Last updated: 2 ก.ค. 2567 | 4542 จำนวนผู้เข้าชม |
ปัจจุบันปัญหาการแพร่กระจายของโรค Covid -19 ยังคงเป็นปัญหาทางสาธารณสุขระดับโลกที่จำเป็นต้องเรียนรู้ และปรับตัวต่อการใช้ชีวิตประจำวันค่อนข้างมาก เมื่อเกิดการติดเชื้อ Covid-19 เชื้อไวรัสมักบุกรุกร่างกาย ส่งผลต่อการทำงานของอวัยวะในหลายระบบ ในผู้ป่วยส่วนใหญ่ที่ได้รับการรักษาและหายจากการติดเชื้อ Covid-19 แล้วนั้น ก็มักพบร่องรอยของโรคและอาการที่อาจตามมาได้ค่อนข้างหลากหลาย เช่น อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ หายใจลำบาก ไอ นอนไม่หลับ ความดันโลหิตสูงหรือต่ำ เป็นต้น แต่อีกกลุ่มอาการหนึ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งขณะติดเชื้อหรือหลังติดเชื้อก็มักปรากฏอาการในรูปแบบของทางเดินอาหารร่วมด้วยเช่นกัน โดยวันนี้เราจะมาทำความรู้จักอาการต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในระบบทางเดินอาหาร และเรียนรู้วิธีฟื้นฟูดูแลตนเองในทางแพทย์แผนจีนกันครับ
Long Covid คืออะไร ?
Long Covid คือภาวะที่เกิดขึ้นหลังจากการรักษาผู้ป่วยที่ติดเชื้อ Covid-19 จนกระทั่งหายสนิทดีแล้ว แต่ด้วยสาเหตุบางประการที่ยังไม่ทราบแน่ชัด ที่ส่งผลต่อภูมิคุ้มกันหรือการทำงานของอวัยวะภายใน จึงไม่สามารถฟื้นฟูให้กลับมาได้ดังเดิม ส่งผลให้หลงเหลืออาการข้างเคียงต่าง ๆ เมื่อเกิดนานขึ้นจึงกลายเป็นอาการเรื้อรังและรักษาให้หายขาดได้ยากเช่นกัน
Long Covid ส่งผลต่อระบบทางเดินอาหารอย่างไร ?
สืบเนื่องจากการติดเชื้อ Covid -19 นั้นในระยะแรกตัวเชื้อมักมีผลต่อระบบทางเดินหายใจโดยตรง เหมือนที่เราทุกท่านกลัวกันเรื่องของภาวะติดเชื้อลงปอด ที่อาจนำมาซึ่งอาการที่รุนแรงและอาจส่งผลต่อชีวิตได้ แต่อาจมีผู้ป่วยอีกหลายรายที่ตัวเชื้อไม่ได้จำกัดอยู่เพียงที่ตำแหน่งทางเดินหายใจ แต่สามารถเข้ากระแสเลือดและส่งผลต่อระบบอื่น ๆ ของร่างกายได้ โดยเฉพาะระบบทางเดินอาหารเองเป็นอีกระบบหนึ่งที่เชื้อสามารถแพร่กระจายเข้าไปถึง ทำให้ผู้ป่วยมีอาการ เช่น ปวดท้อง ท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน เกิดภาวะตับอักเสบ เป็นต้น โดยมักส่งผลต่อเซลล์ในทางเดินอาหาร ผ่านทาง ACE2 Receptor ทำให้เซลล์เสื่อมสภาพหรือเกิดการตายของเซลล์มากขึ้น จนไปมีผลต่อการดูดซึมในทางเดินอาหารและการบีบตัวที่มีความผิดปกติ และส่งผลต่อจุลินทรีย์ในลำไส้ จนนำมาซึ่งอาการในที่สุด
Long Covid อาจเป็นอันตรายต่อ ตับ ได้
หลายเคสผู้ป่วยที่เคยได้รับเชื้อ Covid-19 อาจตรวจพบปัญหาจากภาวะตับอักเสบเฉียบพลันหรือเรื้อรังได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ป่วยที่มีประวัติโรคตับ หรือ เคยมีปัญหาเรื่องค่าตับสูง ก็มักมีโอกาสเกิดภาวะตับอักเสบได้ง่ายกว่าเคสทั่วไป
Long Covid ในระบบทางเดินอาหาร แพทย์แผนจีนดูแลอย่างไร ?
แพทย์แผนจีนมีจุดเด่นในด้านของการฟื้นฟูร่างกาย การปรับสมดุล เสริมสร้างพื้นฐานของร่างกายให้แข็งแรง โดยอาศัยแนวคิดการปรับสมดุลอินหยาง หลักปัญจธาตุ วิเคราะห์พื้นฐานชี่และเลือด เป็นต้น ซึ่งปัญหาด้านระบบทางเดินอาหาร แพทย์แผนจีนใช้วิธีการรับประทานยาสมุนไพรจีน ฝังเข็ม เพื่อช่วยเสริมสร้างการทำงานของกระเพาะและลำไส้ให้แข็งแรง ฟื้นฟูการทำงานของตับหรือช่วยบรรเทาอาการข้างเคียงที่เกิดขึ้นจากภาวะ Long Covid ได้เช่นกัน
การดูแลตนเองในเบื้องต้น
1. รับประทานอาหารที่ย่อยง่าย งดอาหารรสจัด งดของเย็นเช่น น้ำแข็ง ไอศกรีม เป็นต้น
2. สามารถรับประทานยาช่วยบรรเทาอาการได้ในเบื้องต้น เช่น ยาแก้ท้องเสีย ยาช่วยย่อย เป็นต้น
3. รับประทานอาหารให้ตรงเวลา เคี้ยวให้ละเอียด และงดรับประทานอาหารก่อนนอนล่วงหน้า 1-2 ชั่วโมง
4. ฝึกนวดท้องเพื่อผ่อนคลายหรือนวดกดจุด เช่น จุด Tian Shu จุด Zu San LI เป็นต้น
5. หมั่นออกกำลังกาย เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันและการไหลเวียนของเลือด
6. หากดูแลตนเองเบื้องต้นแล้ว อาการยังไม่ดีขึ้น ควรปรึกษาแพทย์เพื่อทำการรักษาและฟื้นฟูโดยเร็ว
อาหารแนะนำสำหรับการฟื้นฟูทางเดินอาหารแก่ผู้ป่วย Long-covid
1. ขิงสด
ในทางแพทย์จีนนั้น ขิงสด มีสรรพคุณขับไล่ความเย็น อุ่นกระเพาะและปอด แก้คลื่นไส้อาเจียน จึงมีความเหมาะสมต่ออาการข้างเคียงที่เกิดขึ้นจากภาวะ Long-covid สามารถนำขิงสดหั่นเป็นแว่น (4-5แว่น) แล้วทำการต้มดื่มวันละครั้ง เพื่อช่วยเสริมสร้างและฟื้นฟูกระเพาะและปอดได้ ทั้งนี้อาจไม่เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่ร้อนในง่าย หรือ แพ้ขิงสด เป็นต้น
2. ลูกเดือย
มีคุณสมบัติช่วยในการเสริมสร้างกระเพาะม้ามให้แข็งแรง ขับน้ำและความชื้น แก้ท้องเสีย ลดอาการอ่อนล้าได้ โดยสามารถนำลูกเดือยใช้รับประทานแทนข้าวสวย หรือนำลูกเดือย 100 กรัม มาต้มทำให้สุกแล้วแช่ทิ้งไว้ค้างคืน จากนั้นจึงสามารถนำมารับประทานเป็นเครื่องดื่มหรือซุปลูกเดือยก็ทำได้เช่นกัน
บทความโดย
แพทย์จีน ต้นสกุล สังข์ทอง
คลินิกอายุรกรรม
24 มิ.ย. 2567
24 ต.ค. 2566
28 ก.พ. 2567
14 พ.ย. 2566