Last updated: 2 ก.ค. 2567 | 7298 จำนวนผู้เข้าชม |
อาการปวดปลายประสาทหลังจากงูสวัด
(post-herpetic neuralgia: PHN) คือ กลุ่มอาการปวดในผู้ป่วยงูสวัดภายหลังจากผื่นหายแล้ว และอาจมีอาการกำเริบช่วงที่อากาศเปลี่ยนแปลง
นอกจากนี้ผิวหนังยังอาจไวต่อการสัมผัส เป็นภาวะแทรกซ้อนที่พบได้ทั่วไปในผู้ป่วยงูสวัด ยิ่งอายุมากขึ้นยิ่งมีโอกาสเป็นมากขึ้น
โดยรวมแล้ว ภาวะนี้พบได้ผู้ป่วยงูสวัด 10%-18% นอกจากนี้ 68% ของผู้ป่วยงูสวัดและ 85% ของผู้ป่วยที่มีอาการปวดปลายประสาทหลังจากงูสวัดล้วนมีอายุมากกว่า 50 ปี [1]
สาเหตุและกลไกการเกิดโรคในทางแพทย์จีน
มักสัมพันธ์กับชี่ตับอุดกั้นแปรเปลี่ยนเป็นไฟ การรับประทานอาหารรสจัดและเผ็ด ได้รับพิษไฟร้อน
- อารมณ์แปรปรวน ทำให้มีความร้อนอุดกั้นเส้นลมปราณตับ
- การรับประทานอาหารรสจัดและเผ็ด ทำให้เส้นลมปราณม้ามมีความร้อนชื้นตกค้าง
- ได้รับพิษไฟร้อน ยิ่งทำให้ตับร้อน มีความร้อนชื้นตกค้าง รุกรานผิวหนังและเส้นลมปราณกลายเป็นผื่นตุ่มน้ำ
การวินิจฉัยแยกกลุ่มอาการ
แบ่งการวินิจฉัยตามกลุ่มอาการ 3 ประเภท
1. กลุ่มอาการความร้อนอุดกั้นเส้นลมปราณตับ (肝经郁热证)
อาการ : ตุ่มน้ำเกาะกลุ่มกัน มีสีแดงสด ผนังของตุ่มน้ำตึง หากมีอาการรุนแรงจะมีเลือดออกหรือเนื้อตาย บริเวณรอยโรคมีอาการปวดแสบปวดร้อน และมีอาการร่วม ได้แก่ ปากขม คอแห้ง หงุดหงิด โมโหง่าย ปัสสาวะสีเหลือง อุจจาระแห้ง ลิ้นแดง ฝ้าเหลือง ชีพจรตึงลื่นเร็ว (เสียนหัวซู่ม่าย)
วิธีรักษา : ระบายไฟตับ กระตุ้นการไหลเวียนเลือด ขับพิษ
2. กลุ่มอาการม้ามพร่องความชื้นตกค้าง(脾虚湿蕴证)
อาการ : ตุ่มน้ำสีค่อนข้างซีด ผนังของตุ่มน้ำค่อนข้างหย่อน แตกง่าย มีน้ำซึมออกมา หรือมีตุ่มหนอง อาการปวดอาจมากหรือน้อย อาการร่วมคือ คอไม่แห้ง ท้องอืด อุจจาระเหลว ลิ้นซีดอ้วน ฝ้าขาวหรือเหนียว ชีพจรจมช้า (เฉินห่วนม่าย) หรือ ลื่น (หัวม่าย) หรือ ลอยเล็กนิ่ม (หรู่ม่าย)
วิธีรักษา : บำรุงม้ามสลายความชื้น ขับร้อนถอนพิษ
3. กลุ่มอาการชี่ติดขัดเลือดคั่ง(气滞血瘀证)
อาการ : หลังจากตุ่มน้ำยุบจะทิ้งรอยสีม่วงคล้ำ ยังมีอาการเจ็บปวดรุนแรง และสามารถร้าวไปยังบริเวณข้างเคียง หากเป็นหนักสามารถมีอาการติดต่อกันหลายเดือน มักพบในผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีร่างกายอ่อนแอ อาการร่วมคือ เวียนศีรษะ อ่อนแรง ท้องผูก ลิ้นม่วงคล้ำหรือมีรอยปานเลือดคั่ง ฝ้าเหลือง ชีพจรตึงฝืด (เสียนเซ่อม่าย) หรือ ตึงเล็ก (เสียนซี่ม่าย)
วิธีรักษา : ขับเคลื่อนชี่ กระตุ้นการไหลเวียนเลือด สลายเลือดคั่ง ทะลวงเส้นลมปราณ
ตัวอย่างกรณีการรักษา
อาการปวดปลายประสาทหลังจากงูสวัด
ข้อมูลผู้ป่วย
รหัสผู้ป่วย : XXX
ชื่อ : XXX
วันที่เข้ารับการรักษา : 23 พฤศจิกายน 2564
เพศ : หญิง
อายุ : 59 ปี
อุณหภูมิร่างกาย 36 องศาเซลเซียส
ชีพจร : 82 ครั้ง/นาที
ความดันโลหิต : 125/55 mmHg น้ำหนัก : 64.05 กิโลกรัม
อาการสำคัญ (Chief complaint)
ปวดร้าวบริเวณท้ายทอยและหน้าอกซ้าย 10 วัน
อาการปัจจุบัน (Present illness)
ปวดตึงร้าวบริเวณท้ายทอย หลังหูและหน้าอกซ้ายหลังจากเป็นงูสวัด ผื่นงูสวัดแห้งตกสะเก็ดแล้ว แต่ยังเป็นปื้นแดง ไม่แสบร้อน ไม่คัน มีอาการปวดตอนกลางคืนเป็นบางครั้ง นอนหลับพอใช้ได้ รับประทานอาหารได้ปกติ ขับถ่ายปกติ ผู้ป่วยมีความเครียดและกังวลจากอาการป่วย ลิ้นแดง ฝ้าเหลืองบาง ชีพจรตึง (เสีนม่าย)
ประวัติการเจ็บป่วยในอดีต (Past history)
ปฏิเสธประวัติการแพ้ยาและอาหาร
การวินิจฉัยโรค (Diagnosis)
วินิจฉัยตามหลักแพทย์จีน
窜蛇疮 โรคงูสวัด (กลุ่มอาการความร้อนอุดกั้นเส้นลมปราณตับ)
วินิจฉัยตามหลักแพทย์ปัจจุบัน
ปวดปลายประสาทหลังจากงูสวัด (Post-Herpetic Neuralgia)
วิธีการรักษา (Treatment)
รักษาด้วยการฝังเข็ม ใช้หลักการรักษา ระบายไฟตับ กระตุ้นการไหลเวียนเลือด ขับพิษ
ผลการรักษา (progression note)
ผู้ป่วยเข้าการรักษา ตั้งแต่วันที่ 23 พฤศจิกายน 2564 – วันที่ 30 พฤศจิกายน 2564
รักษาครั้งที่ 2 วันที่ 26/11/2564
หลังจากฝังเข็มไปครั้งแรก อาการปวดลดลง บริเวณที่ปวดแคบลง ไม่คัน ไม่แสบร้อน นอนหลับปกติ
รักษาครั้งที่ 3 วันที่ 30/10/2564
อาการปวดลดลงมากกว่า 95% บริเวณที่ปวดแคบลง ปวดแค่บริเวณต้นคอเท่านั้น นอนหลับปกติ
รักษาครั้งที่ 4 วันที่ 3/12/2564
อาการปวดลดลง 97%-98% แทบจะไม่มีอาการปวดแล้ว ไม่มีอาการแสบร้อน นอนหลับได้ปกติ
จากการติดตามอาการวันที่ 11/12/2564 พบว่าผู้ป่วยไม่มีอาการปวดแล้ว
สรุปผลการรักษา
การฝังเข็มสามารถรักษาปวดปลายประสาทลังจากงูสวัดได้ผลดี สามารถลดอาการปวดแสบร้อนได้เป็นอย่างดี ช่วยย่นระยะเวลาในการฟื้นฟู ทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้น ทั้งนี้ผลการรักษาขึ้นอยู่กับบุคคล ปัจจัยกระตุ้น และการดูแลตัวเองของคนไข้ด้วย
อ้างอิง
1. Leung J, Harpaz R, Molinari NA, Jumaan A, Zhou F. Herpes zoster incidence among insured persons in the United States, 1993-2006: evaluation of impact of varicella vaccination. Clin Infect Dis 2011; 52: 332-40.
แพทย์จีนผู้รักษาและบันทึกข้อมูล
แพทย์จีน ปิยะมาศ เมืองใชย (ปี้ หย่า หม่า)
เลขที่ใบประกอบโรคศิลปะ พจ.370
ฝังเข็มรักษาโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต อัมพาตใบหน้า นอนไม่หลับ ออฟฟิศซินโดรม อาการปวดต่างๆ เช่น ปวดหัว ไมเกรน ปวดประจำเดือน โรคกระเพาะอาหาร
11 พ.ย. 2567
25 ต.ค. 2567
11 พ.ย. 2567