Last updated: 2 ก.ค. 2567 | 35239 จำนวนผู้เข้าชม |
วัยผู้สูงอายุ เป็นวัยที่ร่างกายมีการเสื่อมถอยในทางร่างกายหลายด้าน เช่น ระบบการย่อยอาหาร ระบบขับถ่าย ระบบประสาทและสมอง ระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ เป็นต้น รวมถึงการเปลี่ยนแปลงทางด้านจิตใจ อารมณ์ สังคม และเศรษฐกิจ
ในมุมมองทางการแพทย์แผนจีน วัยผู้สูงอายุเป็นวัยที่ไต ซึ่งเป็นรากฐานของชีวิตทำงานถดถอยลง ส่งผลกระทบต่อการเก็บกัก “สารจิง” ซึ่งเป็นสารจำเป็นของร่างกาย เมื่อสารจิงลดลง ร่างกายเสื่อมถอยลง ทำให้เกิดการชราภาพเร็วขึ้น ไม่เพียงแต่ไตเท่านั้นที่ทำงานถดถอยลง ปอดและม้ามซึ่งเป็นแหล่งพลังงานที่ได้รับมาภายหลังเริ่มทำงานถดถอย ส่งผลให้ระบบการย่อยอาหาร ระบบขับถ่าย เป็นต้น ทำงานผิดปกติ
บรรดาอาหารที่พบในชีวิตประจำวัน มีอาหารบางชนิดที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย การที่เรารับประทานอาหารที่มีประโยชน์ก็เหมือนกับเรารับประทานยาที่มาจากธรรมชาติ ดังคำกล่าวของ ฮิปโปเครติส บิดาทางการแพทย์ของชาวกรีกที่ว่า “จงใช้อาหารเป็นยารักษาโรค” ผู้เขียนจะมาแนะนำอาหาร 5 ชนิด ที่เหมาะสมและเป็นประโยชน์ต่อผู้สูงวัย
"ขิงสด"
ลักษณะยา : รสเผ็ด ฤทธิ์อุ่น เข้าสู่เส้นลมปราณปอด ม้ามและกระเพาะอาหาร
สรรพคุณทางการแพทย์แผนจีน
- ขับเหงื่อกระจายความเย็น รักษาอาการหวัดที่มีสาเหตุมาจากความเย็น
- ให้ความอบอุ่นแก่กระเพาะอาหาร รักษาอาการคลื่นไส้อาเจียนจากภาวะที่กระเพาะมีความเย็นสูง
- ให้ความอบอุ่นแก่ปอด ระงับอาการไอที่มีสาเหตุมาจากความเย็น
สรรพคุณอื่นๆ
ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด
ขิงมีสารที่มีคุณสมบัติกระตุ้นการทำงานของอินซูลินในร่างกาย ช่วยเพิ่มอัตราการนำน้ำตาลในร่างกายไปใช้ได้มากขึ้น จึงมีผลทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลง เหมาะสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ผู้บริโภคควรที่จะปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทานขิงร่วมกับยา เพราะขิงอาจทำปฏิกิริยากับยาที่ใช้รักษาได้ และควรติดตามผลระดับน้ำตาลอย่างใกล้ชิด
ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของสมอง
ผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพของออสเตรเลีย Kathleen McFarlane ค้นพบว่า ผู้หญิงที่มีอายุในช่วง 50-60 ปี ที่รับประทานขิงเป็นประจำมีประสิทธิภาพของสมองดีขึ้นเนื่องจากขิงมีส่วนช่วยให้ระบบการป้องกันเซลล์ประสาท (Neuroprotective function) ทำงานดีขึ้น
ลดอาการจุกเสียด
ขิงมีน้ำมันหอมระเหยคือ เมนทอล (Menthol) และซีนีออล (Cineole) ซึ่งสามารถกระตุ้นการทำงานของกล้ามเนื้อระบบทางเดินอาหารให้บีบตัวมากขึ้น จึงเกิดการขับลมออกมา ลดอาการจุกเสียด
ลดอาการปวดศีรษะ
ขิงสามารถใช้รักษาอาการปวดศีรษะได้ ทั้งชนิดปวดแบบสองข้าง และข้างเดียวหรือไมเกรน สารเคมีที่อยู่ในขิงจะสามารถปรับสารไอโคซานอยด์ (eicosanoid) ทำให้อาการปวดศีรษะบรรเทาลง
วิธีการรับประทาน
- สามารถรับประทานได้ในอาหารทั่วไปเช่น ไก่ผัดขิง ปลานึ่ง เป็นต้น
- นำขิงสดหั่น 5-6 แว่นใส่ลงในน้ำต้มเดือด ปิดฝา 15-20 นาที ดื่มเป็นชาจิบระหว่างวัน
ข้อห้ามใช้ "ขิงสด" ข้อควรระวังและอาการข้างเคียง
- ขิงสดไม่เหมาะกับผู้ที่มีกลุ่มอาการร้อนและอินพร่อง
- หากมีการใช้ยาละลายลิ่มเลือด ควรระมัดระวังการรับประทานขิงเนื่องจากขิงสามารถยับยั้งการแข็งตัวของเลือดได้
"งาดำ"
ลักษณะยา : รสหวาน ฤทธิ์กลาง เข้าสู่เส้นลมปราณตับ ไตและลำไส้ใหญ่
สรรพคุณทางการแพทย์แผนจีน
- บำรุงตับและไต รักษากลุ่มอาการจิงและเลือดพร่อง เวียนศีรษะ ตาพร่ามัว
- ให้ความชุ่มชื้นแก่ลำไส้ รักษาอาการท้องผูกจากลำไส้ขาดความชุ่มชื้น
สรรพคุณอื่นๆ
ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือด
งาดำอุดมไปด้วยกรดไขมันโอเมก้า 3 และกรดไขมันโอเมก้า 6 ที่มีคุณสมบัติช่วยลดคอเลสเตอรอลในเลือด สามารถช่วยป้องกันโรคหลอดเลือดแข็งตัวหรือโรคเกี่ยวกับหลอดเลือดและโรคหัวใจได้ดี
บำรุงผิวและผม
งาดำอุดมด้วยสารต้านอนุมูลอิสระทั้งวิตามินเอ วิตามินบี วิตามินซีและวิตามินอี ช่วยบำรุงผิวพรรณให้ชุ่มชื้น ช่วยในการผลัดเซลล์ผิวที่ตายแล้ว งาดำยังมีส่วนช่วยสร้างคอลลาเจน ทำให้ผิวเปล่งปลั่งสดใส ช่วยชะลอการเกิดริ้วรอยแห่งวัย
เพิ่มอัตราการเผาผลาญไขมัน
งาดำมีส่วนช่วยในการเผาผลาญและสลายไขมันโดยงาดำจะช่วยให้ไขมันแตกตัวได้ดีขึ้น ส่งผลให้ไขมันถูกย่อยสลายเร็วขึ้น ทำให้ไขมันสะสมลดลง
บำรุงระบบประสาทและสมอง
งาดำช่วยบำรุงระบบประสาทและสมองโดยช่วยฟื้นฟูเซลล์ประสาทรวม ช่วยป้องกันและฟื้นฟูโรคเกี่ยวกับระบบประสาทและสมอง เช่น เส้นเลือดอุดตันในสมอง เส้นเลือดแตก ช่วยป้องกันการเสื่อมของเซลล์ในระบบประสาท ป้องกันการเกิดโรคอัลไซเมอร์
บำรุงเลือด
งาดำอุดมด้วยธาตุเหล็ก ช่วยบำรุงเลือด ลดความดันโลหิต ขยายหลอดเลือด และป้องกันเกล็ดเลือดที่จะเกาะตัวกันเป็นลิ่ม
กระตุ้นระบบขับถ่าย
งาดำมีเส้นใยอาหารสูง ช่วยกระตุ้นระบบขับถ่าย บรรเทาอาการของโรคริดสีดวงทวารและป้องกันโรคท้องผูก
ลดผมหงอก ผมร่วง
งาดำอุดมไปด้วยไขมันดีคือ กรดไขมันไลโนเลอิก ซึ่งมีคุณสมบัติช่วยทำให้ผมดกดำเงางาม ลดการหลุดร่วงของเส้นผมและป้องกันผมหงอก
ป้องกันโรคกระดูกพรุน
จากการวิจัยค้นพบว่างาดำมีสารเซซามิน ซึ่งช่วยในการยับยั้งการพัฒนาเซลล์ต้นกำเนิดของเซลล์สลายกระดูกที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคข้อเสื่อม โรคกระดูกพรุนได้ และเซซามินยังช่วยทำให้แคลเซียมประสานกับกระดูกเพิ่มมากขึ้น
วิธีการรับประทาน
- นำงาดำใส่ในอาหารเช่น ใส่ในขนมปัง โรยในจานข้าว
- รับประทานงาดำเปล่าๆโดยเคี้ยวให้ละเอียด ให้เม็ดงาแตกออกเพื่อให้ร่างกายดูดซึมสารอาหารจากงาดำได้ดี
ข้อห้ามใช้ "งาดำ" ข้อควรระวังและอาการข้างเคียง
- ไม่ควรรับประทานเกินวันละ 15 กรัมหรือ 1 ช้อนโต๊ะ
- ผู้ที่มีปัญหาเรื่องการขับทองแดงไม่ควรรับประทาน (โรค Wilson's disease หรือภาวะทองแดงคั่งในร่างกาย เป็นความผิดปกติทางพันธุกรรมที่เกิดจากระบบการทำงานของตับไม่สามารถกำจัดแร่ธาตุทองแดงส่วนเกินออกไปได้ ทำให้เกิดการสะสมของแร่ธาตุทองแดงเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้ตับทำงานผิดปกติ เป็นโรคตับแข็ง หรือมีปัญหาด้านระบบประสาทและความผิดปกติที่ดวงตา ตัวอย่างอาการเช่น ตัวเหลือง ตับโต ม้ามโต ตามมาด้วยอาการทางระบบประสาท เคลื่อนไหวผิดปกติ กลืนลำบาก)
"เก๋ากี้"
ลักษณะยา : รสหวาน ฤทธิ์กลาง เข้าสู่เส้นลมปราณตับและไต
สรรพคุณทางการแพทย์แผนจีน
- บำรุงหล่อเลี้ยงตับและไต
- บำรุงสายตาและสารจิง รักษากลุ่มอาการอินของตับและไตพร่อง ปวดเมื่อยเอวและสีข้าง เวียนศีรษะ หูมีเสียง แก่ก่อนวัยอันควร เป็นต้น
สรรพคุณอื่นๆ
บำรุงสายตา
เก๋ากี้มีสารซิแซนทิน(Zeaxanthin) ที่สามารถช่วยบำรุงสายตา ป้องกันแสงสีน้ำเงินที่ทำลายดวงตา ช่วยผู้มีอาการ ต้อลม ตาพร่า ตามัว ให้คืนสู่สภาพปกติ
ชะลอวัย
เก๋ากี้มีสารต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidant) ซึ่งสารต้านอนุมูลอิสระดังกล่าวช่วยยับยั้งการเสื่อมสภาพของเซลล์จากควันพิษ ควันบุหรี่ หรือสารก่อมะเร็ง จึงทำให้ผิวพรรณดูอ่อนเยาว์
รักษาระดับน้ำตาลในเลือด
เก๋ากี้มีสรรพคุณที่เกี่ยวข้องกับระดับน้ำตาลในร่างกาย ช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือด เพิ่มความทนทานต่อน้ำตาล ลดภาวะดื้อต่ออินซูลิน บำรุงและเสริมสร้างเซลล์ที่ช่วยในการสร้างอินซูลิน ผู้บริโภคควรปรึกษาแพทย์ก่อนเริ่มรับประทานเก๋ากี้โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ
เพิ่มระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน
เก๋ากี้ถูกใช้เป็นเพื่อเป็นยาในการเพิ่มสมรรถภาพทางเพศมาอย่างยาวนานตามศาสตร์การแพทย์แผนจีน โดยจากการศึกษาค้นพบว่าเก๋ากี้สามารถเพิ่มปริมาณอสุจิ ทำให้อสุจิเคลื่อนไหวได้ดียิ่งขึ่น เพิ่มระดับเทสโทสเตอโรน เพิ่มสมรรถภาพทางเพศและลดระยะเวลาการหลั่ง
เสริมสร้างภูมิคุ้มกัน ต้านทานหวัด
เก๋ากี้อุดมด้วยวิตามินและแร่ธาตุที่สำคัญเช่น วิตามินบี1 บี2 บี6 และวิตามินอี มีวิตามินซี สังกะสีเหล็ก ทองแดง แคลเซียม เจอมันเนียม เซเรเนียมและฟอสฟอรัส และสารต้านอนุมูลอิสระจำนวนมาก ส่งผลทำให้ร่างกายมีระบบภูมิคุ้มกันที่ดีขึ้น และยังช่วยให้ร่างกายแข็งแรงต้านทานการเป็นหวัดได้
วิธีการรับประทาน
- ใส่เก๋ากี้ 1 ช้อนโต๊ะ ในแก้ว เติมน้ำร้อน แช่ไว้ 10-15 นาที แล้วดื่มน้ำ ทานเนื้อเก๋ากี้ด้วย รับประทานก่อนอาหาร 30 นาที ช่วยให้ร่างกายได้รับพลังงานและสารอาหาร อิ่มท้อง ดื่มได้ทั้ง 3 มื้อ แต่มื้อที่ควรดื่มที่สุดคือ ในตอนเช้าก่อนอาหาร เพราะดูดซึมได้ดี และช่วยให้รู้สึกสดชื่น ไม่โหยในระหว่างวัน
- ประกอบอาหารเช่น ซุป เป็นต้น
ข้อห้ามใช้ "เก๋ากี๊" ข้อควรระวังและอาการข้างเคียง
- ไม่เหมาะกับผู้ที่กำลังจะรับการผ่าตัด หรือ ทำทันตกรรม เนื่องจากมีผลทำให้เลือดแข็งตัวช้าลงส่งผลให้เลือดหยุดไหลช้า
- ผู้ที่ใช้ยับยั้งการแข็งตัวของเลือด เช่น ยาวาร์ฟารินและผู้ที่เป็นโรคเบาหวานควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทาน
"ลูกเดือย"
ลักษณะยา : รสหวานและจืด ฤทธิ์เย็น เข้าสู่เส้นลมปราณม้าม กระเพาะอาหารและปอด
สรรพคุณทางการแพทย์แผนจีน
- ขับปัสสาวะ ลดบวม สลายความชื้น ช่วยในการขับปัสสาวะ รักษาอาการบวมน้ำบริเวณขา
- เสริมบำรุงม้าม รักษากลุ่มอาการม้ามพร่อง ถ่ายกระปิดกระปรอย บวมน้ำ ท้องมาน
- บรรเทาอาการปวดข้อ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ตะคริว
- ระบายความร้อน ขับหนอง รักษาโรคปอดอักเสบ ลำไส้อักเสบ ขับหนองและแผลฝีอื่นๆ
สรรพคุณอื่นๆ
ลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือด
ลูกเดือยมีเส้นใยอาหารสูงโดยเส้นใยอาหารจะเข้าไปจับตัวกับคอเลสเตอรอลในลำไส้และยับยั้งการดูดซึมไขมันในร่างกาย ส่งผลให้ระดับคอเลสเตอรอลในเลือดลดต่ำลง นอกจากนี้ลูกเดือยยังมีแคลอรี่ต่ำในขณะที่มีเส้นใยอาหารสูง ซึ่งดีต่อการควบคุมน้ำหนักและการลดความอ้วนโดยเส้นใยอาหารจะช่วยทำให้อยู่ท้องและอิ่มนาน
ลดความดันโลหิต
ลูกเดือยประกอบด้วยสารโอลิโกเปปไทด์ (Oligopeptide) ที่มีฤทธิ์ยับยั้งแอนจิโอเทนซิน I-คอนเวอร์ติงเอนไซม์ (Angiotensin-I Converting Enzyme) ซึ่งเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยลดความดันโลหิต
บำรุงกระดูก
ลูกเดือยอุดมไปด้วยแคลเซียม ช่วยบำรุงกระดูกและฟันให้แข็งแรง แก้ปวดเมื่อยตามข้อกระดูกและร่างกาย บำรุงเส้นเอ็น ช่วยป้องกันโรคกระดูกพรุน
แก้ท้องผูก
ลูกเดือยมีเส้นใยอาหารสูง ช่วยทำให้ระบบขับถ่ายคล่อง ป้องกันลำไส้อักเสบ แก้อาการท้องผูก
วิธีการรับประทาน
- สามารถนำหุงรวมกับข้าว รับประทานเป็นข้าวสวยผสมลูกเดือย
- ต้มลูกเดือยรับประทาน สามารถใส่น้ำตาลเล็กน้อยเพื่อให้ง่ายต่อการรับประทาน
ข้อห้ามใช้ "ลูกเดือย" ข้อควรระวังและอาการข้างเคียง
- หญิงตั้งครรภ์หรือหญิงที่อยู่ในช่วงให้นมบุตร ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานลูกเดือย (เนื่องจากมีการศึกษาในสัตว์ทดลองพบว่าลูกเดือยอาจเป็นพิษต่อตัวอ่อนในครรภ์ เป็นเหตุให้มดลูกบีบตัว และเป็นอันตรายต่อการตั้งครรภ์ได้ รวมถึงยังไม่มีข้อมูลด้านความปลอดภัยหากรับประทานลูกเดือยในช่วงที่ให้นมบุตร)
- ผู้ที่ต้องเข้ารับการผ่าตัด ควรหยุดรับประทานลูกเดือยอย่างน้อย 2 สัปดาห์ก่อนการผ่าตัด เพราะลูกเดือยอาจรบกวนการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดทั้งในระหว่างและหลังการผ่าตัด
- ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ควรระมัดระวังในการรับประทานลูกเดือย โดยเฉพาะผู้ที่ต้องใช้ยาลดระดับน้ำตาลในเลือด เช่น อินซูลิน ไกลพิไซด์ ไกลเบนคาไมด์ ไพโอกลิตาโซน เป็นต้น เนื่องจากลูกเดือยอาจทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดต่ำลงมากเกินไป ดังนั้น ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทานลูกเดือย เพราะอาจต้องปรับปริมาณยาและควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดอย่างใกล้ชิด
"พุทราจีน"
ลักษณะยา : รสหวาน ฤทธิ์อุ่น เข้าสู่เส้นลมปราณม้าม กระเพาะอาหารและหัวใจ
สรรพคุณทางการแพทย์แผนจีน
- เสริมพลังชี่
- บำรุงม้ามและกระเพาะอาหาร รักษากลุ่มอาการม้ามพร่อง เช่น เบื่ออาหาร ถ่ายเหลว อ่อนเพลีย ไม่มีแรง เป็นต้น
- บำรุงเลือด
- สงบประสาท รักษากลุ่มอาการเลือดพร่อง ซีดเซียว สตรีที่มีอาการของระบบประสาท กระวนกระวาย
สรรพคุณอื่นๆ
บำรุงโลหิต
เนื้อพุทราจีน มีแร่ธาตุโพแทสเซียม ช่วยลดความดันโลหิต ช่วยรักษาสมดุลความดันเลือด มีธาตุฟอสฟอรัสและธาตุเหล็ก ช่วยในการไหลเวียนเลือด ป้องกันการเกิดโรคโลหิตจาง
ลดระดับคอเลสเตอรอลในเลือด
ลดระดับคอลเรสเตอรอล ไตรกลีเซอไรด์ และไขมัน LDL ในเลือด ช่วยป้องกันหลอดเลือดหัวใจอุดตัน และป้องกันการเกิดเส้นเลือดในสมองตีบ
บำรุงกระดูก
พุทราจีนมีแคลเซียมที่ช่วยในการรักษาสมดุลความหนาแน่นของมวลกระดูก ลดการอักเสบบริเวณข้อและลดอาการบวม
แก้ท้องผูก
พุทราจีนอุดมไปด้วยเส้นใยอาหาร ช่วยทำให้การขับถ่ายง่ายขึ้น ลดการเกิดท้องผูก ซึ่งเป็นต้นเหตุสำคัญในการเกิดริดสีดวงทวาร สารในเนื้อพุทรายังช่วยส่งเสริมการสร้างเยื่อบุในกระเพาะอาหารและลำไส้ ช่วยลดความเสี่ยงการเกิดแผลในทางเดินอาหารจากเชื้อแบคทีเรีย
ส่งเสริมคุณภาพการนอนหลับ
เมล็ดพุทราจีนมีสารออกฤทธิ์ที่ระบบประสาทและสมอง ช่วยกระตุ้นให้เกิดการทำงานของกาบา (GABA) ที่เป็นสารสื่อประสาทและฮอร์โมนเซโรโทนิน (Serotonin) ช่วยรักษาสมดุลของระบบประสาท ลดความเครียด ทำให้ร่างกายสงบลง รู้สึกผ่อนคลาย ช่วยส่งเสริมคุณภาพการนอน ทำให้หลับสนิทและหลับลึก ป้องกันการเกิดโรคลมชัก โรคอัลไซเมอร์ เพิ่มทักษะการเรียนรู้และช่วยเพิ่มความจำ
วิธีการรับประทาน
- นำพุทราจีนแห้งฉีกเป็นชิ้นเล็กๆ แช่ไว้ในน้ำเดือด ดื่มเป็นชาจิบได้ระหว่างวัน
- รับประทานสดวันละ 1-2 ลูก
ข้อห้ามใช้ "พุทราจีน" ข้อควรระวังและอาการข้างเคียง
- พุทราจีนแห้งมีน้ำตาลสูง ผู้ที่เป็นโรคเบาหวานควรรับประทานแต่น้อย
- น้ำตาลอาจทำให้ฟันผุได้ นอกจากนี้ผู้ที่มีอาการของโรคลำไส้และฟันผุควรหลีกเลี่ยง
- ไม่ควรรับประทานเกิน 20 ลูกต่อวัน เนื่องจากอาจทำให้ท้องผูก
- การรับประทานพุทราจีนแบบสด ควรเคี้ยวให้ละเอียดก่อนทุกครั้ง เพราะเนื้อพุทราจีนมีเส้นใยอาหารเป็นจำนวนมาก อาจทำให้ท้องอืดได้
อาหารทั้ง 5 ชนิด ล้วนแต่เหมาะสมและเป็นประโยชน์ต่อผู้สูงวัย การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ในปริมาณที่เหมาะสมสามารถช่วยบรรเทาอาการที่ผู้สูงอายุพบได้บ่อย เช่น การขับถ่ายลำบาก กระดูกไม่แข็งแรง ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ระดับน้ำตาลและไขมันในเลือดสูง ระบบย่อยอาหารทำงานไม่เต็มประสิทธิภาพ เป็นต้น และสามารถลดการบริโภคยา ปรับสมดุลของร่างกาย ยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ
แพทย์จีน ฉันทัช เฉิน (พจ. 1312)
แผนกกระดูกและทุยหนา
คลินิกการประกอบโรคศิลปะ สาขาการแพทย์แผนจีนหัวเฉียว
เอกสารอ้างอิง
1. กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข. คู่มือการใช้สมุนไพรไทย-จีน. กรุงเทพมหานคร : สำนักงานกิจการโรงพิมพ์องค์การทหารผ่านศึกในพระบรมราชูปถัมภ์, 2551.
2. บริษัท หลักทรัพย์จัดการกองทุน กสิกรไทย จำกัด. มหัศจรรย์สมุนไพรจีน. กรุงเทพมหานคร : บริษัท ซีเอ็ดยูเคชั่น จำกัด มหาชน, 2550.
3. ลัดดาวัลย์ บุญรัตนกรกิจ. สมุนไพรน่าใช้. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์ แท่นทองปริ้นติ้งเซอร์วิส, 2535.
4. GaoXueMin. Zhongyaoxue gongzhongyiyaoleizhuanyeyong. Beijing : China Traditional Chinese Medicine Publishing House, 2545.
26 ก.ย. 2567
15 พ.ย. 2567
20 ม.ค. 2568
12 พ.ย. 2567