โรคที่เกี่ยวข้องกับการคลอดและภาวะหลังคลอดบุตร

Last updated: 2 ก.ค. 2567  |  16793 จำนวนผู้เข้าชม  | 

โรคที่เกี่ยวข้องกับการคลอดและภาวะหลังคลอดบุตร

โรคที่เกี่ยวข้องกับการคลอดและภาวะหลังคลอดบุตร ซึ่งพบได้บ่อย และเกิดขึ้นในช่วงเพิ่งคลอดจนถึงระยะหกสัปดาห์หลังคลอด

อาการท้องผูก ถ่ายอุจจาระยากหลังคลอด (ฉานโฮ่วต้าเปี้ยนปู้ทง) อาการคือ ถ่ายอุจจาระไม่คล่อง เป็นกลุ่มอาการโรคในหญิงหลังคลอดที่มีลักษณะเด่นทางคลินิก คือ กินอาหารได้ปกติ แต่หลายวันยังไม่ถ่ายอุจจาระ หรือถ่ายยาก


น้ำคาวปลาไม่หมดหลังคลอด (เอ้อลู่ปู้จื่อ) ภาวะมดลูกเข้าอู่ช้า รกค้าง เยื่อบุมดลูกอักเสบจากการติดเชื้อ อาการโรคในหญิงหลังคลอดที่มีลักษณะเด่นทางคลินิก คือ หลังคลอดมีน้ำคาวปลาปนเลือดไหลกะปริบกะปรอยต่อเนื่องมากกว่า 2 สัปดาห์


ไข้หลังคลอด (ฉ่านโฮ่วฟาเญ่อ) ภาวะติดเชื้อหลังคลอด (puerperal infection) โรคลมแดดหลังคลอด (puerperal heat stroke) โรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบนหลังคลอด อาการคือ มีไข้จากสาเหตุต่างๆ ที่พบบ่อย เช่น ถูกปัจจัยก่อโรคจากภายนอก เลือดพร่อง เลือดคั่ง อาหารคั่งค้าง ติดเชื้อจากพิษก่อโรค เป็นต้น


รู้สึกเจ็บและปวดท้องหลังคลอด (ฉ่านโฮ่วฟู่ท่ง) ปวดมากบริเวณท้องน้อย การปวดท้องเนื่องจากมดลูกหดตัวหลังคลอด หรือติดเชื้อหลังคลอด ซึ่งมีสาเหตุได้หลายอย่าง หากมีสาเหตุจากเลือดคั่งจะเรียกว่า เอ๋อร์เจิ่นท่ง (ปวดมดลูก)


แผลทะลุถึงลำไส้หลังคลอด (ฉ่านโฮ่วเจียวฉางปิ้ง ) หรือเรียกว่า ช่าจิง (ผิดเส้นทาง) หมายถึง แผลชอนทะลุระหว่างช่องคลอดและลำไส้ตรง (rectum) เกิดจากการบาดเจ็บขณะคลอด


ชักหลังคลอด (ฉ่านโฮ่วปิ้งจิ้ง) ลมชักหลังคลอด (ฉ่านโฮ่วจิ้งเฟิง) โรคบาดทะยักในหญิงหลังคลอด กลุ่มอาการโรคในหญิงระยะหลังคลอด ระยะ 6 สัปดาห์หลังคลอด มีลักษณะเด่นทางคลินิก คือ แขนขากระตุกอย่างฉับพลัน ต้นคอและหลังแข็งเกร็ง ถ้าเป็นมากอาจกัดฟันแน่น เกร็งหลังแอ่น


อารมณ์ผิดปกติหลังคลอด (ฉ่านโฮ่วฉิงจื้ออี้ฉาง) ภาวะซึมเศร้าระยะหลังคลอด ภาวะด้านอารมณ์ หดหู่ เงียบขรึม พูดน้อย หรือ เดี๋ยวร้องไห้เดี๋ยวหัวเราะ ไม่ปกติ กระวนกระวายไม่สงบ

สามปะทะหลังคลอด (ฉ่านโฮ่วซานชง) ภาวะวิกฤตหลังคลอดสามประการ ได้แก่ (1) เลือดเสียปะทะหัวใจ (2) เลือดเสียปะทะปอด และ (3) เลือดเสียปะทะกระเพาะอาหาร รวมเรียกเป็น "สามปะทะ" มีสาเหตุจากการติดเชื้อหรือน น้ำคาวปลาคั่ง เป็นต้น

สามฉุกเฉินหลังคลอด (ฉ่านโฮ่วซานจี๋) กลุ่มอาการโรคฉุกเฉินสามแบบหลังคลอดซึ่งทำลายสารจิง*และชี่ได้อย่างรวดเร็ว ได้แก่ (1) คลื่นไส้อาเจียนไม่หยุด (2) เหงื่อลักออก (เหงื่อออกขณะหลับและเมื่อตื่นไม่มีเหงื่อ) และ (3) ท้องเสียบ่อยๆ

* หมายเหตุ* (จิง หรือ จิน คือสารน้ำ , สารประกอบชนิดหนึ่งที่จำเป็นพื้นฐานของร่างกายและการดำรงชีวิต เป็นสารที่ได้รับการถ่ายทอดจากบิดามารดาก่อนกำเนิดและสารที่ได้หลังกำเนิด เช่น สารอาหาร)


สามหลุดหลังคลอด (ฉ่านโฮ่วซานทัว) ได้แก่ (1) ชี่หลุด (2) เลือดหลุด และ (3) เสิน (จิต) หลุด


ปวดตัวหลังคลอด (ฉ่านโฮ่วเซินท่ง) ปวดจากลมหลังคลอด ปวดข้อหลังคลอด ปวดทั่วตัวหลังคลอด ร่างกายและแขนขาปวดเมื่อย เหน็บชา หรือรู้สึกหนักทั่วตัว คล้ายกับ ปวดตามข้อ ในหญิงหลังคลอดที่มีสาเหตุจาก rheumatic fever หรือ rheumatoid arthritis (รูมาตอยด์)


ปัสสาวะไม่คล่อง ปัสสาวะไม่ออกหลังคลอด (ฉ่านโฮ่วเสี่ยวเปี้ยนปู้ทง) ปัสสาวะกะปริบกะปรอย หรือในรายที่เป็นมากอาจปัสสาวะไม่ออก ปวดแน่นตึงเฉียบพลันบริเวณท้องน้อย


ปัสสาวะบ่อยและกลั้นปัสสาวะไม่อยู่หลังคลอด (ฉ่านโฮ่วเสี่ยวเปี้ยนผินซั่วอฺวี่ซือจิ้น) จำนวนครั้งของการปัสสาวะเพิ่มขึ้น ในรายที่รุนแรงอาจปัสสาวะหลายสิบครั้งทั้งกลางวันและกลางคืน ไม่สามารถกลั้นไว้ได้ (ปัสสาวะเล็ด) หรือ มีรูทะลุระหว่างกระเพาะปัสสาวะและช่องคลอด (vesicovaginal fistula)


ตกเลือดหลังคลอด (ฉ่านโฮ่วเซฺวี่ยเปิง) ช่องคลอดบาดเจ็บและฉีกขาด รกค้าง และการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ มีเลือดออกมากจากช่องคลอดอย่างฉับพลันหลังคลอด คล้ายกับอาการเลือดออกหลังคลอด เนื่องจากมดลูกหดรัดตัวไม่ดี


ช็อกจากเลือดหลังคลอด (ฉ่านโฮ่วเซฺวี่ยอฺวิน) โรคหัวใจขณะตั้งครรภ์ หัวใจล้มเหลวหลังคลอด หรือ ภาวะน้ำคร่ำอุดตันหลอดเลือดในปอด มีอาการเวียนหัวตาลายฉับพลัน ไม่สามารถลุกนั่งได้ หรือแน่นหน้าอก อึดอัดหัวใจ คลื่นไส้อาเจียน มีเสมหะมาก หายใจเร็ว ในรายรุนแรงอาจหมดสติ กัดฟันแน่น เรียกไม่รู้สึกตัว โดยกลุ่มอาการข้างต้นสามารถพบเห็นในสภาพอ่อนล้ารุนแรงและช็อก ซึ่งมีสาเหตุจากเลือดออกหลังคลอด


ซึมเศร้าหลังคลอด (ฉ่านโฮ่วอฺวี้เม่า) กลุ่มอาการโรคหลังคลอดที่มีลักษณะเด่นทางคลินิก คือ เวียนหัว ตามัว และหดหู่ไม่สบายใจ

เหงื่อออกเองหลังคลอด (ฉ่านโฮ่วจื้อฮั่น) เหงื่อออกมากเกินไปหรือออกเป็นเวลานาน หากหญิงหลังคลอดมีเหงื่อออกค่อนข้างมากขณะกินอาหารหรือนอนหลับ ต่อมาเหงื่อค่อยๆลดลง หรือหายไปใน 2-3 วัน ถือเป็นภาวะปกติ

ในทางการแพทย์แผนจีน การบำรุงรักษาในกลุ่มภาวะอาการด้านนรีเวช จะมุ่งเน้นการส่งเสริมบำรุงตั้งแต่ก่อนการตั้งครรภ์ เพื่อเสริมสร้างความสมบูรณ์แข็งแรงของระบบเลือดลม (ชี่และลมปราณ) และหลังการตั้งครรภ์ เนื่องจากหลังคลอด คุณแม่จะมีภาวะจากการสูญเสียพลังเลือดลม รายละเอียดของภาวะอาการแต่ละบุคคลจะแตกต่างกันไปตามสภาพพื้นฐานของร่างกาย

ในแนวทางการตรวจวินิจฉัยและประเมินสภาวะพื้นฐานเบื้องต้นของคุณแม่ จึงเป็นขั้นตอนสำคัญในการวางแผนการส่งเสริมรักษา เพื่อให้ร่างกายมีความสมบูรณ์ สมดุล ลดอาการผิดปกติทั้งทางด้านอวัยวะทั้งห้า ระบบพลังงานของเลือดลม ที่ส่งผลกระทบไปถึงสภาวะทางด้านจิตใจ

แนวทางการประเมินภาวะอาการด้านนรีเวช
ในหลักการแพทย์แผนจีนนั้น 
ชี่ (ลมปราณ) ติดขัด ก่อเกิดเลือดคั่ง โดยผู้ที่มีความเครียดหรืออารมณ์หงุดหงิดแปรปรวนอยู่เสมอ จะส่งผลกระทบต่อตับ ทำให้การหมุนเวียนของลมปราณไม่ระบาย เลือดจึงเดินไม่สะดวก

ความเย็นอุดกั้นก่อเกิดเลือดคั่ง โดยช่วงหลังคลอด เส้นลมปราณของมดลูกคุณแม่จะค่อนข้างอ่อนแอ ทำให้ง่ายต่อการรับเชื้อโรคต่าง ๆ เข้าสู่ร่างกาย และง่ายต่อการกระทบกับความเย็น หรืออยู่ในที่เย็นๆ อากาศชื้นสูงเป็นเวลานานก็ส่งผลให้ความเย็นมาอุดกั้นบริเวณมดลูก เส้นลมปราณของมดลูก จึงเกิดเป็นก้อนขึ้น

ความร้อนก่อเกิดเลือดคั่ง มื่อร่างกายมีความร้อนสูง หรือลมปราณที่ตับติดขัดเป็นเวลานานจะทำให้เกิดความร้อนขึ้น หรือได้รับความร้อนซึ่งจะก่อให้เกิดโรคขึ้น หรือทานอาหารที่มีเผ็ดร้อนมากเกินไป หรือร่างกายมีความชื้นมากเกินไปจนกลายเป็นความร้อน ส่งผลให้ไปทำลายเส้นลมปราณของมดลูก เลือดจึงออกมาจากเส้นลมปราณโดยมีลักษณะเหนียวและแข็ง จึงทำให้เกิดเป็นก้อนอุดกั้นเส้นลมปราณชงและเหริน ทำให้เกิดความผิดปกติในร่างกายซึ่งส่งผลไปยังสภาวะด้านจิตใจ

ลมปราณ (ชี่) อ่อนแรงก่อเกิดเลือดคั่ง เมื่อลมปราณของม้ามอ่อนกำลังลง อันเนื่องมาจาก การทานอาหารที่ไม่เหมาะสมกับสภาพร่างกาย การใช้แรงงานหรือทำงานหนักเกินไป หรือมีโรคประจำตัวที่เรื้อรังมานานก่อนตั้งครรภ์ ส่งผลให้เลือดและลมปราณ (ชี่) ถูกทำลาย

ไตอ่อนแอก่อเกิดเลือดคั่ง ไตอ่อนกำลังอาจเป็นมาแต่กำเนิดหรือ เนื่องมาจากการทำงานหนักเกินไป ขาดการพักผ่อนที่เพียงพอ นอนดึก ตรากตรำ ภาวะเครียด ส่งผลให้ไตอ่อนกำลัง และเมื่อลมปราณ (ชี่) ของไตเมื่ออ่อนกำลัง พลังหยางในร่างกายไม่เพียงพอ จะทำให้ความร้อนที่หมุนเวียนในร่างกายถดถอย เลือดในเส้นลมปราณจึงเหนียวข้น

ในทางการแพทย์แผนจีน การรักษากลุ่มอาการนี้ จะใช้ตำรับยาสมุนไพรจีนเป็นหลัก ในการปรับสมดุลพื้นฐานของร่างกาย เช่น ตำรับยาจีนที่ช่วยปรับสมดุลไตหยาง ขับเสมหะและความชื้นอุดกั้น ระบายหมุนเวียนชี่และเลือดอุดกั้น ขจัดความร้อนและความชื้นของเส้นลมปราณตับ เป็นต้น

เมื่อร่างกายของคุณแม่มีความสมดุล ร่างกายก็จะกลับเข้าสู่สภาวะเป็นปกติ มีพลังงานมากยิ่งขึ้น และเพื่อส่งเสริมให้ผลการรักษาได้ผลดี การปรับพฤติกรรมชีวิตของคุณแม่หลังคลอดก็สำคัญ โดยเฉพาะการควบคุมน้ำหนัก การเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ อาหารที่เหมาะสมกับสภาพร่างกาย ละเว้น หรือ ลดอาหารประเภทดัดแปลงทุกชนิด อาหารรสมันจัด หวานจัด เย็นจัด รสเผ็ดร้อนจัด รักษาสมดุลของอารมณ์ให้เป็นปกติ ก็จะสามารถช่วยให้ผลการรักษาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน

นอกจากการใช้ตำรับยาในปริมาณที่เหมาะสมแล้ว การเสริมรักษาด้วยวิธีการฝังเข็ม ผสมผสานกับหัตถการอื่นๆ เช่น ครอบแก้ว รมยา เข็มอุ่น ฝังเข็มจุดหลักและจุดเสริม ขจัดการอุดกั้น ขับเคลื่อนชี่ กระตุ้นการไหลเวียนเลือด สลายชื้น สลายเลือดคั่ง

ผลการรักษากลุ่มอาการนี้ด้วยวิธีแพทย์แผนจีน ส่วนใหญ่สามารถรักษาให้ร่างกายกลับคืนสู่สภาวะปกติได้ ช่วยให้คุณแม่มีสุขภาพที่สมบูรณ์แข็งแรงขึ้น ลดการใช้ยาทางเคมีที่อาจส่งผลกระทบทั้งคุณแม่และการให้นมบุตร และป้องกันภาวะแทรกซ้อน เช่น เบาหวาน มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก เป็นต้น

สอบถามข้อมูลการรักษาเพิ่มเติม ปรึกษาเบื้องต้น
LINE OA : HuachiewTCM

 

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้