นอนไม่หลับ รักษาด้วยวิธีฝังเข็มและยาจีน (ประสบการณ์การรักษา)

Last updated: 2 ก.ค. 2567  |  9441 จำนวนผู้เข้าชม  | 

นอนไม่หลับ รักษาด้วยวิธีฝังเข็มและยาจีน (ประสบการณ์การรักษา)

ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลทำให้คนไข้มีอาการนอนไม่หลับเพิ่มขึ้น  จากผลการวิจัยของรอยัล ฟิลิปส์ ผู้นำด้านเทคโนโลยีเพื่อการดูแลสุขภาพระดับโลก พบว่ากลุ่มตัวอย่างในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกพบว่ากว่าสองในสามหรือ 71% มีสุขภาพการนอนที่แย่ลง ถึงแม้ใช้เวลานอนเพิ่มขึ้นเฉลี่ย  7.2 ชม.ต่อคืน แต่กว่า 41% พวกเขากลับรู้สึกไม่พึงพอใจต่อคุณภาพการนอน ซึ่งจากการสำรวจพบว่า 42% มีปัญหาตื่นนอนในช่วงกลางดึก และ 33% มีอาการเผลอหลับโดยไม่รู้ตัว ในขณะที่ 26% มีอาการนอนไม่หลับ โดยสาเหตุอันดับแรกของการนอนไม่หลับมาจาก ความเครียดและวิตกกังวล (21%) รองลงมาคือ การใช้สมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต (17%) และสภาพแวดล้อมของการนอน (16%)

อาการแบบไหนถึงเรียกว่า “นอนไม่หลับ”
- ความยากลำบากในการนอนหลับและการหลับอย่างต่อเนื่องและคุณภาพการนอนหลับที่ไม่เพียงพอ
- นอนไม่หลับอย่างน้อย 3 คืนต่อสัปดาห์ และยาวถึง 1 เดือนเป็นอย่างต่ำ
- ผู้ป่วยเกิดความเครียดเพราะนอนไม่หลับและกระทบชีวิตประจำวัน

อาการนอนไม่หลับสามารถกลายเป็นปัญหาเรื้อรังที่รบกวนจิตใจและกระบวนการทำงานของร่างกาย ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ประสิทธิภาพการเรียน หรือการทำงานลดลง ไม่มีสมาธิ ความจำลดลง ฯลฯ

ปกติทั่วไป คนเรามีชั่วโมงการนอนที่ต่างกันออกไปตามช่วงอายุ  เด็กแรกเกิดอยู่ที่ 14-17 ชั่วโมงต่อวัน จากนั้นค่อยๆลดลงตามอายุที่เพิ่มขึ้น โดยจำนวนชั่วโมงการนอนที่เหมาะสมของ ผู้ใหญ่อยู่ที่ 7-9 ชั่วโมงต่อวัน

อายุที่เพิ่มขึ้น ความต้องการในการนอนหลับลดลง เพราะร่างกายผลิตสารเซโรโทนินซึ่งเป็นฮอร์โมนที่ช่วยให้นอนหลับได้ลดลง จึงมักพบปัญหาการนอนไม่หลับได้มากในช่วงวัยกลางคน รวมทั้งวัยชรา

สาเหตุและกลไกการเกิดโรคในทางแพทย์จีน
ในมุมมองของแพทย์แผนจีนมักสัมพันธ์กับการรับประทานอาหารไม่ถูกสุขลักษณะ อารมณ์แปรปรวน การตรากตรำทำงานหนัก หรือร่างกายอ่อนแอหลังจากเจ็บป่วย เป็นต้น

ตำแหน่งของโรคอยู่ที่หัวใจ สัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับตับ ม้าม ไต ถุงน้ำดีและกระเพาะอาหาร

กลไกการเกิดโรค คือ เสินหัวใจขาดการหล่อเลี้ยง หรือ ถูกรบกวน  จิตใจไม่สงบ การทำงานของเส้นลมปราณอินเฉียวม่าย หยางเฉียวม่ายขาดสมดุล หยางแกร่ง อินพร่อง อินหยางขาดสมดุล หยางไม่เข้าสู่อิน

การวินิจฉัยแยกกลุ่มอาการ
แบ่งการวินิจฉัยตามกลุ่มอาการ 5 ประเภท
1. กลุ่มอาการไฟตับรบกวนหัวใจ(肝火扰心证)
อาการ : นอนไม่หลับ ฝันมาก ในรายที่อาการรุนแรงอาจถึงขั้นนอนไม่หลับทั้งคืน ใจร้อน โมโหง่าย เวียนศีรษะ ตึงศีรษะ ตาแดง หูอื้อ ปากแห้งหรือปากขม ท้องผูก ลิ้นแดงฝ้าเหลือง ชีพจรตึงเร็ว(弦数)

วิธีรักษา : ปรับการไหลเวียนของชี่ตับ ระบายร้อน สงบจิตใจ

2. กลุ่มอาการเสมหะร้อนรบกวนหัวใจ(痰热扰心证)
อาการ : นอนไม่หลับ หงุดหงิด แน่นหน้าอก เรอ สะอึก ปากขม หนักศีรษะ ตาลาย ลิ้นค่อนข้างแดง ฝ้าเหลืองเหนียว ชีพจรลื่นเร็ว(滑数)
วิธีรักษา : สลายเสมหะร้อน ปรับสมดุลกระเพาะอาหาร สงบจิตใจ

3. กลุ่มอาการม้ามหัวใจพร่อง(心脾两虚证)
อาการ : หลับยาก ฝันมาก ตื่นบ่อย ใจสั่น ขี้ลืม อ่อนเพลีย แขนขาอ่อนแรง ทานอาหารน้อยลง ท้องอึด ถ่ายเหลว เวียนศีรษะ ตาลาย ใบหน้าไม่มีชีวิตชีวา ลิ้นซีดฝ้าบาง ชีพจรเล็กไม่มีแรง(细无力)
วิธีรักษา : บำรุงม้ามและหัวใจ บำรุงเลือด สงบจิตใจ

4. กลุ่มอาการหัวใจกับไตทำงานไม่ประสาน(心肾不交证)
อาการ : นอนไม่หลับ หงุดหงิด หลับยาก ใจสั่น ฝันมาก ปวดเมื่อยเอว ตัวร้อน เหงื่ออกตอนนอน ฝ่ามือฝ่าเท้าร้อน กลางอกร้อน เวียนศีรษะ คอแห้ง มีเสียงในหู ฝันเปียก(ผู้ชาย) ประจำเดือนมาไม่ปกติ(ผู้หญิง) ลิ้นแดงฝ้าบาง ชีพจรเล็กเร็ว(细数)
วิธีรักษา : บำรุงอิน ลดไฟ เชื่อมประสานหัวใจและไต

5. กลุ่มอาการชี่หัวใจและถุงน้ำดีพร่อง(心胆气虚证)
อาการ : นอนไม่หลับ ฝันร้าย ตื่นตกใจง่าย ขี้ตกใจ ขี้กลัว ใจสั่น หายใจสั้น เหงื่อออกง่าย อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ลิ้นซีด ชีพจรตึงเล็ก(弦细)
วิธีรักษา : บำรุงชี่ ลดอาการตกใจ สงบจิตใจ

ตัวอย่างกรณีการรักษาอาการนอนไม่หลับ
ข้อมูลผู้ป่วย
รหัสผู้ป่วย : XXX
ชื่อ : XXX
วันที่เข้ารับการรักษา : 21 สิงหาคม 2564
เพศ : หญิง
อายุ : 37 ปี
อุณหภูมิ 36 องศาเซลเซียส
ชีพจร : 91 ครั้ง/นาที
ความดันโลหิต : 131/73 mmHg น้ำหนัก :  72 กิโลกรัม
O2 sat  : 99%

อาการสำคัญ (Chief complaint) เข้านอนยาก 2 ปี
อาการปัจจุบัน (Present illness)
เข้านอนยาก 2 ปี สามารถนอนได้เพียง 1-3 ชั่วโมงต่อคืนเท่านั้น บางครั้งนอนไม่หลับทั้งคืน ปกติต้องรับประทานยา Lorazepam ถึงสามารถเข้านอนได้ตามปกติ เนื่องจากการระบาดหนักของโควิด-19 ไม่สามารถเข้าไปตรวจและรับยาได้ตามปกติทำให้อาการหนักขึ้น  นอนยาก ตื่นง่าย เข้านอนต่อลำบาก ร่วมกับมีอาการเครียด เนื่องจากภาวะงานที่เพิ่มขึ้น  ปวดศีรษะ ไม่มีสมาธิ ความจำแย่ลง ประสิทธิภาพการทำงานลดลง หายใจไม่สุด อ่อนเพลีย  ฝันเยอะ ท้องอืด ชอบรับประทานขนมหวาน น้ำหนักเพิ่มขึ้น ขาดการออกกำลังกาย ขับถ่ายปกติ ชีพจรตึงเล็กเร็ว

ประวัติการเจ็บป่วยในอดีต( Past history)
ปฏิเสธประวัติการแพ้ยาและอาหาร
เคยรับประทานยานอนหลับ 2 ปี
การวินิจฉัยโรค(Diagnosis)

วินิจฉัยตามหลักแพทย์จีน
不寐นอนไม่หลับ (กลุ่มอาการไฟตับรบกวนหัวใจร่วมกับม้ามพร่อง)

วินิจฉัยตามหลักแพทย์ปัจจุบัน
นอนไม่หลับ(Insomnia)


วิธีการรักษา(Treatment)
รักษาด้วยการฝังเข็มเป็นหลัก ร่วมกับการใช้ยาจีนสำเร็จรูป ใช้หลักการรักษา ปรับการไหลเวียนของชี่ตับ ลดความเครียด ระบายร้อน สงบจิตใจ ร่วมกับปรับสมดุลกระเพาะอาหาร

ผลการรักษา (progression note)
ผู้ป่วยเข้าการรักษา ตั้งแต่วันที่ 21 สิงหาคม 2564 - วันที่ 11 กันยายน 2564

รักษาครั้งที่ 2 วันที่ 22 /8/2564
หลังจากฝังเข็มไปครั้งแรก ยังนอนยาก ตี2 ถึงเข้านอน สามารถนอนได้ 7 ชั่วโมง อาการอ่อนเพลียดีขึ้น หายใจโล่งขึ้น ไม่มีอาการปวดศีรษะ

รักษาครั้งที่ 3 วันที่ 28/8/2564
สัปดาห์นี้นอนหลับดีขึ้น มีเพียงคืน วันที่ 27/8/2564 ที่นอนยาก เนื่องจากเครียดเรื่องงาน แต่ไม่มีอาการปวดศีรษะ

รักษาครั้งที่ 4 วันที่ 11/9/2564
2 สัปดาห์นี้โดยรวมดีขึ้นมาก สามารถเข้านอนได้ตามปกติ นอนได้ 7-8 ชั่วโมงต่อคืน สดชื่นขึ้น ไม่อ่อนเพลีย ไม่มีอาการท้องอึด ไม่มีอาการปวดศีรษะ ความจำดีขึ้น มีสมาธิ สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ ทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น

สรุปผลการรักษา 
การฝังเข็มสามารถรักษาอาการนอนไม่หลับได้ผลดี จนสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ผลการรักษาขึ้นอยู่กับบุคคล ปัจจัยกระตุ้น และการดูแลตัวเองของคนไข้ด้วย เช่น จัดที่นอนให้เหมาะสม  เงียบสงบ เข้านอนเป็นเวลา หรืออาจผ่อนคลายก่อนนอน เช่น แช่เท้าด้วยน้ำอุ่น ฟังเพลง นั่งสมาธิ ฯลฯ

หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายก่อนนอน เลี่ยงการใช้มือถือหรือดูทีวีก่อนนอนอย่างน้อย 2 ชั่วโมง  และเลี่ยงการดื่มชาหรือกาแฟหลังช่วงบ่าย ก็สามารถช่วยให้คนไข้นอนหลับได้ง่ายขึ้น และมีคุณภาพการนอนที่ดีขึ้น

บทความโดย
แพทย์จีน ปิยะมาศ เมืองใชย (หมอจีน ปี้ หย่า หม่า)
เลขที่ใบประกอบโรคศิลปะ พจ.370
ฝังเข็มรักษาโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต อัมพาตใบหน้า นอนไม่หลับ ออฟฟิศซินโดรม อาการปวดต่างๆ เช่น ปวดหัว ไมเกรน ปวดประจำเดือน โรคกระเพาะอาหาร


อ้างอิง
กรมสุขภาพจิต
บัญชีจำแนกทางสถิติระหว่างประเทศของโรคและปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวข้อง ฉบับทบทวนครั้งที่ 10 (ICD-10) ขององค์กรอนามัยโลก

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้