จริงหรือไม่? การดื่มน้ำเย็นจัดทำให้ร่างกายเสียสมดุล

Last updated: 2 ก.ค. 2567  |  30260 จำนวนผู้เข้าชม  | 

จริงหรือไม่? การดื่มน้ำเย็นจัดทำให้ร่างกายเสียสมดุล

อากาศร้อนๆ อย่างนี้ไม่ให้ดื่มน้ำเย็นได้อย่างไร ?  คนไทยชอบมากกับการดื่มน้ำเย็น ทั้งในหน้าร้อน หรือหน้าหนาว จะเป็นกลางวันหรือกลางคืน ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบน้ำเปล่า น้ำอัดลม ไอศครีม เบียร์เย็น ที่สำคัญชอบเพิ่มน้ำแข็งทำให้เย็นเร็วขึ้น  น้ำเย็นเป็นอันตรายต่อร่างกายหรือไม่ ถ้าเรารู้ว่าน้ำเย็นจัดๆมีผลเสียกับร่างกาย สังเกตได้จากคนประเทศจีน หรือคนจีนในไทยอายุมากจะชอบดื่มน้ำอุ่นมากกว่าน้ำเย็น เพราะอะไรไปหาคำตอบกันครับ

ในทางวิทยาศาสตร์ เมื่อเราดื่มน้ำเย็นจัดในเวลาอันรวดเร็วอาจจะทำให้เกิดอาการ brain freeze คือ เกิดอาการเย็นจี๊ดขึ้นสมองปวดศีรษะไปชั่วขณะได้ (คนที่เป็นโรคไมเกรนจะมีโอกาสเกิดอาการนี้ง่ายกว่าคนปกติ) ทั้งนี้เกิดจากกระบวนการของสมองที่สั่งการให้ส่งเลือดไหลเวียนมาที่หลอดเลือดบริเวณที่เย็นจัดมากขึ้นอย่างเฉียบพลัน เพื่อทำให้หลอดเลือดบริเวณนั้นอุ่นขึ้นและขยายหลอดเลือดจนไปกระตุ้นประสาทส่วนที่รับรู้ถึงความเจ็บปวดไปด้วยจึงเกิดเป็นอาการปวดศีรษะโดยฉับพลันนั่นเอง แต่ไม่ต้องห่วงอาการนี้เกิดขึ้นเพียงไม่กี่วินาทีและไม่ส่งผลระยะยาวต่อร่างกายใดๆ ทั้งสิ้น

แต่หากจะพูดถึงอันตรายต่อร่างกายในระยะยาว ในการแพทย์แผนจีนพบว่าการดื่มน้ำเย็นจัดๆเป็นประจำ อาจส่งผลทำให้ปอด ไต กระเพาะปัสสาวะ ม้าม กระเพาะอาหารทำงานหนักและขาดสมดุลการดื่มน้ำเย็นเป็นประจำในผู้สูงอายุ อาจจะทำให้มีอาการต่อไปนี้ได้

1. ปัสสาวะบ่อยขึ้น
เพราะการแพทย์แผนจีนจะกล่าวถึงความเย็นกระทบไตหยาง ทำให้ปัสสาวะบ่อยและและอั้นปัสสาวะไว้ได้ไม่นานปัสสาวะจะมากกว่าคนปกติ

2. ปวดหลัง ปวดเอวบ่อยๆ
เมื่อไตหยางอ่อนแอ ตำแหน่งของไตอยู่บริเวณเอว จะทำให้เมื่อยหลังเมื่อยเอวตลอดเวลา เข่าอ่อน ขาไม่มีเรี่ยวแรง

3. ปวดเมื่อยตามร่างกาย โดยเฉพาะตามข้อต่างๆ เช่น เข่า ศอก ข้อนิ้ว
เพราะความเย็นน้ำเย็นทำให้กระเพาะอาหารและม้ามอ่อนแอ ม้ามกำกับกล้ามเนื้อทุกส่วนของร่างกาย ถ้าม้ามอ่อนแอลง จะมีอาการปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ ลักษณะนี้ขอแนะนำให้ประคบร้อนจะช่วยทำให้กล้ามเนื้ออุ่นขึ้นลดอาการปวดได้

4. ท้องอืด ท้องเฟ้อ ย่อยอาหารได้ช้าลง ไขมันในอาหารจับตัวเป็นไขเมื่อมีความเย็น กระเพาะอาหารทำงานหนักขึ้น ใช้เวลาย่อยนานขึ้น ในการแพทย์แผนจีนจะหมายถึงเรื่องพลังหยางของม้ามและกระเพาะอาหารมีความอ่อนแอลง ทำให้การย่อยได้ช้าเกิดอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ หรืออาหารไม่ย่อย

5.ไอเป็นประจำ สังเกตได้ว่าคนที่มีอาการภูมิแพ้ เมื่อโดนความเย็นแล้วมักจะทำให้มีอาการไอ ถ้าหากดื่มน้ำเย็นด้วยจะทำให้ไอคันคอและมีเสมหะมาก เพราะความเย็นทำให้ปอดอ่อนแอและเกิดปัญหาของปอดเย็น น้ำตกค้างจึงเกิดเสมหะมาก

หลักการและเหตุผลของศาสตร์การแพทย์แผนจีนอธิบายว่า พลังหยางเปรียบได้กับพลังานที่เกิดจากระบบการเผาผลาญ (เมตาโบลิซึม) มีผลต่อการทำงานของอวัยวะส่วนต่างๆในร่างกาย เช่น ระบบภูมิต้านทาน ระบบการย่อย การทำให้เลือดไหลเวียน การสร้างและการกักเก็บปัสสาวะ การรักษาอุณภูมิในร่างกาย ในผู้สูงอายุพลังหยางจะลดลงตามวัย การดื่มน้ำเย็นจะทำให้พลังหยางในร่างกายลดลง เมื่อความเย็นมาทำลายหยางจึงทำให้อาการขี้หนาว มือเท้าเย็น ปัสสาวะบ่อย จึงควรหลีกเลี่ยงไม่ดื่มน้ำเย็นมากเกินไป

ควรดื่มน้ำอุ่นหรือน้ำอุณหภูมิห้องแทนและควรรับประทานอาหารที่ไม่มันเกินไป ควบคุมอาหารจำพวกแป้งและน้ำตาลให้พอดีกับความต้องการของร่างกาย ออกกำลังกายสม่ำเสมอและพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อช่วยให้การทำงานของอวัยวะภายในทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ปอด ไต ม้าม กระเพาะแข็งแรงยิ่งขึ้น การที่หันมาดื่มน้ำอุ่นในตอนเช้าหลังตื่นนอนจะช่วยส่งเสริมพลังหยางในร่างกายได้ดี เมื่ออวัยวะในร่างกายแข็งแรงจะช่วยให้เราสู้กับโรคที่เข้ามาโจมตีเราได้  

แพทย์จีนเยาวเกียรติ เยาวพันธุ์กุล
เลขที่ใบประกอบโรคศิลปะ พจ.628
คลินิกอายุรกรรมโรคไต

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้