โรคผิวหนังอักเสบบริเวณมือ 手部湿疹 Eczema

Last updated: 2 ก.ค. 2567  |  60489 จำนวนผู้เข้าชม  | 

โรคผิวหนังอักเสบบริเวณมือ 手部湿疹 Eczema

เนื่องจากช่วงระยะ 6 เดือน ที่ผ่านมามีโอกาสได้พบเคสที่มีผื่นบริเวณฝ่ามือบ่อยมากขึ้นอาจจะด้วยสถานการณ์ปัจจุบันนี้ทำให้เราต้องหมั่นล้างมือกันบ่อยมากขึ้น และมีความจำเป็นต้องใช้น้ำยาฆ่าเชื้อต่างๆ จึงอาจเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ใครหลายๆคน “อาการกำเริบ” หรือเกิดอาการ “ผื่นแพ้ผิวหนังอักเสบ” ขึ้นได้ จึงขอกล่าวถึงโรคหนึ่งที่พบได้บ่อยในทางคลินิก และจัดเป็นหนึ่งใน 5 อันดับโรคผิวหนังที่พบบ่อย (สถาบันโรคผิวหนัง,2561)  

ในทางแพทย์แผนจีนโรคนี้มีชื่อว่า “ซือชวง(湿疮)” มีลักษณะรอยโรคหลายรูปแบบ มีน้ำเหลืองซึม มีอาการคันมาก มักเป็นๆหายๆ มีการดำเนินของโรคยาวนาน หรือที่รู้จักกันทั่วไปว่า “ผื่นผิวหนังอักเสบ eczema” สามารถแบ่งออกเป็น 3 ระยะได้แก่ระยะเฉียบพลัน ระยะกึ่งเฉียบพลัน ระยะเรื้อรังตามลักษณะของรอยโรคและขั้นตอนการพัฒนาของโรค ซึ่งรอยโรคในแต่ระยะจะมีลักษณะผื่นและอาการแตกต่างกันเช่น

ระยะเฉียบพลัน จะมีรอยโรคหลากหลายรูปแบบ เช่น รอยแดง ตุ่มนูน ตุ่มน้ำ น้ำเหลืองซึม ตกสะเก็ด มีขุยลอก มักพบรอยโรคหลายชนิดร่วมกัน เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ผู้ป่วยมักรู้สึกแสบร้อน คันรุนแรง อาจมีการพัฒนาไประยะกึ่งเฉียบพลันหรือระยะเรื้อรังได้ บางช่วงมีอาการรุนแรงบางช่วงเบา มักเป็นๆหายๆไม่หายขาด

ระยะกึ่งเฉียบพลัน หลังจากอาการในระยะเฉียบพลันบรรเทาลง หรือไม่ได้รับการรักษาที่ถูกวิธีทำให้อาการเรื้อรังจนเข้าสู่ระยะกึ่งเฉียบพลัน รอยโรคมีขอบเขตชัดขึ้น น้ำเหลืองค่อนข้างน้อย แต่จะยังพบตุ่มน้ำ รอยแดง ตุ่นนูนได้เป็นหลัก อาจมีแผลแฉะเล็กน้อย ผื่นสีแดงคล้ำ อาจพบผิวลอกเปื่อยได้ ยังคงมีอาการคันรุนแรง

ระยะเรื้อรัง  หากเป็นผื่นระยะเฉียบพลันและระยะกึ่งเฉียบพลันเป็นๆหายๆโดยสามารถพัฒนามาเป็นระยะเรื้อรังได้ หรืออาจเป็นผื่นระยะเรื้อรังตั้งแต่แรก ส่วนใหญ่มักมีผื่นเฉพาะที่ ขอบเขตชัดเจน ผิวหนังหนาตัวชัดเจน ผิวภายนอกขรุขระ หรือมีลักษณะแบบ “lichenification” คือผิวหนังบริเวณนั้นๆจะมีการหนาตัวขึ้น และมีลักษณะ แห้ง หยาบ สาก ร่องผิวชัดเจนขึ้น ตัวผื่นสีแดงคล้ำหรือสีน้ำตาล มักมีตุ่มน้ำใต้ผิว เป็นสะเก็ด ขุย  ผื่นค่อนไปทางแฉะ มักเป็นๆหายๆ บางช่วงอาการหนัก บางช่วงอาการเบา มีอาการคันเป็นช่วงๆ

นอกจากการแบ่งตามระยะของโรคแล้วยังสามารถแบ่งได้ตามลักษณะตำแหน่งที่ขึ้นผื่นได้อีกด้วย ในที่นี้จะขอกล่าวถึงเฉพาะผื่นที่ขึ้นบริเวณมือ(手部湿疹)เนื่องจากมือของเรานั้นโอกาสในการสัมผัสปัจจัยที่ทำให้เกิดผื่นนั้นมีมากมาย ดังนั้นบริเวณมือจึงเกิดผื่นได้บ่อยและมักเกิดผื่นบริเวณฝ่ามือและปลายนิ้วมือ อาจลุกลามไปได้ถึงหลังมือและข้อมือ ลักษณะรอยโรคจะปรากฏเป็นสีแดงคล้ำ หรือบวม พร้อมขุยลอก หากเป็นเรื้อรังจะมีลักษณะหนาหยาบ ในช่วงอากาศเย็นผิวอาจแห้งแตกได้ ระยะของโรคเป็นยาวนาน รักษาหายขาดยาก

การวินิจฉัยแยกกลุ่มอาการ ในศาสตร์แพทย์แผนจีนนั้นจะแบ่งกลุ่มอาการของซือชวงไว้เป็น4 กลุ่มได้แก่ (อ้างอิงจาก中华中医药学会ZYYXH/T358-2012)

1.กลุ่มอาการลมและความร้อนสะสมที่ผิวหนัง(风热蕴肤证) มีผื่นตุ่มแดงเป็นหลัก อาจมีลักษณะเป็ยขุย, ตกสะเก็ด, มีน้ำเหลืองซึมไม่มาก การดำเนินโรคลุกลามรวดเร็ว มักมีรอยโรคทั่วร่างกาย คันรุนแรง ; ลิ้นสีแดง ฝ้าสีเหลืองบาง ชีพจรลอยเร็วหรือตึงเร็ว

2. กลุ่มอาการความร้อนความชื้นแทรกซึม(湿热浸淫证)พบรอยโรคเป็นบริเวณกว้าง ผื่นมีสีแดง มีอาการแสบร้อน ตุ่มน้ำอยู่ชิดกัน มีน้ำเหลืองซึมชัดเจน คันค่อนข้างรุนแรง ลุกลามเร็ว มีอาการหงุดหงิดง่าย กระหายน้ำ ปัสสาวะสีเหลือง ท้องผูกร่วมด้วย ; ลิ้นสีแดง ฝ้าสีเหลืองเหนียว ชีพจรลื่นหรือเร็ว

3. กลุ่มอาการความชื้นสะสมจากม้ามพร่อง(脾虚湿蕴证)มีผื่นเป็นตุ่มหรือตุ่มน้ำเป็นรอยโรคหลัก สีผิวซีดคล้ำหรือมีสะเก็ด อาจมีน้ำเหลืองซึม คัน มีอาการเบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ท้องอืด ถ่ายเหลว ปัสสาวะสีใสหรือเหลืองอ่อนร่วมด้วย ; ลิ้นอ้วนซีด ฝ้าบางสีขาวหรือเหนียว ชีพจรลอยอ่อนหรือตึงเต้นเชื่องช้า

4. กลุ่มอาการเลือดพร่องทำให้เกิดลมแห้ง(血虚风燥证)รอยโรคเป็นแบบแห้ง ผิวหนังขรุขระ หนาตัวขึ้น เป็นlichenification อาจพบรอยเกาสะเก็ดขุย คัน อาการเรื้อรัง ; ลิ้นสีซีด ฝ้าขาว ชีพจรเล็ก

หลักการรักษา หลักการรักษาของโรคผิวหนังอักเสบคือ การประคองเจิ้งชี่(正气)ขับเสียชี่(邪气) วิธีการรักษาคือ ดับร้อนขับความชื้น บำรุงม้ามเพิ่มการไหลเวียนเลือด พยุงเลือดไล่ลม ฯลฯ ระยะเฉียบพลันและระยะกึ่งเฉียบพลันใช้วิธีดับร้อนขับความชื้น ไล่ลมระงับอาการคัน ระยะเรื้อรังใช้วิธีบำรุงม้ามขับความชื้น บำรุงเลือดระงับอาการคัน

ตัวอย่างการรักษาผู้ป่วยโรคผิวหนังอักเสบบริเวณมือ
(手部湿疹/Eczema)


ผู้ป่วยเพศหญิง ชาวไทย อายุ 15 ปี  HN:336 ***                          อุณหภูมิร่างกายปกติ (36.3℃),
ชีพจร 85/min, ความดัน114/65mmHg, น้ำหนัก48 kg


ตรวจรักษาครั้งแรกวันที่ 10 มกราคม 2564
- ผู้ป่วยมาด้วยอาการมีผื่นแดง ผิวแห้งลอกและคันบริเวณฝ่ามือและฝ่าเท้าและหลังเท้า บริเวณฝ่ามือเป็นผื่นมากที่สุด มีอาการเป็นๆหายๆเป็นระยะเวลา 5 ปีกว่า เคยผ่านการรักษาด้วยแพทย์แผนปัจจุบันโดยการทานยาและยาใช้ภายนอกมาก่อนแต่ยังเห็นผลการรักษาไม่ชัดเจนปัจจุบันหยุดการรักษาแล้ว มีการใช้ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมเจลลี่ทาเองบ้าง

- บางวันในเวลาตอนเช้าจะมีอาการคัดจมูกน้ำมูกไหล รับประทานอาหารได้ปกติ นอนหลับได้ปกติ การขับถ่ายปกติ ; รอบดือน 20-60 วัน ปริมาณประจำเดือนปกติไม่มีอาการปวดประจำเดือนก่อนประจำเดือนมาอาจมีอาการคัดตึงหน้าอกเล็กน้อย ขณะประจำเดือนมาอาจมีอาการปวดเอวบ้าง                                      


ตรวจลิ้นพบลิ้นสีชมพูระเรื่อตัวลิ้นบวมฝ้าขาวค่อนข้างบาง ตรวจชีพจรพบชีพจรซ้ายและขวาเล็กลื่นค่อนข้างเร็ว                                                                               
วินิจฉัย : ผิวหนังอักเสบบริเวณมือ(手部湿疹/Eczema)
กลุ่มอาการ : กลุ่มอาการเลือดพร่องทำให้เกิดลมแห้ง(血虚风燥证)
การรักษา : ใช้ยาสมุนไพรจีนสำเร็จรูปชนิดลูกกลอน(当归素)และแคปซูล(润燥止痒胶囊)ที่มีฤทธิ์ บำรุงเลือดเสริมความชุ่มชื้นผิว ขับลมระงับอาการคัน

ปริมาณยาที่ใช้ : 7-10 วัน, ชนิดลูกกลอนรับประทานวันละ 3 ครั้งและชนิดแคปซูลรับประทานวันละ 2 ครั้ง, หลังอาหารเช้า-เย็น ร่วมกับยาสมุนไพรจีนชนิดครีม(四金乳膏)ทาบริเวณรอยผื่น และใช้ผลิตภัณฑ์ให้ความชุ่มชื้นผิวร่วมด้วย

คำแนะนำ : หลีกเลี่ยงการอาบน้ำร้อน เลี่ยงการเกา งดอาหารแสลง อาหารทะเล หรืออาหารที่ทานแล้วผื่นมีอาการเห่อคันมากยิ่งขึ้น รับประทานผักผลไม้ให้มาก ดื่มน้ำให้เพียงพอ ควรขับถ่ายให้ได้ทุกวัน


ประเมินผลหลังการรักษา :  วันที่ 24 มกราคม 2564
หลังรับประทานยาจีนไปไม่พบอาการไม่พึงประสงค์ใดๆ ผื่นบริเวณฝ่ามือและเท้าจางลง ผิวหนังแห้งลอกน้อยลง ไม่พบอาการคัน ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาไม่พบอาการคัดจมูกมีน้ำมูกไหลในตอนเช้า การรับประทานอาหารปกติ การนอนหลับการขับถ่ายปกติ

ตรวจลิ้นพบลิ้นสีชมพูระเรื่อตัวลิ้นบวมเล็กน้อยฝ้าลิ้นค่อยข้างบาง ตรวจชีพจรพบชีพจรซ้ายและขวาเล็กค่อนข้างเร็ว

การรักษา : ใช้ยาสมุนไพรจีนสำเร็จรูปตำรับเดิม
ปริมาณยาที่ใช้ : 14 วัน , ชนิดลูกกลอนรับประทานวันละ 3 ครั้งและชนิดแคปซูลรับประทานวันละ 2 ครั้ง, หลังอาหารเช้า-เย็น ร่วมกับยาสมุนไพรจีนชนิดครีมทาบริเวณรอยผื่น และใช้ผลิตภัณฑ์ให้ความชุ่มชื้นผิวร่วมด้วย ติดตามอาการหลังหยุดรับประทานยาหากไม่มีผื่นแล้วสามารถหยุดรับประทานยาได้


ติดตามอาการ :  วันที่ 31 มกราคม 2564  อาการโดยรวมดีขึ้นตามลำดับ ยังคงมีรอยแดงอยู่บ้าง ไม่มีอาการคัน

ติดตามอาการ :  วันที่ 07 กุมภาพันธ์ 2564 อาการผื่นที่มือดีขึ้นตามลำดับ ในระหว่างสัปดาห์เนื่องจากคนไข้เปลี่ยนสบู่ล้างมือที่ใช้เป็นประจำ ทำให้มือแห้งและลอกกว่าเดิม แต่เมื่อหยุดใช้อาการทุเลาลงดังเดิม

กรณีเคสแบบนี้สามารถพบได้บ่อยในทางคลินิก เนื่องจากคนไข้มีอาการของโรคเป็นระยะเวลานาน ลักษณะของผื่นคือแห้งลอกเป็นขุย ร่วมกับอาการคัน เป็นๆหายๆ ซึ่งจัดเป็นซือชวงแบบเรื้อรัง

ในศาสตร์แพทย์แผนจีนกล่าวว่าหากเป็นโรคเรื้อรังยาวนานจะส่งผลให้เลือดและอินพร่องเกิดเป็นภาวะเลือดพร่องเกิดลมแห้ง ผิวหนังขาดการหล่อเลี้ยงอีกทั้งเกิดลมกระทบทำให้มีอาการคันร่วม

ดังนั้นในกลุ่มอาการนี้รักษาด้วยแนวทางบำรุงเลือดเพิ่มอิน ให้ความชุ่มชื้นและระงับคันร่วมกับการใช้ยาสมุนไพรจีนที่ลดอักเสบและให้ความชุ่มชื้น ประกอบกับคนไข้ระมัดระวังการใช้ชีวิตประจำวันให้ถูกสุขลักษณะ พักผ่อนให้เพียงพอ หลีกเลี่ยงการสัมผัสสารระคายเคืองเท่าที่ทำได้จะทำให้ผลการ

รักษาและบันทึกผลการรักษาโดย         
แพทย์จีน มนัญญา อนุรักษ์ธนากร
คลินิกอายุรกรรมภายนอก (ผิวหนัง)

อ้างอิง
สถาบันโรคผิวหนัง. (2561).  สถิติโรคผู้ป่วยนอกที่พบตามลำดับ 10 อันดับกลุ่มโรค ปีงบประมาณ 2561. สืบค้น 31 มกราคม 2564, จาก http://inderm.go.th/news/search_news_pan.php?id_typep=3

中华中医药学会.(2012).中医皮肤科常见病诊疗指南.中国中医药出版社.

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้