Last updated: 2 ก.ค. 2567 | 8151 จำนวนผู้เข้าชม |
ทุกท่านคงทราบกันดีว่าร่างกายของคนเรานั้น ยิ่งนานวันยิ่งถดถอย โดยเฉพาะในผู้สูงอายุมักประสบปัญหาในเรื่องความจำ อย่างเช่นเมื่อเช้านี้วางของในที่วางอยู่เป็นประจำแต่กลับหาไม่เจอ สับสนเรื่องเวลา หรือจำไม่ได้เลยว่าเคยเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น
ในแพทย์แผนปัจจุบันพบมากในผู้ป่วยสมองเสื่อมในระยะเริ่มต้น อาจมีสาเหตุจากโรคอัลไซเมอร์ หรือโรคหลอดเลือดสมองมีความผิดปกติ หนา แข็งตัว ตีบ ในบางกรณีสามารถพบในผู้สูงอายุที่มีอาการหลงลืมอย่างรุนแรง อาจถึงขั้นช่วยเหลือตนเองไม่ได้ เป็นต้น ดังนั้นเรามาเรียนรู้และป้องกันเพื่อไม่ให้สายเกินไป
ภาวะหลงลืมในมุมมองแพทย์จีนเกิดจากสาเหตุอะไร ?
ภาวะหลงลืม (健忘) หมายถึง ผู้ป่วยที่มีความจำถดถอย เมื่อผ่านเจอเหตุการณ์ไปสักพักก็มักหลงลืมง่าย มีความสัมพันธ์กับอวัยวะในทางการแพทย์แผนจีน คือ สมอง หัวใจ ม้าม และไต ที่อ่อนแอลง สาเหตุจากชี่ เลือด และอินพร่อง เลือดคั่งจากชี่ติดขัด หรือเสมหะขุ่นรบกวนส่วนบนทำให้สมองขาดการหล่อเลี้ยงที่ดี
การวิเคราะห์วินิจฉัยโรคตามศาสตร์การแพทย์แผนจีน
กลุ่มอาการแบ่งได้เป็น 4 ประเภท
1. กลุ่มหัวใจและม้ามพร่อง (心脾不足证)
อาการที่พบ : หลงลืม นอนไม่หลับ หายใจสั้น ใจสั่น อ่อนเพลีย ไม่อยากอาหาร ท้องอืด ลิ้นซีด ชีพจรเล็ก ไม่มีแรง
แนวทางการรักษา : บำรุงหัวใจและม้าม (补益心脾)
ตำรับยา : กุยผีทัง (归脾汤)
2. กลุ่มอาการขาดสารจำเป็นในไต (肾精亏耗证)
อาการที่พบ : หลงลืม ร่างกายอ่อนเพลีย ปวดเมื่อยเอว ขาไม่มีแรง เวียนศีรษะ มีเสียงดังในหู ร้อนฝ่ามือ ฝ่าเท้าและร้อนในอก ลิ้นแดง ชีพจรเล็กเร็ว
แนวทางการรักษา : เติมสารน้ำ บำรุงไขกระดูก (填津补髓)
ตำรับยา : เหอเชอต้าจ้าวหวาน (河车大造丸)
3. กลุ่มเสมหะขุ่นรบกวนหัวใจ (痰浊扰心证)
อาการที่พบ : หลงลืม ขี้เซา เวียนศีรษะ แน่นหน้าอก คลื่นไส้ ไอมีเสมหะ ลิ้นมีฝ้าเหนียว ชีพจรตึงลื่น
แนวทางการรักษา : ขับเสมหะ สงบจิตใจ (化痰宁心)
ตำรับยา : เวินต่านทัง (温胆汤)
4. กลุ่มอาการเลือดคั่งอุดตัน (血瘀痹阻证)
อาการที่พบ : หลงลืม ใจสั่น แน่นหน้าอก พูดช้า ตอบสนองช้า เหม่อลอย หน้าและริมฝีปากแดงคล้ำ ลิ้นม่วงคล้ำ มีจุดเลือด ชีพจรเล็กฝืด หรือ ชีพจรมีจังหวะหยุด
แนวทางการรักษา : หมุนเวียนเลือด สลายเลือดคั่ง (活血化瘀)
ตำรับยา : เซวี่ยฝู่จู๋อวีทัง (血府逐瘀汤)
หลักการหย่างเซิงส่งเสริมสุขภาพบำรุงความจำด้วยสมุนไพรจีน
เราสามารถนำสมุนไพรจีนมาทำประกอบอาหาร ปรุงเป็นซุปบำรุงอาการขี้หลง ขี้ลืมในผู้สูงอายุได้อีกด้วย ตำรับยาที่ใช้มีเพียงสองชนิดเท่านั้น คือ ตังกุย (当归)
ตังกุยเป็นสมุนไพรจีนที่มีรสหวาน เผ็ด มีฤทธิ์อุ่น เข้าสู่เส้นลมปราณตับ หัวใจ ม้าม สรรพคุณบำรุงเลือด สงบจิตใจ ช่วยให้ประจำเดือนสม่ำเสมอ ระงับปวด ทำให้ลำไส้ชุ่มชื้น ช่วยระบาย
กดลิงค์นี้เพื่ออ่านข้อมูลตังกุยเพิ่มเติม
และ หวงจิง(黄精) สมุนไพรจีนที่มีรสหวาน มีฤทธิ์กลาง เข้าสู่เส้นลมปราณม้าม ปอด ไต
หวงจิงมีสรรพคุณช่วยบำรุงชี่ไต เสริมอิน ทำให้ปอดชุ่มชื้น เมื่อใช้ทั้งสองตัวยาร่วมกันช่วยบำรุงหัวใจและไต เพิ่มประสิทธิภาพด้านความจำได้ดี
แนะนำสูตรซุปตังกุยหวงจิงหย่างซินทัง 当归黄精羊心汤
วัตถุดิบ
- ตังกุย (当归) 10 กรัม
- หวงจิง (黄精) 10 กรัม
- หัวใจแกะ (羊心) 1 ชิ้น
- เกลือ (盐)
- ซุปเนื้อแกะ (羊肉汤)
- ผงพริกไทย (胡椒粉)
หมายเหตุ : หากไม่มีเนื้อแกะ สามารถปรับเปลี่ยนโดยใช้เนื้อหมู ไก่ หรือ ปลาทะเล ทดแทนได้ตามความสะดวก
วิธีทำ
1. นำตังกุย และหวงจิง ล้างให้สะอาด นำมาหั่นเป็นแผ่น
2. เตรียมหัวใจแกะที่ล้างแล้วฝานเป็นชิ้นบางๆ
3. เสร็จแล้วนำซุปเนื้อแกะใส่ตังกุย หวงจิง หัวใจแกะที่เตรียมไว้ใส่ลงไปในหม้อ
4. ปรุงด้วยเกลือเล็กน้อย เมื่อตุ๋นหัวใจแกะจนเปื่อย
5. ปรุงด้วยผงพริกไทยเพิ่มความอร่อย
สามรถรับประทานพร้อมกับอาหารแต่ละมื้อได้ตามสะดวก
บทความโดย แพทย์จีน จินต์จุฑา มีเสถียร
เลขที่ใบประกอบโรคศิลปะ พจ.1071