ม้าม (脾 ผี) ต้นกำเนิดของแรงขับเคลื่อนชีวิต ลำเลียงสารจำเป็นทั่วร่างกาย

Last updated: 2 ก.ค. 2567  |  54997 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ม้าม (脾 ผี) ต้นกำเนิดของแรงขับเคลื่อนชีวิต ลำเลียงสารจำเป็นทั่วร่างกาย

ม้าม เป็นอวัยวะสำคัญในระบบทางเดินอาหาร ม้ามมีรูปร่างเหมือนกับม้าสีม่วงแดง ตำแหน่งอยู่ในช่องท้องตอนบน อยู่หลังกระเพาะอาหารใต้ชายโครงด้านซ้าย



ม้ามทำหน้าที่ร่วมกับกระเพาะอาหาร โดยกระเพาะอาหารทำหน้าที่รับและย่อยอาหารจนได้สารจำเป็น ส่วนม้ามทำหน้าที่ลำเลียงสารจำเป็นนี้ไปใช้ทั่วร่างกาย ม้ามถือเป็นต้นกำเนิดของแรงขับเคลื่อนชีวิต โบราณกล่าวว่า ม้ามและกระเพาะอาหารเป็นรากฐานของชีวิตหลังคลอด ทำหน้าที่ควบคุมเลือดและลมปราณ ม้ามเป็นธาตุดิน มีโครงข่ายเชื่อมโยงกับกระพาะอาหาร กล้ามเนื้อ ริมฝีปาก และปาก เป็นต้น



หน้าที่ทางสรีรวิทยา
ม้ามควบคุมการขับเคลื่อน การย่อยและดูดซึม


Credit Pic : artisticdrama.wordpress.com
 
- ควบคุมการย่อยและดูดซึมสารอาหาร
และส่งต่ออาหารที่รับประทานไปที่กระเพาะอาหาร ม้ามจะทำหน้าที่ย่อยและดูดซึมอาหารในทางเดินอาหาร และส่งสารจำเป็นที่ได้จากการย่อยไปยังปอดและหัวใจ เพื่อส่งต่อไปเลี้ยงส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย ม้ามจึงเป็นรากฐานสำคัญของชีวิตหลังเกิด ถ้าม้ามแข็งแรง การย่อยและดูดซึมอาหารดี การสร้างเลือดและลมปราณจะเพียงพอ สุขภาพก็จะแข็งแรง ถ้าม้ามอ่อนแอ การย่อยและดูดซึมอาหารผิดปกติ จะทำให้เกิดอาการท้องอืด ท้องเดิน อ่อนเพลีย ผอม เลือดและลมปราณพร่อง


- ควบคุมการดูดซึมและส่งน้ำ ม้ามช่วยรักษาสมดุลของน้ำในร่างกาย โดยม้ามควบคุมการดูดซึมน้ำจากทางเดินอาหารไปหล่อเลี้ยงร่างกาย และนำน้ำที่เหลือใช้ส่งไปที่ไต อาศัยลมปราณไตขับปัสสาวะออกทางกระเพาะปัสสาวะ ถ้าม้ามอ่อนแอ จะเกิดการคั่งของน้ำ ความชื้น และเสมหะ

ม้ามควบคุมการสร้างเลือด
ม้ามควบคุมการย่อยและดูดซึมอาหารได้สารอาหารซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นพื้นฐานในการสร้างเลือด ถ้าม้ามอ่อนแอ การดูดซึมสารอาหารจะลดลง ทำให้การสร้างเลือดลดลง เกิดอาการของเลือดพร่อง มือชา วิงเวียน ตาลาย หน้าซีด ปากซีด ลิ้นซีด

ม้ามควบคุมไม่ให้เลือดออก
ลมปราณของม้ามช่วยควบคุมให้เลือดไหลเวียนอยู่ภายในเส้นเลือดในร่างกาย ถ้าลมปราณของม้ามพร่อง ทำให้เกิดเลือดออกง่าย เลือดออกใต้ผิวหนัง อุจจาระเป็นเลือด ประจำเดือนมามาก ฯลฯ

ม้ามช่วยให้อวัยวะภายในมีตำแหน่งยึดเกาะมั่นคง
ลมปราณของม้ามไหลเวียนมีทิศทางลอยขึ้นบน เพื่อส่งต่อสารอาหารไปปอดและหัวใจ และส่งต่อไปเลี้ยงร่างกาย เรียกว่า เซิงชิง (升清)  ทิศทางของลมปราณที่ลอยขึ้นบนนี้ยังทำให้อวัยวะภายในแขวนอยู่ในที่ของมันไม่ตกหย่อนลงมา ถ้าลมปราณของม้ามผิดปกติ จะทำให้เกิดอาการอ่อนเพลีย ไม่มีแรง ท้องอืด ท้องเดิน อวัยวะภายในตกหย่อนสู่เบื้องล่าง


Credit Pic : mybodymysoul.nl

คุณลักษณะพิเศษของม้าม

ม้ามชอบความแห้ง ไม่ชอบความชื้น
ความชื้นจากภายนอกที่เป็นเสียชี่ สามารถกระทบม้ามได้ง่าย เกิดอาการหนักศีรษะ ท้องอืด แน่น น้ำลายเหนียว ถ้าลมปราณม้ามพร่องจะเกิดความชื้นตกค้าง มีอาการแขนขาอ่อนแรง เบื่ออาหาร ท้องอืด มีเสมหะและของเหลวคั่ง บวมน้ำ และท้องเดิน 

คัมภีร์ซู่เวิ่น อู่วิ่นสิงต้าลุ่น《素问 。五 运行大论》กล่าวว่า “ตรงกลางให้กำเนิดความชื้น ความชื้นให้กำเนิดธาตุดิน ธาตุดินให้กำเนิดรสหวาน รสหวานให้กำเนิดม้าม”  ม้ามเป็นอวัยวะที่อยู่ตรงกลางของร่างกาย สัมพันธ์กับความชื้น (ความชื้นที่ปกติ) ธาตุดินรสหวาน ถ้าการทำงานของม้ามผิดปกติ เกิดอาการแน่นท้อง เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย กล้ามเนื้อเมื่อยล้า ท้องเดิน ปากมีรสหวาน ลิ้นมีฝ้าเหนียว การรักษาจะใช้ยาที่มีรสหวานบำรุงชี่ หรือ ใช้ยาที่มีกลิ่นหอมขับความชื้น


ม้ามกับสิ่งแวดล้อม
ม้ามมีความสัมพันธ์กับความชื้น ธาตุดิน สีเหลือง รสหวาน เป็นต้น ม้ามจะกลัวน้ำ ถ้าถูกคุกคามจะทำให้การทำงานของม้ามเสียไป เกิดอาการแน่นอก แน่นท้อง เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ท้องเดิน  ปากมีรสหวาน น้ำลายมาก ลิ้นมีฝ้าเหนียวลื่น เป็นต้น การรักษาม้ามมักใช้ยาที่มีรสหวานบำรุงม้าม

ม้ามกับตับอ่อน

ตำราจีนโบราณได้บันทึกรูปร่างของม้ามไว้ว่ามีลักษณะโค้งแบนเหมือนเคียว เหมือนลิ้นสุนัขหรือหงอนไก่ เมื่อเทียบกับลักษณะทางกายวิภาคศาสตร์ในปัจจุบัน คือ ตับอ่อน ซึ่งมีหน้าที่ทางสรีรวิทยา คือ ควบคุมเลือด สร้างน้ำย่อยช่วยย่อยอาหาร ฉะนั้น ม้ามในทางแพทย์แผนจีนจึงหมายถึง ม้ามและตับอ่อน

เลือดลมอินหยางกับม้าม
ชี่ของม้าม (脾气) เป็นลมปราณชนิดหนึ่งในร่างกาย ได้จากส่วนหนึ่งของเหวียนชี่ (元气) ที่มาหล่อเลี้ยงม้าม และชี่ของม้ามที่ได้จากสารอาหารกลับไปหล่อเลี้ยงเหวียนชี่ให้สมบูรณ์อยู่เสมอ ลมปราณของม้ามมีหน้าที่ย่อยและดูดซึมสารอาหารและน้ำ ควบคุมไม่ให้เลือดออกจากหลอดเลือดดังกล่าวข้างต้น  เลือดของม้าม อินของม้าม และหยางของม้าม หยางของม้ามก็เหมือนหยางและลมปราณทั่วไปที่ลมปราณเป็นส่วนหนึ่งของหยาง

เมื่อพร่องถึงระดับหนึ่งหยางก็จะพร่อง หยางของม้ามพร่องเกิดจากชี่ของม้ามพร่องเป็นเวลานาน รับประทานอาหารหรือยาเย็นมาก ทำให้หยางของไตพร่อง จึงกระทบถึงม้าม ทำงานเกินตัว เกิดอาการท้องอืด เบื่ออาหาร ถ่ายเป็นน้ำหรือถ่ายเหลว มือเท้าเย็น แขนขาหนัก เมื่อย ไม่มีแรง มีอาการปัสสาวะไม่คล่อง บวม ในสตรีจะมีอาการตกขาวมาก ลักษณะขาวใส เมื่อตรวจดูลิ้นจะมีลักษณะอ้วน ซีด ขาว ฝ้ามีสีขาวลื่น ชีพจรจมลึก ไม่มีแรง


ความสัมพันธ์ระหว่างม้ามกับเนื้อเยื่อและอวัยวะรับรู้
ม้ามควบคุมกล้ามเนื้อและแขนขา
ม้ามควบคุมกล้ามเนื้อต่าง ๆ ของร่างกาย ทั้งนี้เพราะม้ามมีหน้าที่ดูดซึมและส่งผ่านสารอาหารมาหล่อเลี้ยงกล้ามเนื้อและแขนขาให้เจริญเติบโตและแข็งแรง ถ้าม้ามทำงานปกติ กล้ามเนื้อจะพัฒนาได้ดี มีความหนาแน่นและแข็งแรง ดังนั้นถ้าชี่ของม้ามทำงานผิดปกติ จะมีผลถึงการขาดสารอาหาร ทำให้กล้ามเนื้อและแขนขาลีบเล็กไม่มีแรง

ม้ามกับปากและริมฝีปาก
ปากเป็นส่วนที่อยู่สูงสุดของระบบการย่อยอาหาร การรับประทานอาหารและการรับรู้รสชาติของอาหารมีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำงานของม้าม ถ้าม้ามทำงานปกติจะรู้สึกอยากอาหาร การรับรู้รสชาติของอาหารจะเป็นปกติ  ถ้าม้ามอ่อนแอจะมีผลให้เบื่ออาหาร ปากจืดไม่รู้รสชาติ 

ริมฝีปากเป็นส่วนหนึ่งของกล้ามเนื้อ  ม้ามควบคุมกล้ามเนื้อ ดังนั้นม้ามจึงมีความสัมพันธ์กับริมฝีปากด้วย ประสิทธิภาพการทำงานของม้ามจะสะท้อนให้เห็นจากสีของริมฝีปาก  นอกจากนั้นสีของริมฝีปากยังสะท้อนให้เห็นถึงคุณภาพของชี่และเลือดของร่างกายทั้งระบบ ถ้าลมปราณม้ามปกติ สามารถสร้างเลือดและชี่เพียงพอ  จะพบว่าริมฝีปากแดงชุ่มชื้นสดใส  ถ้าลมปราณม้ามพร่อง ริมฝีปากจะซีดไม่สดใส ถ้าเป็นมากริมฝีปากจะเป็นสีเหลือง

ม้ามกับการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์
ในภาวะปกติการครุ่นคิดปัญหาต่าง ๆ จะไม่เป็นผลลบต่อสุขภาพ แต่ถ้าครุ่นคิดมากเกินไป  จะมีผลกระทบต่อสุขภาพ ทำให้ชี่ติดขัดและมีผลต่อเนื่องให้การทำงานของม้ามในกระบวนการดูดซึมและส่งผ่านสารอาหารมีความบกพร่อง ทำให้เกิดอาการเบื่ออาหาร วิงเวียนศีรษะ เป็นต้น

เอกสารอ้างอิง
ทฤษฎีอวัยวะภายใน "ศาสตร์การแพทย์แผนจีนเบื้องต้น"
กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก
กระทรวงสาธารณสุข
ISBN 978-974-16-0792-1

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้