Last updated: 2 ก.ค. 2567 | 8398 จำนวนผู้เข้าชม |
อ้ายเยี่ย (艾叶) คือ ใบแห้งของพืชที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Artemisia argyi Levl. et Vant. วงศ์ Apiaceae (Compositae)
ชื่ออื่น ๆ อ้ายเยี่ย (จีนกลาง) เฮี่ยเฮี๊ยะ (จีนแต้จิ๋ว) Argy Wormwood Leaf, Artemisiae Argyi Folium
ลักษณะภายนอก
ใบมีรอยย่น แตกหัก ก้านใบสั้น ใบที่สมบูรณ์เป็นรูปรีทรงไข่ หยักลึกแบบขนนก ขอบใบหยักซี่ฟันไม่แน่นอน ผิวด้านบนสีเขียวอมเทาหรือสีเขียวอมเหลืองเข้ม มีขนอ่อนและจุดต่อมประปราย ผิวด้านล่างมีขนสั้นหนานุ่มสีขาวอมเทาหนาแน่น เนื้ออ่อนนุ่ม กลิ่นหอมอ่อน ๆ รสขม
แหล่งผลิตที่สำคัญ
มณฑลซานตง อันฮุย หูเป่ย เหอเป่ย
การเตรียมอิ่นเพี่ยน
1.อ้ายเยี่ย : กำจัดสิ่งแปลกปลอม ร่อนเศษเล็ก ๆ ออก
2.ชู่อ้ายเยี่ย : ผสมอ้ายเยี่ยกับน้ำส้มสายชูที่ได้จากการหมักกลั่นข้าวเจ้า (ใช้น้ำส้มสายชู 15 กิโลกรัม ต่ออ้ายเยี่ย 100 กิโลกรัม) ผัดโดยใช้ไฟระดับอ่อน ๆ จนแห้ง
3.ชู่อ้ายเยี่ยถ้าน : คั่วอ้ายเยี่ยด้วยไฟระดับปานกลางจนมีสีดำเกรียม พรมน้ำส้มสายชูที่ได้จากการหมักกลั่นข้าวเจ้า (ใช้น้ำส้ม 15 กิโลกรัม ต่ออ้ายเยี่ย 100 กิโลกรัม) ผัดต่อจนแห้ง
4.อ้ายเยี่ยถ้าน : คั่วอ้ายเยี่ยด้วยไฟระดับปานกลางจนกระทั่งเป็นสีดำเกรียม พรมน้ำเล็กน้อย ผัดจนเกือบแห้ง
ฤทธิ์ของยาตามภูมิปัญญาการแพทย์แผนจีน
มีรสเผ็ด ขม อุ่น มีพิษเล็กน้อย เข้าสู่เส้นลมปราณตับ ม้าม และไต
1. อ้ายเยี่ย : ขับกระจายความเย็นระงับปวด อบอุ่นเส้นลมปราณเพื่อห้ามเลือด
2. ชู่อ้ายเยี่ย : การผัดกับน้ำส้มสายชูจะช่วยลดการระคายเคืองกระเพาะอาหาร มีฤทธิ์ในการขับความเย็นระงับปวดได้ดี
3. ชู่อ้ายเยี่ยถ้าน : อบอุ่นเส้นลมปราณเพื่อห้ามเลือด และระงับปวดได้ดีขึ้น
4. อ้ายเยี่ยถ้าน : การคั่วทำให้รสเผ็ดลดลง และลดการระคายเคืองของกระเพาะอาหาร มีฤทธิ์อบอุ่นเส้นลมปราณห้ามเลือดได้ดี
ขนาดและวิธีใช้ ต้มรับประทาน 3-9 กรัม
ใช้ภายนอกเป็นยารม หรือยาต้มอาบในปริมาณที่เหมาะสม
* ข้อห้ามใช้ ข้อควรระวังในการใช้ *
-
เอกสารนี้เป็นลิขสิทธิ์และทรัพย์สินทางปัญญาของคลินิกหัวเฉียวแผนแพทย์จีน
ใช้เผยแพร่เพื่อเป็นวิทยาทานความรู้แก่ประชาชน
ห้ามคัดลอกในเชิงพาณิชย์โดยไม่ได้รับอนุญาตทุกกรณี
23 เม.ย 2567
19 ก.พ. 2567
24 มี.ค. 2566