Last updated: 2 ก.ค. 2567 | 7594 จำนวนผู้เข้าชม |
ในยุคสมัยนี้ภาวะนอนไม่หลับเป็นปัญหาที่พบเจอได้บ่อย เนื่องจากมีปัจจัยกระตุ้นที่เพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นโรคระบาดที่รุนแรง ปัจจัยทางเศรษฐกิจสังคม ภาวะความเครียดและความกดดันจากการทำงาน หรือแม้กระทั่งพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันที่เปลี่ยนไป ปัญหานี้ไม่ได้พบเจอเฉพาะแค่ในกลุ่มผู้สูงอายุ แต่สามารถพบเจอในวัยหนุ่มสาว วัยทำงานได้มากขึ้น
ผลสืบเนื่องที่เห็นชัดเจนจากภาวะนอนไม่หลับเช่น เกิดความง่วงตลอดทั้งวัน ไม่กระปรี้กระเปร่า เหนื่อยง่าย ขอบตาและใบหน้ามองคล้ำ ความจำและความสามารถในการทำงานลดลง นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบต่อระบบของร่างกายในอีกหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาเกี่ยวกับผิวหนัง เกิดการอักเสบหรือเป็นภูมิแพ้ผิวหนังง่ายขึ้น ระบบเผาผลาญและระบบย่อยอาหารผิดปกติ ระบบภูมิคุ้มกันต่ำลง ทำให้มีโอกาสพบโรคอื่นๆ ตามมาในภายหลัง
ภาวะนอนไม่หลับ คือ ภาวะที่ร่างกายไม่สามารถนอนหลับเป็นปกติได้ มีความยากลำบากในการเข้านอนหรือการหลับอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงคุณภาพของการนอนหลับไม่ดี ปัญหาทางด้านอารมณ์ ความตึงเครียด ความวิตกกังวลเป็นตัวแปรสำคัญของภาวะนอนไม่หลับ
ปัญหานี้สามารถเป็นได้ทั้งสาเหตุที่ทำให้นอนไม่หลับ และยังเป็นผลสืบเนื่องจากภาวะนอนไม่หลับ เมื่อมีความวิตกกังวลหรือเครียด ร่างกายจะมีการหลั่ง ฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) และ ฮอร์โมนอิพิเนฟริน (Epinephrine) ที่ผลิตจากต่อมหมวกไตออกมา ทั้งสองชนิดนี้ถูกขนานนามว่าเป็น "ฮอร์โมนแห่งความเครียด" หากร่างกายมีปริมาณฮอร์โมนทั้งสองสูงขึ้น จะทำให้อัตราการเต้นของหัวใจ ความดันโลหิตเพิ่มสูงขึ้น กล้ามเนื้อมีความตึงตัวมากขึ้น
นอกจากนี้ฮอร์โมนคอติซอลยังส่งผลถึงการผลิต เซโรโทนิน (Serotonin) ที่เป็นสารควบคุมการนอนหลับด้วย หากร่างกายหลั่งเซโรโทนินออกมาน้อยลงจะส่งผลกระทบต่อการนอนหลับ ทำให้นอนไม่หลับ รู้สึกกระสับกระส่าย อ่อนเพลีย ไม่สดชื่น
อาการนอนไม่หลับที่หลายคนประสบอยู่นั้น ถ้ามองในมุมมองทางแพทย์จีนเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นอายุที่มากขึ้น อารมณ์ หรือแม้กระทั่งเป็นผลมาจากการรับประทานอาหาร ซึ่งส่วนใหญ่มักมีสาเหตุมาจากผลกระทบทางอารมณ์เป็นหลัก ส่งผลให้การทำงานของอวัยวะภายในร่างกายเสียสมดุล หยางไม่สามารถกลับเข้าสู่อินได้ อิน-หยาง ในร่างกายเสียสมดุล และเกิดเป็นภาวะนอนไม่หลับ
ตำแหน่งหลักของการเกิดโรคอยู่ที่หัวใจ และมีความสัมพันธ์กับอวัยวะอื่นๆ ด้วยไม่ว่าจะเป็นตับ ถุงน้ำดี ไต ม้าม กระเพาะอาหารเป็นต้น ภาวะนอนไม่หลับสามารถพบเจอได้ทั้งกลุ่มอาการแบบพร่อง ได้แก่ กลุ่มอาการหัวใจและม้ามพร่อง กลุ่มอาการหัวใจและไตทำงานไม่ประสาน กลุ่มอาการชี่หัวใจและถุงน้ำดีพร่อง ส่งผลให้หัวใจขาดการบำรุงหล่อเลี้ยง และกลุ่มอาการแบบแกร่งได้แก่กลุ่มอาการไฟตับรบกวนหัวใจ กลุ่มอาการเสมหะร้อนรุกรานหัวใจที่ส่งผลให้หัวใจและจิตใจถูกรบกวน
ทางแพทย์แผนจีนมองว่า หัวใจเปรียบเสมือนเจ้าแห่งอวัยวะภายใน มีหน้าที่ควบคุมดูแลระบบการไหลเวียนของเลือดให้สูบฉีดไปหล่อเลี้ยงอวัยวะต่างๆทั่วร่างกาย นอกจากนี้หัวใจยังมีหน้าที่ควบคุมจิตใจ รวมไปถึงอารมณ์ ความรู้สึกนึกคิด และการแสดงออกทางภายนอก เช่น สีหน้า ท่าทาง แววตาด้วย ดังนั้นหากหัวใจทำงานได้ปกติ การแสดงออกด้านจิตใจก็จะปกติ รู้สึกสดชื่นแจ่มใส กระฉับกระเฉง ความคิดฉับไว
ในทางกลับกันหากการทำงานของหัวใจผิดปกติ การแสดงออกด้านจิตใจ อารมณ์ ความรู้สึกนึกคิดก็จะผิดปกติไปด้วยเช่น รู้สึกกระสับกระส่าย นอนไม่หลับ ฝันมาก เป็นต้น
ในปี ค.ศ.2002 องค์การอนามัยโรค (WHO) ได้สรุปจากผลงานวิจัยและรองรับว่า "การฝังเข็มรักษาภาวะนอนไม่หลับได้ผลที่ดีอย่างชัดเจน" สามารถช่วยปรับอินหยางในร่างกายให้กลับมาสมดุล โดยใช้วิธีปรับการทำงานของอวัยวะภายใน กลุ่มอาการพร่องจะเน้นการบำรุงในส่วนที่พร่อง กลุ่มอาการแกร่งจะเน้นการระบายในส่วนที่เกิน และกลุ่มอาการที่มีทั้งพร่องและแกร่งปะปนกันจะเน้นใช้วิธีบำรุงร่วมกับการระบาย โดยการรักษาแบบระบายแกร่งบำรุงพร่อง และในขณะเดียวกันก็ใช้วิธีสงบเสินคุมจิตใจร่วมด้วยเช่น วิธีบำรุงเลือดสงบจิต ข่มจิตสงบเสิน ระบายไฟในหัวใจสงบเสินเป็นต้น (เสิน หมายถึงสมอง จิตใจ จิตวิญญาณ รวมทั้งการแสดงออกต่างๆของร่างกาย)
อีกทั้งการฝังเข็มยังสามารถช่วยปรับสภาพจิตใจ คลายความวิตกกังวลและความเครียด ทำให้จิตใจผ่อนคลายขึ้น ซึ่งนับว่าเป็นการช่วยเหลือทางด้านจิตใจได้อีกทางหนึ่งด้วย
ตัวอย่างจุดฝังเข็มหลักที่ใช้รักษาภาวะนอนไม่หลับเช่น จุดเสินเหมิน (ShenMen, ST7) ที่แปลว่า "ประตูของจิตใจ" อยู่ตรงรอยบุ๋มข้างปุ่มกระดูกของรอยพับข้อมือด้านในฝั่งนิ้วก้อย มีสรรพคุณเด่นช่วยปรับการทำงานของหัวใจแบบควบคุมสองทิศทาง กล่าวคือทั้งช่วยดับไฟในหัวใจและช่วยเสริมชี่ของหัวใจ จึงทำให้จิตใจสงบ ไม่กระสับกระส่าย นอนหลับได้ดีขึ้น และเป็นจุดสำคัญในการรักษาโรคจิตประสาท
จุดอันเหมี่ยน (AnMian, EX-HN22) จุดพิเศษที่ช่วยให้นอนหลับสบาย จึงใช้รักษาภาวะนอนไม่หลับได้โดยตรง อยู่ด้านหลังกกหู กึ่งกลางแนวเส้นที่ลากจากหลังใบหูกับท้ายทอย
หรือ จุดเน่ยกวาน (NeiGuan, PC6) บริเวณตรงกลางเหนือรอยพับข้อมือด้านในขึ้นมา 2 ชุ่น เสมือนเป็นด่านสำคัญทางแขนด้านใน สามารถช่วยปรับการเดินของชี่ ขยายทรวงอก สงบจิตใจ
นอกจากนี้ยังสามารถปรับเพิ่ม หรือ ลดจุดฝังเข็มตามกลุ่มอาการได้ด้วย ตัวอย่างเช่น กลุ่มอาการหัวใจและม้ามพร่อง เพิ่มจุดจู๋ซานหลี่ (ZuSanLi, ST36) จุดซานอินเจียว (SanYinJiao, SP6), กลุ่มอาการหัวใจและไตทำงานไม่ประสานเพิ่มจุดไท่ซี (TaiXi, KI3) จุดจ้าวไห่ (ZhaoHai, KI5) หรือกลุ่มอาการไฟตับรบกวนหัวใจเพิ่มจุดไท่ชง (TaiChong, LR3) จุดสิงเจียน (XingJian, LR2) เป็นต้น
การนอนหลับที่ดีและมีคุณภาพเป็นพื้นฐานสำคัญของการมีสุขภาพร่างกายและจิตใจที่แข็งแรง ภาวะนอนไม่หลับจึงเป็นปัญหาที่ไม่ควรนิ่งนอนใจ ควรหาสาเหตุและเข้ารับการรักษาหรือป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดผลเสียกับระบบอื่นๆของร่างกายตามมาทีหลัง
การฝังเข็มเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่รักษาภาวะนอนไม่หลับได้ นอกจากนี้ควรควบคู่กับการปรับพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน ปรับเวลาเข้านอนและตื่นนอนให้เป็นระบบ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ในปริมาณพอเหมาะ และที่สำคัญคือปรับอารมณ์และจิตใจให้ผ่อนคลายร่วมด้วย
บทความโดย
แพทย์จีน พิมพิชญ์ มุจลินทโมลี (เจี่ย จิ้ง เหวิน)
เลขที่ใบประกอบโรคศิลปะ พจ.765
คลินิกฝังเข็ม
11 พ.ย. 2567
11 พ.ย. 2567
25 ต.ค. 2567