี่และกระจายชี่ติดขัด ปรับสมดุลประจำเดือน
ตัวอย่างกรณีการรักษา
ข้อมูลผู้ป่วย
รหัสผู้ป่วย : XXX
วันที่เข้ารับการรักษา : 7 สิงหาคม 2564
เพศ : หญิง อายุ : 28 ปี
น้ำหนัก : 47 kg
ความดันโลหิต: 114/71 mmHg
ประวัติการเจ็บป่วย (History taking) : ไม่มี
อาการสำคัญ (Chief complaint)
- ประจำเดือนไม่มา 2 เดือน
- ประจำเดือนครั้งล่าสุด (LMP) มาวันที่ 20 พฤษภาคม 2564 ประจำเดือนมา 5 วัน ปริมาณปกติ สีแดงสด ไม่มีปวดท้องประจำเดือน มีลิ่มเลือด มีอาการคัดตึงเต้านม ไม่ปวดเอว
อาการร่วม
- ก่อนเป็นประจำเดือนมีสิวขึ้นบริเวณใบหน้า
- นอนพักผ่อนไม่เพียงพอ
- ปัสสาวะและอุจจาระปกติ
ประวัติประจำเดือน ประจำเดือนมา 5-6 วัน 30-60วันประจำเดือนมา 1 ครั้ง ประจำเดือนก่อนครั้งล่าสุด(PMP)มาวันที่ 15 เมษายน 2564
ประวัติการตั้งครรภ์ 0-0-0-0
ประวัติอดีต (Past history)
- ปฏิเสธประวัติแพ้ยา
การตรวจร่างกาย (Physical Examination)
- ลิ้นแดงอ่อน ฝ้าขาวบาง
- ชีพจรลื่น
ผลการวินิจฉัยโรค (Diagnosis)
- ประจำเดือนมาช้า
ผู้ป่วยมีภาวะประจำเดือนมาช้าซึ่งในทางแพทย์แผนจีนอยู่ในกลุ่มโรคประจำเดือนมาผิดปกติ สาเหตุเกิดจากความเครียดและความกัลวลส่งผลให้ชี่ตับเดินติดขัด ชี่เป็นตัวผลักดันเลือด เมื่อชี่ตับติดขัด เลือดในร่างกายจึงไหลเวียนไม่ดี เกิดเป็นเลือดคั่ง ทำให้ประจำเดือนมาผิดปกติ
วิธีการรักษา (Treatment)
- รับประทานยาสมุนไพรจีน โดยแพทย์จีนเลือกใช้ตำรับยาสมุนไพรจีนที่มีคุณสมบัติเพิ่มการไหลเวียนเลือด สลายเลือดคั่ง ระบายชี่ตับ ระงับอาการปวดท้องประจำเดือน และช่วยสงบจิตใจ
ผลการรักษา (Progression note)
ประเมินผลหลังการรักษาครั้งที่ 2 (วันที่ 14 สิงหาคม 2564)
- ประจำเดือนยังไม่มา
- ไม่มีการตกไข่ (BBT单相)
- ตรวจชีพจรพบชีพจรตึง
- ตรวจพบลิ้นสีแดง ฝ้าขาวบาง
แนวทางและวิธีการรักษาด้วยการแพทย์แผนจีน
ใช้ตำรับยาเซียวเหยาส่านเพิ่มลด (逍遥散加减)เพื่อช่วยระบายชี่ตับ ปรับการไหลเวียนของชี่และเลือด บำรุงม้าม เพิ่มยาที่ช่วยกระตุ้นการตกไข่ และช่วยสงบจิตใจ เพื่อทำให้ประสิทธิภาพในการนอนหลับดีขึ้น
ประเมินผลหลังการรักษาครั้งที่ 3 (วันที่ 28 สิงหาคม 2564)
- มีไข่ตก (BBT双相)
- รู้สึกคัดหน้าอก ปวดเอว
- อาการนอนหลับดีขึ้น ขับถ่ายเป็นปกติ
ประเมินผลหลังการรักษาครั้งที่ 4 (วันที่ 11 กันยายน 2564)
- ประจำเดือนมา lmp :29/08/64 x 7d ปริมาณปกติ ประจำเดือนสีแดงสด ไม่ปวดท้องประจำเดือน ไม่มีลิ่มเลือด ปวดเอว คัดตึงเต้านม
- มีประจำเดือนมา(BBT ต่ำลง)
- นอนหลับดี ปัสสาวะและอุจจาระปกติ
- ตรวจชีพจรพบชีพจรลื่นตึง
- ตรวจพบลิ้นสีแดง ฝ้าขาวบาง
ประเมินผลหลังการรักษาครั้งที่ 6 (วันที่ 9 ตุลาคม 2564)
- ประจำเดือนกลับมาสม่ำเสมอเป็นปกติตรงรอบเดือน lmp :27/09/64 x 5d ปริมาณปกติ ประจำเดือนสีแดงสด ไม่ปวดท้องประจำเดือน ไม่มีลิ่มเลือด ไม่ปวดเอว คัดตึงเต้านม
- มีประจำเดือนมา (BBT ต่ำลง) นอนหลับดี ปัสสาวะและอุจจาระปกติ
- ตรวจชีพจรพบชีพจรตึง
- ตรวจพบลิ้นสีแดงอ่อน ฝ้าขาวบาง
ประเมินผลหลังการรักษาครั้งที่ 8 (วันที่ 6 พฤศจิกายน 2564)
- ประจำเดือนกลับมาสม่ำเสมอเป็นปกติตรงรอบเดือน lmp :01/11/64 x 5d ปริมาณปกติ ประจำเดือนสีแดงสด ไม่ปวดท้องประจำเดือน มีลิ่มเลือด ไม่ปวดเอว คัดตึงเต้านม
- มีประจำเดือนมา (BBT ต่ำลง) มีอาการนอนหลับดี ปัสสาวะและอุจจาระปกติ
- ตรวจชีพจรพบชีพจรตึง
- ตรวจพบลิ้นสีแดง ฝ้าขาวบาง
สรุปผลการรักษา
จากกรณีตัวอย่างของผู้ป่วยที่เข้ามารับการรักษา แสดงให้เห็นว่ายาสมุนไพรจีนสามารถรักษาภาวะประจำเดือนมาช้าได้เป็นอย่างดี ผลการรักษาเป็นที่น่าพอใจ ส่งผลให้คุณภาพชีวิตทั้งด้านร่างกายและจิตใจของผู้ป่วยดีขึ้น
วิเคราะห์ผลการรักษา
ผู้ป่วยมีภาวะประจำเดือนมาช้า ร่วมกับมีอาการประจำเดือนมีลิ่มเลือด คัดแน่นหน้าอก ชีพจรตึง เนื่องจากชี่ตับติดขัด เลือดไหลเวียนไม่ดี เกิดเป็นเลือดคั่ง ทำให้ประจำเดือนไม่มา หลังการรักษาไป 5 สัปดาห์ คนไข้มีอาการดีขึ้นเป็นลำดับ มีไข่ตก(BBT双相)นอนหลับดีขึ้น ขับถ่ายเป็นปกติ
และเมื่อรักษาต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 13 สัปดาห์ ผู้ป่วยประจำเดือนมาตามรอบปกติ สม่ำเสมอและนอนหลับดี
จากประสบการณ์ของผู้เขียนนั้นพบว่าภาวะประจำเดือนมาช้าสามารถใช้สมุนไพรจีนเข้ามามีส่วนร่วมในการรักษาได้อย่างประสิทธิภาพ โดยผลการรักษาเป็นที่น่าพอใจ
ข้อมูลและบันทึกการรักษาโดย
แพทย์จีน สิตา สร้อยอัมพรกุล (หลิน อิ่ง เหวิน)
TCM. Dr. Sita Soiampornkul (Lin Ying Wen)
เลขที่ใบประกอบโรคศิลปะ พจ.1049
แพทย์จีนเฉพาะทางด้านนรีเวช และรักษาโรคอายุรกรรมทั่วไป มีบุตรยาก รังไข่เสื่อมก่อนวัยอันควร ประจำเดือนผิดปกติ วัยทอง ปวดประจำเดือน PCOS เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ ช็อกโกแลตซีสต์ เนื้องอกในมดลูก อุ้งเชิงกรานอักเสบ บำรุงน้ำนมหลังคลอดและโรคทางนรีเวชอื่นๆ
11 พ.ย. 2567
11 พ.ย. 2567
25 ต.ค. 2567