Last updated: 2 ก.ค. 2567 | 43441 จำนวนผู้เข้าชม |
“เท้า” เปรียบเสมือนกับอวัยวะหัวใจที่สองของร่างกาย ดังนั้น หากเราหมั่นบำรุงดูแลเท้า ก็เสมือนได้บำรุงหัวใจไปพร้อมๆกัน
Cr.Pic : campwander.com
วิธีการง่ายๆที่ทำได้เป็นประจำก็คือ การแช่เท้านั่นเอง ซึ่งการแช่เท้านี้จะช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือด ช่วยผ่อนคลายและลดความตึงเครียดของกล้ามเนื้อ การแช่เท้า เป็นดังยาอายุวัฒนะที่ช่วยให้สุขภาพแข็งแรงขึ้น , ช่วยปรับสมดุลต่อมไร้ท่อ , เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของอวัยวะต่างๆภายในร่างกาย นอกจากนี้ยังช่วยป้องกันและรักษาบางโรคได้ ดังสุภาษิตจีนที่ว่า “บำรุงต้นไม้ต้องดูที่ราก บำรุงร่างกายต้องดูที่เท้า” (养树需护根,养人需护脚)
และที่สำคัญอันถือเป็นเคล็ดลับพิเศษก็คือ หากมีการเติมสมุนไพรจีนบางชนิดลงในน้ำที่แช่เท้า จะยิ่งเป็นการส่งเสริมสุขภาพ และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพทางการบำรุงมากยิ่งขึ้น
แช่เท้าตอนไหน ? เวลาไหน ? เหมาะสมที่สุด
ช่วงเวลาในการแช่เท้า
ช่วงเวลาที่เหมาะสมคือ ตั้งแต่เวลา 19.00-23.00 น. ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เส้นลมปราณของตับไตทำงานอ่อนแอลง การแช่เท้าในช่วงเวลานี้จะช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือดได้ดียิ่งขึ้น ช่วยผ่อนคลายความอ่อนล้า ลดอาการหนาวสั่น ปรับคุณภาพการนอนหลับ นอนหลับได้สนิทและหลับได้ลึกมากยิ่งขึ้น
ระยะเวลาในการแช่เท้า
ควรใช้เวลาในการแช่เท้า ประมาณ 15-30 นาที หากแช่นานเกินไป อาจส่งผลกระทบให้เลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ ทำให้หัวใจทำงานหนักมากขึ้น และการแช่เท้าขณะที่อิ่มหรือหิวมากเกินไป อาจส่งผลต่อกระเพาะอาหารได้
อุณหภูมิที่เหมาะสมในการแช่เท้า
ควรอยู่ที่ประมาน 38-43 องศาเซลเซียส ความร้อนที่สูงเกินไปจะทำลายฟิล์มไขมัน (Hydrolipid film) บนผิวหนัง ซึ่งมีหน้าที่ปกป้องผิวไม่ให้น้ำระเหยออกจากผิว อาจทำให้ผิวแห้งได้ อีกทั้งความร้อนที่สูงเกินไปจะทำให้หลอดเลือดขยายตัวมากเกินไป ส่งผลให้เลือดไปเลี้ยงอวัยวะภายในไม่เพียงพอ เช่น หัวใจ สมอง ไต เป็นต้น
อุปกรณ์ในการแช่เท้า
ควรใช้ถังไม้ทรงสูงเพื่อรักษาอุณหภูมิในการแช่เท้า สามารถแช่ได้จนถึงขาท่อนล่างเพื่อบรรเทาอาการปวดเมื่อยขาในคราวเดียว ควรหมั่นเติมน้ำอุ่นจนครบเวลาเพื่อรักษาอุณหภูมิ
เสริมการนวดกดจุดพร้อมกับการแช่เท้า
อาจนำลูกบอลใส่ไว้ในถังแช่เท้า เพื่อเหยียบกดจุดคุนหลุน (BL60), หย่งเฉฺวียน (KI1), ไท่ซี (KI3) ประมาน 3-5 นาที ช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือด เพิ่มประสิทธิภาพในการนอนหลับ หลังจากแช่เท้าควรงอเหยียดนิ้วเท้า ใช้มือตบบริเวณน่อง ให้กล้ามเนื้อน่องคลายตัว ช่วยให้เลือดไหลเวียนกลับเข้าที่
หากแช่เท้าถูกวิธีจะรู้สึกอุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้น หรือ มีเหงื่อซึมบริเวณหน้าผากเล็กน้อย ระวังอย่าให้เหงื่อออกมากเกินไป เพราะเหงื่อเป็นของเหลวของอวัยวะหัวใจ หากเหงื่อออกมากไปอาจทำลายหัวใจได้
ข้อควรระวังและข้อแนะนำเพิ่มเติม
หลีกเลี่ยงผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจ เบาหวาน เส้นเลือดขอด เลือดออกง่าย โรคผิวหนังบริเวณขาและเท้า ส่วนเด็กสามารถแช่เท้าได้แต่ต้องระวังเรื่องความร้อนและระยะเวลาในการแช่ไม่ควรมากเกินไป
เอกสารอ้างอิง
柳澄.养生足浴,你泡对了吗?. 人人健康2021
บทความและภาพประกอบ
แพทย์จีน ธนภรณ์ ธนศรีวนิชชัย (หลิว ฉาย เผิง)
คลินิกกระดูกและทุยหนา
15 พ.ย. 2567
26 ก.ย. 2567
20 ม.ค. 2568
12 พ.ย. 2567