Last updated: 2 ก.ค. 2567 | 2443 จำนวนผู้เข้าชม |
การนวดทุยหนา (推拿) เป็นการนวดตามศาสตร์การแพทย์แผนจีนโดยแพทย์ผู้ทำหัตถการใช้หลักทฤษฎีการแพทย์แผนจีนในการกด คลึง ถู บีบ ดีด กลิ้ง ตีและอื่นๆ บนบริเวณที่ได้รับบาดเจ็บหรือจุดต่างๆของเส้นลมปราณบนร่างกายเพื่อใช้ในการรักษาหรือป้องกันโรค
การนวดทุยหนานั้นมีหัตถการหลายรูปแบบเช่น การกด การคลึง การถู การบีบ การดีด การกลิ้ง การตี เป็นต้น การที่มีหัตถการหลากหลายรูปแบบเนื่องจากในแต่ละหัตถการมีความเหมาะสมต่อแต่ละบริเวณของร่างกายและยังมีวัตถุประสงค์ที่ต่างกันอีกด้วย โดยทั่วไปการนวดทุยหนาในการรักษาการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อและกระดูกสามารถแบ่งออกเป็น 4 ขั้นตอนได้แก่
การคลายกล้ามเนื้อ (放松)
การระงับอาการปวด (止痛)
การเคลื่อนไหวข้อต่อ (滑利关节)
และการผ่อนคลายกล้ามเนื้อหลังการรักษา (结束)
ขั้นตอนแรก คือ การคลายกล้ามเนื้อ แพทย์จีนผู้ทำหัตถการจะใช้หัตถการที่มีน้ำหนักเบาเพื่อเป็นการตรวจสภาพร่างกายของผู้ป่วยเบื้องต้นและคลายกล้ามเนื้อ สาเหตุที่ต้องคลายกล้ามเนื้อก่อนขั้นตอนอื่นเนื่องจากการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อโดยทั่วไป กล้ามเนื้อบริเวณนั้นจะมีความตึง แข็ง หดเกร็ง บางครั้งจับตัวเป็นก้อน การที่นวดเบาๆรอบบริเวณที่ได้รับบาดเจ็บจะเป็นการเตรียมความพร้อมของกล้ามเนื้อก่อนที่จะรับหัตถการที่มีน้ำหนักที่มากขึ้นในขั้นตอนต่อไปเพื่อป้องกันการบาดเจ็บซ้ำ
นอกจากนี้ยังเป็นการเพิ่มการไหลเวียนของเลือด เมื่อการไหลเวียนของเลือดดีขึ้นจะส่งผลให้เซลล์กล้ามเนื้อมีพลังงานมากพอที่จะขับของเสียภายในเซลล์ซึ่งทำให้เกิดอาการปวดและกล้ามเนื้อหดเกร็ง ส่งผลให้อาการปวดและความตึงตัวของกล้ามเนื้อลดลง ซึ่งสอดคล้องกับทฤษฎีการแพทย์แผนจีนที่ว่า การไหลเวียนคล่องจึงทำให้ไม่เกิดอาการปวด เมื่อการไหลเวียนไม่คล่องจึงทำให้เกิดอาการปวด (通则不痛,不通则痛)
ขั้นตอนที่สอง คือ การระงับอาการปวด แพทย์ผู้ทำหัตถการจะใช้หัตถการที่มีน้ำหนักที่มากขึ้นในการคลายลำกล้ามเนื้อที่เกร็งตัวขึ้นมา (taut band) ซึ่งเป็นเส้นใยกล้ามเนื้อที่มีลักษณะแข็งและมีอาการปวด เมื่อขยายดูส่วนของลำกล้ามเนื้อนี้จะพบจุดกดเจ็บไก (trigger point) ซึ่งเป็นจุดเล็กๆที่พบได้ในกล้ามเนื้อหรือพังผืดที่เป็นต้นเหตุของอาการปวดร้าว ผู้ป่วยอาจได้ยินเสียงดัง “กึกกึก” ซึ่งเป็นเสียงที่ดังมาจากการคลายลำกล้ามเนื้อและพังผืด นอกจากนี้ยังมีการกดจุด (acupressure) ซึ่งคล้ายคลึงกับการฝังเข็มโดยมีการปรับเปลี่ยนเป็นการใช้นิ้ว ข้อศอกหรืออุปกรณ์ต่างๆ กดลงบนจุดที่ใช้ในการฝังเข็มเพื่อกระตุ้นการไหลเวียนของชี่และเลือด ระงับอาการปวด
ขั้นตอนที่สาม คือ การเคลื่อนไหวข้อต่อ หลังจากที่ผ่านการคลายกล้ามเนื้อและระงับอาการปวดจนกล้ามเนื้อมีความยืดหยุ่นมากขึ้น ขั้นตอนถัดมาคือการเคลื่อนไหวข้อต่อ ซึ่งจะได้ยินเสียง “เป๊าะ” หรือ “แกร๊บ” ในระหว่างการทำหัตถการ เสียงที่เกิดขึ้นเกิดจากการขยับข้อต่อ เมื่อมีการขยับข้อต่อจะส่งผลให้ความดันภายในข้อต่อเกิดการเปลี่ยนแปลง ทำให้ก๊าซต่างๆซึ่งเป็นองค์ประกอบของน้ำไขข้อ (synovial fluid) รวมตัวสะสมมากขึ้นเกิดเป็นความดันและระบายออกจากช่องว่างขนาดเล็กภายในข้อ เกิดเป็นเสียงดัง “เป๊าะ” หรือ “แกร๊บ” หากทำอย่างเหมาะสมและไม่มีอาการอื่นรวมด้วยจะสามารถลดอาการปวด เพิ่มพิสัยการเคลื่อนไหวของข้อต่อต่างๆ
ขั้นตอนสุดท้ายคือ การผ่อนคลายกล้ามเนื้อหลังการรักษา แพทย์ผู้ทำหัตถการจะใช้การคลึง การทุบ การตี เป็นต้น ด้วยน้ำหนักที่เบาเพื่อให้ผู้ป่วยรู้สึกผ่อนคลายหลังจากการรักษา เป็นการสิ้นสุดขั้นตอนการนวดทุยหนา
ด้วยเหตุนี้ การคลายกล้ามเนื้อจึงเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญของการนวดทุยหนา ทำให้กล้ามเนื้อที่ได้รับบาดเจ็บจนเกิดความตึง แข็ง หดเกร็ง มีความอ่อนนุ่มและยืดหยุ่นมากขึ้น สามารถใช้หัตถการการรักษาที่มีน้ำหนักที่มากขึ้นหรือการเคลื่อนไหวข้อต่อได้อย่างปลอดภัยและลดการบาดเจ็บซ้ำ
แพทย์จีน ฉันทัช เฉิน (พจ.1312)
คลินิกกระดูกและทุยหนา
11 พ.ย. 2567
11 พ.ย. 2567
14 พ.ย. 2567