Last updated: 2 ก.ค. 2567 | 379384 จำนวนผู้เข้าชม |
ผิวหนังอักเสบจากแมลง เป็นภาวะที่ผิวหนังมีการอักเสบหลังจากการถูกแมลงกัดหรือต่อย หลังจากผิวหนังมีการสัมผัสกับพิษจากสารคัดหลั่งหรือขนบนตัวของแมลง มีอาการหลัก คือ เกิดตุ่มนูน บวมขึ้นที่ผิวหนัง โดยบริเวณที่ถูกกัดอาจปรากฎเป็นตุ่มน้ำ ตุ่มแข็ง หรือจุดแดง เรียงตัวแบบกระจาย โดยชนิดของพิษจากแมลงที่พบได้บ่อยได้แก่ ยุง ริ้น ไร แมลงก้นกระดก บุ้ง หมัด เหา เรือด มอด ผึ้ง เป็นต้น
สาเหตุทางการแพทย์แผนจีน
- ผิวหนังถูกแมลงกัดต่อย แล้วมีการสัมผัสกับพิษจากสารคัดหลั่งหรือขนบนตัวของแมลง ทำให้พิษเข้าสู่ผิวหนังผสมกับชี่และเลือด
- พื้นฐานที่มีมาแต่กำเนิด(Congenital / 禀赋) ไม่แข็งแรง ทำให้มีภาวะแพ้ง่าย
สาเหตุทางการแพทย์แผนปัจจุบัน
เป็นปฏิกิริยาหลังจากผิวหนังมีการสัมผัสกับพิษจากสารคัดหลั่งหรือขนบนตัวของแมลง โดยขณะที่แมลงกัดผิวหนังของคนจะมีการฉีดน้ำลายเข้าสู่ผิว หากบุคคลนั้นมีภาวะแพ้ง่ายอยู่แล้ว หลังจากนั้นไม่นานจะเริ่มมีผื่นนูนเกิดขึ้นเป็นการบ่งบอกลักษณะของการแพ้ โดยปฏิกิริยาทางการแพ้ในครั้งแรกของโรคนี้ในผู้ป่วยส่วนใหญ่จะเป็นแบบเกิดขึ้นภายหลัง ไม่ได้เกิดขึ้นแบบทันที
อาการทางคลินิก
พบได้บ่อยในฤดูร้อนและฤดูใบไม้ร่วงซึ่งเป็นช่วงที่แมลงมีการขยายพันธุ์เป็นจำนวนมาก และมักพบถูกกัดหรือสัมผัสบริเวณนอกร่มผ้า พบบ่อยในเด็กเล็กที่อายุต่ำกว่า 7 ปีและอาจพบบ้างในวัยรุ่น
ลักษณะผื่นเป็นตุ่มนูนบวมหรือจุดคล้ำเป็นส่วนใหญ่ และพบรอยแดง ตุ่มน้ำ ได้รองลงมา ตรงกลางของผื่นหรือบริเวณที่ถูกกัดจะมีรอยกัด วางตัวแบบกระจายๆหรืออาจเกาะเป็นกลุ่ม เพราะมีการเกาทำให้ตุ่มน้ำแตกและพบรอยถลอก ทำให้อาจมีการติดเชื้อตามมาหรืออาจมีภาวะต่อมน้ำเหลืองบวมเป็นบางจุด
อาจพบอาการคัน บวมแดง แสบร้อนหรือมีอาการปวดร่วมด้วย โดยปกติจะไม่มีอาการทางร่างกายอื่นๆ โดยในรายที่มีอาการหนักอาจมีไข้ ขี้หนาว ปวดศีรษะ คลื่นไส้ แน่นหน้าอก หายใจลำบากหรืออาการอื่นๆที่บ่งชี้ว่ามีการถูกพิษ
เนื่องจากสัตว์แต่ละชนิดมีลักษณะหรือพิษที่แตกต่างกัน อาจทำให้มีอาการแสดงออกแตกต่างกันไปตามชนิดของสัตว์นั้นๆ
1. ตัวริ้น บริเวณที่ถูกกัดจะมีรอยกัดและมีผื่นนูนบวมขนาดประมาณเมล็ดถั่วเหลือง มีอาการคัน บางรายอาจพบตุ่มน้ำร่วมด้วย
2. ตัวไร ผื่นมีลักษณะเป็นตุ่มนูนแดง (papul-ovesicle) ขนาดตั้งแต่เม็ดข้าวฟ่างจนถึงเมล็ดถั่วเหลือง หรือมีผื่นนูนบวม (wheal) สีแดงอมม่วง บางครั้งอาจพบรอยกัดของแมลง หรือรอยสะเก็ดเลือดและรอยเกา
3. แมลงก้นกระดก ลักษณะรอยโรคมักมีตุ่มนูน ตุ่มน้ำ หรือตุ่มหนองบวมแดงเป็นเส้น อาจมีอาการปวดแสบปวดร้อน หรือเจ็บร่วมด้วย
4. ตัวบุ้ง ผื่นมีลักษณะเป็นตุ่นนูนแดง (maculopapule, papul-ovesicle) หรือ ผื่นนูนบวม (wheal) ขนาดประมาณเมล็ดถั่วเขียว-เมล็ดถั่วเหลือง มีอาการคันมาก
5. หนอนใบสน ผื่นมีลักษณะเป็นรอยแดง ผื่นนูนบวม(wheal) บริเวณกึ่งกลางมีตุ่มนูน ตุ่มน้ำ ตุ่มหนอง หรือตุ่มแข็งใต้ผิว มีผู้ป่วยจำนวนหนึ่งอาจพบอาการปวดข้อร่วมด้วย
6. ผึ้ง ผู้ป่วยจะรู้สึกแสบร้อน ปวด หรือคันที่บริเวณปากแผลที่ถูกต่อย หากถูกผึ้งหลายตัวต่อยอาจมีอาการบวมเป็นบริเวณกว้าง อาจมีอาการเวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียนร่วมด้วย หากมีอาการหนักอาจหมดสติได้
การรักษา
หากมีอาการไม่มากเน้นการรักษาที่ภายนอก หากมีอาการหนัก คันมาก หรือมีผื่นขึ้นเรื้อรังเป็นระยะเวลานาน จะใช้การรักษาภายในร่วมด้วย โดยใช้วิธี ลดความร้อน ขจัดพิษและลดอาการคัน
ข้อควรปฏิบัติ
1. รักษาความสะอาดสิ่งแวดล้อมภายในบ้าน เช่น หมั่นทำความสะอาดเครื่องเรือน หมอนหรือเสื้อผ้าต้องตากในที่มีอากาศถ่ายเท และสะบัดก่อนเก็บเข้าบ้าน หากมีรังของแมลงให้รีบกำจัด
2. เนื่องจากประเทศไทยเป็นเขตร้อนมีแมลงเป็นจำนวนมาก แนะนำให้ติดมุ้งลวดที่หน้าต่างและประตู หากมีร่องหรือช่องตามมุมของบ้านควรปิดรูให้สนิทกันแมลงเข้าบ้าน
3. ในเด็กเล็กเวลาออกไปเล่นนอกบ้านควรทายาหรือโลชั่นกันแมลง
4. ในช่วงที่มีผื่นเกิดขึ้นควรหลีกเลี่ยงการทานอาหารทะเล เนื้อวัว ของแสลงต่างๆ ควรเน้นทานผักผลไม้ น้ำสะอาด และขับถ่ายทุกวัน
5. ในช่วงที่มีผื่นเกิดขึ้นควรตัดเล็บให้สั้นเพื่อป้องกันเกิดการติดเชื้อที่อาจเกิดจากการเกา
ตัวอย่างกรณีศึกษา
ข้อมูลทั่วไป
ชื่อ-นามสกุล ดช XXX เพศชาย อายุ 8 ปี
เลขประจำตัวผู้ป่วย : 339XXX
วันที่รับการรักษา : 28 กุมภาพันธ์ 2564
อาการสำคัญ มีตุ่มคันขึ้นตามแขนขา 2ปี
ประวัติการเจ็บป่วยปัจจุบัน
- ผู้ป่วยมักมีตุ่มนูนคันขึ้นตามแขนขาร่วมกับมีอาการคันเป็นพักๆมาเป็นระยะเวลา 2 ปี โดยตุ่มนูนจะเป็นๆหายๆ ตรงจุดนี้หาย แล้วก็มีตุ่มใหม่ขึ้นที่อีกจุด
- ผู้ปกครองซื้อยาทา (ไม่ทราบชื่อ) มาทาให้ ตุ่มยุบ แต่ยังมีตุ่มใหม่ขึ้นอยู่เรื่อยๆ
- ผู้ป่วยชอบทานของทอด และเนื้อสัตว์เป็นประจำ
- ขับถ่าย 2วัน / ครั้ง
- นอนหลับปกติ
ประวัติการเจ็บป่วยในอดีต - ไม่มี
การตรวจร่างกาย
ผิวที่บริเวณแขนและขา มีตุ่มนูนสีแดงและสีน้ำตาล เรียงตัวแบบกระจายๆแยกเป็นตุ่มเดี่ยวๆ ร่วมกับมีรอยผิวสีน้ำตาลคล้ำเป็นจุดๆ ผู้ป่วยรูปร่างท้วม ลิ้นสีแดงฝ้าสีขาวบาง ชีพจรตึงเล็กเร็ว
การวินิจฉัย แพทย์แผนจีน : 虫咬皮炎 แพทย์แผนปัจจุบัน
ผิวหนังอักเสบจากแมลงจากกลุ่มอาการพิษร้อนสะสม(热毒蕴结型)
การรักษา : รับประทานยาสมุนไพรจีนและยาใช้ภายนอกโดยใช้วิธีลดความร้อนขจัดพิษและลดอาการคัน
คำแนะนำจากแพทย์จีน
1. เวลาออกไปเล่นนอกบ้านควรทายาหรือโลชั่นกันแมลง
2. ควรหลีกเลี่ยงการทานของมันๆทอดๆ เนื้อสัตว์ junk foodไม่ให้มากเกินไป เน้นทานผักผลไม้ น้ำสะอาด และขับถ่ายทุกวัน
3. ตัดเล็บให้สั้น
4. ออกกำลังกายเป็นประจำ
การประเมินผลหลังการรักษา ครั้งที่ 1 วันที่ 28 มีนาคม 2564
- หลังทานยาแล้ว มีตุ่มนูนขึ้นใหม่น้อยลง (ประมาณ 70%) อาการคันน้อยลง
- วันที่มาพบแพทย์บนผิวหนังบริเวณแขนขาไม่มีตุ่มนูน มีแต่จุดคล้ำสีน้ำตาลที่เกิดขึ้นหลังจากตุ่มหายแล้ว
- นอนหลับดี
- รับประทานอาหารปกติ
- ขับถ่ายวันละ 1 ครั้ง
บทความและบันทึกอาการโดย
แพทย์จีน ณัฐฐิมา เตชะพิพัฒน์ชัย
คลินิกอายุกรรมภายนอก (ผิวหนัง)
25 ต.ค. 2567
11 พ.ย. 2567
11 พ.ย. 2567